ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
ฉันลังเลอยู่พอสมควรว่าควรจะบ่นเรื่องนี้หรือไม่
นั่นคือเรื่องรถติดอย่างวายวอดในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะยิ่งในคืนวันศุกร์ ศุกร์ที่หนักที่สุดคือ มีคนติดอยู่ ถนนนานถึงสามชั่วโมง
เพื่อนบางคนบอกว่าติดจนน้ำมันหมด ต้องจอด แล้วโบกวินมอเตอร์ไซค์ไปปั๊ม
เหตุที่ลังเลว่าควรจะบ่นหรือไม่ เพราะเมื่อเทียบกับความทุกข์อื่นๆ ของคนอื่นๆ ในประเทศนี้แล้ว ความทุกข์อันเกิดจากรถติดอาจเป็นความทุกข์ที่เล็กน้อยไปเลย
เช่น เมื่อเทียบกับความทุกข์ของชาวสวนสับปะรดที่ราคาตก เมื่อเทียบกับความทุกข์ของคนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานขยะพิษ (ที่ไม่รู้ว่าตอนนี้แก้ไขไปถึงไหนแล้ว)
เมื่อเทียบกับความทุกข์ของคนหาเช้ากินค่ำที่นับวันการทำมาหากินก็ฝืดเคืองลงเรื่อยๆ (ดังข่าวช่างแอร์ฆ่าตัวตายเพราะเครียดเรื่องเงิน ไม่มีแม้แต่เงินจะจ่ายค่าเช่าห้อง)
เมื่อเทียบกับชาวนาที่อยู่ๆ คนจากทีดีอาร์ไอก็บอกว่า เราควรเก็บค่าน้ำชลประทานจากชาวนา เพราะชาวนาใช้น้ำฟรีในการทำนา เลยทำกันใหญ่ เพราะไม่มีต้นทุนค่าน้ำ ขายข้าวได้ถูกก็ยังคุ้มที่จะทำนา และทำให้ผลประโยชน์ไปตกกับผู้บริโภคข้าวในต่างประเทศ
ดังนั้น จึงเท่ากับว่ารัฐบาลไทยลงทุนทำเขื่อนและระบบชลประทานทั้งหมดเพื่ออุดหนุนให้ชาวต่างประเทศได้บริโภคข้าวราคาถูก ควรใช้น้ำในระบบชลประทานไปในภาคอุตสาหกรรม โรงแรมมากกว่า เพราะคุ้มค่ากว่าในทางเศรษฐกิจ
สารภาพว่าฟังแล้วทั้งมึนทั้งเครียด ความทุกข์เพราะรถติดของฉันก็ดูเล็กน้อยไปทันที
มิหนำซ้ำ แม้จะรถติดวายวอดจนอยากจะร้องกรี๊ดๆๆๆๆ แต่อย่างน้อยฉันก็ยังเป็นคนชั้นกลางที่สามารถโดยสารรถแท็กซี่ นั่งนิ่งๆ ในรถ (ไม่แม้แต่จะต้องขับเอง) ไม่ต้องไปติดในรถตู้ ไม่ต้องไปติดในรถเมล์ ไม่ต้องไปยืนรอรถเมล์ รถเครื่องอยู่ริมถนน
กระนั้น ฉันคิดว่าควรจะต้องพูดถึงปัญหารถติดอยู่ดี
การแก้ไขปัญหารถติดในเชิงเทคนิคนั้นพูดกันมาเยอะมาก ตั้งแต่
– รู้ว่าจะมีการสร้างรถไฟฟ้าทำไมไม่วางแผนว่าจะจัดระบบการจราจรอย่างไรไม่ให้จลาจล
– เสนอให้มีระบบนั่งทำงานจากบ้านมากขึ้น ไม่ต้องโกยคนเข้ามาทำงานในออฟฟิศทั้งหมดเสมอไป
– กำหนดเวลาเข้างาน-ออกงานของแต่ละหน่วยงานให้เหลื่อมกัน รวมถึงโรงเรียนต่างๆ ด้วยว่าไม่จำเป็นต้องเข้าและเลิกพร้อมกันหมดทุกโรงเรียนได้ไหม?
– จัดระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ อันเป็นคำตอบคลาสสิค แต่ไม่เห็นทำได้เสียที การจราจรทางเรือทางคลองควรให้ความสำคัญมากกว่านี้ เพื่อเป็นทางเลือกการเดินทางที่รวดเร็ว ปลอดภัย (หันไปดูสภาพเรือในคลองแสนแสบและคุณภาพเรือข้ามฟากต่างๆ แล้วอยากไปผูกคอตายที่ใต้ต้นตะไคร้)
– สร้างทางเลือกในการเดินทางด้วยเท้าและจักรยาน ย้ำว่าความสามารถที่จะเดินทางไปไหนๆ ด้วยเท้าและจักรยานนั้นสำคัญมาก อย่ามาอ้างว่าเมืองไทยร้อน ฝนตก เดินไม่ได้ เพราะประเทศอื่นๆ ก็ร้อนกว่า ฝนตกมากกว่า หนาวกว่า หิมะตกมากกว่า เขาก็ยังเดินและใช้จักรยานได้
โดยเฉพาะในระยะทางไม่เกินสามกิโลเมตร ห้ากิโลเมตร
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศกรุงเทพฯ คือ ในระยะสามกิโลเมตรครึ่ง เราอาจต้องเจอรถติดบนถนนถึงสี่สิบนาที หรือชั่วโมงครึ่งก็เคยเจอมาแล้ว
หนักกว่านั้นในระยะทางสามกิโลเมตรครึ่ง แต่หากใช้รถยนต์ ที่เราต้องกลับรถ จากสามกิโลเมตรครึ่ง อาจกลายเป็นเจ็ดกิโลเมตร!
ถ้าเพียงแต่จะมีการลงทุน คลี่แผนที่ ดูผังเมืองดีๆ หาทางทำให้คนเดินเลียบคลอง เดินลัดซอย เดินข้ามสะพาน หรือใดๆ ที่จะเชื่อมสถานที่ต่างๆ เข้าด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องเอารถออกไปวิ่งบนถนน
นอกจากจะแบ่งเบารถออกจากถนน ยังได้ cultivate พฤติกรรมใหม่ๆ ให้แก่คนในเมือง ให้รู้สึกเป็นมิตรกับการเดิน และเห็นว่าการเดินทางด้วยการ “เดิน” นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
อย่างน้อยในยามเช้าก่อนแปดโมงนั้น อากาศในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเย็นสบายเสียด้วยซ้ำไป
ที่สำคัญ สำหรับคนทำงานที่รายได้ไม่มาก หากพวกเขาสามารถ “เดิน” ไปไหนต่อไหนได้ มันจะช่วยประหยัดเงินได้พอสมควรเลยทีเดียว (ทบๆ เอาเงินค่ารถสิบบาท, ยี่สิบบาท ไปเพิ่มไข่ดาว เพิ่มอาหารอีกสักอย่างในจานข้าวแกงได้เลย)
– ท้ายที่สุดที่พูดกันมากสำหรับปัญหารถติดในกรุงเทพฯ คือ เมื่อไหร่จะกระจายความเจริญออกสู่ที่อื่น เพื่อไม่ให้คนทั้งมวลมากองกันอยู่ที่เมืองกรุง (พูดง่าย ทำยากอีกเช่นกัน)
แต่ความเครียดอันเกิดจากการติดอยู่บนถนนหลายชั่วโมง สำหรับฉันมันไม่ใช่แค่การคิดถึงการแก้ปัญหาเชิงเทคนิค คนอื่นเป็นหรือเปล่าไม่รู้ แต่สิ่งที่ฉันอยากจะร้องกรี๊ดออกมาดังๆ ทุกครั้งคือความคิดที่ว่า “ทำไมเราถึงอดทนกันเหลือเกิน?”
