สำรวจ ‘การสื่อสารยุคดิจิทัล’ ‘ส่งเท็กซ์’แค่ไหน ? จึงจะเรียกว่ามากไป!

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สัปดาห์นี้มาคุยเรื่องเบาๆ อย่างเรื่องหัวใจกันสักหน่อยดีไหมคะ

คุณผู้อ่านเคยลองนึกถามตัวเองเล่นๆ ดูไหมคะ ว่าเทคโนโลยีที่ทำให้เราติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายดาย รวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัสหน้าจอแบบทุกวันนี้ มันช่วยให้เรากับคนรักของเรามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น

หรือมันทำให้เรายิ่งเหินห่างอ้างว้างกว่าเดิมกันแน่

แอพพลิเคชั่นแชตช่วยให้เราส่งข้อความหาเขาคนนั้นได้ตลอดเวลาที่หัวใจเรียกร้อง

แต่โปรแกรมเดียวกันนี้ก็ทำให้เราเสียใจอย่างสุดซึ้งถ้าได้เห็นว่าเขาอ่านแล้วเลือกที่จะเพิกเฉย

เราสามารถส่งโลเกชั่นสถานที่นัดเดตให้มาเจอกันได้แบบแม่นยำตรงจุด

แต่ฟีเจอร์เดียวกันก็ทำให้เราถูกคนรักติดตามได้ตลอดว่าตอนนี้เราอยู่ที่ไหนตามเวลาจริง คล้ายถูกคล้องไว้ด้วยโซ่ตรวนดิจิตอล

การส่งภาพวาบหวิวหากันออนไลน์อาจทำให้หัวใจกระชุ่มกระชวยซาบซ่าน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงหลายอย่างที่อาจตามมา

แล้วแบบไหนล่ะที่ดีที่สุด

การคบหาแบบสมัยก่อนที่เว้นระยะห่างระหว่างกันด้วยการยกหูโทร.หาวันละไม่กี่ครั้ง

หรือแบบสมัยใหม่ที่การสื่อสารระหว่างเรากับคนรักถี่จนสามารถถ่ายทอดทุกความคิดที่แวบผ่านเข้ามาในหัวได้ครบถ้วน

 

นักสำรวจจากเพซ ยูนิเวอร์ซิตี้ และเพอร์ดิว ยูนิเวอร์ซิตี้ ฟอร์ต เวย์น ได้ลองทำการศึกษาเพื่อดูว่าการส่งข้อความหากันระหว่างคนรักนั้นก่อให้เกิดผลกระทบอย่างไรต่อความสัมพันธ์บ้าง โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 แบบด้วยกัน

การศึกษาแบบแรก นักวิจัยสำรวจผู้ใหญ่ทั้งหมด 205 คน ในช่วงอายุ 18-29 ปี ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมที่สุดเพราะเป็นช่วงที่กำลังมีคนรู้ใจ และมีแนวโน้มจะใช้เทคโนโลยีเพื่อติดต่อสื่อสารกันหลายรูปแบบ

โดยนักวิจัยต้องการศึกษาว่านิสัยในการส่งข้อความนั้นส่งผลต่อความพึงพอใจที่พวกเขามีต่อความสัมพันธ์อย่างไรบ้าง

นักวิจัยพบว่า สำหรับกลุ่มนี้ ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของข้อความที่ส่งหากันเลย ไม่ว่าข้อความนั้นๆ จะเป็นการบอกรักหวานชื่นมื่น หรือตัดพ้อรำพัน

แต่ตราบใดที่ทั้งคู่มีสไตล์การส่งข้อความแบบเดียวกัน จูนเข้าหากันได้พอดีเป๊ะ อ่านแล้วเก๊ตในกันและกัน แค่นั้นก็ทำให้มีความพึงพอใจในความสัมพันธ์สูงแล้ว

การศึกษาแบบที่สองพบว่า การที่คู่รักส่งข้อความหากันบ่อยๆ อาจก่อให้เกิดผลได้สองทางคือ ดีไปเลย หรือไม่ก็แย่ไปเลย หมายความว่าจะทำให้ใกล้ชิดกันมากกว่าเดิมก็ได้ หรือจะทำให้เหินห่างกันไปเลยก็ได้อีกเช่นกัน ซึ่งปัจจัยที่จะเป็นตัวตัดสินว่าจะเป็นอย่างแรกหรืออย่างหลังนั้นอยู่ที่ว่า อะไรคือ “แรงจูงใจ” ที่ทำให้ทั้งคู่ส่งข้อความหากันตั้งแต่แรก

ในการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยสำรวจข้อมูลจากผู้ใหญ่ 982 คน ในช่วงอายุ 18-29 ปีเช่นเดิม

และพบว่าคู่รักมีเหตุผลของการส่งข้อความหากันหลายข้อ เหตุผลข้อหลักๆ ก็เป็นเหตุผลทั่วไปที่คนส่งข้อความหากัน อย่างเช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล ขอความคิดเห็น ถามไถ่ความเป็นไป หรือต้องการสื่อสารอะไรบางอย่าง ซึ่งมีเหตุผลในการส่งที่ชัดเจน

ในขณะที่เหตุผลอื่นๆ ที่เราอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงก็มีอีกหลายข้อเช่นกัน อย่างเช่น การส่งข้อความเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า การส่งข้อความหาเพราะเบื่อ ไม่มีอะไรทำ

หรือส่งข้อความเพราะรู้สึกว่าแสดงออกทางอารมณ์ได้ดีกว่าการโทรศัพท์ไปคุยหรือคุยกันซึ่งๆ หน้า

