ผู้นำ การเลือกตั้งและสัญญา ของ “ฮุน เซน” และ “กัมพูชา”

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“…อียูกำลังพิจารณาถอดถอนการไม่เก็บภาษีนำเข้าอุตสาหกรรมสิ่งทอจากกัมพูชา…”

“…ฮุน เซน ลอยตัวค่าแรงขั้นต่ำ 50% เพื่อชนะการเลือกตั้ง…”

 

ความย้อนแย้ง

โดยทั่วไป หากประเทศไหนผู้นำดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศได้นาน จะก่อข้อดีบางประการ ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องทางนโยบาย การพัฒนาสถาบันทางการเมือง

เช่น มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาชนมีความกระตือรือร้นตรวจสอบพรรคการเมือง การกล่อมเกลาทางสังคมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง สนใจนโยบายของพรรคการเมือง รัฐบาลและนโยบายสาธารณะต่างๆ ประชาชนแสดงออกทางการเมืองโดยเสรี เป็นต้น

แต่การดำรงตำแหน่งยาวนานของผู้นำในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในยุโรปบางประเทศกลับเป็นประเด็นเรื่อง ระบอบอำนาจนิยม (Authoritarianism) และขัดแย้งกับกติการะหว่างประเทศ

จนองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศชั้นนำต่อต้านทางการเมือง บอยคอตทางเศรษฐกิจ บางประเทศตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินของผู้นำอำนาจนิยมและบริวารที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน กีดกันชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์อื่นและผู้นำถือศาสนาที่แตกต่างออกไป

 

ความเป็นไปในราชอาณาจักรกัมพูชา

นอกจากเราจะเห็นถนนไฮเวย์ฝั่งตะวันตกของกรุงพนมเปญที่มีโรงงานสิ่งทอหลายร้อยแห่งเรียงรายกันแล้ว ใครๆ ก็รู้ว่า ผู้ใช้แรงงานโรงงานสิ่งทอซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ล้วนจะออกเสียงเลือกตั้งให้ท่านสมเด็จฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศต่อไป

อีกทั้งมีหลายคนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เอาไหนของพรรคฝ่ายค้านในราชอาณาจักรกัมพูชา

การเลือกตั้งในราชอาณาจักรกัมพูชาเกิดขึ้นแน่นอน แต่อยู่ในสภาพที่นักการเมืองฝ่ายค้านบางคนวางตัวเป็นนักการเมืองสมัครเล่น

และบางคนก็ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง

แต่ผลปรากฏเมื่อการลงคะแนนเสียงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา Sok Eysan โฆษกของพรรครัฐบาล Cambodian People”s Party แถลงว่า พรรคได้ที่นั่ง 100 ที่นั่งจากจำนวน 125 ที่นั่งในรัฐสภา มากขึ้น 68 ที่นั่งจากการเลือกตั้งคราวที่แล้ว1

แต่กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางการเมืองบอกว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “การออกเสียงล้มเหลวที่เป็นตัวแทนเจตจำนงของประชาชนกัมพูชา”2

ท่านนายกรัฐมนตรีฮุน เซน วางแผนต่อท่ออำนาจของเขาให้ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ อันนับเป็นการพิสูจน์ความจริงของผู้นำ Strongman ที่ยาวนานที่สุดของเอเชีย

โดยมองกันว่า การลงคะแนนเลือกตั้งสร้างเครดิตเพียงพอที่จะป้องกันการต่อต้านจากผู้ใช้แรงงาน และแน่ใจว่า ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ถอนสิทธิปลอดภาษีสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอของราชอาณาจักรกัมพูชา

เมื่อ 2 ทศวรรษก่อนหน้านั้น สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรสามารถใช้เงินทุนด้านความช่วยเหลือต่อราชอาณาจักรกัมพูชาจนเป็นการทำนุบำรุงให้ระบอบประชาธิปไตยฟื้นตัว หลังจากที่ระบอบพล พต (Pol Pot regime) ได้ล้างเผ่าพันธุ์ประชากรไปมาก

แต่หลายปีที่ผ่านมา สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เป็นผู้จ่ายรายใหญ่ ที่ให้เงินกู้ต่อทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งของภาครัฐและของภาคเอกชนมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ

นั่นเองทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีฮุน เซน กล้าหาญใช้การลงโทษร้ายแรงต่อนักการเมืองฝ่ายค้าน

แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่อาจหาญแท้จริงอันจะก่อความเสี่ยงในการทำลายภาคอุตสาหกรรมสำคัญ อุตสาหกรรมสิ่งทอที่เป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานอย่างเป็นทางการที่ใหญ่ที่สุดของราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งสนับสนุนเป็นสัดส่วนรวม 15% ของประชากร 16 ล้านคน

