เส้นทางการก้าวสู่นักการทูตที่ไม่ธรรมดาของ ‘ลง วิซาโล’ กระชับสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ราบรื่นไร้พรมแดน

คุยกับทูต ลง วิซาโล ไทย-กัมพูชา สัมพันธ์อันราบรื่นไร้พรมแดน (จบ)

พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายลง วิซาโล (H.E. Mr. Long Visalo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ และประธานคนที่ 1 ของสำนักเลขาธิการกิจการเขตแดนแห่งชาติราชอาณาจักรกัมพูชา เข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทยคนใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา

ซึ่งนับเป็นนักการทูตที่มีอาวุโสมากที่สุดที่กัมพูชาเคยส่งมาประจำในกรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา

ท่านทูตลง วิซาโล มีบทบาทอย่างสูงในการแก้ไขปัญหาการกระทบกระทั่งของประชาชนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนติดกับเวียดนาม รวมทั้งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปักปันเขตแดนที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปี

การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงนี้ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลหามือที่เชื่อถือได้เพื่อควบคุมแรงกดดันต่อแรงงานอพยพ เนื่องจากมีความเข้าใจในเรื่องทวิภาคีกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาถึง 1 ล้านกว่าคน

“เมื่อผมเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส การปกครองของกัมพูชาตกอยู่ภายใต้นายพล พต ผู้นำเขมรแดง ผมจึงถูกนำเข้าสู่ค่ายกักกันบึงตระแบก (Boeng Trabek Re-education Camp) ซึ่งฝ่ายเขมรแดงต้องการดัดแปลงแนวคิดและให้การศึกษาใหม่ เพื่อให้ทุกคนเปลี่ยนไปเป็น “ชนชั้นกรรมาชีพ” และทุกคนต้องทำงานหนัก”

“พวกเราถูกส่งไปทำงานตามค่ายกักกันต่างๆ ตามฤดูกาลเพาะปลูก หลังจากนั้นจึงได้กลับมายังค่ายกักกันเดิมเพื่อทำงานต่อไป งานที่ว่านั้นคือ การทำลายทุกอย่างที่สร้างขึ้นในสมัยของนายพลลอน นอล (Lon Nol) เช่น บ้านเรือนที่พักอาศัย สิ่งก่อสร้างต่างๆ วิธีการก็ด้วยมือของเราซึ่งมีเพียงค้อนเท่านั้นที่ใช้เป็นอุปกรณ์ ลำบากที่สุดคือเวลาหิว เราไม่สามารถกินบ้านเรือนแทนอาหารได้ บางครั้งนายพล พต ก็สั่งให้เราขุดดินเพื่อให้เข้าถึงน้ำ และจากนั้นจึงสามารถเลี้ยงปลาหรืออื่นๆ ได้”

“ผมต้องเดินไปทำงานทุกวัน วันละประมาณสิบกิโลเมตร และเดินทางกลับค่ายกักกันหลังพระอาทิตย์ตกดินด้วยความหิวโหย เหน็ดเหนื่อยแสนสาหัส อาหารค่ำก็มีเพียงน้ำและข้าวเท่านั้น”

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย

“มีชายหนุ่มบางคนที่หิวโหยและไม่อาจกินอาหารดังกล่าวได้ จึงฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดจากชั้นสามของอาคาร เพราะไม่สามารถอดทนได้อีกต่อไป แต่นายพล พต บอกทุกคนว่าพวกนี้มีอาการป่วยทางจิต”

“ผมจำได้ว่าหลังจากที่กลับมาถึงพนมเปญ ผมไปอยู่ที่หอพักของสถาบันเทคโนโลยีกัมพูชา (Institute of Technology of Cambodia : ITC) สร้างโดยประเทศรัสเซีย และด้านหน้าของอาคารมีสนามบาสเกตบอล ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกว่าเรากินบาสเกตบอลไม่ได้ จึงให้ขุดสนามบาสเกตบอลและถมพื้นดินใหม่เพื่อปลูกข้าว ในเวลานั้นข้าวเติบโตดีมากเพราะได้รับน้ำจากหอพัก ด้วยเหตุนี้ งานของผมคือปลูกข้าว และทำลายบ้านเรือน ในบางครั้งเราต้องทำลายถนนด้วยเนื่องจากเราไม่สามารถกินถนนได้ ผมก็เลยได้ปลูกมะละกอไปตามแนวถนนเดิม”

“อดทนอยู่กับระบอบการปกครองนี้จนเกือบจะสิ้นใจตายอยู่บนท้องถนนเพราะไม่มีอะไรจะกินเกือบสามปี”

“ผมไม่ใช่นักการเมือง ต้องการกลับมาบ้านเพียงเพื่อจะพบกับครอบครัวและทำงานรับใช้ชาติบ้านเมืองร่วมกับพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ในการปลดปล่อยประเทศ”

