ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ – Shoplifters : ญี่ปุ่นที่เห็นไม่ใช่ญี่ปุ่นที่คิด

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เทศกาลหนังเมืองคานส์เป็นงานวัฒนธรรมระดับโลกที่เป็นข่าวในไทยแทบทุกปี ในอดีตคนใหญ่คนโตชอบหิ้วหนังไปเช่าพื้นที่ออกร้านเพื่อประโคมข่าว “หนังไทยไปคานส์” ส่วนสมัยนี้ทุนเครื่องสำอางจ้างดาราแต่งตัวไปงานเพื่อสร้างภาพเป็นแบรนด์ระดับโลก เทศกาลหนังจึงคุ้นหูคนไทยกว่าตัวหนังซึ่งคนทั่วไปอาจไม่คุ้นเคย

Shoplifters เป็นหนังรางวัลปาล์มทองคำจากคานส์ซึ่งฉายในไทยแล้วเกือบเดือน และถึงแม้นายทุนโรงหนังจะปล่อยพื้นที่ให้โรงฉายหนังเรื่องนี้น้อยเกินไป ปฏิกริยาของผู้ชมในไทยก็เต็มไปด้วยความชื่นชมไม่ต่างจากเสียงนักวิจารณ์ในโลก นั่นก็คือ Shopliftersเป็นหนังคุณภาพสูงที่อบอุ่น, ชวนติดตาม และลุ่มลึกด้วยสารทางสังคม


ตรงข้ามกับความระแวงของผู้ชมว่าหนังคานส์ไม่บันเทิง หนังเรื่องนี้เป็นมิตรกับผู้ชมจนกวาดรายได้มหาศาลจากการฉายในญี่ปุ่นตั้งแต่สัปดาห์แรก ยิ่งกว่านั้นคือโคโรเอเดะผู้กำกับนั้นเจนจัดในการเล่าเรื่องมนุษย์ระดับจุลภาคให้อุ่นอวลแบบมีเนื้อหาอยู่แล้ว ต่อให้เขาจะอยู่ในสารบบผู้กำกับสายกวาดรางวัลโลกมาตั้งแต่ปี 1985 ก็ตาม

ในหนังซึ่งมีชื่อไทยว่า “ครอบครัวที่ลัก” โคโรเอดะใช้ทักษะของคนทำหนังสร้างศิลปะแขนงที่เจ็ดซึ่งอุดมด้วยเนื้อหาและอารมณ์อย่างที่สุด ความอาทรในครอบครัวถูกบอกเล่าคู่ขนานกับภูมิหลังที่สวนทางกับอุดมคติเรื่องครอบครัวจนเหลือเชื่อ และปลายทางของหนังอันซาบซึ้งคือคำถามว่าจริงหรือที่สายเลือดทำให้เกิดครอบครัวที่ดี

บทความนี้จะพูดถึงประเด็นสำคัญของหนังสองเรื่องคือครอบครัวในอุดมคติกับสังคมสมัยใหม่ที่ครอบครัวซึ่งบิดเบี้ยวจากอุดมคติคือองค์ประกอบหลักของสังคม

วาทกรรมครอบครัว : ข้ออ้างในการปกป้องพ่อแม่ไม่ดี
เราทุกคนถูกปลูกฝังว่าเด็กๆ อยู่ไม่ได้หากปราศจากครอบครัว และถึงแม้ครอบครัวจะจำเป็นต่อการเติบโตของเด็กทางกายภาพ หรือแม้แต่ต่อการพัฒนาช่วงปฐมวัยด้านอื่นๆ แต่ละครอบครัวก็มีความสามารถในการดูแลเด็กต่างกัน ไม่ต้องพูดถึงครอบครัวและพ่อแม่มหาศาลที่การดูแลเด็กหมายถึงแค่การไม่ปล่อยให้อดตายตามยถากรรม


ถ้านิยามครอบครัวแบบที่คนทั่วไปเข้าใจ หน้าที่ของครอบครัวย่อมได้แก่การเลี้ยงดูเด็กให้พ้นห้าขวบซึ่งสำคัญต่อการพัฒนาภาษาและการรับรู้ที่สุด นักประสาทวิทยาที่เห็นว่าเด็กวัยนี้ต้องการความเอาใจใส่จึงเสนอให้สังคมสนับสนุนพ่อแม่ด้านการเลี้ยงเด็กช่วงนี้ หาไม่สังคมก็อาจเผชิญความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ ในระยะยาว

สำหรับคนที่คิดแบบนี้ บทบาทของรัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อครอบครัวและการพัฒนาเด็กๆ สำคัญไม่ต่างจากการจัดงบสาธารณูปโภคประเภทถนน, รถไฟใต้ดิน ฯลฯ เพราะเป็นเรื่องซึ่งสาธารณะได้ประโยชน์จากกิจการซึ่งเอกชนแบกรับต้นทุนไม่ไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคิดถึงมาตรฐานด้านการทำให้เด็กเกิดพัฒนาการที่ดี

