กรองกระแส / 2 ทิศ 2 แนวทาง ระหว่าง คสช. กับทักษิณ ในสนามเลือกตั้ง

กรองกระแส

2 ทิศ 2 แนวทาง

ระหว่าง คสช. กับทักษิณ

ในสนามเลือกตั้ง

ไม่ว่าการเสนอแนวทาง “ไม่เอาทักษิณ” ไม่ว่าการเสนอแนวทาง “ไม่เอา คสช.” ผลที่สุดก็จะยังเดินไปบนแนวทางที่แทบไม่แตกต่างกัน
เพราะเมื่อ “ไม่เอาทักษิณ” ก็ต้องเอา “คสช.”
เพราะเมื่อ “ไม่เอา คสช.” ก็ต้องเอา “ทักษิณ” ไปโดยปริยาย
เหมือนกับแนวทาง “ไม่เอา คสช.” จะมาพร้อมกับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ขณะที่แนวทาง “ไม่เอาทักษิณ” เริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
ถามว่าเป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แตกต่างจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หรือไม่
ตอบได้เลยว่าไม่แตกต่างกัน
เพียงแต่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 สามารถ “กำจัด” แต่ไม่สามารถ “ขจัด” ทักษิณได้อย่างสิ้นเชิงอย่างที่เรียกกันในกาลต่อมาว่าเป็นรัฐประหาร “เสียของ” จึงมีความจำเป็นต้องทำรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
ผ่านจากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2561 ก็ยังนำเสนอแนวทาง “ไม่เอาทักษิณ” อยู่ จึงเท่ากับว่าภารกิจในการ “ขจัด” ทักษิณยังไม่เสร็จสิ้น

พันธมิตรแนวร่วม
ขบวนการไม่เอาทักษิณ

มีความเด่นชัดยิ่งว่าแนวทางของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” กับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นอย่างเดียวกัน
คือ การกำจัดทักษิณ ผ่านการโค่นพรรคไทยรักไทย
เห็นได้จากเมื่อกำจัดทักษิณโดยกระบวนการรัฐประหารแล้ว สามารถขับนายทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สามารถยุบพรรคไทยรักไทย และจากนั้นออกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประกาศและบังคับใช้
แต่ก็ยังไม่สามารถ “ขจัด” ทักษิณได้ เพราะพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง
จึงมีความจำเป็นต้องเคลื่อนไหวต่อในเดือนพฤษภาคม 2551 กระทั่งยึดทำเนียบรัฐบาล ยึดสนามบินและปิดจ๊อบด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน เปิดทางให้พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล แต่แล้วเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยก็ได้ชัยชนะอีก เท่ากับยืนยันว่ายังไม่สามารถ “ขจัด” ทักษิณได้ จึงต้องมีการเคลื่อนไหวของ กปปส. และลงเอยด้วยรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557
นี่คือการสืบทอดและสานต่อแนวทาง “ไม่เอาทักษิณ” เพื่อกลบช่องโหว่และจุดบกพร่องอันเนื่องแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ให้หมดสิ้นไป

แนวทางไม่เอาทักษิณ
การดำรงอยู่ของทักษิณ

แท้จริงแล้วไม่ว่าการเคลื่อนไหวของ กปปส. ไม่ว่าการตัดสินใจทำรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คือการยอมรับว่ากระบวนการ “ไม่เอาทักษิณ” ยังไม่ได้กำชัยอย่างเบ็ดเสร็จ
คสช. จึงต้องเดินหน้า “ไม่เอาทักษิณ” ต่อไป
ผ่านกระบวนการจัดการกับคนของพรรคเพื่อไทยกระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร
ผ่านกระบวนการรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
ผ่านกระบวนการของการเลือกตั้ง ผ่านการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่มีแนวทางอย่างเด่นชัดว่า “ไม่เอาทักษิณ”
นั่นก็คือ ไม่เอาพรรคเพื่อไทย
นั่นก็คือ อีกด้านย่อมเป็นพันธมิตรเดียวกันกับ คสช. บทบาทและความหมายจึงดำเนินไปในแนวทาง “เอา คสช. ไม่เอาทักษิณ”
จึงไม่มีหรอก “สามก๊ก” จึงเด่นชัดยิ่งว่ามีเพียง “สองก๊ก” เท่านั้น
การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ว่าจะภายในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะภายในเดือนพฤษภาคม 2562 จึงไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากนัก เพราะเมื่อฝ่ายของ คสช. เสนอแนวทาง “ไม่เอาทักษิณ” นั่นก็คือ ไม่เอาพรรคเพื่อไทย จึงก่อให้เกิดการต่อสู้ “ไม่เอา คสช.” ขึ้นโดยอัตโนมัติ
นี่คือแนวทางบังคับที่พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือก ขณะเดียวกัน นี่คือแนวทางที่ประชาชนก็มีสิทธิในการเลือกไปใน 2 แนวทางนี้
เป็นการปะทะระหว่าง “ไม่เอาทักษิณ” กับ “ไม่เอา คสช.”

สมรภูมิเลือกตั้ง
ชี้อนาคตประเทศ

ปัญหาของ คสช. และพันธมิตรมิได้อยู่ที่กำจัดทักษิณ หากแต่อยู่ที่จะ “ขจัด” ทักษิณได้อย่างไร เพราะเป็นการต่อสู้พรรคเพื่อไทยซึ่งถือเอาทักษิณเป็นเหมือนปฏิมาในทางความคิด
เพราะพรรคเพื่อไทยคืออวตารแห่งพรรคพลังประชาชน คืออวตารแห่งพรรคไทยรักไทย
ความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยนั้นเองไม่เพียงแต่จะชี้วัดความสำเร็จให้กับพรรคพลังประชาชน หากแต่ยังชี้วัดความสำเร็จให้กับพรรคเพื่อไทยอีกด้วย
ประเด็นอยู่ที่ว่าจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 โดย “คมช.” กับจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดย “คสช.” ไม่ว่า คมช. ไม่ว่า คสช. ไม่ว่าพันธมิตรสามารถสร้างคุณูปการอันเป็นความสำเร็จที่เหนือกว่าพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน อันตกผลึกมาเป็นพรรคเพื่อไทยหรือไม่