วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / Shoplifters : ครอบครัวที่เลือกได้

วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์

 

Shoplifters

: ครอบครัวที่เลือกได้

ในฐานะปัจเจกบุคคล ดูเหมือนสังคมจะบอกว่า มนุษย์เลือกได้หลายอย่าง เรากำหนดสิ่งสำคัญต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น เลือกทำอาชีพอะไร เลือกคนไหนเป็นเพื่อนหรือคู่ชีวิต เลือกตัวตนให้เป็นแบบไหน หรือเลือกอยู่ในสังคมใดก็ได้
แต่ยังเลือกเองไม่ได้อีกหลายอย่าง เช่น ต้องสังกัดครอบครัวตามสายเลือด ซึ่งมักจะประกอบด้วยพ่อแม่ลูก หรือคนที่นับญาติกันตามฐานะและรุ่นต่างๆ และถูกสืบย้อนไปได้
ในแง่นี้ สายเลือดเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้แน่นอน ความผูกพันตามสายเลือดมีความสำคัญถึงขนาดเรียกว่าครอบครัวที่แท้จริงและเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม ที่สำคัญ ถูกกำหนดไว้เป็นระเบียบทั่วโลก ทั้งในแง่ศีลธรรม ประเพณี และกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม เราพบด้วยว่าสิ่งนี้ “เพียง” ถูกกำหนดโดยโชคชะตา พระเจ้า หรือยีน
การจะเป็นพ่อแม่ใคร จะกำเนิดในครรภ์ของคนไหน รวมทั้งจะเป็นลูกใคร ล้วนถูกลิขิตโดยชะตากรรมหรือพระเจ้าในลัทธิและศาสนาต่างๆ พูดอีกอย่าง สายเลือดเกิดจากความบังเอิญ
ในปัจุบันสายเลือดจึงด้อยราคาลงมาก โดยเฉพาะเมื่อความเชื่อเรื่องเพศสภาพ บุญคุณ บทบาทของผู้นำครอบครัวลดน้อยลง และหันมายกย่องความรัก เอื้ออาทร และบทบาทของทุกคนในครอบครัวมากขึ้น
ความผูกพันตามสายเลือดกลายเป็นแค่ระเบียบที่ปฏิบัติกัน เพราะมันถูกต้องตามกฎหมายและประเพณี ตรงกันข้าม ครอบครัวที่เลือกได้ ซึ่งหมายถึงความผูกพันแบบอื่นหรือกับคนที่เราเลือกเองได้ อาจจะสำคัญกว่าครอบครัวตามสายเลือด

