ฟ้า พูลวรลักษณ์ : ควรมีโทษประหารหรือไม่ แล้วทำไมสิทธิมนุษยชนหมดความหมาย ?

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก เล่มใหม่ (๑)

ปัญหาเรื่องควรมีโทษประหารไหม ทำให้ฉันคิดต่อไปไม่ได้ว่า มนุษย์เราจริงๆ คืออะไร และต้องการอะไรกันแน่

ฉันเข้าใจดีว่านักสิทธิมนุษยชนเหล่านั้น เป็นผู้มีเมตตาธรรม และต้องการยกระดับของมนุษย์ให้สูงส่งขึ้น แต่ปัญหาคือ โลกนี้ยังมีสงคราม

ทันทีที่มีสงคราม สิทธิมนุษยชนก็หายวาบ ไม่เพียงลดลง แต่ล่มสลายเลย ความโหดร้ายของสงคราม เทียบกับความสูงส่งของคุณค่ามนุษย์ มันตรงข้ามกันจนไม่รู้จะพูดยังไง

เรียกว่าคุยไม่ได้เลย วิเคราะห์ก็ไม่ได้ มันกลายเป็นบ้าไปแล้ว

ดังนั้น สิทธิมนุษยชนเหล่านั้น จะดีเลิศเพียงไหน ก็ต้องตอบคำถามง่ายๆ ก่อนว่า มนุษย์จะปลอดจากสงครามได้ไหม เรามีหลักอะไรมารับประกันว่า มนุษย์จะไม่ทำสงครามอีก

คนที่คิดว่าโลกนี้อาจจะไม่มีสงครามแล้วละ คือคนโลกสวย ที่ไกลจนสุดสายตาของฉัน ก็มองไม่เห็นว่าจะเป็นจริงได้อย่างไร

รู้ทั้งรู้ว่าสงครามโหดร้าย และเลวระยำปานใด แต่มนุษย์ก็ยังทำมันอยู่ดี

และทันทีที่สงครามเกิด รัฐก็พรากเอาชีวิตจากประชากรของข้าศึกนับไม่ถ้วน รวมทั้งประชากรของตนเอง

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าพม่ายกทัพมารุกรานไทยในปี 2018 นักสิทธิมนุษยชนจะบอกว่า อย่าเลย ห้ามไปสังหารชีวิตข้าศึก พวกเราไม่มีสิทธิไปพรากชีวิตพวกเขา ด้วยเพราะชีวิตมนุษย์ช่างสูงส่งเลอค่า เราได้แค่เจรจา หากเรามีปืน เราก็ได้แค่ถือไว้ เพราะยิงไม่ได้ เราถูกกฎที่สูงส่งกว่าบังคับไว้ ด้วยเพราะเราเป็นมนุษย์ที่สูงกว่า

รับรองว่าประเทศไทยจะดับสลาย

และคนไทยก็คงไม่ยอมแน่ สัญชาตญาณในการเอาตัวรอด ทำให้คนไทยก็ต้องสู้

แสดงว่าสิทธิมนุษยชนเหล่านั้น มีข้อจำกัดมากมาย มันไม่ได้นิ่ง ไม่ได้มั่นคงอะไรเลย เพราะอารมณ์ดิบของมนุษย์ ไม่เคยแปรเปลี่ยน เรายังเป็นสัตว์สงคราม

สงครามโลกครั้งที่สอง คนตายเป็นร้อยล้าน สิทธิมนุษยชนอยู่ตรงไหน

ถ้าจะบอกว่าสงครามใหญ่อย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว สงครามโลกครั้งที่สองคือสงครามใหญ่สุด ต่อนี้ไป จะมีแค่สงครามเล็กๆ หรืออาจจะไม่มีอีกแล้ว จริงหรือ ใครรับรองได้ เพราะเท่าที่ดู สงครามก็ยังมีอยู่ และสงครามใหญ่ในวันข้างหน้า ก็ยังเป็นไปได้ หากเกิดขึ้น ตามสถิติ คนจะตายมากกว่าสงครามในอดีต เพราะเทคโนโลยีมันรวดเร็ว รุนแรงกว่า คิดถึงสงครามนิวเคลียร์ หรือสงครามเชื้อโรค