 

ลองนึกสถานการณ์ตัวอย่างกันดีไหมคะ บางทีเราอยู่ในสถานที่ที่ทำให้เรารู้สึกอึดอัด อย่างการอยู่ในห้องที่เราไม่รู้จักใครเลยสักคนเดียว ไม่มีใครเข้ามาคุยกับเรา และเราก็ไม่รู้จะคุยกับใคร กระอักกระอ่วนจนต้องคว้ามือถือขึ้นมาและส่งข้อความอะไรก็ได้ไปหาแฟน

เราติดอยู่ในลิฟต์กับคนที่เราไม่อยากคุยด้วย ก็หยิบมือถือขึ้นมาส่งข้อความหาแฟนทั้งที่เพิ่งจะอัพเดตชีวิตกันไปเมื่อกี้

เรารู้สึกเบื่อๆ ไม่มีอะไรทำ ฟีดเฟซบุ๊กก็เช็กหมดแล้ว อินสตาแกรมสตอรี่ก็กดดูจนไม่มีอะไรเหลือให้ดูแล้ว สิ่งเดียวที่ทำได้คือ ส่งข้อความที่แสนจะว่างเปล่าไร้ความหมายไปหาแฟน เพื่อทำให้เรารู้สึกเบื่อน้อยลงนิดเดียวก็ยังดี

แย่กว่านั้นไปอีก บางคนมีนิสัยใช้วิธีส่งข้อความไปคุยกับคนรักในเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์สูง ซึ่งอันที่จริงแล้วควรจะได้ถกเถียงพูดคุยกันต่อหน้า อย่างการตัดสัมพันธ์รักผ่านข้อความ เป็นต้น

เหตุผลของการส่งข้อความที่ว่างเปล่าเหล่านี้เองที่นอกจากจะไม่ช่วยให้ความรักเติบโตงอกงามแล้ว ก็จะยิ่งทำให้คู่รักรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก และห่างเหินจากกันในที่สุด

 

คราวนี้มาดูผลการศึกษาแบบสุดท้ายกันค่ะ ครั้งนี้นักวิจัยนำข้อมูลมาจากผู้ใหญ่ 615 คน ที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่จริงจังกับคู่รัก พบว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เซ็กซ์ต (sext) หรือส่งข้อความที่มีเนื้อหายั่วยวนทางเพศไปให้กับคู่รักของตัวเอง และแม้ว่าคนที่ไม่เซ็กซ์ตหากัน จะพึงพอใจในความสัมพันธ์ของตัวเอง แต่ผลการเก็บข้อมูลก็ระบุว่าคนที่เซ็กซ์ตจะมีความพึงพอใจทางเพศมากกว่า

แปลว่า หากทำในปริมาณที่เหมาะสม ทำน้อยแต่อย่างมีรสนิยม เซ็กซ์ตก็อาจจะช่วยให้ความสัมพันธ์โดยรวมดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็อย่าลืมดูความเหมาะสมเรื่องอายุและความปลอดภัยของข้อมูลกันด้วยนะคะ

แต่แน่นอนว่าอะไรที่มันมากเกินไปมันก็ไม่ดีหรอกค่ะ

การส่งข้อความยั่วยวนก็ไม่เว้น ผลวิจัยครั้งนี้พบว่าคู่ไหนที่ส่งข้อความเร่าร้อนหากันหลายครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ หรือส่งหากันทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง มีแนวโน้มที่จะเกิดความรู้สึกขัดแย้งภายในใจ หรือเกิดไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่

และยังมีแนวโน้มที่จะใช้โซเชียลมีเดียในการนอกใจคู่รัก หรือใช้เพื่อดูสื่อปลุกใจสำหรับผู้ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

เทคโนโลยีอาจช่วยเปิดโอกาสให้เราสื่อสารกับคนรักได้ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านั่นคือสิ่งที่เราควรทำเสียหน่อย

หลายคนอ่านผลวิจัยนี้แล้วอาจสงสัยว่าจะเป็นไปได้ยังไงที่การส่งข้อความหากันบ่อยๆ จะไม่ทำให้เราใกล้ชิดกับคนรักมากขึ้น

 

ในความคิดเห็นของซู่ชิงคือ ยิ่งเราพึ่งพาการส่งข้อความหาแฟนเพื่อหลีกหนีสถานการณ์ตรงหน้าที่เราไม่อยากเผชิญจนเราพัฒนานิสัยการส่งข้อความที่ว่างเปล่าหากันตลอดเวลาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นเราจะไม่มีช่วงเวลาว่างเหลือไว้สำหรับตัวเองเลย

และช่วงเวลาว่างๆ ที่เราไม่ต้องรายงานตัวต่อใคร หรือไม่ต้องคอยจิกใครให้รายงานตัวกับเรานี่แหละค่ะ ที่อาจจะเป็นช่วงเวลาที่แสนจะทรงคุณค่าที่สุดของวันที่เราจะทำความรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้จักแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าเราได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว และไม่เสียเวลาไปกับการคุยเล่นไร้สาระมากจนเกินไป

ถ้าวันทั้งวันของเราเต็มไปด้วยผลงานมากมายที่เราทำได้สำเร็จ เราก็จะเคารพรักตัวเอง และความรักนั้นก็จะแผ่ให้คนข้างๆ เราเขาสัมผัสได้

ท้ายที่สุดความสัมพันธ์ก็จะเติบโตได้อย่างสวยงามไปเองค่ะ