วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ /สู่ร่มกาสาวพัสตร์ ปาติโมกข์

วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

ปาติโมกข์

หนึ่งในกิจวัตรของสงฆ์ คือการร่วมรับฟังปาติโมกข์ ในวันพระกึ่งเดือน คือวันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ ภิกษุต้องปลงอาบัติ ก่อนหน้านั้นภิกษุโกนผมปลงหนวด ตัดเล็บให้สะอาด
เช้าวันพระ ญาติโยมที่รอตักบาตรจะเห็นพระภิกษุออกบิณฑบาตศีรษะโล้น พึงทราบว่าวันนั้นเป็นวันพระ ช่วงเย็นมีพิธีสวดปาติโมกข์ กิจที่สงฆ์พึงปฏิบัติเป็นนิจ
การโกนผม ในวัดหนึ่งหรือคณะหนึ่งจะมีพระหรือเณรชำนาญการโกนรูปหรือสองรูป ในเครื่องอัฐบริขารจึงกำหนดให้มีมีดโกนไว้ด้วย เมื่อก่อนเป็นมีดโกนแบบที่ช่างตัดผมใช้ประจำ ต่อมามีมีดโกนชนิดด้ามจับ เปลี่ยนใบมีดได้ สำหรับพระใช้โกนผมจะถอดส่วนบนออก เหลือเพียงใบมีด ที่รองใบมีด และด้ามจับ เป็นแบบใหม่ ใช้สะดวกและง่าย ไม่จำเป็นต้องชำนาญการก็ได้
พระปานให้เป็นธุระของเณรพจน์ตั้งแต่วันแรกบวช หลังบวชโกนผมมาแล้วสามสี่ครั้ง

ช่วงบ่าย เมื่อเสร็จภารกิจอื่น ใกล้เวลาลงโบสถ์ซึ่งเร็วกว่าปกติ พระทุกรูปต้องไปรวมกันที่อุโบสถเพื่อปลงอาบัติ คือการแสดงโทษอันเกิดจากการละเมิดวินัยของพระภิกษุซึ่งมีตั้งแต่โทษสถานหนัก หรือครุโทษ หรือมหันตโทษ คือปาราชิก พ้นจากความเป็นภิกษุ แม้จะมาอุปสมบทใหม่ไม่ได้ โทษสถานกลาง หรือมัชฌิมโทษ ทำให้ต้องอยู่กรรมก่อนจึงจะพ้นโทษ และลหุโทษ หรือโทษสถานเบา ภิกษุต้องบอกอาบัตินั้นแก่ภิกษุด้วยกัน คือการปลงอาบัติก่อนเข้ารับศีลปาติโมกข์
พระปานเป็นพระบวชใหม่ต้องท่องจำบทแสดงอาบัติ ซึ่งทุกครั้งแสดงกับพระสุชัย ในครั้งหลังต่างแสดงอาบัติซึ่งกันและกัน ซึ่งการแสดงอาบัตินี้ ทั้งสองฝ่ายต้องนั่งกระหย่งประนมมือ ฝ่ายพระปานเป็นฝ่ายพรรษาอ่อนกว่า บอกอาบัติว่า ภันเต อิตถันนามัง อาปัตติงอาปันโน ตัง ปะฏิเทเสมิ
พระสุชัยผู้รับว่า ปัสสะสิ อาวุโส พระปานรับว่า ปัสสะถะ ภันเต แล้วแสดงอาบัติว่า อามะภันเต ปัสสามิ พระสุชัยรับว่า อามะ อาวุโส ปัสสามิ ผู้รับว่า อายะติง ภันเต สังวรเรยะยาถะ พระสุชัยว่า อายะติง อาวุโส สังวะเรยยาสิ พระปานว่า สาธุ สุฏฐุ ถันเต สังวะริสสามิ พระสุชัยว่า สาธุ สุฏฐุ อาวุโส สังวะริสสามิ
เป็นอันจบการแสดงอาบัติ จนครบทุกรูป ได้เวลาเข้าไปนั่งหัตถบาตในพระอุโบสถ ซึ่งมีท่านเจ้าคุณใหญ่เป็นประธาน มีโต๊ะวางพระวินัยปิฎก หรือคาถาปาติโมกข์ สำหรับพระอาวุโสรูปเดียวหรือสองรูปคอยทานเมื่อพระผู้สวดปาฏิโมกข์เริ่มคาถาก่อนว่าศีลปาติโมกข์ ตั้งแต่บทปาราชิกจนจบปาติโมกข์ทั้ง 227 ข้อ
ระหว่างฟังปาติโมกข์ ในพระอุโบสถเงียบมีแต่เสียงท่องปาติโมกข์ และเสียงพัดลมเพดานหึ่งๆ
ระหว่างฟังปาฏิโมกข์ทุกครั้ง พระปานจะกำหนดลมหายใจเข้าออกทำสมาธิพร้อมไปด้วย เพราะรู้ว่าขณะนั้นตัวเองมีศีลบริสุทธิ์ตลอดเวลา พยายามไม่คิดวอกแวกไปทางใดทางหนึ่ง โดยเฉพาะการคิดถึงจงจิต

