หนุ่มเมืองจันท์ : ชีวิตและความหมาย

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

เคยอ่านนิทานธรรมของพระไพศาล วิสาโล เรื่องหนึ่ง

เป็นเรื่องของอาจารย์วิษณุ ที่ไม่ใช่ “เครืองาม”

อาจารย์วิษณุมีลูกศิษย์อยู่หลายคน แต่ที่เด่นที่สุดมี 2 คน

คือ “ชัย” และ “จิต”

อาจารย์วิษณุแสดงท่าทีชื่นชอบ “จิต” มากกว่าจนทำให้ “ชัย” น้อยใจ

อาจารย์วิษณุแลเห็นแต่ก็ไม่อธิบายอะไร

วันหนึ่ง เขาเรียกลูกศิษย์ทั้งสองมาหาแล้วพาไปดูห้องที่ว่างเปล่า 2 ห้อง

อาจารย์วิษณุมอบเหรียญ 1 รูปีและบอกให้ทั้ง 2 คนทำให้ห้องของตัวเองเต็มที่สุดภายในเย็นนี้

ไม่มีคำอธิบายอะไรเพิ่มเติม

ทิ้งเป็นปริศนาธรรมให้ “ชัย” และ “จิต” ตีความเอง

“ชัย” รีบไปตลาด พยายามหาซื้ออะไรที่มาเติมเต็มห้องเปล่า

แต่ 1 รูปีมีค่าน้อยเกินไป

ซื้ออะไรก็ได้นิดหน่อย

มีเพียงแค่ “ขยะ” เท่านั้นที่แทบจะไม่มีราคา

เมื่อโจทย์ของอาจารย์ไม่ได้บอกว่า “ของ” ที่ใส่ให้เต็มนั้นต้องมีสิ่งของที่มีค่า

“ขยะ” ก็เป็นของอย่างหนึ่ง

ในที่สุดเขาก็ใช้เงิน 1 รูปีซื้อ “ขยะ” กองใหญ่ไปวางในห้องจนเต็ม

“ชัย” ภูมิใจในผลงานของเขามาก

ส่วน “จิต” นั้นใช้เวลาในการนั่งคิด ก่อนที่จะไปตลาด

สิ่งที่เขาเลือกซื้อไม่มีสิ่งของที่มี “ปริมาณ” มากมาย

“จิต” ซื้อไม้ขีดไฟ ธูป และประทีป

พอถึงเวลาเย็นเขาก็จุดธูปและประทีป

อาจารย์วิษณุเริ่มตรวจงานห้องของ “ชัย” ก่อน

พอเปิดประตู กลิ่นของ “ขยะ” ก็เหม็นตลบอบอวล

เขาเดินไปที่ห้องของ “จิต”

ในห้องไม่มีสิ่งของอะไรเลย

มีเพียงธูปและเทียนที่จุดไฟไว้แล้ว

แต่กลิ่นหอมของธูปและความสว่างไสวของประทีปกลับเติมเต็มให้กับห้องนั้น

แม้จะจับต้องไม่ได้เหมือนวัตถุ

แต่กลิ่นสัมผัสและความสว่างในห้องทำให้ห้องนั้นเต็มไปด้วยความสุข

วินาทีนั้น “ชัย” เข้าใจแล้วว่าทำไมอาจารย์วิษณุจึงชื่นชม “จิต” มากกว่า

ทั้งคู่ทำตามโจทย์ที่อาจารย์ให้มาสำเร็จเหมือนกัน

แต่ “ความรู้สึก” ต่อสิ่งที่เติมเต็มนั้นแตกต่างกัน

“พระไพศาล” บอกว่านิทานเรื่องนี้ไม่ได้สรุปว่าใครฉลาดกว่าใคร

เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดของคน

ห้องที่ว่างเปล่าเหมือนกับชีวิตของเรา

เงิน 1 รูปีก็เปรียบเสมือน “เวลา” ที่น้อยนิด

ใครจะใช้ “เวลา” ได้มีคุณค่ามากกว่ากัน

บางคนเลือกสะสม “วัตถุ” ให้มากที่สุด

เติมเต็มให้ “ห้อง” หรือ “ชีวิต”

