สู่ทรายเม็ดแรกที่แหลมผักเบี้ย

ตามท่านธัมมนันทาไปเดินทรายที่ทะเล ที่ใกล้ที่สุดใช้เวลา 2 ชั่วโมง ไปถึงหาดเจ้าสำราญค่ะ ที่ต้องรีบไปในช่วงนี้ (15-17 กรกฎาคม 2561) เพราะเราคบกับพระ พระท่านต้องเข้าพรรษา (28 กรกฎาคม) เราก็เลยต้องเคารพจังหวะเวลาด้วย

หาดเจ้าสำราญเงียบมากในช่วงที่เราไป ได้พักในจุดที่สงบ และเป็นกุฏิหลังเดี่ยว เรียกว่าลงตัวมาก

วันแรกเดินชายหาดบนทรายตามคำแนะนำของแพทย์ ได้ 7,200 ก้าว พระท่านก็ดีใจมาก ไม่ได้นับก้าวเองดอกค่ะ ในโทรศัพท์มีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยนับก้าวให้ ชีวิตปกติเดินได้ 3,000 ก็เก่งมากแล้ว แต่เขาแนะนำว่า อย่างต่ำควรทำให้ได้ 6,000 ก้าว

ตอนบ่ายออกไปเยี่ยมโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ (ร.9) แหลมผักเบี้ยที่อยู่ใกล้ๆ กันนั้นเอง

ถ้ามาจากกรุงเทพฯ เมื่อออกจากตัวจังหวัดเพชรบุรี ไปตามเส้นทางที่จะไปหาดเจ้าสำราญ ระยะทาง 15 ก.ม. ก่อนถึงหาดเจ้าสำราญ มีสี่แยกเล็กๆ ตรงไปเป็นหาดเจ้าสำราญ ถ้าแยกซ้ายจะไปที่โครงการนี้ค่ะ

ไม่ได้ศึกษามาก่อน นึกไม่ออกว่าเราจะไปเจออะไร

เลี้ยวมาไม่ไกลเราก็เห็นป้ายบอกทางเข้าโครงการอยู่ทางขวามือ

 

เรามาถึง 4 โมงเย็น รถที่จะนำชมโครงการเที่ยวสุดท้ายรอเราอยู่เลย หน้าตาเหมือนรถราง มีที่นั่งเปิดโล่งประมาณ 4 แถว

ตื่นตาตื่นใจ เพราะไม่รู้ว่าจะมาเจออะไร จึงไม่มีการคาดหวัง มาด้วยใจโล่งๆ รถออกไปแล้วค่ะ แต่ไปชะงักรอเราอยู่ เขาถอยรถกลับมารับเรา รีบขอโทษขอโพยผู้โดยสารที่นั่งอยู่บนรถที่ทำให้เขารอ เขาก็บอกว่า ดีแล้วที่เรามาขึ้นรถด้วยกัน เพราะมิฉะนั้นต้องรอเที่ยวต่อไปอีกครึ่งชั่วโมง พระดูแลเสมอ ก็ได้รับความสะดวกเช่นนี้แหละ

เราผ่านร้านขายของของโครงการ เสียดายว่าขากลับออกมาเขาปิดเสียแล้ว มีนกกระทุงเป็นหมอนวางอยู่ คือแอบมองทางกระจกค่ะ น่ารักจัง

เจ้าหน้าที่อธิบายว่า นกกระทุงจะมาเป็นฤดูกาล คงน่ารักพิลึกนะ

 

พอรถออก เราได้เห็นแปลงพืช ที่เป็นพืชใช้ในการบำบัดน้ำโดยธรรมชาติ ที่เห็นและจำได้ เป็นแปลงธูปฤๅษี ต้นสูงๆ และไม้อื่นอีกหลายอย่าง เขาปล่อยน้ำทะเลผ่านแปลงพืชต่างๆ นี้เพื่อให้ได้บำบัดน้ำโดยวิธีธรรมชาติ ประเสริฐจริง แล้วคืนน้ำสู่ท้องทะเล

แล้วเกิดอะไรขึ้น

น้ำสะอาด เป็นที่มาของสัตว์ พืชและต้นไม้ต่างๆ ที่อาศัยน้ำทะเล กลายเป็นจุดขายที่สำคัญของเพชรบุรี

ท่านผู้ว่าฯ เพชรบุรี น่าจะได้ทำการประชาสัมพันธ์จังหวัดให้มากกว่านี้นะคะ

เพราะบรรยากาศที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ นกเพิ่มจำนวนขึ้นมากทั้งจำนวนและความหลากชนิดค่ะ ทราบไหมคะว่า เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีนกนานาชนิดมากที่สุดในประเทศ บรรดาท่านที่นิยมดูนก เชิญเลยค่ะ ตรงนี้เป็นขุมทรัพย์จริงๆ

