“รำพัด โกฏแก้ว” แม่ญิงล้านนาผู้อยู่เบื้องหลัง การนุ่งผ้าซิ่นในวันศุกร์

“รําพัด โกฏแก้ว” แม่ญิงล้านนาวัยต้น 60 ผู้นี้ ชาวล้านนารู้จักเธอในฐานะเป็นเจ้าของและผู้บริหาร “เฮือนม่อนฝ้าย” (อยู่ใกล้โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่) เรือนพื้นถิ่นที่ต้องแหวกม่านไทรย้อยเข้าไป สถานที่จัดงานเลี้ยงแสนคลาสสิค ทั้งงานใหญ่ งานเล็ก ไม่ว่าถ่ายพรีเว็ดดิ้ง งานเปิดตัวหนังสือ งานแถลงข่าว งานแต่งงาน งานเลี้ยงรุ่น ฯลฯ อบอวลด้วยบรรยากาศล้านนาแบบย้อนยุค

กระทั่งภาพยนตร์และละครหลายเรื่องต้องใช้เป็นฉากถ่ายทำ อาทิ รอยไหม เมื่อดอกรักบาน รากนครา ฯลฯ

ต่อให้มีแขกมาร่วมงานมากถึง 400-500 คน เฮือนม่อนฝ้ายก็สามารถจัดชุดผ้าเมืองตระการตาของทุกชนเผ่าชาติพันธุ์รองรับให้ครบทุกคน แบบไม่สุกเอาเผากิน เรียกได้ว่าเสื้อผ้าหน้าผมนั้นเป๊ะมาก ใครต้องการเป็นเจ้านาง เจ้าน้อยของไทเผ่าไหน ราชสกุลใด เฮือนม่อนฝ้ายจัดให้ได้ครบทุกสไตล์

จึงมาสู่คำถามที่ว่า แม่ญิงแกร่งนาม “รำพัด โกฏแก้ว” ผู้นี้เป็นใครมาจากไหน เธอเอาพลังมหาศาลมาเนรมิตแปลงโฉมให้คนธรรมดากลายเป็นคนล้านนายุคโบราณได้อย่างไร

 

จากดอยเชียงดาวสู่ครูหลังเขาลำพูน

รําพัด โกฏแก้ว ได้เล่าถึงปูมหลังชีวิตวัยเยาว์ของเธอ ในงานเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า ล้านนาวันนี้” บนเวทีโหมโรงล้านนาศึกษา จัดโดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปีกลาย (30 พฤษภาคม 2560) ว่า

ตัวเธอมาจากบ้านไร่ปลายดอย เกิดและเติบโตที่อำเภอเชียงดาว ห่างไกลจากความเจริญของตัวเมืองเชียงใหม่ลิบลับ จึงได้ซึมซับกับบรรยากาศท้องนาป่าเขา ธรรมชาติ และวิถีชีวิตแบบบ้านๆ

เช่น ต้องนั่งตัดใบตองทำสะตวง (กระทง) และเด็ดดอกไม้จัดเรียงทำ “สรวยดอก” (กรวยดอกไม้) ติดตามพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยไปงานประเพณีต่างๆ ในวันเทศกาลสำคัญ

ต่อมาในวัยสาว 20 ต้นๆ เธอต้องจากภูเพียงเชียงดาว มาใช้ชีวิตข้าราชการในฐานะครูน้อยที่สมัครใจเลือกไปสอนเด็กกะเหรี่ยงในอำเภอทุรกันดารของจังหวัดลำพูน แถบบ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง และลี้

ณ ที่นั้นเองที่เธอได้บังเกิดความศรัทธาต่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ครูบาอภิชัยขาวปี และครูบาชัยยะวงศาพัฒนา (ราวทศวรรษ 2520 ครูบาอภิชัยขาวปียังมีชีวิตอยู่ ส่วนครูบาวงค์ มรณภาพทศวรรษ 2540)

รำพัดกล่าวว่า หริภุญไชยเป็นราชธานีแห่งแรกของล้านนา และความเป็นเมืองบุญหลวงของลำพูน ได้หล่อหลอมให้เธอได้เรียนรู้วัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่อย่างมากมายเกินสาธยายได้หมด โดยเฉพาะเรื่องผ้าซิ่น เพราะลำพูนเป็นเมืองแห่งผ้าไหมยกดอก

 

ผ้าซิ่นที่เกือบสิ้นชะตากรรม

รําพัดถูกย้ายมาเป็นครูในโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ถือว่าตั้งอยู่ในเขตปริมณฑลไม่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากเกินไปนัก

เธอเริ่มเกิดแนวความคิดที่ว่า เด็กนักเรียนในห้องที่เธอสอน ควรมีวันใดวันหนึ่งในรอบ 1 เดือน ที่พร้อมใจกันแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นเมือง ดีหรือไม่?

