สุจิตต์ วงษ์เทศ / เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ลูกทุ่ง ‘ร้องเนื้อเต็ม’ แบบเพลงดนตรีสมัยอยุธยา

เพลงไทยสากล ตรงกับร้องเนื้อเต็ม เป็นจุดเริ่มต้นของเพลงทั้งหมดก่อนแยกเป็นเพลงลูกทุ่งกับเพลงลูกกรุง คำรณ สัมบุญณานนท์ อายุ 37-40 ปี ช่วงระหว่าง พ.ศ.2500-2504 โดยประมาณ ภาพนี้น่าจะเป็นช่วงที่ร้องเพลงไทยสากล (ก่อนเรียกเพลงลูกทุ่ง) อยู่ในวงดนตรีกรุงเทพแมมโบ เพราะหลังจากนั้น พ.ศ.2506 เริ่มป่วยด้วยโรคปอดบวม เป็นนักร้องรับเชิญบ้าง จนถึง พ.ศ.2509 ก็เงียบหายไปจากวงการ มีข่าวอีกครั้งก็เสียชีวิต 30 กันยายน พ.ศ.2512 อายุ 49 ปี (ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=LqCoChEjRQg บรรยายโดย ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต)

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?

ลูกทุ่ง ‘ร้องเนื้อเต็ม’

แบบเพลงดนตรีสมัยอยุธยา

 

เพลงลูกทุ่งมีกำเนิดและพัฒนาการจากเพลงไทยสากล ด้วยเครื่องดนตรีสากล (ของฝรั่ง) ร่วมกันกับเพลงลูกกรุง
ดังนั้น เพลงลูกทุ่งกับเพลงลูกกรุงจึงมีความเป็นมาร่วมกัน จนหาความแตกต่างไม่พบ หรือเกือบไม่มี
กำเนิดและพัฒนาการนี้มีขึ้นโดยสามัญชนในเมือง แล้วกระจายสู่ชนบทด้วยการสื่อสารคมนาคมแผนใหม่ ในขณะเดียวกันก็ดูดกลืนรูปแบบร้องรำทำเพลงของชาวบ้านในชนบทมาไว้เป็นของตน เพราะตลาดมีผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยเป็นคนในเมืองและในชนบท
[สรุปจากบทความ “เพลงลูกทุ่งในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 6 ฉบับที่ 6 เมษายน 2528 หน้า 95-100]

ลูกทุ่งร้องเนื้อเต็มแบบอยุธยา

เพลงลูกทุ่ง สืบทอดมรดก “ร้องเนื้อเต็ม” จากขนบเพลงดนตรีสมัยอยุธยา
ทั้งนี้ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่ไม่สืบทอดจารีตสมัยรัตนโกสินทร์ที่ผู้ดีกระฎุมพีนิยมร้องรับเพลงเถา “เอื้อนมากลากยาว”
ทุกวันนี้น่าประหลาดมหัศจรรย์ ระบบการศึกษาไทยครอบงำสังคมให้ยกย่องร้อง “เอื้อนมากลากยาว” เป็นแบบฉบับความเป็นไทยทั้งประเทศ แล้วตัดทิ้ง “ร้องเนื้อเต็ม” อย่างไม่ไยดี จนปัจจุบันเกือบไม่มีใครรู้จัก
ร้องเนื้อเต็มกับร้องรับเพลงเถา มีลักษณะต่างกันดังนี้

1. ร้องเนื้อเต็ม

ร้องเนื้อเต็ม หมายถึง ร้องตามสบายพร้อมกับดนตรีบรรเลงทำนองเคล้าคลอควบคู่กันไป (บางทีเรียกทำลำลอง) ตั้งแต่ต้นจนจบเพลง น่าจะมีพัฒนาการจากขับลำดั้งเดิมของกลุ่มคนตระกูลไต-ไท หลายพันปีมาแล้ว เช่น ขับซอยอยศ คลอด้วยเครื่องเป่า หรือเครื่องดีด, ลำผีฟ้า คลอด้วยแคน ฯลฯ
จึงกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับร้องเพลงไทยสากล ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงลูกกรุง ซึ่งน่าจะเป็นวัฒนธรรมสากลร่วมกันทั้งโลก
ร้องเนื้อเต็มมี 2 แบบ ได้แก่ แบบหลวง และแบบราษฎร์
แบบหลวง คำร้องแต่งเป็น “กลอนเพลง” ไม่กำหนดตายตัวจำนวนคำ [กลอนแปดแบบสุนทรภู่ มีกำหนดจำนวนคำ มีวรรคละ 8 คำ]
หลักฐานมีอยู่ในบทมโหรีกรุงเก่า เรียกทั่วไปว่า ร้องมโหรี เช่น เพลงนางนาค, เพลงพระทอง, เพลงเหรา, เพลงน้ำลอดใต้ทราย เป็นต้น
[มีงานวิจัยสำคัญมากเกี่ยวกับเพลงดนตรีบรรเลงร้องเนื้อเต็ม โดย ศาสตราจารย์พงษ์ศิลป์ อรุณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว]
แบบราษฎร์ เป็นเพลงร้องเล่นของชาวบ้าน อาจมีหรือไม่มีเครื่องดนตรีบรรเลงกำกับก็ได้ ถ้าจะมีก็เป็นเครื่องตีน้อยชิ้น เช่น ตีเกราะเคาะไม้, ตีกลอง เรียกโทนหรือกลองโทน เป็นต้น
ถ้าไม่มีเครื่องมืออะไรเลยก็ใช้ปรบมือให้จังหวะทำนอง ซึ่งทางดนตรีไทยของราชสำนักรับไปปรับใช้เรียก “ปรบไก่”
ร้องเนื้อเต็มแบบราษฎร์มีทั่วทุกภาคของไทย (และคงมีทั่วไปภาษาใครภาษามัน ทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์) ดังนี้
ภาคกลาง เช่น เพลงเจ้าการะเกด, เพลงแม่สี, เพลงเทพทอง, เพลงนางแมว ฯลฯ ภาคเหนือ เช่น ปี่ซอ หรือขับซอ ฯลฯ ภาคใต้ เช่น โนรา, หนังตะลุง ฯลฯ ภาคอีสาน เช่น หมอลำ ฯลฯ

2. ร้องรับเพลงเถา

ร้องรับเพลงเถา เพิ่งมีราวร้อยปีกว่าๆ มานี้เอง หมายถึง ร้องก่อน แล้วดนตรีบรรเลงรับ (เรียกร้อง-รับ) เป็นลำดับสลับกันไปจนกว่าจะจบ ซึ่งมีอย่างน้อย 3 ระดับ ต่างกันในความช้า-เร็ว เรียก สามชั้น (ช้า), สองชั้น (ปานกลาง), ชั้นเดียว (เร็ว)
ทั้งหมดเรียก เพลงเถา เป็นคำยืมจากคำเรียกภาชนะหรือสิ่งของจำพวกเดียวกันที่เริ่มจากใหญ่, กลาง, เล็ก เรียกว่า เถา
ร้องเพลงเถา มีลักษณะเฉพาะ 2 ประการเป็นอย่างน้อย ได้แก่ เอื้อนมากลากยาว กับ ซอสามสายคลอร้อง
เอื้อน มีต้นแบบจากลูกคอและทำโหยหวนตามประเพณีขับลำของคนในตระกูลภาษาไต-ไท แถบลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ต่อเนื่อง มีขึ้นเพราะคำร้องสั้นๆ แต่ทำนองยาว ต้องเพิ่มเอื้อนตรงคำร้องที่กำหนดให้ยาวพอดีทำนอง
ซอสามสายคลอร้อง ตกค้างจากร้องเนื้อเต็มแบบหลวงตามประเพณีมโหรีสมัยอยุธยา (ที่บอกมาก่อนแล้ว)
เพลงเถามีร้อง-รับเป็นประเพณีเพิ่งสร้างใหม่โดยผู้ดีกระฎุมพีคนชั้นนำ ที่รับแบบแผนดนตรีตะวันตกมาปรับปรุงดนตรีพิธีกรรมตามประเพณีที่มีมาแต่เดิม ให้เป็น “ดนตรีเพื่อฟัง” แบบฝรั่ง แล้วกำหนดเป็น “ดนตรีไทยแบบฉบับ” ของความเป็นไทย (ที่เพิ่งสร้าง) เริ่มมีครั้งแรกราว พ.ศ.2400
[มีอธิบายเพิ่มเติมอีกมากในหนังสือ ดนตรีไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 134-143]
ดนตรีไทยแบบฉบับและร้องรับเพลงเถา (ไม่สอดคล้องวัฒนธรรมสากล) เป็นปฏิปักษ์ต่อวัฒนธรรมป๊อปที่แพร่พลังเข้าถึงไทย ราวหลัง พ.ศ.2470 ส่งผลให้มีคำว่า “ไทยเดิม”
ดนตรีไทยแบบฉบับถูกเรียกใหม่ว่า “ดนตรีไทยเดิม” การร้อง-รับเพลงเถาเรียก “ร้องเพลงไทยเดิม” เพื่อแช่แข็งแสดงตัวตนต่างจากดนตรีไทยสากล และร้องเพลงไทยสากล ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างยิ่งตอนนั้น