ทำความเข้าใจใหม่ “แดนสุขาวดี” ความรู้-ความเชื่อ-ความหมาย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
4x5 original

หลังงานเสวนาเรื่อง “สุขาวดีที่ไม่รู้จัก” ที่สถาบันวัชรสิทธา ผมเหมือนได้ทั้งฟังความรู้อันไม่เคยรู้ และได้ฟังธรรมที่ไม่เคยฟัง แม้จะทำหน้าที่ผู้ร่วมเสวนาด้วย แต่ก็เหมือนได้กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง

ทั้งนี้ก็ด้วยความรู้และประสบการณ์ทางธรรมของคนที่เข้าใจสุขาวดีอย่างอาจารย์ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้รู้ทั้งทางศาสนาและศิลปะอันเยี่ยมยอด

อยากจะขอขอบคุณกัลยาณมิตรผู้นี้ด้วยศีรษะและใจที่ก้มลงบูชาหลายต่อหลายครั้ง

อาจารย์ศุภโชค หรือผมเรียกอย่างสนิทสนมว่า “พี่ดอน” เริ่มศึกษาเกี่ยวกับสุขาวดีด้วยตนเอง จนได้มีโอกาสพบนักบวชในนิกายนั้นๆ บ้าง จึงผสานเอาคำสอนและประสบการณ์มาเป็นส่วนหนึ่งในเส้นทางฝึกฝนของตน

ที่สำคัญ คนเปี่ยมศรัทธาพูดออกมาจากใจด้วยศรัทธา ฟังแล้วก็ขนลุกขนพองละครับ

ผมจึงอยากเก็บเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากงานวันนั้นมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านบ้าง เป็นบุปผามาลาบูชาคนสอนและมอบเป็นสินน้ำใจตัวหนังสือ ถ้ามีส่วนผิดอันนั้นย่อมเพราะความหลงลืมของผม ถ้ามีส่วนดีย่อมเป็นของท่านผู้สอนมิพักต้องสงสัย

 

นิกายสุขาวดี ที่จริงควรเรียกว่า นิกาย “วิสุทธิภูมิ” (pureland) จะตรงมากกว่า น่าสนใจว่า นิกายนี้เป็นผลผลิตของจีน มิใช่อินเดีย แม้จะมีรากอยู่ในอินเดียก็ตาม เช่นเดียวกับนิกายฉาน หรือนิกายเซนนั่นแล

เหตุที่เรียกว่าวิสุทธิภูมิ เพราะหมายมุ่งไปยัง “พุทธเกษตร” ของพระพุทธะอันมีนามว่าอมิตาภะ ซึ่งเป็นแดนพิสุทธิ์ สัตว์ใดไปเกิดที่นั่น ย่อมได้หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายเป็นแน่

จีนกับอินเดียนั้น ในทางวัฒนธรรมและนิสัยใจคอต่างกันราวน้ำกับน้ำมัน ชาวจีนมีนิสัยเป็นนักปฏิบัติ ส่วนชาวอินเดียนั้นชอบทฤษฎี ปรัชญาของอินเดียจึงเต็มไปด้วยความซับซ้อนด้านอภิปรัชญาและเหตุผลอีนุงตุงนัง คล้ายกับปรัชญาตะวันตก

มิใช่ปรัชญาจีนจะไม่ซับซ้อน ทว่าไม่มุ่งเน้นการอธิบายความยืดยาวหรือแสดงความคิดด้านอภิปรัชญาหรือความจริงสูงสุดอะไรมากมาย แต่เน้นความคิดที่เรียบง่าย มีความชัดเจนในตัวเอง

ดังนั้น สิ่งที่อินเดียทะลวงเข้าไปในแผ่นดินจีนได้คือ “พุทธศาสนา” จึงถูกทำให้มีความเป็นจีนเสีย โดยลดความยุ่งยากในทางทฤษฎีหรืออภิปรัชญาลง และมีลักษณะในเชิงปฏิบัติมากขึ้น

มีผู้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของนิกายเซนหรือฉานไว้มากแล้ว ส่วนสุขาวดีนั้นยังไม่มากพอ ทั้งที่ทั้งสองนั้นเคียงคู่กันมา

 

นิกายสุขาวดีหรือวิสุทธิภูมิไม่มีในอินเดีย และมีพระสูตรหลงเหลืออยู่เพียงสามพระสูตรสำคัญ โดยเข้าใจว่าต้นฉบับภาษาสันสกฤตก็ได้หายไปหมดแล้ว คือ พระมหาสุขาวดีวยูหสูตร พระจุลสุขาวดีวยูหสูตร และพระอมิตยุสธยานสูตร

พระสูตรเหล่านี้ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท แต่นั่นก็มิใช่ปัญหาของชาวมหายาน เพราะเขาถือว่า พระพุทธองค์อาจเทศนาในวาระต่างๆ กันไป และถึงจะบอกว่ามีคณาจารย์ในยุคหลังแต่งขึ้นก็ไม่ใช่ปัญหาอีก เพราะคณาจารย์เหล่านั้นก็เป็นพระนิรมาณกายของพระพุทธองค์ต่างๆ นั่นแหละ โดยคุณภาพจึงไม่ต่างกัน

ทั้งนี้ นิกายวิสุทธิภูมิได้แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ที่พุทธศาสนาแบบจีนไปถึง เช่น เกาหลีและญี่ปุ่น ทั้งในแง่ที่เป็นตัวนิกายเอง หรือหลักคำสอนต่างๆ หลักปฏิบัติที่ไปผสมผสานอยู่ในนิกายอื่นๆ

ที่น่าสนใจคือ เมื่อไปถึงญี่ปุ่นแล้ว ก็ได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมโดยคณาจารย์ของญี่ปุ่นเอง เกิดเป็นนิกายโจโด (วิสุทธิภูมิ) และโจโดชิน (วิสุทธิภูมิแท้)

นิกายโจโดชินนี่เองที่เป็นนิกายที่มีประชาชนนับถือมากที่สุด โดยท่านชินรัน คณาจารย์ต้นนิกาย ผู้เป็นศิษย์ของโฮเนน

นักวิชาการมักจะบอกว่า เพราะมันง่าย แค่สวดถึงพระอมิตาภะแค่สิบคาบ ก็ไปบังเกิดในสุขาวดีได้แล้ว ไม่ยากเลย ใครๆ ก็เลยนิยม โดยเฉพาะชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือ

ทว่าความง่ายของคำสอนนี่แหละที่ทำให้คณาจารย์เช่นท่านชินรัน ต้องเขียนหนังสือจำนวนมากตลอดชีวิตของท่านเพื่ออธิบายคำสอนเหล่านี้

 

ชาววิสุทธิภูมินั้นแตกต่างกับพุทธศาสนาโดยทั่วไปคือเชื่อใน “อำนาจภายนอก” ซึ่งโดยปกติแล้วเราก็เข้าใจว่าพุทธศาสนาปฏิเสธอำนาจภายนอก แต่ให้กลับมาสู่ความเชื่อมั่นในอำนาจของตนเอง ที่จะพาตนเองพ้นกิเลสได้

อำนาจภายนอกที่ว่านี้คืออำนาจของพระอมิตาภะพุทธเจ้า ที่จะฉุดช่วยสรรพสัตว์ไปยังวิสุทธิภูมิของพระองค์

หลักศรัทธาของสุขาวดีจึงเริ่มต้นด้วยการเชื่อในอำนาจของพระอมิตาภะและมั่นใจว่าพระองค์ย่อมจะฉุดช่วย “ปุถุชน” อย่างเราแน่ๆ

ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่อาจเชื่อมั่นในอำนาจอะไรของ “ตัวตน” ของเราได้ ในนิกายโจโดชินจึงสอนว่า แม้แต่การปฏิบัติการสวด “นะโม อมิตพุทธ” (ภาษาญี่ปุ่นว่า นำโม อมิดาบุตสึ) ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติเดียวที่ง่ายที่สุดนั้น ก็ไม่เกี่ยวกับจำนวนมากน้อยหรือมุ่งมั่นแค่ไหน

เพราะหากเราคิดว่า การสวดของเราดีถึงขนาด และสวดมากจนพระอมิตาภะพึงพอใจ เพื่อที่เราจะถูกรับไปยังสุขาวดีแล้วไซร้ นั่นเท่ากับว่า เราไม่ได้เชื่อมั่นในอำนาจของพระอมิตาภะอย่างแท้จริง แต่เชื่อในพลังอำนาจการสวดหรือการปฏิบัติของตัวเราเอง

ท่านชินรันเห็นว่า การสวดนะโมอมิตพุทธ (อาจารย์ดอนท่านว่า ที่ไม่สวดว่า นะโม อมิตาภพุทธะนั้น ก็เพราะคำ อมิต รวมความทั้งพระอมิตาภะ และพระอมิตายุส ซึ่งเป็นพระนามทั้งสองของพระพุทธเจ้าองค์นั้น) เป็นเพียงการสรรเสริญพระปณิธานของพระองค์ ไม่ได้มีอำนาจวิเศษ หรือยิ่งสวดยิ่งขลังอะไรแบบนั้นเลย

ก็เพราะไม่ว่าเราจะสวดมากน้อยแค่ไหน เราจะชั่วดีอย่างไร พระอมิตาภะย่อมนำเราไปสุขาวดีแน่ๆ

กระนั้นก็มิได้แปลว่า เราควรกระทำชั่วอย่างสบายใจ แล้วรอเข้าสุขาวดี (แม้ในพระสูตรจะรับว่าคนชั่วก็เข้าสุขาวดีได้) เพราะเมื่อไปยังสุขาวดีแล้วคนทำกรรมมากต้องใช้เวลายาวนานถึง 12 กัป กว่าดอกบัวที่บรรจุตนเองจะบานเพื่อรับธรรมจากพระอมิตาภะแล้วตรัสรู้ในที่นั้น

อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านว่า สุขาวดีเปรียบดังโรงแรมระหว่างไปนิพพาน คือเป็นสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมดี ช่วยให้ “ทุกคน” ที่ไปถึงยังที่นั่นได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณจนหมดสิ้น

 

นิกายนี้จึงไม่รังเกียจคนชั่ว คนต่ำต้อย ถึงกับมีคำกล่าวที่ชวนฉงนว่า “ก็คนชั่วยังเข้าในสุขาวดีได้ ไฉนคนดีจะเข้าในสุขาวดีไม่ได้” กล่าวคือ ปกติเรามักจะให้เกียรติคนดีก่อน แต่ในสุขาวดี ขนาดคนไม่ดีแค่ไหนยังไปได้ พวกคนดีก็ไม่ต้องเสียใจ ก็ย่อมไปได้แน่

พุทธศาสนาแบบสุขาวดีไม่ต้องห่วงคนดีมาก เพราะพวกนี้มีที่ไปอยู่แล้ว แต่พุทธแบบสุขาวดีห่วงหาอาทรคนชั่วหรือคนที่รู้ตัวว่าบกพร่องต่างหาก

ท่านชินรันผู้ก่อตั้งนิกายมักกล่าวเมื่อมีคนถามว่าท่านจะได้ไปยังสุขาวดีไหม ท่านตอบว่า “ที่ที่ฉันจะไปน่าจะเป็นนรกมากกว่า”

นั่นคือท่านแสดงถึงความบกพร่องที่ท่านมีอยู่ในใจเสมอ

แต่นั่นแหละครับ เอาเข้าจริงสุขาวดีแม้จะสุขสบาย แต่เป้าหมายไม่ได้หยุดแค่นั้น การไปสุขาวดี คือการรับเอาปณิธานว่า จะบรรลุเป็นพระพุทธะ เพื่อออกไปฉุดช่วยสรรพสัตว์ในโลกธาตุอื่นๆ ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

นี่เป็นมโนทัศน์ธรรม พื้นฐานของความเป็น “มหายาน” นั่นเอง

 

เมื่อท่านโฮเนนและท่านชินรันมรณภาพ (ไปบังเกิดในสุขาวดีแล้ว) สานุศิษย์จึงเชื่อว่า ที่จริงทั้งสองท่านก็คือ นิรมาณกายของพระอมิตาภะหรือพระพุทธะในแดนนั้นกลับมายังโลกของเรา เพื่อสั่งสอน ฉุดช่วยสรรพสัตว์ต่อไปอีก

ที่จริงคำสอนสุขาวดีนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ตีความได้มากหลาย บางท่านจึงกล่าวว่า ที่จริงแล้ว พระอมิตาภะคือตัวเราแต่ละคนนี่เอง จึงมีคำกล่าวว่า ใจของเรากับใจของพระอมิตาภะไม่ต่างกัน

หากเรามีความรักความกรุณา เราก็คือพระอมิตาภะ และโลกของเราก็ย่อมเป็นวิสุทธิภูมิไปด้วย

ดังนี้แล้ว นิกายนี้จึงควรค่าแก่การศึกษา ค้นคว้า และหาความหมายอย่างยิ่ง

มิได้เป็นแค่ “ความงมงาย” หรือ “จุดเสื่อม” ของพุทธศาสนา อย่างที่เคยกล่าวกัน