รถพาเราไปหยุดฟังการบรรยาย เริ่องการทำปุ๋ยธรรมชาติ เศษอาหารเหลือจากในครัว หากเรามีที่ดินสามารถบริหารจัดการได้เลยค่ะ ก่อนอื่นกรุณาแยกเศษอาหารออกจากบรรดาถุงพลาสติก เพิ่งดูคลิปจากไต้หวัน เวลาชาวบ้านเอาขยะไปทิ้ง ต้องแยกขยะที่จะกลับคืนเป็นปุ๋ยที่เขาเรียกว่า compost ลงใส่ถังเฉพาะ เราอาจจะใช้ลองที่เป็นลองส้วมขนาดใหญ่ซ้อนกันสัก 3 ชั้น ชั้นล่างใส่ทราย หนา 20 ซ.ม. เจาะรูเอาท่อพีวีซีใส่ไว้เพื่อให้น้ำปุ๋ยหมักออกมาเอาไปใช้งานได้

ใส่เศษอาหารลงบนระดับทรายที่ว่านี้ แล้วเกลี่ยข้างบนด้วยดินค่ะ สลับกับเศษอาหารจากโรงครัว

รดน้ำจากด้านบน นอกจากเราจะช่วยย่อยสลายเศษอาหารแล้ว เรายังได้น้ำหมักเอาไปใช้ทำความสะอาดในส้วมได้ค่ะ

เศษอาหารนั้นจะกลายเป็นปุ๋ยที่ดีที่เราจะใช้ปลูกพืชในบ้านได้ดี ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ใช้ความคิดแบบเดียวกันนี้ แต่ขุดหลุมใหญ่ใส่เศษอาหารจากโรงครัวทุกๆ วัน เอาดินเกลี่ยเป็นระยะ พอเต็มแล้วก็โกยดินปิด

3-4 เดือนผ่านไปจุดนั้นจะปลูกพืชงาม เราสลับขุดไปเรื่อยเลยค่ะ ไม่ช้าไม่นาน ดินที่ไม่มีสารอาหาร ก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้เราใช้งานได้อย่างดี

ปลูกพืชสวนครัวกินเองเป็นเรื่องจำเป็น เพราะอาศัยผักในท้องตลาดอันตรายจากสารพิษมากค่ะ

คุณหมอที่โรงพยาบาลในนครปฐมเล่าว่าท่านไม่กินผักคะน้า เพราะเขาฉีดยาตอนตีห้า ตอนเย็นตัดขายแล้ว ฟังแล้วก็เลยเกิดความมานะที่จะต้องจัดการกับการปลูกผักไว้กินเองอย่างเอาจริงเอาจังมากขึ้น

 

รถพาเราไปจอดที่ป่าโกงกาง มีทางเป็นสะพานไม้เดินเข้าไป ระยะทาง 800 เมตร สะพานไม้เป็นไม้หน้าสาม กว้างประมาณ 1 เมตร พอเดินสวนกันได้ พระท่านเดินตรงกลาง ตามรอยหัวตะปู เพราะกลัวไม้หน้าสามรับน้ำหนักไม่ได้ ก็เป็นความรอบคอบ เพราะกลางทางเราก็เห็นไม้กระดานหักจริงๆ ขาตกไปก็น่าจะเจ็บเอาการ

คนที่สวนมา เขาไปหาหอยกันค่ะ ที่แบกมา เขาว่า 3 โล เขาหามาครึ่งวัน เราเดินผ่านป่าโกงกางที่นอกจากโกงกางแล้วก็มีแสม ลักษณะพิเศษของไม้พวกนี้ เขาจะกระโหย่งรากขึ้นสูง น่าดูทีเดียว มองลงไปที่เลน มีปลาตีนวิ่งให้เห็น เมื่อไปสุดทางสะพานไม้ จุดนี้คือจุดขาย

คือ เป็นชายเลนที่เป็นแหลมลงไปในทะเล

เขาว่า ไปดูทรายเม็ดแรกของทะเลอ่าวไทย ก็ตรงนี้แหละ

คือตามชายทะเลที่ลงมาจากกรุงเทพฯ นั้น ชายทะเลเป็นเลนหมดค่ะ ในหลวง (ร.9) พระองค์ท่านจึงทรงสนพระทัยในเรื่องการอนุรักษ์ป่าชายเลน เพื่อรักษาแนวชายทะเล และรักษาสมดุลของธรรมชาติ

จากตรงแหลมที่ว่านี้ ฝั่งที่มาจากกกรุงเทพฯ เป็นเลน แต่จากตรงจุดแหลมผักเบี้ยนี้เป็นต้นไป ชายทะเลเริ่มเป็นทราย

หาดทรายที่ใกล้ที่สุดคือ หาดเจ้าสำราญ นั่นเอง ห่างไม่ถึง 10 ก.ม.