“พวกเราจำนวนหลายพันคนเป็นพวกที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แต่ภายหลังหลายคนเสียชีวิต เมื่อผมมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ จึงพยายามรวบรวมรายชื่อคนที่ผมรู้จักในระหว่างการปกครองของนายพล พต เพื่อนับจำนวนคนตาย จาก 2,000 คน เหลือที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง 100 คน จำนวนคนที่ถูกฆ่าตายจึงมีมากกว่า 1,000 คน”

“แต่ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่เดินทางกลับบ้าน ตัวอย่าง เป็นครอบครัวของนักการทูตจากประเทศอียิปต์และไทย เมื่อพวกเขามาถึงสนามบินในกัมพูชากลับถูกสังหารอย่างรวดเร็ว”

“พอถึงวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1979 มีคนมาบอกว่า เวียดนามกำลังเข้ามาบุก ให้หนีไปทางรถไฟลงใต้ เหตุที่เราต้องหนีก็เพื่อรักษาชีวิตของเราไว้ก่อนและหาทางกลับมาต่อสู้ภายหลัง ผมไปจนใกล้เมืองพระตะบองแล้วเดินมุ่งหน้าเข้าป่า คราวนี้ยิ่งลำบากหนักกว่าเดิมคือ ไม่มีทั้งอาหาร น้ำ และที่พักอาศัย ได้แต่เอนกายนอนทับกระเป๋าที่เก็บของบางอย่าง เช่น เสื้อผ้า และหนังสือ คุณลองนึกภาพว่า ในป่าฝนตกเกือบทุกวัน ทำให้เราไม่สามารถหลับได้เลย”

“ในที่สุดเราก็ตัดสินใจไม่อยู่บนภูเขา มิฉะนั้นจะตายก่อน ขณะที่กำลังเดินลงเขาก็ได้ยินเสียงรถกำลังแล่นผ่านมา แสดงว่าใกล้ถนน คิดว่าจะเดินตามแนวถนนไม่เดินในป่า พอลงเดินตามถนนได้ไม่กี่กิโลเมตรก็โดนกองกำลังเวียดนามเข้าจับกุมและนำพวกเราทั้งหมด 10 คนไปไว้ในคุก”

“ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มเขมรแดง เพราะพวกเขาค้นกระเป๋าพบธนบัตรเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ฟรังก์ฝรั่งเศส และกิลเดอร์เนเธอร์แลนด์ รวมทั้งรูปถ่ายของผมกับพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ เนื่องจากคุณพ่อของผมทำงานในพระราชวังของพระมหากษัตริย์ ซึ่งก่อนผมเดินทางออกจากกัมพูชา ผมได้ไปเยี่ยมท่านและขอให้ท่านเสด็จออกไปต่างประเทศและถ่ายรูปกัน”

“เราทั้ง 5 คนถูกกักขังที่ใต้ถุนบ้านซึ่งด้านบนเป็นที่เก็บข้าว และเป็นหญ้าแห้งที่วัวเข้ามากินและฉี่รดใส่หญ้าแห้งไหลลงไปที่เราอยู่กันอย่างแออัดด้านล่างท่ามกลางความสกปรก มีทหารเวียดนามควบคุมตลอดเวลา ผมถูกจ่อหลังด้วยปืนไรเฟิลแม้กระทั่งในยามขับถ่าย”

“แต่ผมก็ไม่คิดหนี ประการแรกคิดว่า ดีกว่าตายคนเดียวในป่าเพราะอดอาหาร และประการที่สอง ทหารเวียดนามให้อาหารเช้าทุกวัน หลังจากที่เขาพาผมไปทำแบบสอบถาม ว่าทำไมผมกับพลพรรคเป็นคอมมิวนิสต์ ผมยอมรับว่าไปฮังการีซึ่งตอนนั้นเป็นประเทศสังคมนิยม แต่ก็เพื่อการศึกษาเท่านั้น”

“อันที่จริง สมเด็จฯ ฮุน เซน ทราบเกี่ยวกับประวัติของผมและต้องการให้ผมไปทำงานในกระทรวงต่างประเทศ แต่ผมอยู่ในป่า ไม่มีการสื่อสาร จึงไม่สามารถรับทราบข่าวใดๆ จากนั้นทหารเวียดนามให้ผมไปทำงานที่สำนักงานเกษตรของเทศบาลเมืองพระตะบอง แต่ที่นี่ก็แย่เพราะผมไม่มีเงินซื้ออาหารเนื่องจากเพิ่งออกมาจากป่า ได้รับส่วนแบ่งเป็นอาหารเพียงเล็กน้อยจากทหารเวียดนาม”