ตรงข้ามกับฝ่ายที่คิดว่าการสร้างสถาบันอย่างโรงเรียน, ศูนย์เลี้ยงเด็ก ฯลฯ คือนโยบายรัฐที่สำคัญที่สุด คนอีกกลุ่มเห็นว่าครอบครัวและพ่อแม่มีผลต่อพัฒนาการเด็กกว่าสถาบันเหล่านี้ บทบาทของรัฐจึงควรเป็นการสร้างระบบจ้างงานหรือสวัสดิการที่เอื้อให้พ่อแม่ดูแลลูกยิ่งขึ้นอย่างเพิ่มค่าแรง, วันหยุดลาคลอด หรือเงินอุดหนุนโดยตรง

พูดง่ายๆ หากอยากให้เด็กมีคุณภาพก็ต้องออกแบบระบบให้พ่อแม่มีชีวิตทางเศรษฐกิจที่ดีจนมีเงินทองส่วนเกินเหลือมากพอที่จะพัฒนาคุณภาพลูกๆ เพราะครอบครัวหรือพ่อแม่ที่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาเด็กกว่าประสิทธิภาพของสถาบันที่รัฐสร้างขึ้น บทบาทของรัฐจึงเป็นเรื่องการช่วยพ่อแม่ยิ่งกว่าทำอะไรเอง

เฉพาะในอเมริกา Arthur MacEwan จากสถาบันเศรษฐศาสตร์การเมืองของ University of Massachusetts ศึกษาข้อมูลที่ซับซ้อนจนพบว่าการทำให้การศึกษาปฐมวัยหรืออนุบาลเป็นสิทธิพื้นฐาน (Universal Right) พัฒนาเด็กด้านการรับรู้และทักษะสังคมได้ดีที่สุด และทั้งหมดนี้ส่งผลให้เกิดประชากรที่มีประสิทธิภาพในสังคมโดยปริยาย

แม้การให้รัฐลงทุนด้านเด็กจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นประโยชน์สาธารณะในระยะยาว ข้อเท็จจริงในหลายสังคมคือโดยส่วนใหญ่ของภาระในการดูแลเด็กเป็นของครอบครัวที่ให้กำเนิด จะเลี้ยงดูหรือไม่, ดูแลอย่างไร และทุ่มเทแค่ไหนจึงเกี่ยวกับความสามารถของครอบครัวในการแบกรับ “ภาระ” ต้นทุนทางเศรษฐกิจในการเลี้ยงดูโดยตรง

เมื่อใดที่รัฐผลักภาระในการดูแลเด็กให้เป็นของครอบครัวแทบทั้งหมด เมื่อนั้นรัฐกำลังปล่อยปละให้เด็กๆ เผชิญกับพ่อแม่ซึ่งไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะทำหน้าที่ดูแลลูกๆ ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

โดยทั่วไปครอบครัวในอุดมคติคือพื้นที่แห่งความรักของพ่อแม่ลูกที่เอ่อท้นด้วยความอาทร แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวในโลกจะเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ ซ้ำครอบครัวที่สมบูรณ์ก็ใช่ว่าจะแบกรับต้นทุนในการพัฒนาเด็กได้เต็มที่ การผลักเด็กให้เป็นเรื่องครอบครัวล้วนๆ จึงไม่ต่างจากการ exploit อุดมคติเรื่องนี้ไว้ปกปิดปัญหาที่เป็นจริง

สำหรับครอบครัวที่เปี่ยมล้นด้วยความพยายามดูแลลูกอย่างดี การยอมรับว่าลูกเป็นภาระคือสิ่งที่ขัดแย้งกับอุดมคติเรื่องครอบครัวอย่างถึงที่สุด แต่สำหรับครอบครัวซึ่งห่างไกลจากจากสภาพดังกล่าว วาทกรรมเรื่องครอบครัวในอุดมคติเป็นเสมือนผ้าคลุมที่ปิดบังไม่ให้สังคมเห็นปัญหาจนเปิดทางให้ครอบครัวสร้างปัญหาต่อไป

เนื้อในของอุดมคติเรื่องครอบครัวคือความเชื่อว่าผู้ให้กำเนิดจะเป็นพ่อแม่ที่ดี แต่ที่จริงจินตภาพเรื่องครอบครัวเป็นผลผลิตของสังคมแต่ละเวลา ขณะที่จินตนาการว่าครอบครัวคือพื้นที่แห่งความอาทรนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นตามยุคสมัย ความเชื่อว่าผู้ให้กำเนิดเป็นพ่อแม่ที่ดีจึงแทบไม่ต่างจากปราสาททรายที่มีรากฐานรองรับนิดเดียว

