งานของเพื่อน คู่มือกฎหมายจากเมียนมา

ผมเป็นนักเรียนกฎหมาย ที่ไม่ได้เอาดีในทางที่ตัวเองเรียนจบมา แม้ว่าจะเคยทำงานด้านนี้อยู่บ้าง แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นการไปเอาดีทางด้านนั้น

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ สถานที่เล่าเรียนตลอดระยะเวลา 4 ขวบปี ที่นั่น ผมพบกับความสุขในการเรียน การใช้ชีวิต และการมีเพื่อนที่เข้าใจ ภายใต้บริบทการใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงและแตกต่างกันมากๆในบางกรณี

เมื่อออกสู่โลกที่ท้าทาย ก็คือ การเริ่มต้น เป็นมนุษย์ อีกครั้ง

ใช่ครับเราย่างเข้าสู่จุดการเป็น “มนุษย์เงินเดือน” เหตุผลที่ใช้คำนี้ได้เต็มปาก เพราะในกลุ่มเพื่อนผมไม่มีใครเลยที่ทำงานแบบที่เรียกว่า เป็นนายตัวเอง หรือ ประกอบ ธุรกิจส่วนตัว

14875022_10207829085872149_2065298650_n

แทบจะทุกคนต่างมีเข็มทิศชีวิตตัวเอง มุ่งไปในสายงานด้านกฎหมาย ในหน่วยงานราชการบ้าง แบงก์ชาติบ้าง เป็นที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงานเอกชนก็มี หรือ เรียนต่อควบคู่กับการทำงาน เพื่อรอเวลาที่พร้อม แล้วจัดสรรตัวเองเข้าสอบเป็น ผู้พิพากษา อัยการ บางคนออกจากงานกฎหมาย ไปเรียนต่อเมืองนอกอัพความรู้ สั่งสมประสบการณ์ รอเวลาใช้ความรู้กันอีกที

เพื่อนสนิท ผมสามคน ทำงานอยู่ในสำนักงานกฎหมายเอกชนแห่งหนึ่ง เป็น Law firm (ลอว์ เฟิร์ม)

ถามว่ามันคืออะไร? ตอบแบบเท่าที่รู้ครับ ลอว์ เฟิร์ม คือ ที่ปรึกษากฎหมาย หรือ สำนักงานกฎหมายที่ให้คำปรึกษา หรือ ให้บริการลูกค้า และลูกความ ที่ส่วนมากจะเป็นลูกค้าชาวต่างชาติ คนไทยก็มีมากไม่แพ้กัน

โดยลอว์เฟิร์มในประเทศไทยนั้นมีทั้งแบบที่เป็นสาขาของลอว์เฟิร์ม จากต่างประเทศและแบบที่เป็นลอว์เฟิร์มที่ตั้งขึ้นเองในประเทศไทย มีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก แล้วก็มีที่เป็นของไทย แตกไลน์ขยายสาขาไปยังต่างประเทศแล้วก็มี

14805387_10207829086192157_1940621708_n

บรรทัดนี้จะอวยงานของเพื่อน ขอเตือนก่อนล่วงหน้า (ฮา) แต่ว่ามีดีให้อวยครับ เพื่อนสามคนที่ว่ามานั้น เมื่อเรียนจบใหม่ ไปสมัครเข้าทำงานในลอว์เฟิร์ม แห่งหนึ่ง ชื่อว่า สำนักกฎหมายสากล สยามพรีเมียร์ จำกัด เรียกกันง่ายๆในวงการ ว่า “สยามพรีเมียร์” ครับ ไม่มีใครในแวดวงที่จะไม่รู้จัก เฟิร์มแห่งนี้ เพื่อนคนแรกสมัครแล้วได้เริ่มต้นทำงานที่นี่เป็นคนแรก ทำได้ไม่ไม่นานก็มีอันต้องออก