ในเมื่อเธอเชื่อมั่นในความคิดดังกล่าว เธอจึงขายความฝันนี้แก่ครูใหญ่ประจำโรงเรียน แรกๆ ก็ถูกเพื่อนครูเย้ยหยัน ว่าบ้าไปกระมัง ผู้ปกครองของเด็กๆ จะเอาต้นทุนมาจากไหน ที่จะหาซื้อผ้าซิ่นผ้าเมืองมาใส่พร้อมหน้าพร้อมตากันเดือนละครั้ง

ข้อสำคัญ เพื่อนครูถามเธอว่า จะบังคับ (ภาษาล้านนาเรียก เข หมายถึงขืนใจ) ให้เด็กใส่ผ้าเมืองไปเพื่ออะไร ไม่เกิดประโยชน์อันใดเลย

รำพัดไม่ย่อท้อ เธอยังเที่ยวเดินเคาะประตูพ่อแม่ของเด็กทีละหลังทีละเรือน ยกมือสิบนิ้ววันทาขอร้องให้ผู้ปกครองช่วยสนับสนุนให้เด็กๆ ใส่ผ้าเมืองมาโรงเรียนสักวัน เริ่มต้นด้วยในวันศุกร์สิ้นเดือนก่อน จากนั้นก็เพิ่มเป็นทุกวันศุกร์

ผลปรากฏว่า เด็กๆ ในห้องเรียนที่เธอเป็นครูประจำชั้น ก็ค่อยๆ ทยอยใส่เสื้อหม้อห้อม (ภาษาเหนือนิยมใช้อักษรสูงหรืออักษรนำกับวรรณยุกต์โท มากกว่าจะใช้อักษรต่ำกับวรรณยุกต์เอก เป็นม่อฮ่อม) มาตามอัตภาพ แต่อย่างน้อยก็จุดประกายให้เด็กๆ ห้องอื่นเริ่มเกิดลัทธิเอาอย่าง

ซึ่งเธอก็น่าจะพอใจแล้ว แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ รำพัดมานั่งพินิจพิเคราะห์ว่ามันถูกต้องหรือไม่ การที่ให้ทั้งเด็กชายเด็กหญิงใส่เสื้อหม้อห้อมสีน้ำเงินเหมือนๆ กัน โดยไม่แยกความเป็น Feminine ออกจากความเป็น masculine เธอรู้สึกว่าการใส่เสื้อหม้อห้อมของเด็กผู้หญิงเป็นอะไรที่ดูไม่อ่อนหวาน

ยิ่งใส่เสื้อเมืองเฉพาะท่อนบน แต่ท่อนล่างยังเป็นกระโปรงนักเรียนสีน้ำเงิน หรือกางเกงสีกากีของเด็กผู้ชาย มันดูประดักประเดิดชอบกล ข้อสำคัญ “หม้อห้อม” มันใช่สัญลักษณ์ของความเป็นคนเมืองล้านนาหรือเปล่า? เธอเฝ้าเพียรถามตัวเอง

 

หม้อห้อมอัตลักษณ์เมืองแพร่
แล้วเชียงใหม่เล่า?

ต่อมาเธอได้แรงบันดาลใจใหญ่หลวง จากการเรียนรู้ถึงอัตลักษณ์ล้านนาโดยวาทกรรมของปราชญ์ใหญ่เมืองเหนือสองท่านคือ ศาสตราจารย์ ดร.ไกรศรี นิมมานเหมินท์ และศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ว่า

“เสื้อหม้อห้อมไม่ใช่อัตลักษณ์ของคนเชียงใหม่ แต่เป็นสัญลักษณ์ของคนเมืองแพร่”

“ตายละวา” เธอนึกในใจ จะแก้ไข จะปรับทัศนคติกับเพื่อนครูและนักเรียนในโรงเรียนอย่างไรดี ซึ่งทุกคนอุตส่าห์ลงทุนซื้อเสื้อหม้อห้อมมาใส่กันทุกวันศุกร์เพื่อตามใจเธอแล้วในเบื้องแรก

เหมือนกับคนที่ได้คืบยังอยากจะเอาศอกอีก เธอประกาศกับทุกคนในโรงเรียนว่า “สรุปแล้วหม้อห้อมไม่ใช่ผ้าเมืองของบ้านเราเชียงใหม่นะ เราต้องศึกษาว่าชาติพันธุ์ไทโยน (ยวน-โยนก) หรือไทลื้อ ไทขึน ไทยอง ประชากรหลักของล้านนานุ่งห่มอย่างไรกันแน่”

ถือเป็นโจทย์ใหญ่หนักหนาสาหัสของเธอ เมื่อสามทศวรรษที่แล้ว ในยุคที่ยังไม่มีประเพณีแห่แหนแต่นแต้เกร่อถนนเหมือนวันนี้ ยุคที่ยังไม่มีออร์แกไนเซอร์รับจัดขันโตก ที่สาวๆ ดาหน้าออกมาแต่งกายในสไตล์นีโอล้านนากันอย่างโจ๋งครึ่ม

รำพัดต้องหาคำตอบให้ได้ว่า “หากผ้าเมืองของคนเชียงใหม่ไม่ใช่หม้อห้อมแล้วไซร้ ควรมีหน้าตาอย่างไร”

เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ รำพัดขลุกตัวขอข้อมูลจากผู้รู้ด้านผ้าทอและวัฒนธรรมประเพณีล้านนา ไม่ว่าจะเป็นพ่อครูมณี พยอมยงค์ อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ อาจารย์ปฐม พัวพันสกุล เจ้ายายดวงเดือน ณ เชียงใหม่ แม่ครูพ่อครูด้านช่างทอผ้านับสิบ

กระทั่งรำพัดได้คำตอบว่า ผ้าเมืองของเชียงใหม่ หากเป็นชาวไทโยน ต้องสวมเสื้อผ่าหน้า คอกลม นุ่งซิ่นก่านหรือซิ่นต๋า (ลายเส้นตามขวาง) สำหรับคหบดีผู้มีฐานะก็นุ่งซิ่นตีนจก

หากเป็นไทลื้อ ไทยอง ไทขึน นิยมใส่เสื้อปั๊ด (มีสาบเสื้อใหญ่ พาดผูกเอวด้านข้าง) กับนุ่งซิ่นตีนเขียวลายบัว หรือลายน้ำไหล และไทใหญ่อาจนุ่งซิ่นลุนตยา

เธอได้รวบรวมองค์ความรู้เบื้องต้น ที่พอคลำทางได้ว่าผ้าเมืองเชียงใหม่ควรมีความแตกต่างอย่างไรจากเสื้อหม้อห้อม จากนั้นเริ่มสเก๊ตช์ภาพ ออกแบบเองนำมาสร้างแพตเทิร์น และลงมือตัดเย็บเสื้อผ้าย้อมสีปักลายด้วยตัวน้ำมือของตัวเองทุกขั้นตอน

ล็อตแรกเธอตัดเสื้อคอกลมผ่าหน้าแบบง่ายๆ และผ้าซิ่นต๋า (ส่วนผู้ชายตัดเตี่ยวสะดอ คล้ายกางเกงชาวเล) ให้เด็กนักเรียนเฉพาะในห้องที่เธอดูแลใส่จำนวน 30 ชุดก่อน เมื่อเด็กมาโรงเรียนเอาชุดมาเปลี่ยน เลิกเรียนเธอเอาชุดกลับไปซักให้เองเพื่อสลับให้เด็กห้องอื่นใส่ในวันอื่นที่ไม่ใช่วันศุกร์

ต่อมาเมื่อโรงเรียนอื่นมาเห็นก็เกิดประทับใจ อยากให้เด็กในโรงเรียนตนนุ่งผ้าเมือง 1 วันต่อสัปดาห์เลียนแบบโรงเรียนนี้บ้าง แรกๆ เธอก็เอาชุด 30 ชุดนี้ให้เด็กโรงเรียนอื่นเวียนยืมกันไป แล้วเอามาคืน

แต่ต่อมา จากหนึ่งโรงเรียน กลายเป็นสิบโรงเรียน สู่ยี่สิบโรงเรียน ถึงขั้นศึกษาธิการอำเภอและศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่เรียกเธอไปพบว่า อยากรณรงค์ให้เด็กนักเรียนในเชียงใหม่ทุกโรงเรียนใส่ผ้าเมืองทุกวันศุกร์เหมือนโรงเรียนของเธอบ้าง แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อยุคก่อนนั้นยังไม่มีผ้าเมืองในลักษณะเสื้อโหลขายกันแพร่หลายแบบทุกวันนี้

รำพัดจึงรับอาสาเสียสละทั้งเวลาและทรัพย์สินส่วนตัว นั่งหลังขดหลังแข็งตัดเย็บชุดผ้าเมืองเพิ่มให้นักเรียนโรงเรียนอื่นๆ ใส่ด้วยอีกเป็นจำนวน 400 ชุด