Shoplifters ซึ่งกำกับฯ โดยฮิโรซากิ โคริเอดะ และได้รับรางวัลใหญ่ของคานส์ปีนี้ เล่าเรื่องของห้าชีวิตที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ กลางกรุงโตเกียว
หนังตั้งคำถามว่า ครอบครัวตามสายเลือดนั้นมีไว้ทำไม?
ดังในชื่อเรื่อง หนังเปิดเรื่องด้วยการที่ทำงานเป็นทีมกันระหว่างโอะซะมุกับโชตะ เด็กอายุราวสิบขวบ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นลูกชาย ทำการขโมยของในร้านสะดวกซื้อ
โอะซะมุเป็นคนงานก่อสร้าง แต่ลักขโมยเป็นอาชีพหลัก แถมยังฝึกสอนให้ลูกชายทำด้วย และเมื่อติดตามต่อไป จะรู้ว่าชายคนที่ยิ้มอย่างมีเลศนัยเสมอนั้นเป็นคนใจดี
แต่ลักขโมยของคนอื่นเป็นประจำ ที่สำคัญ การขโมยเป็น ‘ความรู้’
เพียงไม่กี่อย่างที่เขาถ่ายทอดให้ลูกชายได้ และสำหรับโชตะ มันเป็นทักษะที่พอเพียง เขาบอกว่า “เด็กที่ต้องไปโรงเรียน เพราะที่บ้านไม่รู้จะสอนอะไร”
กลับมาถึงบ้าน ผู้ดูจะได้พบกับผู้หญิงอีกสามคน คนแรกคือย่าฮะสึเอะ ผู้เป็นเสาหลักของบ้านนี้ เพราะมีเงินบำนาญของผัวที่ทิ้งไว้ก่อนตาย คนที่สองคือโนะบุโยะ เมียของโอะซะมุ ทำงานในร้านซักรีด และคนที่สามคืออะกิ สาวน้อยวัยแรกรุ่นซึ่งเป็นหลานของย่า
ทุกคนล้วนทำงานไม่สุจริต เริ่มจากพ่อลูกหัวขโมย และเมียซึ่งชอบหยิบของซึ่งติดมากับเสื้อผ้าของลูกค้าได้โดยไม่กระดากใจ ย่าซึ่งอยู่ด้วยเงินทดแทนของคนอื่นมีความลึกลับซับซ้อนเพราะตำรวจหาศพไม่เจอ ทำให้สงสัยว่าเธออาจจะเป็นฆาตกรเสียเองก็ได้ ส่วนอะกินั้น ทำงานเป็นสาวในร้านถ้ำมอง ซึ่งโชว์เรือนร่างแบบไม่ให้เห็นหน้า
แต่ที่เขย่าความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายมากกว่าคือ ความสัมพันธ์อันคลุมเครือของทั้งสามคนไม่ตรงกับความหมายของครอบครัว
นอกจากฮะสึเอะกับโอะซะมุซึ่งเป็นแม่ลูกกัน ทุกคนในบ้านหลังนี้ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทางสายโลหิต
หนังจะเปิดเผยในช่วงต่อมาว่า เด็กแต่ละคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ที่แท้จริง โชตะน่าจะเป็นเด็กที่ถูกโอะซะมุลักพาตัวมา ส่วนย่าก็เอาอะกิมาอยู่ด้วยโดยไม่บอกว่าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่
หนังเล่าเรื่องของคนจนที่หาทางอยู่รอดไปวันๆ โดยที่ศีลธรรมมองไม่เห็น แต่ก็เป็นครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรักและเอื้ออาทร เรื่องวางประเด็นไว้แต่ต้น โอะซะมุไปเจอยูริ เด็กผู้หญิงวัยห้าขวบที่ถูกพ่อแม่ทิ้ง แล้วพามาอยู่กินที่บ้าน ทั้งๆ ที่รักและสงสาร หลายคนบอกว่าเอาไปคืนเขาเถอะ เพราะสิ่งที่เขาทำลงไปดูเหมือนการลักพาเด็ก ซึ่งเป็นข้อหาที่รุนแรงและจะนำภัยร้ายหรือตำรวจมาสู่ครอบครัวมิจฉาชีพนี้
แต่ทุกคนมีความสุขในแบบครอบครัว นั่นคือกิน นอน เที่ยว ปลอบโยน รวมทั้งทะเลาะและด่าทอกันเสมอ ระหว่างนั้น ยูริยังอยู่กับครอบครัวนี้ไปเรื่อยๆ โอะซะมุและโชตะสอนวิชาชีพการขโมยของรวมทั้งวิธีส่งสัญญาณก่อนลงมือให้เธอ หนังจะชี้ด้วยว่าย่ามีวิธีหาเงินอีกแบบ นั่นคือจากลูกของผัวที่ไปมีเมียใหม่และเสียชีวิตแล้ว
จนกระทั่งเมื่อแม่ที่แท้จริงของยูริไปแจ้งความ เรื่องเด็กหายจึงกลายเป็นข่าวทั่วประเทศ ตำรวจเข้ามาสอบสวนครอบครัวนี้ พายูริรวมทั้งเด็กอีกสองคนกลับไปส่งให้พ่อแม่ตามกฎหมาย และค้นพบศพของคนที่ถูกฝังไว้กลางบ้าน
เรื่องของยูริที่คนในบ้านเก็บมาเลี้ยงชวนให้ใจหาย เพราะพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็กไม่สนใจไยดี แถมยังทุบตีเสมอเมื่อมีโอกาส ตรงข้ามกับคนในบ้านของโอะซะมุ เมื่อถูกตำรวจเรียกไปสอบสวน โนะบุโยะบอกว่า “การให้กำเนิด ไม่ได้แปลว่าทำให้คนนั้นกลายเป็นแม่”
ทุกคนในบ้านหลังนี้มีจิตใจดี แต่ในตอนท้ายต้องถึงกาลล่มสลาย และหนังก็จบลงอย่างสุดเศร้า โนะบุโยะตกเป็นผู้ต้องหาคดีลักพาเด็กและติดคุก และตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรม ส่วนโชตะและอะกิต้องกลับไปหาพ่อแม่ที่แท้จริง

ด้วยสไตล์ที่ “ซื่อตรง” หรือมองอย่างใกล้ชิดแต่ไร้ความรู้สึก ทำให้หนังไม่ได้เป็นเพียง “ชีวิตบัดซบ” หรือฟูมฟายกับชีวิตคนจน อีกทั้งให้ความสะเทือนใจแต่รักษาระยะห่างเอาไว้
ตัวแสดงทำให้เรารู้สึกสนิทสนมกับทุกคนถึงขั้นได้กลิ่นเนื้อกลิ่นตัว และในฉากที่ดูเหมือนไร้ตกแต่ง เราจะได้เห็นบ้านที่คับแคบและรกรุงรัง ตลอดจนอาหาร เงื่อนไขทางสังคม และวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่ปกคลุมชีวิตของคนจนในโตเกียว
Shoplifters มาจากสังคมที่ความเป็นปัจเจกชนบรรลุถึงขั้นสุดยอด แต่ครอบครัวก็ยังเป็นสิ่งที่รัก นับถือและเลือกอยู่ทุกวัน
หนังเรื่องนี้ตั้งคำถามว่า ถ้านี่เป็นสิ่งเลือกไม่ได้ แถมยังไม่มีสายสัมพันธ์อื่นมาโยงใย จะมีไว้ทำไม?