ครั้งหนึ่ง ระหว่างฟังปาติโมกข์ไปได้สักครึ่งหนึ่งกระมัง รู้สึกเจ็บจี๊ดตรงหลังเท้าที่นั่งพับเพียบ ทนได้พักหนึ่งจึงลดมือข้างซ้ายจากพนมลงไปลูบหลังเท้า รู้สึกสัมผัสอะไรสักอย่าง ยกขึ้นมาลืมตาดู ปรากฏว่ามีสีแดงเลือดติดขึ้นมาพร้อมซากยุงที่กัดกินเลือดเต็มอิ่มไม่ขยับบินหนี
ยังนึกขำตัวเองว่าขณะฟังปาติโมกข์แท้ๆ ตั้งใจจะไม่ละเมิดศีลแม้เพียงเล็กน้อย ยังอุตส่าห์ “ฆ่ายุง” ไปตัวหนึ่ง นึกขึ้นมาได้รีบขออโหสิกรรมกับยุงตัวนั้นทันที แล้วกำหนดลมหายใจฟังปาติโมกข์ต่อจนจบ
การรับฟังปาติโมกข์ทุกครั้ง พระปานรู้สึกตัวเองโล่งสบาย คลายทุกสิ่งทุกอย่างไปชั่วระยะหนึ่ง ออกจากอุโบสถไม่ได้พูดคุยอะไรกับพระรูปใดเลย กระทั่งถึงกุฏิ เช่นเดียวกับพระรูปอื่นที่หลายรูปต้องไปสวดพระอภิธรรมที่ศาลาหลังวัดต่อ
การลงอุโบสถทำวัตรเช้าทำวัตรเย็นเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่งใน 10 อย่างของภิกษุ นอกจากลงอุโบสถ มีบิณฑบาตเลี้ยงชีพ สวดมนต์ไหว้พระ กวาดอาวาสวิหาร ลานพระเจดีย์ รักษาผ้าครอง ซึ่งเป็น 5 อย่างที่ไม่ควรว่างเว้น

อย่างที่ 6 อยู่ปริวาสกรรมไม่จำเป็นนอกจากต้องอาบัติขั้นกลาง หรือสังฆาทิเสส ซึ่งมี 13 บท อย่างที่ 7 ต้องทำเป็นประจำทุกกึ่งเดือน คือโกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ 8. ต้องหมั่นปฏิบัติเป็นประจำคือศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์ 9. คือเทศนาบัติ และ 10. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง 4 เป็นต้น
เรื่องของอาบัติ ในพุทธศาสนาหลังพระปานอ่านจากหนังสือหลายเล่มคือ แปลว่า การต้อง การล่วงละเมิด หมายถึงโทษที่เกิดจากการล่วงสิกขาบท หรือข้อห้ามแห่งภิกษุ ใช้เรียกความผิดทางวินัยของภิกษุว่า ต้องอาบัติ คือการต้อง หรือการตกไปจากความดี เป็นโทษที่เกิดเพราะความละเมิดในข้อที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้าม เป็นพระวินัยบัญญัติ
อาบัติบัญญัติไว้ 7 อย่าง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. ครุกาบัติ หมายถึงอาบัติหนัก เป็นอาบัติที่มีโทษร้ายแรง มี 2 อย่างคือ อาบัติปาราชิก และอาบัติสังฆาทิเสส
2. ลหุกาบัติ หมายถึงอาบัติเบา อาบัติที่ไม่มีโทษร้ายแรงเท่าครุกาบัติ มี 5 อย่างคือ อาบัติถุลลัจจัย อาบัติปาจิตตีย์ อาบัติปาฏิเทสนียะ อาบัติทุกกฎ อาบัติทุพภาษิต
โทษที่เกิดจากอาบัติ มี 3 สถานคือ
1. อาบัติอย่างหนัก ทำให้ภิกษุต้องอาบัตินั้นขาดจากความเป็นภิกษุ อันหมายถึงปาราชิก ซึ่งเป็นอาบัติที่แก้ไขไม่ได้ เรียกว่า “อเตกิจฉา”
2. อาบัติอย่างกลาง ทำให้ภิกษุต้องอาบัตินั้นต้องอยู่กรรม (ปริวาส หรือมานัต) โดยประพฤติวัตรอย่างหนึ่งเพื่อทรมานตน อันหมายถึง ต้องอาบัติสังฆาทิเสส จัดเป็นอาบัติหนักประเภท “สเตกิจฉา”
3. อาบัติอย่างเบา ทำให้ภิกษุผู้ต้องอาบัตินั้นต้องประจานตนต่อหน้าภิกษุด้วยกันแล้วจึงพ้นโทษนั้นได้ อันได้แก่ ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเสสนียะ ทุกกฎ และทุภาสิต
โดยอาบัติอย่างกลางและอย่างเบานั้น เป็นอาบัติที่ยังแก้ไขได้ เรียกว่า “สเตกิจฉา”

พระปานอ่านเฉพาะความหมายของอาบัติแล้วรู้ว่า มิใช่เรื่องง่ายที่ผู้บวชเป็นภิกษุในบวรพุทธศาสนาจะบรรลุถึงพระธรรม
หากยิ่งศึกษาถึงความเป็นพุทธศาสนายิ่งลึกยิ่งยากใหญ่
การที่พระพุทธเจ้า หรือผู้กำหนดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาต้องแบ่งการศึกษาเป็น 2 ทางคือ ทางปริยัติ และทางปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุถึงปฏิเวธ จุดหมายปลายที่ถึงแก่นของพุทธศาสนาคือนิพพาน
ผู้ที่ศึกษาปริยัติ คือการเรียนรู้ถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ผู้ศึกษาทางปฏิบัติคือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ทำสมาธิวิปัสสนากรรมฐานกระทั่งถึงมรรค 8
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งสองเรื่อง