ถึงที่สุดแล้ว ครอบครัวที่ดีไม่มีทางสร้างขึ้นจากพ่อขี้เหล้าที่ไม่ทำงานทำการหรือแม่ที่ทุบตีลูกไม่หยุด และสังคมต้องไม่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เด็กๆ อยู่กับพ่อแม่แบบนี้ เพียงเพราะคติแบบชนเผ่าที่เป็นเหมือน “ยากล่อมประสาท” ว่าความผูกพันทางสายเลือดคือพื้นฐานของครอบครัวที่ดีในทุกกรณี
ญี่ปุ่นที่เห็นเละเทะกว่าญี่ปุ่นที่คิด

แม้ภาพยนตร์เรื่อง Shoplifters ซึ่งมีชื่อไทยว่า “ครอบครัวที่ลัก” จะมีผิวหน้าเป็นเรื่องความอบอุ่นของครอบครัวที่ประกอบด้วยคนสามรุ่นจากย่าสู่หลานซึ่งอยู่ร่วมกันในบ้านหลังน้อย แต่ทันทีที่ภาพและเสียงเริ่มทำงาน ผู้ชมจะค่อยๆ เห็นว่าโดยเนื้อแท้แล้วหนังเล่าเรื่องครอบครัวที่ผิดจากขนบความเข้าใจเรื่องครอบครัวโดยทั่วไป


ในระดับพื้นผิวที่สุด ตัวละครทุกรายในครอบครัวคือคนชั้นล่างซึ่งหาเลี้ยงชีพไปวันๆ โดยไม่มีงานที่มั่นคง ย่าอยู่ด้วยเงินจากลูกของอดีตผัวซึ่งจะหยุดให้เมื่อไรก็ได้ พ่อเป็นกรรมกรก่อสร้างที่ไม่ใช่พนักงานประจำ แม่คือลูกจ้างซักรีดซึ่งถูกลดชั่วโมงทำงานได้ตลอด ส่วนน้องสาวโชว์เซ็กส์ตามแขกเรียกในร้านที่ขายลูกค้ากลุ่มหื่นเด็กมัธยม

แน่นอนว่าหนังที่มีตัวละครแบบนี้ประหลาดในสังคมที่หนังและละครวนเวียนกับเรื่องหาผัวหาเมียของชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง แต่ในโลกที่หนังมากมายพูดถึงประกายไฟแห่งความอุ่นไอรักที่เจิดจ้าในครอบครัวคนจน เรื่องเล่าของตัวละครชั้นล่างเป็นเหตุผลที่เบาเกินกว่าจะทำให้หนังถูกพูดถึงจนกวาดรางวัลไปทั่วอย่างปัจจุบัน

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ โคโรเอเดะซึ่งเป็นผู้กำกับที่เจนจัดในการเชื่อมโยงสภาพสังคมกับเรื่องเล่าเล็กๆ ทำให้หนังชนชั้นล่างซับซ้อนขึ้นโดยผลักครอบครัวที่แสนอบอุ่นงอกเงยจากตัวละครซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดทั้งหมด ยิ่งกว่านั้นคือตัวละครพยายามธำรงให้ครอบครัวอยู่รอดโดยวิถีทางที่ขัดแย้งสิ้นเชิงกับศีลธรรมของสังคม


ทันทีที่หนังเริ่มเรื่อง ผู้กำกับทำให้ผู้ชมเห็นทันทีว่าพ่อในหนังพาลูกไปขโมยของมาให้คนในครอบครัวอยู่เป็นนิจ ที่น่าสนใจคือแรงจูงใจในการขโมยนั้นก้ำกึ่งระหว่างความจำเป็นในการดำรงชีวิตกับการสนองความอยากโดยไม่จ่ายเงิน จากนั้นเส้นทางของการลักเล็กขโมยน้อยก็เดินไปสู่จุดที่มีการทุบรถเพื่อเอาของไปขายต่ออย่างสมบูรณ์

นับตั้งแต่วินาทีแรกที่หนังเริ่มต้นจนปิดฉากลง Shoplifters ตรึงผู้ชมด้วยวิธีเล่าเรื่องที่เรียบง่ายซึ่งตัวละครที่ไม่ใช่ครอบครัวทางสายเลือดแท้ๆ กลายเป็นมือจรรโลงค่านิยมทุกอย่างในการดูแลเด็กๆ เพื่อสร้าง “ครอบครัวที่ดี” ด้วยเครื่องมืออย่างการลักเล็กขโมยน้อยและค้าของโจรโดยไม่มีฉากไหนแสดงให้เห็นความรู้สึกผิดแม้แต่นิดเดียว