ความตายของมนุษย์ในวันข้างหน้านั้นสุดจะประมาณได้

นักสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นจะตอบอย่างไร หากสงครามมาถึง รัฐมีสิทธิจะไปพรากชีวิตของข้าศึกไหม หรือพรากชีวิตของประชากรชาติของตนไหม ด้วยการเกณฑ์ทหารออกไปรบ รัฐมีสิทธิไหม หรือกฎแห่งสิทธิมนุษยชน มีข้อยกเว้น เพียงแต่ข้อยกเว้น ไม่ได้มีผลร้ายเพียงหนึ่งหรือสองเท่า แต่เป็นพันเป็นหมื่นเท่า เป็นแสนเป็นล้านเท่า จนสิทธิมนุษยชนก็หมดความหมาย

เมื่อฮิตเลอร์สั่งฆ่าชาวยิวห้าล้านคน นักสิทธิมนุษยชนมีคำตอบอย่างไร ความคิดที่ดีงาม ห้ามใครไม่ได้ ต้องเป็นกองทัพอันเกรียงไกรของพันธมิตร จึงจะปราบนาซีลงได้ แต่มันคือความรุนแรงมาสยบความรุนแรง มิใช่หรือ

ถ้าจะบอกว่านี่เป็นอดีตแล้ว ไม่เกิดขึ้นอีก

ใครจะรู้ สมมติวันหนึ่ง มีคนต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวสแกนดิเนเวียน ชาวสแกนดิเนเวียนจะใช้ลัทธิสิทธิมนุษยชนอันสูงส่งเข้าต่อสู้หรือ สู้อย่างไร ถ้าไม่ใช่การนั่งเฉย ปล่อยให้เขาจับไปฆ่า ไม่ต่างจากชาวยิวสมัยนั้นเลย

วันนี้พวกเขาคิดอุดมการณ์สูงส่งได้ ขนาดอาชญากรเลวร้ายปานใด พวกเขาก็ไม่ฆ่า เพราะชาติของเขาไม่มีโทษประหาร แต่มันเป็นเพียงโชคดี ที่วันนี้สงครามยังมาไม่ถึงสแกนดิเนเวียน

ต่อให้สงบต่อไปอีกหนึ่งร้อยปี แต่สงครามก็เกิดขึ้นได้ในปีที่ ๑๐๑ อยู่ดี เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เอง มันอยู่ลึกระดับยีน

ไม่เกี่ยวกับความโหดร้ายของใครคนใดคนหนึ่งด้วย มันลึกล้ำกว่านั้น

จะเห็นว่า สงครามมาถึง สิทธิมนุษยชนก็หลบลี้หนีหน้า

แสดงว่า สิทธิมนุษยชนเป็นเพียงตัวสำรอง เป็นตัวประกอบ ที่มีบทเล่นเพียงแค่ชั่วคราว ยิ่งประสบความสำเร็จมาก เวลาล้มยิ่งดัง ต่อให้ทุกประเทศบนโลก ยกเว้นโทษประหาร วันที่สงครามใหญ่มาถึง มันจะรุนแรงขึ้นด้วย

ระดับล้างโลกเลยทีเดียว

ในสังคมไทยของเรานี้ มีอาชญากรสิบกลุ่มที่สมควรประหาร

ยกตัวอย่างสามกลุ่ม

๑ ผู้ค้ายาเสพติด

๒ คนคอร์รัปชั่น

๓ มือปืนรับจ้างและผู้ก่อการร้าย

จะเห็นว่าอาชญากรโหดร้าย การฆ่าข่มขืน หรือฆาตกรฆ่าต่อเนื่อง หรือ ฯลฯ เหล่านั้น ฉันเห็นความสำคัญน้อย ฉันเอาไปไว้กลุ่มท้ายๆ แทบจะบอกว่า จะไม่มีโทษประหารคนเหล่านั้น ก็ไม่แปลก ฉันไม่สนใจเลย