เธอบอกว่าเงินเดือนครูยุค 30 กว่าปีก่อน 4,000 บาท เงินเดือนออกปั๊บแต่ละเดือน เงินเธอหมดเกลี้ยงไม่เหลือเลยแม้แต่บาทเดียว ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เพราะเด็ดกระถินริมรั้วมาจิ้มน้ำพริกกินกันตาย เพราะเธอต้องเอาเงินเดือนไปซื้อผ้า ซื้อด้าย ซิป กระดุม และจ้างคนข้างบ้านช่วยกันเย็บผ้าเมืองให้เด็กๆ ทั่วเชียงใหม่

เสาร์อาทิตย์เธอไม่ได้ไปเที่ยวไหนเลย เพราะต้องรวบรวมชุดที่เด็กๆ ใส่เอาไปซักรีด รวมทั้งซ่อมแซมรอยขาด หากซักไม่ดีสีก็จะตกซีดเร็ว

รำพัดง่วนอยู่กับการต่อสู้เคี่ยวเข็ญเรื่องความฝันอยากให้เด็กเชียงใหม่อนุรักษ์ผ้าเมืองอยู่นานนับทศวรรษจนบรรลุผลสำเร็จ

กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนแล้วคนเล่ารู้สึกชื่นชม เชิญเธอไปพูดคุย จนเกิดนโยบายประกาศแกมขอร้องให้บรรดาข้าราชการในศาลากลางและหน่วยงานของรัฐทุกแห่งให้ความร่วมมือ ช่วยกันรณรงค์ใส่ผ้าเมืองในทุกวันศุกร์ด้วยเช่นกัน

จากเด็กนักเรียน กระจายไปสู่ครูบาอาจารย์ ขยายวงกว้างไปสู่ข้าราชการทั่วเชียงใหม่ ต่อมาแนวคิดเรื่องการใส่ผ้าเมืองทุกวันศุกร์ก็แพร่หลายไปสู่จังหวัดลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย และแม่ฮ่องสอน

แม้ไม่ใช่กฎระเบียบที่ตายตัว แต่ก็ถือว่าเป็น “สัญญาใจของคนเมือง” ที่ต่างรู้กันดีว่า ทุกวันศุกร์คนล้านนาควรใส่ผ้าซิ่น

 

สู่ผู้บริหาร “เฮือนม่อนฝ้าย”

จากครูน้อยนักอนุรักษ์ผู้มีหัวใจของยอดนักสู้ ต่อมารำพัดได้เออร์ลี่รีไทร์ ออกมาเป็นศิลปินอิสระ เธอสร้างเฮือนม่อนฝ้ายขึ้นมา เพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวมผ้าทอ ผ้าซิ่น เครื่องเขิน เครื่องหัตถกรรม กี่ทอผ้า หม้อน้ำ ไม้กาแล หัมยนต์ ปิ่นปักผมทองเหลือง เข็มขัดเงิน เครื่องดนตรีพื้นเมือง ฯลฯ จากทั่วทุกหัวระแหงในล้านนาที่เธอเดินทางไปเสาะแสวงหามา สิ่งที่จัดแสดงทั้งหมดอยู่บนเฮือนม่อนฝ้าย ไม่ใช่ทำไปตามกระแสเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

หากแต่เกิดจากความรัก เป็นน้ำพักน้ำแรงจากจิตวิญญาณของเจ้าของที่ทุ่มเท

จึงไม่ควรแปลกใจแต่อย่างใดเลยว่า ไฉนคณะคนกรุงเทพฯ คนต่างชาติ ที่มุ่งตรงมาหาเธอ บางครั้งจำนวนนับ 400 ชีวิต เธอสามารถนฤมิตเขาและเธอเหล่านั้นให้สวยสดงดงาม ตั้งแต่หัวจรดเท้าได้อย่างลงตัว ไม่ใช่สักแต่ว่าจับคนมาใส่ชุดแต่งตัวแบบลิเกให้ครบๆ 400 คน

ทุกวันนี้รำพัดอุทิศตนเป็นกรรมการให้แก่หลายองค์กรในเชียงใหม่ อาทิ เป็นฝ่ายกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีให้แก่มูลนิธิสถาบันครูบาเจ้าศรีวิชัย (ตรงข้ามวัดศรีโสดา) และช่วยเหลือวัด ชุมชนต่างๆ จัดพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดังเช่นพิพิธภัณฑ์หอธรรมวัดเจดีย์หลวง

เป็น “แม่ญิงล้านนา” อีกนางหนึ่งที่ควรได้รับการชื่นชมตั้งแต่ยังมีชีวิตตัวเป็นๆ เพราะหากไม่มีเธอ คงไม่มีใครนุ่งซิ่นทุกวันศุกร์เหมือนทุกวันนี้