ไม่ได้ออกจากงานนะครับ แต่ออกจากไทย เพราะถูกส่งไปประจำที่ออฟฟิศใหม่ เป็น สำนักกฎหมาย ที่เปลี่ยนชื่อต่อท้าย จาก สยามพรีเมียร์ มาเป็น เมียนมาพรีเมียร์ จากนั้น เพื่อนอีกสองคนก็ไปสมัคร ทำงานที่นี่ และ ตามไปประจำการที่ออฟฟิศในย่างกุ้ง ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเยียนมาแล้ว

สัปดาห์ก่อน ผมนัดเจอเพื่อนคนหนึ่ง ที่ยังประจำการเป็นกำลังหลัก อยู่ที่ เมียนมาพรีเมียร์ เพราะ อีกสองคนขอออก ออกอีกแล้ว! ใช่ครับ ออกไปอัพความรู้เป็นหนุ่มเมืองผู้ดี ที่ลอนดอน กับ ไปเป็นหนุ่มลียง ที่ฝรั่งเศส เพื่อนเล่าว่ากำลังจะมีการเปิดตัวหนังสือ ที่เกี่ยวกับการลงทุนในเมียนมา จัดทำโดย ออฟฟิศ มันเอง (ใช้คำซี้ๆประสาเพื่อนคงไม่ว่ากันนะครับ) ชื่อหนังสือ Myanmar Legal Handbook for Investors หรือ คู่มือกฎหมายการลงทุนในประเทศเมียนมา ผมคิดว่าเป็นเล่มที่พิเศษมากๆต่อผู้สนใจที่จะไปลงทุนในประเทศนี้

14805573_10207829086272159_568911773_n

กล่าวคือ หากเราได้ติดตามข่าวสาร เมียนมาได้นำตัวเองออกจากการเป็นประเทศที่เข้าถึงยาก มาสู่โลกประชาธิปไตย ที่เปิดรับโอกาสอันสำคัญในการพัฒนาประเทศ บรรดานักลงทุนจากทั่วโลก หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในรอบหลายปี เพราะ เมียนมา มีความพร้อมในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และ เป็นผลมาจากการปฏิรูประบบการเมืองการปกครองอย่างที่กล่าวมา อีกทั้ง ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

ข้อสำคัญที่ผมบอกว่า หนังสือ เล่มนี้พิเศษ คือ ได้รวบรวมเอาข้อกฎหมาย ที่นักลงทุนพึงรู้ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ และการส่งดอกผลจากการลงทุนกลับคืนสู่นักลงทุน ตลอนจนสิทธิประโยชน์ และข้อห้ามข้อจำกัดต่างๆที่กฎหมายของประเทศเมียนมาบัญญัติไว้ โดยรวบรวม และเรียบเรียง ในรูปแบบที่เหมาะสมต่อนักลงทุนทั่วไป เรียกว่า ให้เป็น “คู่มือประกอบการตัดสินใจ” ลงทุนในประเทศเมียนมา

ยกตัวอย่างเรื่อง โทรคมนาคมและระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมในเมียนมา ที่ถือว่ายังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งภายหลังเปิดประเทศก็มีผู้ที่ต้องการใช้บริการเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในเมืองใหญ่ อย่างย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2556 กิจการด้านโทรคมนาคมถือเป็นกิจการที่รัฐบาลเมียนมาสงวนไว้เป็นกิจการของรัฐเท่านั้น มีหน่วยงาน MPT ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมแต่เพียงผู้เดียว

ส่งผลให้การบริการยังไม่ครอบคลุม รัฐบาลแก้ปัญหาโดยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม ในปี 2556 กระทรวงสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ชื่อเดิมในขณะนั้น) ได้ออกใบอนุญาตให้ บริษัท Telenor จากประเทศนอร์เวย์ และ บริษัท Ooredoo จากประเทศกาตาร์ ให้เข้ามาเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ต เป็นระยะเวลา 15 ปี เป็นต้น