เราสามารถมีชีวิตอยู่ในเมืองที่ขี่รถเครื่องอยู่ดีๆ มีต้นไม้หล่นใส่หัวตาย ก็ไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ (รายการข่าวทั้งหลายทำข่าวเรื่องเจ้าบ่าวหนีงานแต่งงานมากกว่ามีคนโดนกิ่งไม้หล่นใส่หัวตายเสียอีก)
เราอยู่ในเมืองที่ขับๆ รถอยู่ก็มีชิ้นส่วนจากสิ่งก่อสร้างหล่นลงมาทับรถ
เราอยู่ในเมืองที่เดินๆ อยู่อาจโดนไฟดูดตายจากสารพัดสายไฟ สายเคเบิลอะไรไม่รู้อีนุงตุงนัง
แล้วไม่มีใครเห็นว่า เฮ้ยยยย นี่มันซีเรียสนะ มันต้องมีคนรับผิดชอบนะ มันต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังนะ
เราจะเป็นคนที่เดินๆ อยู่แล้วมีความชุ่ยของใครไม่รู้ (อันพึงถูกกำกับดูแลจากภาครัฐหรือราชการ) มาทำให้เราบาดเจ็บ พิการ หรือตายไม่ได้
พอๆ กับที่เราจะมีชีวิตอยู่โดยที่เวลาหนึ่งในสี่ของชีวิตเราติดอยู่บนถนน และเงินของเราที่น่าจะสามารถเอาไปเที่ยวเอาไปกินอาหารดีๆ เอาไปเลี้ยงดูพ่อ-แม่ เอาไปเป็นค่าเรียนพิเศษลูก ฯลฯ มาละลายเป็นค่าน้ำมันรถ ค่าเสื่อมสภาพรถ ไม่ได้
การ “ไม่ทน” ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเราต้องออกมาประท้วง ต้องออกมาไล่รัฐบาล หรืออะไร
แต่ “ไม่ทน” ในที่นี้คือเราต้องรู้ว่าตัวเราในฐานะที่เป็น “พลเมือง” ของรัฐ ที่เสียภาษีให้รัฐไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
เราจะปล่อยให้ชีวิตเราถูกปู้ยี่ปู้ยำแบบนี้ไม่ได้
ความเพิกเฉย เย็นชา จำนน เช่นนี้นานวันเข้า สิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตสำนึกของเราคือ – เออ รถติดมันก็ธรรมดา, รถติดกับกรุงเทพฯ มันเป็นของคู่กัน
หน้าฝนน้ำก็ต้องท่วมจะให้ทำยังไง?
หน้าแล้งก็ต้องมีหมอกควันพิษ
มีบ้านอยู่ในจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมก็ต้องมีมลพิษ
มีบ้านอยู่ใกล้โรงปูนก็ต้องเป็นโรคปอด
เกิดเป็นคนจนมันก็ต้องจนอยู่วันยังค่ำ
ดังนั้น สิ่งที่จะคู่กับคนจนก็คือบัตรเติมเงินที่รัฐอุตส่าห์เอามาช่วย เดือนละสามร้อยห้าร้อยก็ดีกว่าไม่ได้สักบาท เนี่ย รัฐบาลนี้เขาช่วยคนจนจริงๆ นะ
กิ่งไม้ตกใส่หัวตาย มันเป็นกรรมเวร ซวยจะลงใส่หัวเรา คนอื่นอีกเป็นร้อยเป็นพันบนถนน ทำไมไม่โดน มาเจาะจงโดนที่เรา มันต้องเป็นเคราะห์ยามซวยของเราสิ จะไปโทษรัฐ โทษราชการได้ที่ไหน
เมื่อเราไม่เคยเห็นตัวเองในฐานะที่เป็นพลเมืองรัฐที่เสียภาษีให้กับรัฐและการบริหารประเทศนั้น รัฐบริหารอยู่ด้วยเงินภาษีของประชาชนล้วนๆ เราจึงไม่เคยรู้สึกรู้สาอะไรกับการที่มีผู้นำประเทศออกมาบ่น ออกมาทวงบุญคุณว่า อุตส่าห์เหนื่อยยากลำบาก อยากให้ประชาชนสบาย รู้ไหม ทุกวันนี้ทำงานหนักมากเลยนะ เหนื่อยมากเลยนะ งานแต่ละอย่างมันยากมากเลยนะ
อันประชาชนก็อยากจะบอกว่า ถ้าเหนื่อยมากๆ เราเลือกตั้งแล้วให้คนที่เขามี passion มีแรงปรารถนาจะทำงานมาทำงานแทนดีไหมอ่ะ
เมื่อเราไม่เคยเห็นตัวเองในฐานะพลเมืองที่พึงมีสิทธิไปกำกับทุกการทำงานและการตัดสินใจของรัฐและราชการ ในหลายๆ ประเด็นที่เราเรียกร้องจึงคลาดเคลื่อน เช่น กรณีเสือดำ น่าแปลกมาก ที่ความไม่พอใจของประชาชนออกมาในรูป – สงสารเสือ, เสือทำผิดอะไร, สู้เพื่อเสือดำ ฯลฯ
และดูเหมือนความคับข้องใจจะไปอยู่ที่ “คนรวยไม่ติดคุก” และถ้าหากว่าเอาเปรมชัยและนายพรานติดคุกได้เราจะพอใจ
แต่ประเด็นเสือดำ มันไม่ใช่เรื่องการสงสารเสือ
ประเด็นมันอยู่ตรงที่ เราในฐานะประชาชนพลเมือง เราอยู่ตรงไหนในการกำหนดนโยบายป่า สัตว์ป่า และวนอุทยานทั้งหมด ที่หมายถึงระบบนิเวศน์ และระบบนิเวศน์นี้ต้องไม่รวมเอาคนที่ต้องอยู่กับป่า
ไปจนถึงคนที่ใช้พื้นที่ป่า “ทำกิน”
ด้วยถ้าเสือดำตัวหนึ่งได้รับความเป็นธรรม แต่นโยบายเกี่ยวกับ “ป่า” ทั้งหมดยังคงทำกันไปโดยไม่มีการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง มันก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะจะมีชาวบ้านจำนวนมากถูกไล่ออกจากป่า มีผู้อิทธิพลจำนวนมากสามารถรุกป่า มีผู้มีอภิสิทธิ์จำนวนมากที่สามารถเข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตป่าสงวนฯ โดยที่เราไม่รู้เพราะมันไม่เป็นข่าว
หรือกรณี “ป่าแหว่ง” ที่ไปเน้นเรื่อง “ป่าศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ย่ำยีหัวใจของคนเชียงใหม่” ราวกับว่าถ้าเรื่องนี้ไปเกิดในป่าอื่น ดอยอื่น จะไม่เป็นไร?
