ยาแรงของสหรัฐ ต่อฮุน เซนและเลือกตั้งกัมพูชา

มีเรื่องชวนให้ติดตามกันต่อ หลังจากที่พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน กวาดที่นั่ง ส.ส.ทั่วประเทศ 125 ที่นั่งไปเรียบร้อยจากการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา

นั่นเป็นคำกล่าวอ้างของพรรคซีพีพี แต่ผลอย่างเป็นทางการต้องรอจนถึง 15 สิงหาคมที่จะถึงนี้

ถ้าผลออกมาเหมือนอย่างที่ซีพีพีประกาศ แล้วไม่มีพรรคไหนคัดค้าน รัฐบาลใหม่น่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จภายในไม่กี่เพลาหลังจากนั้น

ขั้นตอนหลังจากนั้น ท่านฮุน เซน ประกาศเอาไว้แล้วว่า จะไปยังสหประชาชาติเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ให้ได้เห็นกันว่าชาติอธิปไตยอย่างกัมพูชาที่จัดการเลือกตั้งขึ้นมาเอง ไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาประทับตรารับรอง

เข้าใจกันว่า น่าจะเป็นสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนกันยายน

 

ปัญหาที่ต้องจับตามองอยู่ตรงนี้นี่เอง เพราะว่าก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเพิ่งผ่านร่างกฎหมายพิเศษออกมาฉบับหนึ่งใช้ชื่อว่า “รัฐบัญญัติว่าด้วยประชาธิปไตยกัมพูชา ปี 2018”

ร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาล่างของสหรัฐอเมริกาออกมาเป็นเอกฉันท์

เนื้อหาเป็นการ “ยกระดับ” การแซงก์ชั่นต่อนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน, สมาชิกในคณะรัฐมนตรี และคนที่อยู่ใน “วงใน” ทั้งเครือญาติใกล้ชิดและเครือข่ายธุรกิจหนุนหลังทั้งหมด

ห้ามเข้าสหรัฐอเมริกา และอายัดทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด

ร่างกฎหมายนี้ถูกส่งขึ้นไปและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ผ่านออกมาเมื่อใด ก็ส่งให้ประธานาธิบดีลงนามประกาศใช้

น่าติดตามมากว่าผลจะลงเอยออกมาในรูปใด

ที่น่าสนใจก็คือ ทำไมสหรัฐ “เล่นแรง” ถึงขนาดนี้กับกัมพูชา?

 

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปถึงยุคที่กัมพูชาแตกเป็นเสี่ยงๆ มีทั้งรัฐบาลในพนมเปญที่เวียดนามหนุนหลัง มีทั้งเขมรเสรี เขมรฟุนซินเปก และเขมรแดง สู้รบอยู่ในป่า

เพื่อยุติความวุ่นวายทั้งหลาย ทุกฝ่ายเจรจากันทำความตกลงที่เรียกว่าข้อตกลงสันติภาพปารีส ปี 1991

คู่สงครามกลางเมืองทั้งหลายตกลงกันรับปากว่าจะนำกัมพูชาไปสู่ประชาธิปไตยในรูปแบบพหุนิยม เคารพในสิทธิมนุษยชน และให้มีฝ่ายตุลาการเป็นอิสระ

ตกลงกันด้วยว่าจะให้กัมพูชาอยู่ใน “อุปถัมภ์” ของสหประชาชาติ โดยมี 5 พี่เบิ้มในคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเป็นผู้ค้ำประกัน

หนึ่งในนั้นคือ สหรัฐอเมริกา

เมื่อทุกอย่างสวนทางกับข้อตกลงสันติภาพปารีส สหรัฐย่อมถือเป็นพันธะผูกพันในการจัดการให้กลับเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง

ด้วยวิธีการแซงก์ชั่น “ขนานหนัก” ระดับเดียวกับการแซงก์ชั่นเวเนซุเอลา ที่ถือว่าสหรัฐเป็น “ศัตรู”

เรื่องของเรื่องจึงน่าจับตามองมากว่า ร่างกฎหมายแซงก์ชั่นนี้จะผ่านวุฒิสภามาอย่างไร

แล้ว ฯพณฯ ฮุน เซน จะได้เดินทางไปนิวยอร์กในปีนี้ได้หรือไม่กันแน่!