แต่ตัวอย่างที่ฉันยกมานั้น มีความสำคัญ

ยกตัวอย่างข้าราชการที่คอร์รัปชั่น มองดูไม่โหดร้ายอะไรเลย แต่ที่จริงเป็นบาปกรรมที่สาหัส และทำร้ายประเทศชาติอย่างสาหัส มีผลร้ายต่อสังคมอย่างกว้างขวาง คนเหล่านี้ถ้ารู้ว่า กฎหมายระบุไว้เลยว่า การคอร์รัปชั่นมีโทษสูงสุด คือการประหารชีวิต พวกเขาจะกลัวทันที เพราะข้าราชการคอร์รัปชั่น ทำไปเพราะความมักง่าย ไม่ใช่เพราะเป็นคนไม่ดี เงินที่ได้มาง่าย ด้วยการพยักหน้า การปล่อยผ่าน มันง่ายดายเหลือเกิน มันคล้ายเป็นความผิดเล็ก มันจึงชั่วร้ายยิ่งนัก

ข้าราชการคอร์รัปชั่นหลายคนทำไปแบบตกกระไดพลอยโจน แต่เดิมทีเขาไม่คิดจะทำเลย แต่มีคนมาขยั้นขยอให้ทำ มีคนพยายามมายัดเยียดให้เขา หรือแม้แต่รับแทนเขา หากเขาปฏิเสธ เขาก็อยู่ในระบบราชการที่เต็มเปี่ยมด้วยคอร์รัปชั่นนี้ไม่ได้ เขาจะไม่มีเพื่อน และพลอยจะถูกรังเกียจ เพื่อความอยู่รอด เพื่อจะได้มีเพื่อนฝูง ในที่สุดเขาก็จำยอม นี้เป็นอาการป่วยไข้ที่สาหัส

๑๐

มือปืนรับจ้าง หรือผู้ก่อการร้าย คือคนที่เห็นค่าชีวิตคนอื่นเป็นศูนย์ เท่ากับเขาได้พรากสิทธิแห่งชีวิตของตัวเองออกไปเรียบร้อยแล้ว ตัวเขาเองก็ไม่มีสิทธิใดที่จะมีชีวิตอยู่

คนเหล่านี้แตกต่างจากฆาตกรโหด ที่ทำไปด้วยอารมณ์ หน้ามืด

แต่คนเหล่านี้เลือกก่อน ด้วยหลักการ ดังนั้น หากความยุติธรรมมีจริง คนเหล่านี้ก็ไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ สังคมต้องตอบต่อพวกเขาดั่งนั้น

๑๑

สมมุติคุณขับรถมาตามถนน แล้วเห็นบิน ลาเดน กำลังจะเดินข้ามถนน คุณมีสิทธิขับชนเขาได้เลย เพราะเขาไม่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ ค่าชีวิตของเขาคือศูนย์ และเป็นเช่นนั้นเพราะเขาเลือกเอง ชีวิตของสัตว์ยังมีคุณค่ากว่า ไม่ว่าจะเป็นหมาแมว ขับรถชนบิน ลาเดน ก็คือขับรถชนก้อนกรวดก้อนหนึ่ง เช่นเดียวกับที่คุณขับรถชนฮิตเลอร์ ก็เป็นก้อนกรวดอีกก้อนหนึ่ง สสารที่ไร้สิทธิแห่งการมีชีวิตโดยสิ้นเชิง นักสิทธิมนุษยชนต้องตีความนี้ให้แตก มิเช่นนั้นจะมีความหมายใด เขาไม่สามารถรู้ข้อจำกัดของสิ่งที่ตัวเองพูด เท่ากับว่าสิทธิมนุษยชนไร้ขอบเขต

หากนักสิทธิมนุษยชนต้องการปกป้องบิน ลาเดน บอกว่าเราไม่มีสิทธิไปพรากชีวิตของเขา ห้ามทำ ถึงเขาจะฆ่าคนบริสุทธิ์นับไม่ถ้วน แต่เราเป็นมนุษย์ที่สูงส่งกว่า เราได้แค่จับเขาเข้าคุกเท่านั้น และโทษจำคุกเป็นโทษที่หนักหนาสาหัสเพียงพอแล้ว

เหตุผลของเขาก็ไม่ผิด และฟังขึ้น ตราบใดที่โลกนี้ไม่มีสงคราม

๑๒

เมื่อสงครามมาถึง ทุกสิ่งรอบตัวของเราจะกลายเป็นความฝัน ลัทธิที่สูงส่ง ก็สลายตัวไป สิ่งดีงามมากมายก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง