เกษียร เตชะพีระ : นานาอาชีพเฮงซวย

เกษียร เตชะพีระ

อาชีพเฮงซวยผงาด : สัมภาษณ์ เดวิด เกรเบอร์ (2)

อนุกรมวิธาน (Taxonomy) นานาอาชีพเฮงซวย (ต่อจากตอนที่แล้ว คลิก)

ถาม : ทีนี้ก็มาเข้าเรื่องพวกนายงาน (task-master) ใช่ไหมคะคุณ?

เดวิด เกรเบอร์ : พวกนายงานคือคนที่อยู่ที่นั่นเพื่อมอบหมายงานที่ไม่จำเป็นให้กับผู้คน หรือควบคุมดูแลผู้คนที่ไม่จำเป็นต้องให้ควบคุมดูแล เรารู้กันทั้งนั้นแหละครับว่าเรากำลังพูดถึงอะไร แน่ละงานบริหารระดับกลางคือตัวอย่างคลาสสิคของที่ว่านั่น

ผมมีคนที่บอกผมทื่อๆ ตรงๆ เลยว่า “ใช่ ผมได้อาชีพเฮงซวย ผมอยู่ในงานบริหารระดับกลาง ผมได้เลื่อนขั้นขึ้นมา ผมเคยทำงานอาชีพจริงๆ นะแล้วพวกเขาก็เอาผมขึ้นไปชั้นบนและบอกให้ผมควบคุมดูแลผู้คน ทำให้คนเหล่านี้ทำงานทำการซะ และผมรู้แน่แก่ใจถ่องแท้เลยว่าคนเหล่านี้ไม่จำต้องให้ใครสักคนมาคอยควบคุมดูแลพวกเขาหรือทำให้พวกเขาทำงานหรอก แต่กระนั้นถึงไงผมก็ต้องหาข้ออ้างบางอย่างมาเพื่อจะได้คงอยู่ต่อไป”

ดังนั้น ท้ายที่สุดแล้วในสถานการณ์แบบนั้นคุณก็บอกว่า “ตกลง เอาล่ะเราจะตั้งเป้าหมายทางสถิติขึ้นมา เพื่อผมจะได้พิสูจน์ว่าเอาเข้าจริงพวกคุณกำลังทำสิ่งที่ผมรู้ดีอยู่แล้วว่าพวกคุณกำลังทำอยู่ เพื่อที่ผมจะบอกเป็นนัยได้ว่าผมเป็นคนที่ทำให้พวกคุณทำงานนั้น”

ในทางเป็นจริง คุณก็ให้ผู้คนกรอกแบบฟอร์มทั้งหลายแหล่นี้ ซึ่งเป็นผลให้พวกเขาใช้เวลาของตัวเองทำงานน้อยลง สิ่งนี้เกิดเพิ่มขึ้นทุกที่ทั่วโลก แต่ในอเมริกามีใครบางคนทำการศึกษาเชิงสถิติไว้และค้นพบว่าผมคิดว่าราว 39 เปอร์เซ็นต์ของเวลาโดยเฉลี่ยที่พนักงานออฟฟิศถูกคาดหมายให้กำลังทำงานน่ะ เอาเข้าจริงพวกเขากำลังเพียรพยายามทำอะไรบางอย่างต่องานของตัวอย่างหนักหนาสาหัสเลย โดยพื้นฐานแล้วมันกลายเป็นเรื่องโต้ตอบอีเมลเกี่ยวกับงานบริหาร การประชุมแล้วประชุมเล่าที่ไม่รู้ทำไปทำไม

กรอกแบบฟอร์มสารพัดประเภทและงานเอกสารต่างๆ มากขึ้นทุกที

บริบวมอลึ่งฉึ่ง (Administrative Bloat)

ถาม : ในความคิดซ้ายถึงรากหรือมาร์กซิสต์ มันมีแนวคิดเรื่องแรงงานที่มีผลิตภาพกับไม่มีผลิตภาพ ฉันสงสัยว่างานประเภทอาชีพเฮงซวยเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องแรงงานหรืออาชีพที่ไม่มีผลิตภาพอย่างไรบ้างไหม

เดวิด เกรเบอร์ : มันต่างกันอยู่ครับ เพราะการมีผลิตภาพกับไม่มีผลิตภาพน่ะ นั่นก็คือว่ามันกำลังผลิตมูลค่าส่วนเกินให้พวกนายทุนหรือไม่ นั่นเป็นคำถามที่ค่อนข้างแตกต่างออกไปอยู่ ส่วนอาชีพเฮงซวยนี่เป็นเรื่องของการประเมินทางอัตวิสัยโดยผู้คนที่กำลังทำงานนั้นๆ ว่างานของตนมีคุณค่าทางสังคมเพียงใด

ในด้านหนึ่ง ผู้คนคล้ายกับยอมรับความคิดที่ว่าตลาดเป็นตัวกำหนดคุณค่า เอาเข้าจริงนั่นเป็นจริงในประเทศส่วนใหญ่แล้วตอนนี้ คุณแทบจะไม่เคยได้ยินคนงานขายปลีกหรืองานบริการพูดเลยว่า “ผมขายไม้เซลฟี่ คนเขาจะเอาไม้เซลฟี่ไปทำไมวะ? มันงี่เง่า คนมันทึ่มว่ะ” พวกเขาไม่พูดอย่างนั้นหรอกครับ พวกเขาไม่พูดว่า “แล้วทำไมคุณต้องจ่ายตั้งห้าดอลลาร์เป็นค่ากาแฟถ้วยหนึ่งด้วยล่ะ?” ดังนั้น คนในอาชีพบริการไม่คิดว่าพวกเขามีอาชีพเฮงซวยหรอกครับ แทบไม่มีกรณีอย่างนั้นเลย พวกเขายอมรับว่าถ้าหากมีตลาดขายอะไรบางอย่าง ก็แสดงว่าผู้คนต้องการมัน ผมเป็นใครถึงจะบังอาจไปตัดสินเขาด้วยล่ะ? พวกเขาก็ยอมรับซื้อตรรกะของทุนนิยมในระดับนั้นนั่นแหละ

อย่างไรก็ตาม พอพวกเขามองดูตลาดแรงงานบ้างและพูดว่า “เฮ้ยเดี๋ยวก่อน อั๊วได้ค่าตอบแทน 40,000 ดอลลาร์ต่อปีเพื่อให้นั่งและวาดมีม (memes) แมวต่างๆ ทั้งวัน และบางทีก็อาจรับโทรศัพท์สักสายเนี่ยนะ นั่นมันไม่ถูกต้องหรอกว่ะ”

ดังนั้น ตลาดใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เห็นชัดว่าตลาดแรงงานไม่ได้ทำงานอย่างสมเหตุผลทางเศรษฐกิจ มันมีความขัดแย้งกันอยู่ พวกเขาต้องคิดค้นระบบอีกอย่างขึ้นมา มันเป็นระบบคุณค่าโดยนัยซึ่งแตกต่างมากจากเรื่องมีผลิตภาพหรือไม่มีผลิตภาพสำหรับทุนนิยม

ถาม : การปรากฏขึ้นของอาชีพเฮงซวยพวกนี้มันเกี่ยวข้องยังไงไหมกับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นอาชีพที่มีผลิตภาพ?

เดวิด เกรเบอร์ : ประเด็นนี้น่าสนใจมากครับ เรามีเรื่องเล่าว่าด้วยการผงาดขึ้นของเศรษฐกิจภาคบริการ อย่างที่คุณคงทราบ นับแต่คริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา เราได้เคลื่อนออกห่างจากหัตถอุตสาหกรรม วิธีการที่พวกเขานำเสนอเรื่องนี้ในสถิติทางเศรษฐกิจ มันดูเหมือนว่าแรงงานภาคเกษตรหายไปเสียส่วนใหญ่ ส่วนแรงงานภาคอุตสาหกรรมก็ลดต่ำลง – อาจไม่มากเท่ากับที่ผู้คนคิดว่ามันลดลงเสียทีเดียว แต่ก็ลดลงจริง – ขณะที่แรงงานภาคบริการพุ่งสูงทะลุหลังคาไปนู่น

แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะพวกเขาแตกกระจายงานภาคบริการให้รวมทั้งงานอาชีพเสมียน การจัดการ การควบคุมดูแล และการบริหารด้วย ทว่าถ้าคุณจำแนกมันออกจากกัน ถ้าคุณมองดูงานภาคบริการในความหมายที่ว่านั้น กล่าวคือ ผู้คนที่ตัดผมหรือเสิร์ฟอาหารให้คุณแล้วละก็ เอาเข้าจริงงานบริการยังค่อนข้างคงที่อยู่ราว 25 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานในช่วง 150 ปีหลังที่ผ่านมา มันไม่ได้เปลี่ยนไปเลย

สิ่งที่เปลี่ยนไปจริงๆ คือการระเบิดเถิดเทิงขนาดยักษ์ของบรรดางานแบบเสมียนเอกสาร และนั่นแหละครับคือภาคอาชีพเฮงซวย

ถาม : คุณเรียกงานภาคส่วนนั้นว่าระบบราชการ ภาคการบริหาร ภาคการจัดการระดับกลาง

เดวิด เกรเบอร์ : ถูกเผงเลยครับ มันเป็นภาคส่วนที่สาธารณะกับเอกชนแบบว่าหลอมรวมเข้าด้วยกัน อันที่จริงพื้นที่หนึ่งซึ่งอาชีพเฮงซวยเหล่านี้แพร่ขยายขนานใหญ่ก็ตรงที่มันคล้ายกับไม่ค่อยชัดเจนว่าอะไรเป็นของสาธารณะและอะไรเป็นของเอกชนนั่นแหละ คือเป็นส่วนต่อประสาน (the interface) ที่ซึ่งพวกเขาแปรบริการสาธารณะให้เป็นของเอกชนและรัฐบาลหนุนหลังธนาคารทั้งหลายอยู่

ภาคการธนาคารนี่เสียสติครับ มีหมอหนึ่งคนที่เอาเข้าจริงผมเล่าเรื่องของเขาไว้ตอนต้นหนังสือ (Bullshit Jobs : A Theory, 2018) ผมเรียกเขาว่าเคิร์ต ผมไม่รู้ชื่อจริงของเขาหรอกครับ เขาทำงานเป็นผู้รับเหมาช่วงให้กับผู้รับเหมาช่วงให้กับผู้รับเหมาช่วงงานจากกองทัพเยอรมัน พื้นฐานก็คือมีทหารเยอรมันนายหนึ่งต้องการขนคอมพิวเตอร์ของเขาจากออฟฟิศหนึ่งไปยังอีกออฟฟิศหนึ่ง หมอเคิร์ตนี่ต้องยื่นคำขอถึงใครคนหนึ่งให้โทร.หาใครบางคนให้โทร.หาใครอีกคน – คือมันต้องเดินเรื่องผ่านบริษัทต่างๆ กันสามบริษัท ในที่สุดเคิร์ตต้องเช่ารถขับไปไกลถึง 500 กิโลเมตร กรอกแบบฟอร์มต่างๆ บรรจุคอมพิวเตอร์ลงหีบห่อ ขนย้ายมัน แล้วให้คนอื่นแกะหีบห่ออีกที แล้วเขาถึงเซ็นชื่อในแบบฟอร์มอีกฉบับและจากมา นี่มันเป็นระบบที่โคตรไร้ประสิทธิภาพที่สุดที่คุณจะนึกฝันไปถึงได้เลยนะ แต่มันล้วนถูกสร้างขึ้นโดยส่วนต่อประสานระหว่างของสาธารณะกับของเอกชนนี่แหละ

ซึ่งคาดหมายกันว่าจะทำให้เรื่องต่างๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ถาม : อย่างที่คุณชี้ให้เห็นทีทรรศน์ (ethos) จำนวนมากจากยุคแธตเชอร์-เรแกน ก็คือรัฐบาลเป็นปัญหาเสมอ และรัฐบาลก็คือที่ที่อาชีพเฮงซวยเหล่านี้ทั้งหมดตั้งอยู่ ดังนั้น มันจึงเป็นการโจมตีเข้าใส่ภาคสาธารณะ ขณะที่คุณกลับแสดงให้เห็นว่าระบบราชการตั้งมากมายมาจากภาคเอกชนต่างหาก อย่างนั้นแล้วความจำเป็นที่ต้องเพิ่มกำไรให้สูงสุดและตัดลดต้นทุน – ซึ่งคือสิ่งที่เราคิดถึงในแง่ระบบทุนนิยมและแรงกดดันของการแข่งขัน – มันก็ขัดฝืนการสร้างอาชีพที่ไร้ค่าไร้เป้าหมายเหล่านี้ในภาคเอกชนซีคะ?

