มองมุมต่าง “หนี้ กยศ.” ตามยุค

ทุกเดือนกรกฎาคม เรื่องราวของ “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” หรือที่เรียกด้วยตัวย่อว่า “กยศ.” จะเป็นข่าวเป็นคราวสู่การรับรู้ของคนทั่วไป

ประเด็นที่ถูกนำเสนอทุกปีไม่มีอะไรแตกต่างกันมากนัก นั่นคือจะหยิบเอาเรื่อง “เบี้ยวหนี้” มาขยายผล

ที่ต้องเป็นข่าวกันในเดือนกรกฎาคม เพราะเป็นวาระที่กำหนดให้ผู้กู้ต้องใช้หนี้ และผู้ให้กู้ต้องติดตามหนี้

ก่อนหน้านั้น การ “เบี้ยวหนี้ กยศ.” แม้จะเป็นข่าวขึ้นมา แต่ไม่เป็นกระแสอะไรมากนัก แค่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็บ่นๆ กันไปทำนองว่า “ทำไมไม่ใช้หนี้กัน” หรือ “ให้คนรุ่นหลังต้องเดือดร้อน เพราะกองทุนร่อยหรอลง เสี่ยงต่อการไม่มีให้กู้กับรุ่นน้องๆ”

ที่ไม่เป็นกระแสมากมาย นั่นเพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่ยังจดจำได้ว่า “หลักการของการตั้ง กยศ.” นั้น คือความคิดที่จะลดช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำในเรื่องโอกาสทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ลูกหลานคนมีรายได้น้อยได้เล่าเรียนในสถาบันการศึกษาระดับสูงโดยคนเป็นพ่อเป็นแม่ไม่เดือดร้อนต้องดิ้นรนจนรู้สึกว่าเกินกำลัง

โดยเฉพาะผู้บริหารกองทุนนั้นตระหนักกับ “หลักการดังกล่าวนี้ดี” การทวงหนี้จึงไม่เข้มข้นอะไรมากมายนัก

ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับ “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนในประเทศ” ยิ่งลดท่าทีเอาเป็นเอาตายกับเรื่องนี้มาก

เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า “งบประมาณของรัฐที่สูญเสียไปกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” นั้น เอาเข้าจริงที่เบี้ยวหนี้ก็เพียงน้อยนิด เทียบกับความสูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในเรื่องอื่นๆ แล้ว แทบจะเทียบกันไม่ได้

การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงเน้นที่รณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกว่า “เป็นหนี้แล้วต้องใช้” แต่ไม่เอาเป็นเอาตายระดับที่จะต้องตามไล่ตามล่าเอามาประณามว่าเป็นคนเลวชาติของสังคม

เมื่อมาถึงยุคสมัยที่อะไรต่ออะไรก็ขาดแคลนไปเสียหมด งบประมาณของรัฐต้องจัดสรรอย่างระมัดระวัง และผู้คนนิยมชื่นชมในแนวทางการบริหารจัดการประเทศโดยตั้งต้นที่ความเชื่อว่า “คนไม่เท่ากัน” ทำให้ “ความเหลื่อมล้ำ” ไม่เป็นเรื่องที่จะต้องหาทางลดช่องว่าง

หลักการที่จะให้โอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมด้วยการเอื้อบางอย่างให้จึงไม่ถูกนำมาอธิบาย

และเมื่อสังคมเปิดให้บุคคลต่างๆ เข้ามาแสดงความคิดความเห็นกันเต็มที่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาไปในทางที่ช่องทางการนำเสนอความเห็นมีมากขึ้น

“เป็นหนี้แล้วต้องใช้” จึงเป็น “หลักการเดียว” ที่ถูกนำมาอธิบายเรื่อง “เบี้ยวหนี้ กยศ.”

การมองอย่างเข้าใจในอดีตหายไป หรือเหลือน้อยเต็มทน

แม้การทำโพลของสถาบันการศึกษาระดับ “นิด้าโพล” ยังสำรวจเรื่องนี้โดยไม่มีคำถามเรื่อง “การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการศึกษา”

เน้นที่ “เป็นหนี้กับการใช้หนี้ และมาตรการการลงโทษ” เป็นมิติเดียวกับการกู้ยืมเงินมาประกอบธุรกิจ

อารมณ์ของคนในสังคมก็ไปทางนั้นเกือบหมด

ในคำถามที่ว่า “มีข้อเสนอนำเกี่ยวกับการให้กู้ยืมและติดตามการชำระหนี้ของ กยศ. อย่างไร” โดยให้ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ คำตอบจึงออกมาเป็น

ร้อยละ 40.03 ให้คัดกรองผู้กู้ยืมอย่างละเอียดก่อนให้กู้ยืมว่ามีฐานะยากจนจริง

ร้อยละ 37.59 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องเป็นบิดา มารดา หรือญาติของผู้กู้ยืม

ร้อยละ 30.34 ให้ติดตามตรวจสอบสถานะประวัติของผู้กู้เงิน กยศ. ตลอดเวลา

ร้อยละ 13.00 ให้ออกกฎหมายที่มีบทลงโทษขั้นรุนแรงกับผู้ค้างชำระหนี้

เป็นยุคที่ค่านิยมของผู้คนเน้นที่การตามทวงหนี้ มากกว่าเข้าใจถึงความเหลื่อมล้ำเหมือนที่เคยเป็นมา