เปิดสูตร! ยาอายุวัฒนะแห่งที่ราบสูง

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

ยาอายุวัฒนะแห่งที่ราบสูง

เคยเล่าไว้ในที่นี้ถึงปริศนาตำรับยาดั้งเดิมว่า “หมูเห็ดเป็ดไก่” (ค้นอ่านได้ในมติชนสุดสัปดาห์ที่ตีพิมพ์แล้ว) และได้กล่าวถึงว่ามีตำรับยาอายุวัฒนะที่พูดถึงบ่อยๆ ในวงหมอพื้นบ้านอีสาน คือ ตำรับที่เป็นปริศนาคำทายที่ว่า
“กลางอากาศ พาดหง่าไม้ ไหง้ธรณี หนีสงสาร ไปนิพพานบ่กลับ”
หลายคนคงเคยได้ยินและเคยรู้มาบ้าง แต่เชื่อว่ายังมีคนอีกจำนวนมากไม่รู้จัก ภูมิปัญญาไทยซ่อนปริศนาไว้ได้สนุก เขียนเป็นคำพ้องจองได้ไพเราะด้วย
คำทายนี้คือ

กลางอากาศ หรือบางตำรากล่าวเรียกว่า บินกลางอากาศ อันนี้ใช้จินตนาการสักนิดย่อมคิดถึง “ผึ้ง” ซึ่งส่วนที่นำมาปรุงยาไทย แต่โบราณมาเราใช้น้ำผึ้งแท้ที่เป็นน้ำผึ้งเดือน 5 ซึ่งตามธรรมชาติรวงผึ้งจะห้อยลงอยู่กลางอากาศ จึงเรียกว่า กลางอากาศ
แล้วทีนี้คงมีคำถามว่า ทำไมต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน 5 ใช้น้ำผึ้งเดือนอื่นๆ ได้หรือไม่
ในความเป็นจริงจะใช้น้ำผึ้งเดือนไหนก็เป็นน้ำผึ้งเหมือนกัน
แต่การสะสมน้ำผึ้งจำเป็นต้องใช้น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ เมื่อผึ้งไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้ ทำให้มีเกสรดอกไม้ติดเข้ามาปนอยู่ในน้ำผึ้งด้วย
ในช่วงเดือน 5 เป็นเดือนที่ดอกไม้มากมายออกดอก
ดังนั้น น้ำผึ้งเดือน 5 จึงเป็นน้ำผึ้งที่ประกอบด้วยเกสรดอกไม้นานาชนิด
ซึ่งเท่ากับมีพืชพรรณดอกไม้หรือสมุนไพรมากมายช่วยในการบำรุงร่างกาย
ดังนั้น จึงเชื่อกันว่าน้ำผึ้งเดือน 5 เป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุดในการปรุงยา
และน้ำผึ้งที่นำมาใช้นั้นมักจะเป็นน้ำผึ้งจากผึ้งหลวง (Apis dorsata Fabricius)
เป็นผึ้งที่มีการสร้างรังขนาดใหญ่ อยู่ตามผาหินในป่าหรือต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ เช่น ต้นเซียงหรือต้นผึ้ง (Koompassia excelsa (Becc.) Taub.)
ผึ้งหลวงมักสร้างรังอยู่ในที่มองเห็นง่าย คนจึงเก็บหามาได้ง่ายด้วย
ส่วนผึ้งโพรง (Apis cerana Fabricius) ชอบสร้างรังอยู่ในโพรงหรือตามหลืบต่างๆ มองเห็นได้ยาก เก็บหาก็ยากด้วย แต่ในปัจจุบันภูมิปัญญาชาวบ้านมีการสร้างรังเทียม เพื่อเลี้ยงผึ้งเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ต่างๆ มากขึ้น
ส่วนผึ้งมิ้ม (Apis florea Fabricius) เป็นผึ้งที่มีรังขนาดเล็ก สร้างรังตามป่าละเมาะ เก็บหาได้ง่าย แต่มีปริมาณน้ำผึ้งน้อย
ในปัจจุบันมีผึ้งอีกชนิดหนึ่งที่เริ่มมีการเพาะเลี้ยงเพื่อเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ คือ ชันโรง เป็นผึ้งที่ไม่มีเหล็กใน ในประเทศไทยมีรายงานว่ามีถึง 32 ชนิด ชนิดที่คนอีสานคุ้นเคยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Trigona apicalis Smith
ภาษาพื้นบ้านเรียกว่า “แมงขี้สูด” เพราะมีการเอาขี้ผึ้งมาใช้เป็นวัสดุเชื่อมอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โหวต แคนฯ

พาดหง่าไม้ หมายถึง บอระเพ็ด หรือที่คนอีสานเรียกว่า “เครือเขาฮอ”
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าTinospora crispa (L.) Hook. f. & Thomson
บอระเพ็ดเป็นเถาเลื้อยตามคาคบหรือกิ่งไม้จึงเรียกว่า พาด หง่าไม้นั่นเอง
เถาบอระเพ็ดมีรสขมจัด เย็น ใช้แก้ไข้ทุกชนิด
แก้พิษฝีดาษ เป็นยาขมเจริญอาหาร และผสมในตำรับยาไทยมากมาย
ไหง้ธรณี คำว่า “ไหง้” หมายถึง แยกหรือแหวก
สมุนไพรชนิดนี้ คือ หัวแห้วหมู เพราะหัวจะดันดินแยกออกจึงเรียกว่า “ไหง้ธรณี”
หญ้าแห้วหมู มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cyperus rotundus L. เป็นพืชจำพวกหญ้ามีความทนทานใครคิดฆ่าก็ไม่ตายง่ายๆ จึงมีการใช้สารเคมีกำจัดอย่างหนัก
ทำให้คุณภาพของหญ้าแห้วหมูในปัจจุบันที่เก็บมาทำยามีการปนเปื้อนยาฆ่าหญ้า
การซื้อหัวแห้วหมูมาทำยาต้องซื้อจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้เท่านั้น

หนี้สงสาร หมายถึง เครือง้วนหมู มีชื่อวิทยาสาสตร์ว่า Dregea volubilis (L.f.) Benth. exHook.f.
คำว่าง้วน หมายถึง พิษ ชื่อ ง้วนหมู จึงหมายถึงหมูที่เป็นพิษ ซึ่งนำไปผูกโยงกับพุทธประวัติที่กล่าวว่าก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานนั้น พระองค์ได้เสวยเนื้อสุกรที่เป็นพิษเข้าไป
แต่ในบางตำนานกล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าสิ้นเนื่องจากเสวย “สูกรมัททะวะ”
ซึ่งบางท่านให้ความหมายถึงเนื้อหมู แต่มีความเห็นต่างว่าหมายถึงเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งหมูชอบกินมาก ในยุโรปจึงใช้การจูงหมูเข้าป่าไปหาเห็ดชนิดนี้
ซึ่งเข้าใจว่าในเหตุการณ์สมัยพุทธกาลนั้น ชาวบ้านที่นำเอาเห็ดชนิดนี้ไปปรุงเป็นอาหารถวายพระพุทธเจ้า แต่เนื่องจากความรีบร้อนจึงอาจต้มเห็ดไม่สุกเต็มที่ทำให้พิษของเห็ดสลายไปไม่หมด เมื่อฉันแล้วจึงทำให้เกิดอาการท้องเสีย จนดับขันธ์ไป
คนอีสานจึงเรียกง้วนหมูในคำทายว่า หนีสงสารหรือหนีวัฏสงสาร ง้วนหมูเป็นไม้เถาชนิดหนึ่งมีรสขม ใบและดอกกินได้ อาจถือว่าเป็นผักที่มีรสขมอมหวานมัน มีสรรพคุณช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกายและช่วยเจริญอาหาร
ในทางยาสมุนไพร รากและเถามีสรรพคุณช่วยทำให้นอนหลับ
เป็นยาขับเสมหะ แต่ถ้าใช้มากเกินไปจะทำให้อาเจียน
ลำต้นอ่อนก็มีสรรพคุณทำให้อาเจียนเช่นกัน เถายังใช้เป็นยาแก้พิษงูกัด และประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศจะใช้เป็นยาลดไข้ ทำให้อาเจียน
ใช้แก้เจ็บคอ แก้กลาก แก้โรคหอบหืด และเป็นยาแก้พิษเมื่อถูกยาพิษ

ไปนิพพานบ่กลับ หมายถึง ขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นอ้อย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma zedoaria (Christm.) Roscoe
เหง้าขมิ้นอ้อยมีรสเผ็ดขม เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับและม้าม ช่วยกระจายโลหิต รักษาอาการเลือดคั่ง หรือเลือดไหลเวียนไม่สะดวก เส้นเลือดในท้องอุดตัน
คำว่าขมิ้นขึ้นนั้นจะมีลักษณะพิเศษจะมีแง่งหรือหัวขึ้นมาเรียงรายอยู่บนพื้นดินเป็นส่วนใหญ่
เหมือนกับว่าไม่กลับลงไปอยู่ดินอีก คนอีสานจึงเรียกไปนิพพานบ่กลับ

การปรุงยา ให้เอาตัวยาทั้ง 5 ชนิด เถาบอระเพ็ด เครือง้วนหมู หัวแห้วหมู และขมิ้นขึ้นหรือขมิ้นอ้อยมาล้างให้สะอาด
หั่นแล้วผึ่งแดดให้แห้ง
บดให้ละเอียดผสมกันแล้วใช้น้ำผึ้งเดือน 5 ผสมให้เหนียว ปั้นเป็นลูกกลอน ผึ่งแดดหรืออบให้พอแห้ง เก็บไว้รับประทานก่อนนอน จะทำให้อายุยืนนาน