สหรัฐเติมเชื้อ “วิกฤตค่าเงินตุรกี” เขย่าเศรษฐกิจโลก-สะเทือนตลาดหุ้น

“ตุรกี” กลายเป็นชื่อประเทศล่าสุดที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลก

ค่าเงินลีรา (Lira) ตกลงอย่างหนักมาตั้งแต่วันศุกร์ 10 สิงหาคม หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดฉากใช้มาตรการคว่ำบาตรทางการค้ากับตุรกี ด้วยการอนุมัติขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีอีกเท่าตัว โดยปรับขึ้นภาษีเหล็กนำเข้าเป็น 50% และอะลูมิเนียมอยู่ที่ 20%

หลังจากตุรกีปฏิเสธไม่ปล่อยตัว “แอนดริว บรุนสัน” บาทหลวงชาวอเมริกัน ที่ถูกควบคุมตัวมานาน 2 ปี ในข้อหาก่อการร้ายเกี่ยวโยงกับความพยายามทำรัฐประหารประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน

นักวิเคราะห์มองว่าค่าเงินตุรกีร่วงลงอย่างรุนแรงเพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจตุรกีที่กำลังเผชิญกับปัญหารอบด้านทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่เรื้อรัง และความเสี่ยงจากปัจจัยการเมืองกับสหรัฐที่เข้ามากระทบ

 

ประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ผู้นำตุรกี กล่าวโจมตีทางการสหรัฐอเมริกาว่า “แทงข้างหลัง” เนื่องเพราะมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ของตุรกีดิ่งแรง และสกุลเงินลีราตุรกีอ่อนตัวลงอย่างหนักอยู่ที่ 6.8 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐ

แม้ธนาคารกลางของตุรกีเข้าแทรกแซงแต่ก็ไม่เป็นผล ท่ามกลางความตึงเครียดทางด้านความสัมพันธ์ครั้งร้ายแรงที่สุดระหว่างชาติทั้งสอง

โดยค่าเงินตุรกีตกต่ำรุนแรงเป็นประวัติศาสตร์ อ่อนค่าลงถึง 38% ในรอบ 1 สัปดาห์ ทั้งยังสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักของตุรกีอย่างสหภาพยุโรป และส่งผลกระทบต่อค่าเงินในหลายประเทศทั่วโลก

การเปิดฉากเล่นงานตุรกีของสหรัฐครั้งนี้ถือเป็นการ “เติมเชื้อวิกฤตตุรกี” ปะทุหนักขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์และนักลงทุนเกรงว่าจะกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์ไปยังประเทศต่างๆ

เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจ “ตุรกี” อยู่ในภาวะง่อนแง่นอยู่แล้ว เผชิญปัญหาขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเวลา 33 ปี ขณะที่ต้นทุนการกู้ยืม (ดอกเบี้ยนโยบาย) ของตุรกีก็สูงถึง 17.75% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมพุ่งขึ้นถึง 15.85%

ดังนั้น นักลงทุนจึงกังวลว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้บริษัทเอกชนของตุรกีซึ่งกู้ยืมเงินต่างประเทศจำนวนมากในช่วงที่อสังหาริมทรัพย์เฟื่องฟู อาจไม่สามารถจ่ายคืนเงินกู้ทั้งสกุลดอลลาร์และยูโรได้ เพราะตัวเลขหนี้เพิ่มสูงขึ้นจากค่าเงินลีราที่อ่อนลง จึงพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกไป

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจตุรกีมีความเปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มีปัญหา “ขาดดุลแฝด” (Twin Deficit) โดยตุรกีอยู่ในภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการคลังพร้อมกัน เพราะมีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อนำไปผลิตสินค้าส่งออก ทั้งนำเข้าน้ำมันค่อนข้างมากทำให้ดุลการค้าขาดดุลอย่างต่อเนื่อง

โดยตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 5.6% ของจีดีพีในปี 2560 และการปรับเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐในช่วงก่อนการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน 2561 ก็ทำให้ตุรกีขาดดุลการคลังเกือบ 3.0% ของจีดีพี

อีกทั้งเศรษฐกิจของตุรกีพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศในระดับสูง และภาคธุรกิจก็ใช้เงินกู้ต่างประเทศสัดส่วนที่สูง ตัวเลขหนี้ต่างประเทศของตุรกีอยู่ที่ 4.7 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 53.7% ของจีดีพี