เดือนกรกฎาคมนี้ สหภาพยุโรปส่งผู้แทนไปราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อประเมินอีกครั้งหนึ่ง ในข้อตกลงของสหภาพยุโรปด้านปลอดภาษีอุตสาหกรรมสิ่งทอ ตัวแทนสหภาพยุโรปเน้นว่า ความรุนแรงสำคัญคลี่คลายในส่วนของสิทธิทางการเมืองและสิทธิการเลือกตั้ง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้การแซงก์ชั่นหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัยส่วนตัวของท่านฮุน เซน ในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนย้อนหลังไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1997

หลายคนมองว่า ประชาธิปไตยอาจไม่มีความหมายอะไรมากในราชอาณาจักรกัมพูชา แต่การแซงก์ชั่นทางการเมืองต่อบุคคลสำคัญของราชอาณาจักรกัมพูชาดังกล่าวเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ต่างประเทศสามารถใช้ได้

 

การขึ้นค่าแรงครั้งใหญ่

ท่านนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ผลักดันอย่างนุ่มนวลนานเป็นเดือนๆ กับโรงงานสิ่งทอที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงานผู้หญิงที่เคยเดินขบวนประท้วงในปี ค.ศ.2013 หลังจากที่มีการเลือกตั้ง ตอนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมากว่า ท่านนายกรัฐมนตรีฮุน เซน เสนอเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ $ 250 จนถึงปี ค.ศ.2023 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 50%

ดูไปแล้ว สิ่งนี้อาจช่วยให้ท่านผู้นำราชอาณาจักรกัมพูชาชนะการเลือกตั้งโดยไม่มีการเดินขบวนประท้วงเหมือนคราวที่แล้ว แต่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำได้เพิ่มความเสี่ยงและผลักภาระให้บริษัทต่างๆ ที่ผลิตเสื้อผ้าที่มียี่ห้อ เช่น Gap Inc. และ Hennes & Mauritz AB ย้ายไปผลิตที่ที่มีต้นทุนต่ำกว่า เช่น บังกลาเทศ สมาคมผู้ผลิตสิ่งทอในกัมพูชากล่าวว่า มีโรงงานมากกว่า 100 แห่งได้ปิดตัวลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะต้นทุนการผลิตแพงขึ้น

มีบางโรงงานสิ่งทอที่จ้างแรงงานประมาณ 700 คนในเมืองพระสีหนุ วิวล์ (Sihanoukville) เมืองชายฝั่งทะเลของราชอาณาจักรกัมพูชา ต่างเห็นว่า การเข้าตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังคงมีความสำคัญมาก

เมื่อ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีฮุน เซน แถลงใน Facebook ของท่านว่า3

“…เขาได้นำประเทศผ่านพ้นสถานการณ์อันตรายหลายอย่างในอดีต เพื่อรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคงและระเบียบทางสังคมและป้องกัน “color revolution” ทั้งภายในและนอกประเทศ…”

แต่สำหรับชาวกัมพูชา โดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน พวกเขาถือว่า นี่คือ “เจ้าคารม” หรือ “นักพูด” ซึ่งจะทำลายความชอบธรรมการเลือกตั้งอันจอมปลอมนี้ต่อไป4

 

ค่าแรง การเลือกตั้งและสัญญา

จริงๆ แล้ว มีคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า ราชอาณาจักรกัมพูชาประสบความสำเร็จในการเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเสื้อผ้า ที่ได้ประโยชน์จากค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน และอุตสาหกรรมสิ่งทอของราชอาณาจักรกัมพูชาได้ปรับเปลี่ยนเข้าสู่การผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับท่านผู้นำ แผนการการขึ้นค่าแรง ต้องการเพียงไม่ให้ประชาชนออกมาประท้วงบนท้องถนน แต่ผู้ใช้แรงงาน พวกเขาพอใจแผนการเพิ่มรายได้ของพวกเขามากกว่า ถ้าท่านผู้นำทำตามสัญญา

ชัยชนะจากการลงคะแนนเสียงถูกวิจารณ์จากโลกภายนอก การบอยคอยทางเศรษฐกิจยังไม่มีหลักประกันอะไรเลย แต่การรักษาสัญญาต่อประชาชนโดยการขึ้นค่าแรงสำคัญกว่าอย่างอื่น

ฟังแล้วคุ้นๆ นะ …เราจะทำตามสัญญา อีกไม่นาน…

———————————————————————————————————–
(1) James Hookway, “Cambodian Strongman Claims Victory in Election Widely Criticized as a Farce” Wall Street Journal 29 July 2018.
(2) “Cambodia hits back at criticism of “flawed” election, Hun Sen retains power” Reuters 29 July 2018
(3) Phil Heijmana, “Asia”s Largest-Serving Leaders Has Bigger Worries than the Election” Bloomberg 27 July 2018.
(4) Ibid.,