แต่บางคนก็เลือกสิ่งที่งดงาม หรือสิ่งที่มีคุณค่าและความหมาย

“กลิ่นหอมเป็นสัญลักษณ์ของคุณงามความคิด ส่วนแสงสว่างเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา สองอย่างนี้ต่างหากที่ทำให้ชีวิตงดงามและมีคุณค่าอย่างแท้จริง”

“พระไพศาล” สรุปในข้อเขียนชิ้นนี้

คุณธรรมและปัญญา

สิ่งเหล่านี้คือ “นามธรรม”

มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง

บางทีการตั้งคำถามกับชีวิตว่า “ความสุข” แท้จริงของเราอยู่ที่ไหน

บางที “คำตอบ” ก็ไม่ใช่สิ่งที่เรามองเห็น

วันก่อนผมเพิ่งดูหนังญี่ปุ่นใน “เน็ตฟริกซ์”

จำชื่อเรื่องไม่ได้

เป็นเรื่องของ “ซามูไร” คนหนึ่งที่ถูกตามล่าเพราะไปฆ่าเจ้านายของตัวเอง

เหตุเพราะเจ้านายหลอกให้เขาไปฆ่าคนคนหนึ่งโดยหาว่าคนนั้นทุจริต

แต่มารู้ว่าคนที่ทุจริตคือเจ้านายของเขาเอง

พระเอกจึงตัดสินใจฆ่าเจ้านายและคนคุ้มกันทั้งหมด

วันที่เขาถูกตามล่าและโดนฟันจนใกล้จะเสียชีวิต

มีหญิงชราคนหนึ่งมอบความเป็นอมตะให้กับเขาด้วยการใส่ตัวหนอนที่จะชุบชีวิตให้กับพระเอก

ไม่ว่าจะโดนฟันเท่าไรก็ไม่ตาย

พระเอกมีชีวิตยาวนานต่อไปอีก 50 ปี

ในขณะที่คนทั่วไปเรียกร้องความเป็นอมตะ

ไม่อยากตาย

แต่สำหรับพระเอก “ความทุกข์” ที่สุดของเขาคือ อยากตายแต่ก็ไม่ตาย

เพราะความเหงาและโดดเดี่ยวทรมานมากกว่า “ความตาย”

จนวันหนึ่งมีเด็กหญิงขอความช่วยเหลือ ให้ปกป้องและช่วยแก้แค้นที่พ่อของเธอถูกสังหาร

เรื่องราวก็ดำเนินไปเรื่อยๆ ตามแบบหนังบู๊ทั่วไป

จนถึงช่วงท้ายที่เขาจะไปช่วยเด็กหญิงคนนั้น

มือของพระเอกขาด

ผู้ร้ายก็เดินย่างขุมเข้ามา

“หนอน” ที่เคยช่วยสมานอวัยวะที่ขาดให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเริ่มหมดประสิทธิภาพ

เชื่อมประสานได้ช้าลง

วินาทีที่เขาเร่งเจ้าหนอนให้ช่วยเชื่อมมือกับแขนให้เป็นปกติ

หญิงชราคนนั้นก็มานั่งใกล้ๆ แล้วตั้งคำถามว่า “ไหนว่าอยากจะตาย”

เป็นคำถามที่มาถูกที่ถูกเวลาอย่างยิ่ง

คนที่เคยอยากตายแต่ไม่ตาย

แต่ในวินาทีนั้นที่ “ความตาย” เข้ามาใกล้

เขาน่าจะดีใจ

แต่ทำไมเขาเลือกปฏิเสธ

คำตอบก็คือ สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว

จากคนที่โดดเดี่ยว เหงา และใช้ชีวิตไปวันๆ

แต่เด็กผู้หญิงคนนั้นได้สร้างสายใยแห่งความผูกพันขึ้นในใจเขา

เมื่อมีคนที่เราเป็นห่วง

เมื่อมีคนที่รักเรา

“ความตาย” ที่เคยโหยหา

ก็กลายเป็นสิ่งที่เขาวิ่งหนี

เพราะ “ชีวิต” ในวันนี้มี “ความหมาย”