 

แหลมผักเบี้ยมีนกค่ะ หลายชนิดน่าดูมาก นกกระยาง นกกระสา และอื่นๆ ที่ว่า อื่นๆ คือไม่รู้จักชื่อ พื้นผิวน้ำกว้างใหญ่ เราไปยืนริมน้ำสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก ถ้าเราไม่นั่งรถรางมา เราก็ใช้ถีบจักรยานมาได้ค่ะ เห็นผู้ที่ไปเที่ยวเป็นกลุ่มๆ ถีบจักรยานผ่านมาให้เห็นอยู่

พูดถึงความงามของนกต่างๆ แล้วถ้าไม่พูดถึงเหี้ย ก็ยังพามาไม่ถึงแหลมผักเบี้ย

เดิมที่นี่เหี้ยเขาอยู่กันเยอะมาก เขาทำหน้าที่เทศบาลที่ดี จัดการกับขยะในธรรมชาติให้เรา ในหลวง (ร.9) พระองค์ท่านรับสั่งว่า “เขาอยู่มาก่อนเรา อย่าไปทำร้ายเขา” ด้วยรับสั่งนี้ เหี้ยอยู่กันสุขสบายมาก ที่เราเห็นเดินส่ายไปมาบนถนน รถก็รอค่ะ จนกว่าเขาจะข้ามถนนพ้น ที่เรียกว่าเดินส่าย เพราะเธอค่อนข้างอ้วน อิ่มหมีพีมันทีเดียว ขนาดน้องๆ ลูกจระเข้ แต่ตัวที่เราเห็นเป็นลูกจระเข้อ้วนด้วย

เราเรียกเขาเพราะๆ ว่า ตัวเงินตัวทอง จริงๆ ก็เหี้ยนั่นแหละ โดยธรรมชาติเขาเป็นสัตว์รักสงบ แต่พวกเราบางคนกลัวจนน้ำตาไหล

 

ขากลับออกมา มีคนขายสาหร่ายพวงองุ่นรอถวายพระอยู่ ที่นี่เขาขายกันโลละ 100 บาท ตอนที่ออกใหม่ๆ พวงงามๆ มีราคาสูงหลายร้อยทีเดียว

เป็นสาหร่ายน้ำทะเล จึงมีรสเค็ม รูปร่างขนาดไข่ปลาคาเวียร์ แต่เป็นพวงสีเขียว เขาจึงเรียกว่าสาหร่ายพวงองุ่น ที่เดิมมาจากโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่นค่ะ เวลากิน เอาวางบนก้อนน้ำแข็ง น่าจะทำให้กรอบขึ้น เขาให้น้ำจิ้มมาด้วย แต่เป็นน้ำจิ้มซีฟู้ด อาหารทะเล เผ็ดได้ใจเลยค่ะ เวลากิน เม็ดมันกรุบกรอบอยู่ในปาก น่าสนใจ ไม่ลองไม่รู้ มีสารอาหารที่มีค่าสูงมาก

เทคนิคที่ต้องรู้คือ ไม่มีการเอาไปต้ม คั่ว ผัด ทอด อย่างใดทั้งสิ้น กินสดค่ะ อาจจะอยากล้างน้ำเย็นๆ สักครั้งแล้วสรงขึ้นอย่างเร็ว อย่าเข้าตู้เย็น สาหร่ายมันเดี้ยงหมด ก็มันอยู่ในธรรมชาติคือทะเลนี่คะ

เคล็ดลับ สาหร่ายพวงองุ่นที่อื่นก็มีค่ะ ตรงไหนที่เป็นทะเลก็น่าจะปลูกได้ทั้งสิ้น แต่ต้องเป็นทะเลที่สะอาด และไม่มีตรงไหนเหมาะสมที่สุดเท่าที่แหลมผักเบี้ย เพราะจุดนี้น้ำทะเลได้รับการบำบัดจากโครงการแหลมผักเบี้ยนี้เอง

การปลูกสาหร่ายพวงองุ่นเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วยค่ะ คุณวราพรขายอยู่หน้าโครงการ เธออุตส่าห์เอาที่มาจากบ่อใหม่รอถวายพระ โมทนานะคะ

หลายคนยังไม่เคยเห็น ยังไม่เคยชิม วันนั้น กลับมาถึงวัตร เอาล้างน้ำแช่น้ำแข็ง แล้วขึ้นโต๊ะถวายพระเป็นงานแรกเลย

ยังชื่นชมในพระบารมีของในหลวง ร.9 ไม่วางวาย ระลึกถึงพระองค์ท่านสุดจิตสุดใจที่แหลมผักเบี้ย