ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 สิงหาคม 2561 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
ผู้เขียน | ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ |
เผยแพร่ |
อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กบเขียดไล่กินงู”
คำกล่าวนี้เป็นสำนวนโบราณของล้านนา แปลว่า กบและเขียดไล่กินงู ซึ่งเป็นปรากฏการณ์กลับตาลปัตรกับธรรมชาติ เปรียบเทียบว่า คนธรรมดาผู้ไม่มีอำนาจ หรือผู้ที่มีอำนาจน้อยสามารถเอาชนะผู้มีอำนาจมากได้
สำนวนนี้คนล้านนาพูดกันมานานนมเน เนื่องจากมีพุทธทำนายที่รู้กันทั่วไปในล้านนา
เช่น ที่จารึกในคัมภีร์ใบลาน ที่วัดป่าสักน้อย ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่ จารไว้เมื่อปี 2492 กล่าวว่า
เมื่อพระพุทธองค์นิพพานไปแล้ว 2,500 ปี จะเกิดปัญหา “หมากน้ำเต้าจักจม หมากหินจักฟู” หมาจิ้งจอกจักไล่กัดเสือ ช้างจะพากันกินถ่านไฟแดง คนใจบุญใจกุศลจะต้องหาบ แต่คนใจบาปจะเดินตัวเปล่า พ่อค้าจะอาสาออกศึก น้ำไม่ลึกจะพากันทำที่ว่ายน้ำเล่น กบเขียดจะไล่กินงู พญาครุฑจะเป็นบริวารของกาดำ หมาจิ้งจอกจะกินอาหารจากถาดทอง และราชสีห์จะเป็นบริวารของหมาจิ้งจอก
ทั้งยังมีอุปมาปรากฏในตำนาน หมากน้ำเต้าจม หมากหินฟู ของวัดดอกแดง ตำบลสง่าบ้าน อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่ โดยมีความตอนหนึ่งว่า
“…ฅนทังหลายฝูงเป็นน้อยก็มักแพ้ผู้เป็นใหญ่ ไพร่น้อยมักจูงใจแก่ฅนเมือง ก็อุปมาเป็นดั่ง กบเขียดไล่กินงู นั้นแล”
แสดงว่าสภาพบ้านเมืองในสมัยนั้นตกอยู่ในความเสื่อมถดถอยอย่างร้ายแรง
คนในสังคมเกิดความแตกสามัคคี
ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจใช้อำนาจตามอำเภอใจ
สังคมเกิดสับสนวุ่นวาย บ้านเมืองอยู่ในความไม่สงบ และผู้ปกครองไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้
เกิดความทุกข์ยากทั่วทุกหนระแหง ทำให้คนสามัญ ซึ่งไม่มีอำนาจอยู่ในมือตกเป็นฝ่ายเหนือกว่า และสามารถกำราบชนชั้นผู้ปกครองได้
ดังกบหรือเขียดที่ไล่เขมือบกินงู ฉันนั้น
ตรงกับคำกล่าวทั่วไปที่ว่า กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม
เมื่อนำมาเทียบกับสถานการณ์ในเชียงใหม่ปัจจุบัน
สังคมเสื่อมถอยไหม ถ้าดอยสุเทพซึ่งถือว่าเป็นดอยแห่ง “ศรีเมือง” ถูกละเมิดและถูกกระทำย่ำยีเกิดบ้านป่าแหว่ง
นั่นเท่ากับคนชั้นปกครอง ไม่เห็นหัวคนเมืองธรรมดาที่ปกป้องดอยแห่งความเคารพบูชา
และผู้ใหญ่พยายามบิดเบือนประเด็นไปต่างๆ นานา
คนในสังคมแตกความสามัคคีไหม…ใช่เลย ทุกวันนี้เป็นแบบที่เรารู้ๆ กันว่าคนแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย แตกแยกทั้งทางความคิดและอุดมการณ์
ผู้ปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจไหม ข้าราชการตกเป็นเครื่องมือของคนพาลหรือนักการเมือง แบบพญาครุฑจะเป็นบริวารของกาดำ…ก็ใช่อีก ห้ามชาวบ้านรุกป่า แต่ชนชั้นปกครองบิดเบือนกฎหมายและกระทำการนั้นเสียเองเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม
ผู้ปกครองใช้วิธีเจรจา และตระบัดสัตย์ ให้หมาจิ้งจอกกินอาหารในถาดทอง โดยคิดว่าวาจาจะแก้ปัญหาได้ ใช่หรือไม่
ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้เกิดความสับสนทั่วทุกหัวระแหง และยั่วยุความไม่พอใจในหมู่คนเมือง
สามัญชนจะไม่ยอม ผู้มีอำนาจจะดื้อแพ่ง บิดเบือน หากพลังธรรมชาติ น้ำป่า ดินถล่มนั้นยิ่งนับวันยิ่งรุนแรง และประนีประนอมไม่ได้
คอยดูไปก็แล้วกันว่า เรื่องราวการเคลื่อนไหวต้านป่าแหว่งครั้งนี้จะกลายเป็นตำนาน “กบเขียดไล่กินงู” อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ในล้านนา