วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย / เสถียร จันทิมาธร /ฝ่ามือ กำสรด วิญญาณสลาย (151)

เสถียร จันทิมาธร

วิถีแห่งอำนาจ เอี้ยก่วย / เสถียร จันทิมาธร

ฝ่ามือ กำสรด วิญญาณสลาย (151)

การต่อสู้ระหว่างเอี้ยก่วยกับจิวแป๊ะทงดำเนินไปอย่างมีพัฒนาการ จากที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 แขนกับแขนข้างเดียวเข้าสู่การต่อสู้ระหว่างแขน 1 กับอีกแขน 1
จิวแป๊บทงแม้สู้ด้วยมือข้างเดียวแต่กระบวนท่าเลิศล้ำพิสดาร
ที่ว่าพิสดารนั้นมิใช่จากมุมมองของก๊วยเซียง หากแต่เป็นเอี้ยก่วย ยิ่งสู้ยิ่งรู้สึกว่ายากจัดการจิวแป๊ะทงได้
ชั่วพริบตาผ่านไป 20 กว่ากระบวนท่า
เอี้ยก่วยหวนนึกคำนึงถึงตัวมันเอง แม้มีเพียง 1 แขนแต่ก็อยู่ในวัยฉกรรจ์กลับหักล้างกับชายชราอายุเกือบ 100 ปี 100 กว่ากระบวนท่ายังไม่สามารถเอาชัย อย่างนั้น 10 กว่าปีที่เคี่ยวกรำฝึกฝีมือมาจะนับเป็นความสำเร็จอันใดเล่า
รู้สึกว่าในเพลงหมัดอันจิวแป๊ะทงใช้ออกเพิ่มพลังแกร่งกร้าวทีละน้อย ทีละน้อย ผิดแผกแตกต่างกับแนวทางอ่อนหยุ่นของเพลงหมัดสูญจำรัส
พลันนึกถึงคัมภีร์นพยม หรือที่จำลอง พิศนาคะ เรียกว่าคัมภีร์เก้าอิมซึ่งจารึกอยู่บนผนังศิลาในสุสานโบราณ ภูเขาจงน้ำ กระบวนท่าที่จิวแป๊ะทงใช้ออกในตอนนี้เป็นวิชาหนึ่งซึ่งจารึกอยู่ในคัมภีร์ภายใต้นาม “เพลงหมัดกำราบมาร” (ฮกม้อคุ้งฮวบ)
ภายใต้รัศมีพลังหมัดเป็นอานุภาพเอี้ยก่วยจึงตวาด
“เพลงหมัดกำราบมารมีอันใดน่าอวดอ้าง ท่านใช้ 2 มือออกโดยพร้อมเพรียงลองรับวิชา ‘ฝ่ามือกำสรดวิญญาณสลาย’ (อ่ำเยี้ยงเซียวฮุดเจี้ย) ของข้าพเจ้าดู”
ชื่อของวิชาฝ่ามือนับว่าน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง

กิมย้งบรรยายตามสำนวนแปล น.นพรัตน์ ว่า จิวแป๊ะทงได้ยินเอี้ยก่วยระบุชื่อเพลงหมัด “กำราบมาร” ได้ก็งงงันวูบหนึ่ง พอได้ยินเอี้ยก่วยบอกว่า จะใช้ “ฝ่ามือรันทดวิญญาณสลาย” อันใด สร้างความประหลาดใจกว่าเดิม
คนผู้นี้ชมชอบวิชาการต่อสู้ตั้งแต่เล็ก รับทราบวิชาฝีมือของค่ายสำนักต่างๆ อย่างกว้างขวาง แต่วันนี้เพิ่งได้ยินชื่อ “ฝ่ามือกำสรดวิญญาณสลาย” เป็นครั้งแรก
เห็นเอี้ยก่วยยกมือข้างเดียวไพล่หลัง ทอดสายตามองไกล ปล่อยฝีเท้าเลื่อนลอย ทรวงอกเปิดกว้างออก
ท่วงท่าทั้งหมด ตรงกันข้ามกับ “ข้อห้าม” ของ “วิชาบู๊”
จึงสืบเท้าไป 1 ก้าว มือซ้ายเปลี่ยนเป็นฝ่ามือกดประทับ หลอกล่อ โดยมีเจตนาหยั่งดู เอี้ยก่วยคล้ายไม่รู้สึกตัว หาแยแสสนใจไม่
จิวแป๊ะทงจึงร้องเตือน “ระวัง”
พลางต่อยหมัดใส่ท้องน้อยเอี้ยก่วย ด้วยเกรงว่าจะทำร้ายฝ่ายตรงข้าม หมัดนี้ใช้พลังเพียง 3 ส่วน หาคาดไม่ว่าหมัดเพิ่งกระทบถูกร่างเอี้ยก่วยพลันรู้สึกว่ากล้ามเนื้อที่ท้องน้อยของเอี้ยก่วยเต้นระริก
พร้อมกันนั้นทรวงอกยุบเข้าด้านในแล้วดีดกระดอนออก

เมื่อเผชิญประสบเข้าเช่นนั้นจิวแป๊ะทงใจหายวาบ รีบกระโดดหลบไปด้านซ้าย หวนนึกถึงยอดฝีมือชาวบู๊ลิ้มยุบทรวงอก บังคับท้องน้อยจมลง ใช้หลบเลี่ยงกระบวนท่าศัตรู
ความจริงเป็นเรื่องปกติธรรมดา
แต่การบังคับกล้ามเนื้อเพื่อทำร้ายผู้คนเช่นนี้จิวแป๊ะทงกลับไม่เคยได้ประสบมาก่อน ดังนั้น สะกิดต่อมความสงสัยอยากรู้ขึ้นจนต้องตวาดถาม
“นี่เป็นวิชาฝีมืออันใด”
“นี่เป็นกระบวนท่าที่ 13 ใน ‘ฝ่ามือกำสรดวิญญาณสลาย’ เรียกว่า ‘เนื้อเต้นใจสะท้าน’ (ซิมเกียเน็กเถี่ยว)” เป็นคำตอบอันรวบรัดจากเอี้ยก่วย
“ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ยินมา” เป็นเสียงพึมพำของจิวแป๊ะทง
“นี่เป็น 17 ท่าฝ่ามือที่ข้าพเจ้าบัญญัติขึ้นเอง ท่านย่อมไม่เคยเห็นมา” เมื่อเป็นคำตอบจากปากของเอี้ยก่วย
ทุกอย่างก็กระจ่าง สว่างแจ้ง
ไม่เพียงเป็นเรื่องราวอันยั่วเร้าความสนใจให้กับผู้คลั่งไคล้วิชาฝีมือระดับจิวแป๊ะทง หากเป็นเราๆ ท่านๆ ที่ติดตามเอี้ยก่วยมาอย่างต่อเนื่องก็บังเกิดอาการตื่นตะลึง
เท่ากับสะท้อน “พัฒนาการ” อย่างชนิดก้าวกระโดดของเอี้ยก่วย

ที่นำเอาการออกโรงอีกครั้งหลังจากหายไปเป็นเวลา 10 กว่าปีของเอี้ยก่วยมาบอกกล่าวเล่าขานอย่างค่อนข้างละเอียด
โดยเฉพาะเมื่อประสบพบเจอกับก๊วยเซียง
เป้าหมายของกิมย้งคือ ต้องการสะท้อนให้เห็นถึง “พัฒนาการ” ทางด้านวิชาฝีมือของเอี้ยก่วยเมื่อแยกร้างห่างจากเซียวเล้งนึ่งซึ่งสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นพัฒนาการจากสุสานกระบี่ เป็นพัฒนาการอันสัมพันธ์กับพี่อินทรีอย่างแนบแน่น
พัฒนาการนี้คือลักษณะรวบยอดสำหรับวิถีแห่งเอี้ยก่วย เป็นการประมวลประสบการณ์และความจัดเจนทุกอย่างมาเป็นรากฐาน