“เหตุที่ได้ออกจากคุกเพราะสมเด็จฯ ฮุน เซน ทราบจากเอกอัครราชทูตฮังการีประจำกัมพูชาซึ่งต้องการล่าม โดยเอกอัครราชทูตฮังการีแจ้งว่า มีชาวกัมพูชาคนหนึ่งได้ไปเรียนที่ฮังการีแต่ตอนนี้อยู่ในป่า จึงอยากให้สมเด็จฯ ฮุน เซน ช่วยติดตาม และสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้ให้นายทหารเวียดนามตามหาผม”

“ในที่สุดผมก็ได้พบกับเอกอัครราชทูตฮังการีซึ่งเล่าว่า เดิมเป็นทูตประจำที่กรุงฮานอย แต่ตอนนี้ต้องการเปลี่ยนมาประจำที่กรุงพนมเปญ จึงต้องการล่าม ผมจึงเริ่มต้นทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัวของเอกอัครราชทูตฮังการีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1979”

ทั้งนี้ เนื่องมาจากท่านทูตลง วิซาโล สามารถพูดและเขียนภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน และฮังการี ได้เป็นอย่างดี

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และสมเด็จ ฮุน เซน

“สมเด็จฯ ฮุน เซน ต้องการให้ผมเป็นหลายอย่าง เมื่อไปต่างประเทศผมจึงเป็นทั้งผู้อารักขา เป็นล่าม เป็นเลขานุการ เป็นที่ปรึกษาพิเศษของสมเด็จฯ ฮุน เซน ซึ่งท่านกล่าวชมว่าผมทำงานดี ต่อมาจึงได้มอบหมายให้ผมไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศคิวบา (Cuba) และนิการากัว (Nicaragua)”

“ผมเป็นทูตที่คิวบาแต่ไม่มีเงิน เพราะนายพล พต ได้ทำลายเงินของประเทศทั้งหมด แล้วคุณคิดไหมว่า ผมจะอยู่ต่างประเทศโดยปราศจากเงินได้อย่างไร เราใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสิ่งของเครื่องใช้กันในระหว่างสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาในคิวบา กับสถานทูตคิวบาในกัมพูชา เช่น เราให้ยา ให้เฟอร์นิเจอร์ ให้บ้านแก่สถานทูตคิวบาในกัมพูชา เป็นต้น”

“ผมได้รับเงินเป็นเปโซจากกระทรวงต่างประเทศคิวบาเพื่อทำงานในคิวบา ลำบากใจที่จะตอบว่า เงินเดือนของผมตอนนั้นคือ ข้าวเพียง 15 กิโลกรัม และเขาก็ขอให้ผมอยู่ต่ออีกทั้งที่ไม่มีเงิน ไม่มีรถ ผมเป็นทูตที่นั่นถึง 5 ปีระหว่างปี ค.ศ.1982-1987”

“ชีวิตครอบครัวเริ่มต้นตอนที่ทหารเวียดนามนำตัวผมออกจากคุกและให้ไปทำงานที่สำนักงานการเกษตร เมืองพระตะบอง ผมจึงมีโอกาสได้พบภริยาเป็นครั้งแรกเพราะเธอมาติดต่อขายข้าวในนามของหอการค้า บุตรชายสองคนของผมเกิดเมื่อปี ค.ศ.1980 และ 1982 ตามลำดับ และดำเนินรอยตามผมคือเป็นทูตประจำต่างประเทศเช่นกัน”

ในความเคร่งเครียด ท่านทูตลง วิซาโล ผู้ผ่านช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากและความเป็นความตายมาแล้วหลายครั้งและโชคดีที่มีโอกาสรอดชีวิตออกมาได้ หลังกองทัพเวียดนามยกข้ามพรมแดน เข้าขับไล่ระบอบเขมรแดง ได้จบการสนทนาอย่างมีอารมณ์ขันว่า

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทย

“ผมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศนานมากตั้งแต่กลับมาจากคิวบาอย่างถาวรปี ค.ศ.1987 เอกอัครราชทูตจากต่างประเทศจึงให้ความเคารพผม แต่ตอนนี้ผมมาเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ผมจึงต้องให้ความเคารพรัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งที่สูงกว่าผม”

“อย่างไรก็ตาม ผมมีความสุขมากที่ได้มาทำงานในประเทศไทย ไม่ใช่เพราะมีความท้าทายมากกว่าการทำงานในกัมพูชาดังที่ถามมา แต่ทำงานที่นี่ดีจริงๆ เพราะผมมีความคุ้นเคย และได้ทำงานโดยอิสระ ไม่มีหัวหน้านั่นเอง”

นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาประจำประเทศไทยกับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายลง วิซาโล เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชาและคณะ เข้าพบนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อหารือเรื่อง ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม