สมชัย ศรีสุทธิยากร : ประสิทธิผลแห่งกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง

สมชัย ศรีสุทธิยากร

เพื่อนร่วมวิชาชีพผมท่านหนึ่งมาถามผม “อาจารย์ครับ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง นี่ภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร ใช่ Ombudsman ไหม”

ผมอึ้งไปสองวินาทีแล้วบอกว่า “ไม่รู้ เพราะไม่เคยเห็นรูปแบบดังกล่าวในต่างประเทศ ไม่น่าจะเป็น Ombudsman เพราะอันนั้นน่าจะหมายถึง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนผู้ตรวจการเลือกตั้ง น่าจะใช้คำว่า Election Inspector หรือ Election Auditor แต่ผมไม่ยืนยันนะ ให้ไปถาม อ.มีชัย คนคิดเรื่องนี้ดีกว่า”

กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๖๐ ที่ ยกเลิก กกต.จังหวัดที่มีอยู่เดิมและใช้เป็นกลไกในการจัดการเลือกตั้งของ กกต.มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยอ้างเหตุว่า เป็นกลไกที่ไม่ได้ผล และตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองในพื้นที่ วางตัวไม่เป็นกลาง และสิ้นเปลืองงบประมาณ

จริงแล้วในประเด็น กกต.จังหวัด ผมเคยให้ความเห็นวิจารณ์อยู่บ้างในประเด็นการขาดความหลากหลาย ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และ มุ่งเน้นเอาข้าราชการระดับสูงในจังหวัด เช่น ผู้ว่า รองผู้ว่า ผู้กำกับ อัยการ ศึกษาธิการจังหวัด มาเป็น กกต.จังหวัด โดยหวังผลการสนับสนุนในการจัดการเลือกตั้งจากผู้มีตำแหน่งหน้าที่เหล่านี้ แต่ประเด็นความไม่เป็นกลาง การฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองอาจพอมีอยู่บ้างแต่ไม่ใช่ลักษณะทั่วไป เนื่องจากคนเหล่านี้มีหมวก”ข้าราชการ”สวมอยู่อีกใบ หากทำอะไรไม่เหมาะสม คงอยู่ไม่ง่ายนัก

แต่เมื่อผู้ร่างกฎหมาย คิดว่าจุดนี้มีปัญหา อยากออกแบบใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องมาดูว่า กลไกใหม่นี้ จะช่วยในการป้องกัน ปราบปรามการทุจริตซื้อเสียงได้จริงหรือไม่ จะตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองหรือไม่ และจะประหยัดกว่า เกิดผลดีกว่าการใช้รูปแบบ กกต.จังหวัดหรือไม่

จุดแข็งของ การมีผู้ตรวจการการเลือกตั้ง

กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ถูกออกแบบให้มีจำนวนจังหวัดละ๖-๘ คน มาจากบุคคลที่ไม่เป็นข้าราชการหรือดำรงตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่มีญาติพี่น้องลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยรับสมัครในจังหวัดที่ตนเองมีภูมิลำเนา ส่วนการทำหน้าที่ให้ ๒ คนทำหน้าที่ในจังหวัดตนเอง ส่วนที่เหลือ ๔-๖ คน จับสลากไปทำหน้าที่ในจังหวัดใกล้เคียง

ในด้านคุณสมบัติที่ออกแบบ จึงเป็นจุดเด่นที่ตัดขาดจากงานราชการประจำ เลิกการสวมหมวกสองใบ และ ลดอิทธิพลจากฝ่ายการเมืองในพื้นที่ เนื่องจากไม่ได้อยู่ประจำจังหวัด อาจถูกจับสลากไปที่ใดก็ได้ การเป็นเด็กในคาถาของนักการเมืองจึงน่าจะเกิดขึ้นได้ยาก (ในทางทฤษฎี)

การให้ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้ง จนถึงหลังเลือกตั้งประมาณ ๑ เดือน รวมแล้วประมาณ ๓-๔ เดือน ก็เป็นการประหยัด คือ จ่ายค่าตอบแทนในช่วงที่มีการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน ไม่เหมือน กกต.จังหวัดที่ต้องจ่ายเป็นเงินเดือนตลอดทั้งปี ซึ่งในทางหลักการค่าใช้จ่ายด้านผู้ตรวจการเลือกตั้งน่าจะประหยัด คุ้มค่ากว่า

จุดอ่อนของกลไกผู้ตรวจการเลือกตั้ง

คุณสมบัติที่ดีที่กำหนด เป็นการคัดออกผู้เป็นข้าราชการประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ บุคลากรภาครัฐ และผู้ที่อยู่ในงานประจำของภาคเอกชน เพราะคงไม่มีพนักงานเอกชน ที่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ ๓-๔ เดือนในจังหวัดอื่นได้หากมีงานประจำ ยกเว้นเป็นเจ้าของกิจการเสียเอง ดังนั้น การร่อนคุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้ง จึงเหลือแค่ข้าราชการที่เกษียณอายุแล้วเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงคนที่ไม่ทำราชการแต่ว่างพอมาทำหน้าที่ได้ ซึ่งน่าจะมีจำนวนไม่มากนัก

การให้ปฏิบัติงานนอกจังหวัดที่ตนเองมีภูมิลำเนา ก็เป็นจุดด้อยในการไม่รู้พื้นที่ เป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักคน การใช้กลไกสำนักงานจังหวัดเข้าไปช่วยเสริม ก็มีข้อจำกัดและอาจถูกครอบงำจากคนในพื้นที่ เช่น พาไปในจุดที่อยากจะพาไปแต่ไม่ใช่จุดที่เป็นปัญหา เป็นต้น