14874961_10207829087312185_627447339_n

นักอ่านทั่วไป ที่อาจไม่ได้สนใจการลงทุน ยังสามารถอ่านเอาความรู้ ศึกษาบริบทสังคม เศรษฐกิจการเมืองของเมียนมาได้ เพราะ ไม่ได้มีแต่เรื่องกฎหมายเท่านั้น แต่ได้นำเสนอสภาพทั่วไปของบ้านเมืองเมียนมา ไปพร้อมๆกัน รวมทั้ง ระบบกฎหมาย ระบบศาล โครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน ที่ดิน การเข้าไปประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การส่งเสริมการลงทุน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเงิน การธนาคาร การนำเข้าสินค้าและการส่งออก การจ้างแรงงาน การเข้าเมืองและการทำงานในประเทศเมียนมา ระบบภาษีการประกันภัยและธุรกิจประกันภัย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ และ การระงับข้อพิพาทนอกศาล

ถ้านึกไม่ออกว่า ไปเมียนมา แล้วควรจะรู้อะไรเกี่ยวกับข้อปฏิบัติ กฎเกณฑ์บ้านเมืองเขา เล่มนี้ก็น่าสนใจอยู่มากทีเดียว นึกไม่ออกว่า จะมีคนที่เอาประสบการณ์จริง คลุกคลีกับการทำงานที่นั่น มาเขียนไว้กันสักกี่คน อันนี้จึงเป็นของดีอีกข้อหนึ่ง ที่ควรรับหนังสือเล่มนี้ไว้พิจารณา

หลายคน พอเห็นหนังสือกฎหมาย ต้องอนุมานในใจไว้ก่อนแน่ๆ ว่ามันต้องมีแต่เลขมาตรา ตัวบท สำหรับเล่มนี้ก็ไม่ขนาดนั้นนะครับ

เพราะในรายละเอียดลึกๆ หรือหากต้องการลงทุนอย่างจริงจัง ท่านก็ต้องมีที่ปรึกษาที่เป็นตัวเป็นตน เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกจะง่ายกว่า และต้องเป็นสำนักงานที่ไว้วางใจได้อีกด้วย “เมียนมาพรีเมียร์” จึงการันตีคุณภาพได้ด้วยหนังสือเล่มนี้ เหมือนกัน

14813700_10207829086472164_303324592_n

ในส่วนท้ายสุดของหนังสือเล่มนี้ ได้เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามของผู้เขียนไว้ทั้งหมด หากมีเหตุสงสัย หรือ ใครคิดจะไปลงทุนแล้วยังไม่มั่นใจ นอกจากศึกษาจากเล่มนี้แล้ว ท่านยังสามารถ ส่งอีเมลล์ไปสอบถามพูดคุยได้เป็นรายบุคคล (ตรงนี้คิดว่าเขาคงจะสละเวลามาตอบครับ ไม่งั้นคงไม่ให้ไว้) เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าท่านจะได้คำตอบที่เดินไปสู่ความสำเร็จอย่างราบรื่นแน่นอน อยากได้เป็นเจ้าของ ตามลายแทงเบอร์โทรศัพท์นี้ไปครับ 02-646-1888

จริงๆแล้ว หนังสือเล่มนี้จัดกิจกรรมเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อนผม บินกลับมาจากเมียนมา เพื่อเตรียมตัวขึ้นเวที คืนนั้นใช้เวลาเลคเชอร์ เตรียมพร้อมในการพูดอยู่นาน ล่วงเลยจนเข้าวันใหม่

ไม่นับเรื่องราวที่เราคุยกันต่อ หวนให้นึกย้อนถึง วัน เวลา เก่าๆ ที่มีปัจจุบัน เป็นข้อเท็จจริง ยืนยันว่า เพื่อนได้เดินมาถึงจุดไหน และ เพื่อนมีความตั้งใจต่องานที่ตัวเองรักมากขนาดไหน

ผมคิดว่าเราทุกคนก็จะพลอยยินดีกับความสำเร็จของเพื่อน อย่างที่ผมเตือนไว้แต่แรกไงครับ ว่านี่คือ การอวยงานของเพื่อน ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ (ฮา)

14022283_648665238617506_8400545567670091164_n

หมายเหตุ : ภาพถ่าย ทั้งหมด ถ่ายในย่างกุ้ง เมื่อผู้เขียนได้ไปเยือน