และ 1 ใน 4 เป็นหนี้ระยะสั้นที่มีโอกาสได้รับผลกระทบหากนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น

ต้นทุนการเงินของตุรกีปรับขึ้นอย่างรวดเร็วและอยู่ในระดับสูง ธนาคารกลางตุรกีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 8.0% ณ ต้นปี 2561 มาอยู่ที่ระดับ 17.75% เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวมาอยู่ที่ระดับเกือบ 22% ด้วยต้นทุนการเงินที่สูงขนาดนี้ อาจส่งผลต่อความสามารถชำระหนี้ของภาคธุรกิจตุรกี

อาจเรียกว่าสถานการณ์บางอย่างดูคล้ายกับช่วงก่อนเกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เช่นกัน

และด้วยเศรษฐกิจของตุรกีที่มีขนาดประมาณ 8.5 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1.1% ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกสรวมกัน ทำให้ประเด็นเสถียรภาพของตุรกีจึงมีน้ำหนักพอสมควรต่อสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า แม้สถานการณ์ของค่าเงินลีราของตุรกีจะคลายตัวลง แต่ปัญหาด้านเสถียรภาพยังคงอยู่ซึ่งอาจจะกระทบต่อค่าเงินลีราได้อีกในช่วงข้างหน้า

ขณะที่หนี้ต่างประเทศของตุรกีที่อยู่ในระดับสูงอาจสร้างผลกระทบต่อภาคธนาคารของยุโรปได้

 

ท่ามกลางความวิตกเศรษฐกิจตุรกีที่อาจลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในยูโรโซนที่มีความใกล้ชิดกันและเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญกับตุรกี ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบถ้วนหน้า

รวมทั้งตลาดหุ้นไทยเปิดตลาดวันแรกของสัปดาห์เมื่อ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา ปิดตลาดที่ 1695.35 จุด ลดลง 10.61 จุด มูลค่าซื้อขาย 5.42 หมื่นล้านบาท โดยที่นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิ 2,146.94 ล้านบาท

ขณะที่ราคาทองคำก็ดิ่งหลุด 1,200 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ โดยนายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการ บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด ระบุว่าราคาทองคำในตลาดโลกปรับลดลงต่ำกว่า 1,200 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ เป็นระดับราคาที่ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน

ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่ลุกลามขยายวงกว้างไปสู่ประเทศตุรกี และทิศทางราคาทองคำหลังจากนี้ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,175 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ สำหรับราคาทองในประเทศเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน เบื้องต้นประเมินว่าอยู่ที่บาทละ 18,600-18,700 บาท

“แม้ว่าตุรกีเอฟเฟ็กต์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ที่ตลาดทั่วโลกกังวลคือเอฟเฟ็กต์จากสงครามการค้าที่ลุกลามบานปลาย”

บทวิเคราะห์ของวายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ระบุว่าทองคำสูญเสียสถานะสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการดิ่งลงของค่าเงินตุรกีที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจตุรกี และลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในยูโรโซนที่มีการเกินดุลการค้ากับตุรกี

นอกจากนี้ การดิ่งลงของค่าเงินลีรา อาจทำให้ภาคธุรกิจตุรกีผิดนัดชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ สถานการณ์ดังกล่าว ได้กระตุ้นเม็ดเงินลงทุนให้ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง สะท้อนจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่กระแสเงินทุนไหลเข้าสกุลเงินดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ส่งผลต่อดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ

 

สําหรับประเทศไทย

แม้ว่าผลกระทบทางตรงมีไม่มาก เช่นที่นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิดกรณีเหตุการณ์ในประเทศตุรกี ความเชื่อมโยงทางการค้า การลงทุน และการเงินของไทยกับประเทศตุรกียังไม่สูงมาก ผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจึงอยู่ในวงจำกัด

อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ และช่องทางการส่งผ่านต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ถึงเวลานี้ทั่วโลกยังคงต้องจับตา “วิกฤตค่าเงินตุรกี” อย่างใกล้ชิดด้วยความกังวลว่าจะปะทุและกลายเป็น “โดมิโนเอฟเฟ็กต์” ต่อเศรษฐกิจยูโรโซนและสะเทือนถึงเศรษฐกิจโลกได้ด้วยเช่นกัน