เศรษฐกิจ / กระทรวงพลังงานนำเข้าปลัดคนนอก ตามสูตร…วินวิน ดีกว่าถูกโดดเดี่ยว??

เศรษฐกิจ

กระทรวงพลังงานนำเข้าปลัดคนนอก

ตามสูตร…วินวิน ดีกว่าถูกโดดเดี่ยว??

ทําเอาข้าราชการกระทรวงพลังงานต้องย้อนมองตัวเองอย่างจริงจัง หลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่โยกคนนอก นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร สังกัดกระทรวงการคลัง ข้ามไปนั่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน แทนนายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน และมีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561
ช็อกกันพอควร เนื่องจากก่อนมีมติ ตามกระแสข่าวเดิม ปลัดธรรมยศได้เสนอ 2 ชื่อข้าราชการภายในกระทรวง ต่อนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาแล้วคือ นายยงยุทธ จันทรโรทัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน และนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)
โดยให้เหตุผลว่า ปลัดกระทรวงพลังงานต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ด้านพลังงาน รู้จักเนื้องานและข้าราชการในสังกัดเป็นอย่างดี มีความอาวุโส และไม่มีตำหนิหรือถูกร้องเรียนหรือถูกสอบสวนใดๆ
เมื่อมติ ครม. ออกอย่างนี้ สื่อมวลชนตั้งคำถามต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้คำตอบเพียง “กระทรวงพลังงานเสนอขอมา เพราะไม่มีบุคลากรที่เหมาะสม”
ขณะที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำกับสื่อสั้นๆ “กระทรวงพลังงานขอมา ตนเห็นด้วย และส่งเสริม”
จากนั้น นายศิริทราบดีถึงคำถามจากข้าราชการกระทรวงพลังงาน จึงชี้แจงแบบม้วนเดียวจบว่า “การตั้งนายกุลิศมานั่งเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นการพิจารณาร่วมกันในรัฐบาลที่เห็นว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมและมีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานอยู่แล้ว ที่จะสามารถบริหารจัดการในทุกๆ หน่วยงานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงพลังงานและคลัง”

โดยภารกิจหลักที่นายศิริอยากให้ปลัดกระทรวงคนใหม่เข้ามาดำเนินการคือ การผลักดันร่วมกันกระจายการผลิตไฟฟ้าไปสู่ภาคประชาชนโดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์รูฟท็อป ที่สามารถผลิตไฟใช้เอง และเหลือจำหน่ายได้ ที่กระทรวงพลังงานต้องได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ยังต้องการให้เข้ามาช่วยบริหารจัดการในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ต้องเน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพราะนโยบายการเงินและการคลังจะมีส่วนอยู่มากในส่วนของพลังงาน โดยกระทรวงพลังงานและคลังจะเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่จะมีการทำงานแบบข้ามสายงาน (Cross Functional) ที่รัฐตั้งใจจะทำเป็นรูปแบบตัวอย่างให้เห็นว่าจะไม่มีไซโลกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง การทำงานของรัฐบาลจากนี้ไปทุกๆ กระทรวงก็จะสามารถทำงานที่จะข้ามสายหรือ Cross กันได้และบูรณาการร่วมกันได้หมด
นายศิริยังทิ้งท้ายว่า การทำงานของกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาต้องขอบคุณผู้บริหาร ปลัดกระทรวงพลังงานที่ท่านเห็นความสำคัญในการทำแบบบูรณาการและข้ามสายงานร่วมกัน ถือเป็นผู้บุกเบิกมาก่อนโดยงานแรกๆ ที่เห็นชัดที่ทำงานร่วมกับกระทรวงการคลังคือโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลเกรดพิเศษ บี20 ที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังได้พิจารณาปรับอัตราภาษี เมื่อรวมกับการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลให้ราคาบี20 ถูกกว่าดีเซล (บี7) 3 บาทต่อลิตร
สังเกตว่าแต่ละนโยบายที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องการให้ปลัดกระทรวงคนใหม่เดินหน้านั้น เป็นนโยบายที่นายศิริริเริ่ม หรือเชื่อมโยงกับกระทรวงการคลังอยู่มาก
การได้นักบริหารที่มีวิสัยทัศน์ใหม่ๆ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ก็อาจช่วยปิดรอยแผลแห่งความโดดเดี่ยว ที่รัฐมนตรีคนนี้กำลังเผชิญอยู่จากนโยบายที่คนพลังงานมองว่าเอื้อให้เอกชนและลดบทบาทรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวง

ย้อนดูโปรไฟล์ ว่าที่ปลัดกระทรวงพลังงาน ลูกหม้อกระทรวงการคลังวัย 55 ปี น่าสนใจไม่น้อย เพราะเติบโตในกระทรวงการคลัง แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลปี 2548 นายกุลิศลาออกจากราชการไปทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ในตำแหน่งรองเลขาธิการด้านนโยบายและแผน ต่อมาปี 2550 กลับเข้ารับราชการที่กระทรวงการคลังในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินตรา กรมธนารักษ์
เมื่อตำแหน่งที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่าง นายกุลิศถูกแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการ สคร. และขยับเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ ระดับซี 10 ปี 2554 กระทั่งยุครัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557 นายกุลิศได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ สคร. ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างดี และปี 2558 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมศุลกากร
ตลอด 2 ปีที่นายกุลิศนั่งในตำแหน่งกรมศุลกากร ที่ขึ้นชื่อเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ นานา นายกุลิศเดินหน้ารับมือกับทุกเรื่อง
ผลงานสำคัญ อาทิ การยุติปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัทเชฟรอน การยึดอายัดรถเมล์ NGV ของบริษัทซุปเปอร์ซาร่า กรณีสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ทั้งผลงานอื่นๆ อีก เช่น ผลักดัน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 จนได้ใช้ แก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะพิษ ประธานบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายนี้ บวกกับผลงานเคยยุติปัญหาข้อพิพาทระหว่างกรมศุลกากรกับบริษัทเชฟรอนแล้ว อาจเป็นไพ่ใบสำคัญต่อการเข้ามาสานต่อการประมูล 2 แหล่งก๊าซอ่าวไทยที่อยู่ระหว่างการประมูลก็เป็นได้!!!

ซึ่งนายกุลิศเองเมื่อทราบข่าวการแต่งตั้ง ก็ระบุว่า ในฐานะข้าราชการเมื่อมีการแต่งตั้งให้ไปอยู่ในตำแหน่งไหนก็ต้องพร้อมไปทำหน้าที่ แม้การไปรับตำแหน่งกระทรวงพลังงาน เปลี่ยนจากสายงานกระทรวงการคลัง แต่ที่ผ่านมามีประสบการณ์ในการเป็นกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 3 ปี และขณะนี้นั่งเป็นคณะกรรมการ ปตท.สผ. และครั้งเป็นผู้อำนวยการ สคร. เชื่อว่าคุ้นเคยกับเรื่องของพลังงาน ซึ่งช่วงเวลาที่เหลือก่อนไปรับตำแหน่งอีกเดือนครึ่ง เชื่อว่าต้องศึกษาเพิ่มเติมเรื่องพลังงานทดแทน เรื่องการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติ
“ยังเหลือเวลาในอายุราชการอีก 5 ปี ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อได้รับการแต่งตั้งแล้วต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ระหว่างนี้พยายามหาความรู้ในเรื่องพลังงาน เพื่อให้พร้อมในการไปทำหน้าที่ปลัดกระทรวงพลังงานคนใหม่ในเดือนตุลาคมนี้”
เป็นการให้สัมภาษณ์ที่ดูถ่อมตัว แต่เนื้อหาบ่งบอกว่าเจ้าตัวรู้เรื่องพลังงานอยู่พอตัว

หลังข่าวการโยกข้ามห้วย หลายคนอาจตั้งคำถามทำไมกระทรวงพลังงานต้องนำเข้าปลัดคนนอก และทำไมต้องเป็นกระทรวงการคลัง???
ย้อนกลับไปถึงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงพลังงานคนก่อนๆ ประเด็นโยกนายกุลิศนั่งกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการโยกนายอารีพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ครั้งนั่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ มาเป็นปลัดกระทรวงพลังงานเช่นกัน
ขณะเดียวกันช่วงหลายปีก่อนหน้า กระทรวงพลังงานก็เคยนำเข้าปลัดกระทรวงคนที่ 2 คือ นายพรชัย รุจิประภา จากรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และปลัดกระทรวงคนที่ 3 คือ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจัยหนึ่งมาจากการที่กระทรวงพลังงานเป็นกระทรวงน้องใหม่ ตั้งเมื่อ 3 ตุลาคม 2545 ตามนโยบายปรับโครงสร้างกระทรวงครั้งใหญ่ของรัฐบาลสมัยนั้น ข้าราชการถูกโยกมาจากหลายส่วน อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย จึงเกิดปัญหาช่องว่างของอายุ และกำลังคนที่มีความสามารถเพื่อเป็นตัวเลือก ดังนั้น เมื่อถึงฤดูแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง จึงไม่มีตัวเลือกที่เฉิดฉาย แม้เหมาะสมแต่อายุน้อยเกินไป!!
ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบัน นายศิริมีหลายนโยบายที่หวือหวา เมื่อคนในไม่สนอง การลองเสี่ยงใช้คนนอกอาจเข้าตาเข้าขาดันนโยบายพลังงานถูกใจประชาชน วินวินทั้งคู่ก็ได้…
พร้อมกับลุ้นต่อว่ากระทรวงด้านเศรษฐกิจใดจะสร้างปรากฏการณ์นี้อีก!!!