พูดให้สั้นที่สุด ผู้กำกับญี่ปุ่นซึ่งได้รางวัลคานส์เป็นคนแรกใน ๒๑ ปี ทำหนังเรื่องนี้โดยตั้งโจทย์ยากและเล่นท่ายากอย่างยิ่งยวด ครอบครัวในอุดมคติถูกจรรโลงโดยคนที่โดยเนื้อแท้ไม่มีสายสัมพันธ์ทางสายเลือด ส่วนความอยู่รอดของครอบครัวมาจากการลักเล็กขโมยน้อยที่ผู้ที่ขี้ฉ้อโดยกมลสันดานจนสอนเด็กให้เป็นโจรเหมือนตัวเอง

เราอาจสรุปสั้นๆ ก็ได้ว่า Shoplifters ตั้งคำถามกับอุดมคติเรื่องครอบครัวโดยวิธีให้ครอบครัวในอุดมคติก่อร่างขึ้นบนองค์ประกอบพื้นฐานที่ทุกอย่างเป็นเรื่องของครอบครัวเลวๆ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบันจนกล่าวได้ว่า “ครอบครัวที่ลัก” เป็นหนังวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นในแง่มุมที่คนไม่เห็นอย่างแยบคาย

ในรายงานของหนังสือพิมพ์ไมนิอิชิชิมบุนช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่การลักเล็กขโมยน้อยตามร้านค้าต่างๆ มีมูลค่าแต่ละปีถึง 3,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 400,000 ล้านเยน โดยที่งานศึกษาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่นั่นระบุว่าความจนเป็นต้นตอของพฤติกรรมลักขโมยแบบนี้ที่ลุกลามเป็นพิเศษในหมู่คนชรา

เท่าที่สื่อญี่ปุ่นเคยรายงานข่าวแบบนี้ไว้บางส่วน ตำรวจญี่ปุ่นเขตคากาว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เคยจับกุมคนงานชั่วคราวอายุ 25 และเมียอายุ 26 จากความผิดที่ให้ลูกอายุ 6 ขวบขโมยของเล่นมูลค่า 89,000 เยน แล้วส่งต่อให้แม่ที่รออยู่นอกห้างซึ่งยื่นให้พ่อเอาไปขายต่อ ยิ่งกว่านั้นคือครอบครัวที่ถูกจับมีลูกสาวอายุ 2 ขวบอยู่อีกคน

ในเดือนมีนาคม 2558 ตำรวจโอซาก้าจับพ่ออายุ 36 และแม่อายุ 33 ข้อหาลักทรัพย์และบังคับให้ลูกชายวัย 12 และ 14 กับลูกสาววัย 9 ขวบ ช่วยกันขโมยเบ็ดจับปลามูลค่า 17,000 เยน โดยช่วงแรกพ่อปฏิเสธข้อกล่าวหาแล้วอ้างว่าลูกๆ ลงมือขโมยทั้งหมดก่อนที่ตำรวจจะพบหลักฐานจากกล้องวงจรปิดว่าพ่อแม่เป็นคนสั่งการจริงๆ

ในเดือนมีนาคม 2559 ตำรวจเขตไซตามะจับแม่และลูกเลี้ยงโดยทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่าสั่งให้ลูกชายอีกคนและลูกสาวอายุ 6 ขวบ ขโมยหุ่นยนต์และของเล่นอื่นๆ มูลค่ารวม 130,000 เยนเพื่อเอาไปขายแลกเงินสด จากนั้นแม่สารภาพกับตำรวจว่าสั่งให้ลูกๆ ขโมยเพราะหาเงินได้ไม่พอกิน

สำหรับการขโมยของตามห้างร้านโดยผู้สูงวัย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี เกี่ยวข้องกับการลักเล็กขโมยน้อยราว27.3% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าอเมริกาสองเท่าจนอาจมีผู้สูงวัยมีเผชิญปัญหานี้มากที่สุด ส่วนสัดส่วนของเด็กญี่ปุ่นที่ยากจนอยู่ที่ 1 ใน 6 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัญหานี้รุนแรงอย่างมีนัยยะสำคัญ

ที่จริงพฤติกรรมลักขโมยในสังคมไหนย่อมมากกว่าหัวขโมยที่ถูกจับได้ในทุกสังคม มูลค่าของการขโมยที่มหาศาลแสดงว่าญี่ปุ่นมีหัวขโมยมากกว่าที่คิด เรื่องเล่าที่ยิบย่อยใน “ครอบครัวที่ลัก” จึงเชื่อมโยงสถานการณ์จริงในสังคมที่น่าวิตก โดยเฉพาะการไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของครอบครัวที่บิดเบี้ยวจากอุดมคติเรื่องครอบครัวที่ดี

สัปดาห์หน้าจะคุยกันต่อถึงความเหนือชั้นของ Shoplifters ในการขยี้ความเชื่อเรื่องครอบครัวในฝันจนเป็นฝันร้ายของมนุษย์สายรักครอบครัว