เพราะมันศักดิ์สิทธิ์ไม่พอหรืออะไร?
ทำการออกต่อต้านเรื่องป่าแหว่ง ไม่ใช่เรื่องสิทธิของพลเมืองในกระบวนการออกนโยบายหรือผ่านโครงการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อท้องถิ่น สิ่งที่เราต้องเรียกร้องกรณีป่าแหว่ง ไม่ใช่การทุบหรือย้ายเพียงอย่าเดียว
มิหนำซ้ำเราต้องถามตนเองให้จงหนักว่า โครงการทั้งหมดนี้ถูกต้องตามกฎหมายและกฎระเบียบทุกประการ
ดังนั้น พลเมืองที่ตระหนักว่าตนเองคือเจ้าของเงินภาษี ต้องถามว่า แล้วความถูกกฎหมายแบบนี้ มันเกิดขึ้นโดยกระบวนการอะไร
โครงการของรัฐและราชการจำนวนมากส่งผลประทบต่อชีวิตของผู้คน ต่อระบบนิเวศน์ ก็ทำได้อย่างถูกกฎหมาย เช่นกรณีเหมืองทองอัครา (ที่ยังเป็นประเด็นว่ารัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ที่ไประงับเหมือง) แม้มันจะไม่ได้เกิดขึ้นบนผืนป่าศักดิ์สิทธิ์ และนั่นควรได้รับการทบทวนเท่าๆ กับกรณีป่าแหว่งใช่หรือไม่?
เพราะฉะนั้น การเรียกร้องกรณีป่าแหว่งไม่ใช่แค่ไปเน้นเรื่อง “ป่า”
แต่ต้องเน้นว่า กระบวนการออกกฎหมาย ข้อบังคับที่ขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่นั้นออกกันมาได้อย่างไร?
และประชาชนอย่างเราทำไมจึงไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีส่วนร่วม ไม่ได้แสดง คิดเห็น?
คนกรุงเทพฯ เดือดร้อนรถติด แม่ค้าหาบเร่เดือดร้อนเรื่องถูกห้ามไม่ให้ขายของบนทางเท้า
คนเชียงใหม่เดือดร้อนเรื่องป่าแหว่ง ชาวบ้านบางคนเดือดร้อนเพราะไปทำไร่หรือเก็บเห็ดในพื้นที่ป่าสงวนฯ
เสือดำถูกยิงในเขตอุทยานฯ การคอร์รัปชั่น และหลายนโยบายโครงการไหลมาเทมา
โดยที่เราได้บ่นว่าแล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป หลายเรื่องเรายอมจำนนจนกระทั่งตกผลึกอยู่ในจิตสำนึกของเราไปแล้วว่า “มันเป็นธรรมชาติ” เช่น เรื่องรถติด หลายเรื่องเราออกมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง
แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกร้องกลับเป็นสิ่งที่เป็นเปลือกของมันที่สุด เช่น ชีวิตเสือดำที่น่าสงสาร สัตว์ที่ปกป้องตัวเองไม่ได้ หรือผืนป่าศักดิ์สิทธิ์บนดอยสุเทพ
ทว่าเราไม่ได้เรียกร้องถึงหัวใจของปัญหาของมัน
นั่นคือสิทธิพลเมืองของเราที่ควรจะทรงสิทธิที่สุด หรือชีวิตมนุษย์อย่างเราที่กำลังอยู่ในภาวะช่วยตัวเองไม่ได้ และพูดไม่ได้
ไม่ต่างอะไรจากเสือดำตัวนั้นที่ถูกทำให้ตายไป