เดวิด เกรเบอร์ : คุณคงคิดว่ามันจะเป็นเช่นนั้น แต่เหตุผลส่วนหนึ่งที่มันไม่เกิดขึ้นก็คือว่าเวลาเราจินตนาการถึงระบบทุนนิยม เรายังคงกำลังจินตนาการถึงบริษัทขนาดกลางจำนวนหนึ่งที่ทำกิจการหัตถอุตสาหกรรมและการพาณิชย์แข่งขันกันเอง นั่นจริงๆ แล้วไม่ใช่ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้นะครับ โดยเฉพาะในภาคส่วนการเงิน ประกันภัยและอสังหาริมทรัพย์ (FIRE sector หมายถึง Finance, Insurance, Real Estate sectors – ผู้แปล)

อีกอย่างคือ ถ้าคุณดูว่าจริงๆ แล้วคนเขาทำอะไรกัน คุณจะพบว่ามันมีอุดมการณ์แบบเพรียวและเขี้ยว (lean and mean) ทั้งชุดอยู่ ถ้าคุณเป็นซีอีโอ คุณจะได้รับคำชมว่าคุณไล่คนออกไปได้มากเท่าไหร่และลดขนาดบริษัทลงรวมทั้งเร่งงานให้เร็วขึ้นอย่างไร

ส่วนไอ้พวกที่โดนปลดลดขนาดและจี้ให้ทำงานเร็วขึ้นน่ะเป็นคนงานคอปกน้ำเงิน คนงานที่มีผลิตภาพ เป็นพวกที่เอาเข้าจริงกำลังผลิตสิ่งของ ขนย้ายมัน บำรุงรักษามัน ทำงานทำการจริงๆ นั่นเอง ถ้าผมอยู่ในบริษัท UPS (United Parcel Service – บริษัทส่งของและจัดการสายโซ่อุปทานอเมริกัน – ผู้แปล) พวกพนักงานขับรถนั่นแหละที่กำลังถูกปรับเพิ่มประสิทธิภาพตลอดเวลาเลย

อย่างไรก็ตาม คุณไม่ทำแบบนั้นกับพวกที่อยู่ในออฟฟิศ สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้ามเผงเลย ในบรรษัทจะมีกระบวนการสร้างจักรวรรดิที่ซึ่งพวกผู้จัดการต่างคนต่างแก่งแย่งแข่งขันกัน ด้านหลักแล้วคือแข่งกันว่ามีลูกน้องทำงานใต้บังคับบัญชาของตัวอยู่กี่มากน้อย พวกเขาไม่มีแรงจูงใจอะไรเลยให้ขจัดผู้คนออกไป

แล้วคุณก็มีคนเหล่านี้ทำงานกันเป็นทีม ซึ่งงานทั้งหมดของพวกเขาก็คือเขียนรายงานที่บรรดาผู้บริหารคนสำคัญนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ ที่ประชุมใหญ่ว่าไปแล้วก็เทียบได้กับการจัดขี่ม้าประลองหอกยุคศักดินานั่นแหละ หรือจะเรียกว่าพิธีกรรมชั้นสูงของโลกบรรษัทก็ว่าได้ คุณเดินเข้าไปในนั้น และคุณก็มีเครื่องเคราครบครัน คุณมีข้าวของพวกนี้ทั้งหมด เพาเวอร์พอยต์เอย รายงานเอย สารพัด แล้วก็มีทีมทั้งชุดอยู่ที่นั่นเพื่อแค่จะพูดว่า “อั๊วเป็นคนทำภาพประกอบรายงานของหมอนี่โว้ย” และ “ผมทำกราฟครับ” และ “ฉันทำตารางข้อมูลและเก็บฐานข้อมูลจ้า”

ไม่มีใครเคยอ่านไอ้รายงานพวกนี้หรอกครับ มันถูกเอาไปโชว์ขึ้นจอที่นั่นแค่นั้นเอง มันก็เทียบได้กับพวกเจ้านายศักดินานั่นแหละ – ข้ามีไอ้นี่ทำหน้าที่คอยแต่งหนวดข้า และอีกคนคอยขัดถูบังโกลนม้าของข้า ฯลฯ เพียงเพื่อแสดงว่าข้าทำได้แค่นั้นเอง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)