ในด้านต้นทุนค่าใช้จ่ายของการมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง ด้วยเงินเดือนที่ตั้ง ค่าเดินทาง ที่พัก เบี้ยเลี้ยง การให้มีตำแหน่งผู้ช่วยผู้ตรวจการที่มีค่าตอบแทนเป็นรายเดือนเช่นกัน รวมแล้วต่อคนน่าจะใกล้สองแสนบาทต่อเดือน รวมผู้ตรวจการทั้งประเทศประมาณ ๖๐๐ คน น่าจะใช้เงินประมาณ ๑๐๐ ล้านบาทต่อเดือน การทำหน้าที่ ๓ เดือนเป็นเงิน ๓๐๐ ล้านบาท เท่ากับการจ่ายค่าตอบแทน กกต.จังหวัดทั้งปี นั่นแปลว่า ต้นทุนของการมีผู้ตรวจการเลือกตั้งแพงกว่าเดิมถึง ๔ เท่าตัว ดังนั้นการกล่าวว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งนั้นใช้งบประมาณน้อยกว่าการมี กกต.จังหวัด จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริงนัก

ใครควรเป็นผู้คัดผู้ตรวจการเลือกตั้ง

การที่ กกต.ชุดปัจจุบัน รีบดำเนินการในการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลที่เกรงว่าจะไม่ทันกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ดูจะเป็นเหตุผลที่อ้างไม่ได้ เนื่องจากทั้ง พรป.ส.ส. และ พรป.ส.ว.ยังไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศแล้ว ในส่วน พรป.ส.ส.ยังมีระยะเวลาของการงดบังคับใช้อีก ๙๐ วันและ กำหนดให้เลือกตั้งให้แล้วเสร็จหลังจากนั้นอีก ๑๕๐ วัน รวมแล้วคือกว่า ๘ เดือน ส่วนการคัดเลือก ส.ว. ก็มีกรอบระยะเวลาให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส. ๑๕ วัน ดังนั้นจึงเหลือเวลามากมายในการดำเนินการ

สิ่งที่ กกต.ชุดประธานศุภชัย ควรดำเนินการคือประกาศรับสมัคร ตรวจสอบคุณสมบัติ ดำเนินการคัดกรองในระดับจังหวัดให้เหลือจำนวน ๒ เท่า คือ ๑๖ คน และ ส่งรายชื่อมาที่ กกต.กลาง และควรเหลือสิทธิ์ในการคัดเลือกในครั้งสุดท้ายไว้ที่ กกต.ชุดใหม่ จะทั้งเป็นเรื่องที่เหมาะสมและสง่างาม รวมถึงเป็นการให้โอกาสแก่ชุดใหม่ในการเลือกคนที่จะมาเป็นกลไกหรือเครื่องมือของเขาเอง จะดีจะชั่ว จะทำงานได้ผลหรือไม่ได้ผล จะมาอ้างว่าชุดเก่าเป็นคนคัดไม่ได้

การตัดสินใจเลือกจึงเป็นการเดินหมากที่ผิด เร่งรีบเพื่อเอาคนที่ชอบเข้าไป ทั้งๆที่ควรเป็นมารยาทให้การให้สิทธิ์การเลือกแก่ชุดใหม่ ซึ่งหากว่ากันตามคุณสมบัติความรู้ความสามารถ หากให้ชุดใหม่เป็นผู้คัดก็เชื่อได้ว่ารายชื่อไม่ได้ต่างไปจากนี้มากนัก

เกมการล้มกระดานรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง

แม้บทบาทของผู้ตรวจการเลือกตั้ง จะเป็นเพียงแค่การตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้งและการกระทำการทุจริตของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครในพื้นที่แล้วจึงรายงานกลับมาที่ กกต.กลาง ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินหรือไประงับยับยั้งอะไรด้วยตนเอง แต่การที่สมาชิก สนช.กลุ่มหนึ่ง เตรียมการในการเสนอร่างแก้ไข พรป.กกต.เฉพาะในส่วนวิธีการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งและยังมีผลให้บัญชีผู้ตรวจที่มีอยู่เดิมต้องยกเลิกไปและเริ่มกระบวนการคัดเลือกมาใหม่ ถือเป็นการคิดช้าและส่อเจตนาในความไม่พอใจรายชื่อที่ผ่านการคัดเลือก และสะท้อนว่าฝ่ายต่างๆน่าจะพอประเมินว่าฤทธิ์เดชของผู้ตรวจการหากจะใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเกมการเมืองก็คงมีอานุภาพไม่ใช่น้อย

การผิดจังหวะของการตัดสินใจเลือกเสียเองของ กกต.ชุดที่ ๔ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การเสนอแก้กฎหมายเพื่อล้มกระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องหนึ่ง

เรื่องแรกแย่แล้ว แต่เรื่องหลังกลับแย่กว่า เพราะสะท้อนถึงความไม่รอบคอบในกระบวนการร่างกฎหมายของ สนช.เองว่าไม่สามารถมองอะไรออกต้องรอให้ใช้แล้วค่อยมาแก้ รวมถึงยิ่งสร้างความคลางแคลงไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อคณะผู้ออกกฎหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผู้ปกครองประเทศว่าท่านออกกฎหมายเพื่อตนหรือส่วนรวมกันแน่

อย่าถือว่ามีอำนาจออกกฎหมายแล้วดำเนินการอะไรก็ได้ตามใจชอบ

มีไหม คำว่าเกรงใจประชาชน