ปฏิรูป “ตร.อารักขาวีไอพี” ผ่านร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ กระชับพื้นที่คนใกล้ชิด “ชินวัตร”!?

หลังจากปรากฏภาพ “ผู้กำกับหนุ่ย” เจ้าของฉายา “ผกก.เทวดา” พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย ผู้กำกับการฝ่ายวิจัยและพัฒนา ศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล อดีตนายตำรวจติดตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินตามถือถุงช้อปปิ้งให้

น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในสถานะหลบหนีคดี ต้องคำพิพากษาอาญาฯ ที่ประเทศอังกฤษ

ต่อเนื่องร่วมเชียร์ฟุตบอลที่ประเทศรัสเซีย จนต้นสังกัด “กองบัญชาการตำรวจสันติบาล” ออกคำสั่งรายงานตัวด่วน สั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง

กระทั่งมีภาพไปร่วมเฟรมที่ประเทศรัสเซีย จเรใหญ่ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ จเรตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งเด้ง นั่ง ศปก.ตร. เก็บกรุ และต้นสังกัดต้องตั้งกรรมการตรวจสอบผู้กำกับหนุ่ย นายตำรวจที่ติดตามดูแลครอบครัวชินวัตรมาตั้งแต่เป็นสารวัตร จนเติบโตเป็น ผกก. ซ้ำอีกชุด

ต้นสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งหวดแส้เรียบร้อยตามระเบียบสีกากี ครั้งแรกฐานไปต่างประเทศไม่ถูกต้อง ผิดวัตถุประสงค์การขออนุญาต

และก๊อก 2 พฤติกรรมอาจเข้าข่ายไม่เหมาะสม เพราะยังเป็นข้าราชการตำรวจแล้วอยู่ใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้ต้องหาหลบหนีหมายจับจากศาล!!

ย้อนไปสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในรัฐบาล ยุคนั้นเลือกใช้ทีมตำรวจอารักขาหลักดูแลใกล้ชิด ไม่ใช้กำลังนายทหารเช่นยุคอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่เลือกใช้ทีมทหารจากศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) เป็นหลัก

เมื่อนายทักษิณโดนคดีต้องหนีไปต่างประเทศ นายตำรวจอารักขาขณะนั้นมี “เดอะโจ๊ก” พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล 3 (ยศตำแหน่งขณะนั้น) เป็นหัวหน้าทีม สารวัตรหนุ่ย และคณะนายตำรวจในสังกัดสันติบาล 3 ทีมอารักขา ก็ประสบเภทภัยถูกสั่งสอบ สั่งย้ายกระเด้งกระดอน

อย่าง ผกก.หนุ่ย ตอนนั้นเป็นสารวัตร ต่อมาถูกย้ายไปโรงพักกรงปินัง จ.ยะลา พื้นที่สีแดงเขตก่อความไม่สงบชายแดนใต้

ส่วนทีมอารักขาบางส่วนเลือกลาออกจากราชการตำรวจ ทำหน้าที่วีไอพีโปรเท็กชั่น ดูแลความปลอดภัยอดีตนายกฯ ต่อไป

สำหรับ ผกก.หนุ่ย หลังถูกย้ายลงใต้ ไม่นานก็ถูกขอตัวช่วยราชการสำนักงานรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ที่ชื่อ “บิ๊กอ๊อบ” พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์

ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตรกลับมามีอำนาจอีกครั้ง สารวัตรหนุ่ยย้ายตำแหน่งจากภูธรกรงปินังสู่สันติบาล 1 ในตำแหน่งสารวัตร ดูแลพื้นที่บ้านจันทร์ส่องหล้าของอดีตนายกฯ ทักษิณ

มาถึงยุคที่ตระกูลชินวัตรกลับมามีบทบาทเต็มในทางการเมือง และในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กอ๊อบ” พี่ชายภริยาอดีตนายกฯ ทักษิณ เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

“สารวัตรหนุ่ย” ได้ขยับเป็น “รองผู้กำกับหนุ่ย” เป็นกรณีพิเศษ ตั้งกันนอกวาระ ในตำแหน่งผู้ช่วยนายเวร (สบ3) หน้าที่นายเวร พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตรอง ผบ.ตร. ที่เคยสวมแจ๊กเก็ตเพื่อไทยลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

แต่รองฯ หนุ่ยยังทำหน้าที่ดูแล น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น

ต่อมายุค พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็น ผบ.ตร. รองฯ หนุ่ยที่ทำหน้าที่นายตำรวจติดตามดูแลนายกฯ และครอบครัวชินวัตรมาตลอด ก็ได้ขยับยกเว้นหลักเกณฑ์ เป็นนายเวร (สบ4) ของรอง ผบ.ตร. คนเดิม และโยกเป็น ผกก.ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล ในวาระต่อมา

แต่ยังคงทำหน้าที่ดูแลอารักขานายกรัฐมนตรีหญิง แม้ถูกรัฐประหารพ้นตำแหน่งก็ยังทำเรื่องขอตัว ผกก.หนุ่ยติดตามดูแลความปลอดภัย แม้ในวันที่ตัดสินใจหนี!!

ในที่สุดด้วยมูลเหตุนี้หรือไม่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … หัวเรือใหญ่ “ปฏิรูปตำรวจ” ออกมาระบุหลังข่าว ผกก.หนุ่ยปรากฏกายดูแลอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ว่ามีแนวคิดจัดระบบตำรวจติดตามบุคคลสำคัญ ทั้งกลุ่มที่หน่วยงานราชการส่งไปและกลุ่มที่ไม่ได้ส่งไป ต้องหาทางทำให้สามารถใช้อัตรากำลังได้อย่างเพียงพอ เพราะยังมีความจำเป็นในการอารักขาบุคคลสำคัญ จึงจะระบุในกฎหมายให้ชัดเจนว่าอารักขาบุคคลในตำแหน่งใดบ้าง ตามประกาศคณะรัฐมนตรี ส่วนที่เหลือที่ไม่เข้าข่ายจะต้องกลับต้นสังกัด

คงไม่ถึงกับยกเลิกตำรวจอารักขา เพราะภารกิจของตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยพระบรมวงศานุวงศ์กับบุคคลสำคัญ ซึ่งคนระดับนายกรัฐมนตรี แม้จะพ้นตำแหน่งไปแล้ว ก็ควรต้องมีตำรวจอารักขา เพราะถือว่าเป็นเกียรติ

แต่อดีตนายกฯ คนนั้นจะต้องไม่มีคดีติดตัว ส่วนใครบ้างที่เป็นอดีตนายกฯ แล้วสมควรมี ก็ให้คณะรัฐมนตรีตัดสิน

ส่งสัญญาณจัดระเบียบ “นายตำรวจอารักขาวีไอพี”

ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ระบุถึงการปฏิบัติหน้าที่อารักขาบุคคลของข้าราชการตำรวจไว้อย่างชัดเจนใน (ร่าง) พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. … กฎหมายหลักของตำรวจ จากอดีตเรื่องการสั่งตำรวจไปอารักขาบุคคลสำคัญเป็นเพียงคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น อาทิ คำสั่ง ตร. ที่ 60/2545 เรื่องมาตรการว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และคำสั่ง ตร. ที่ 38/2548 เรื่องการให้ความคุ้มครองบุคคล

เปิดร่าง กม.ตำรวจฉบับใหม่ เวอร์ชั่นปฏิรูปตำรวจ โฟกัสที่ “มาตรา 7” มาตราลำดับต้นๆ

“มาตรา 7 ในการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญที่มิใช่พระบรมวงศานุวงศ์ ให้ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งที่คณะรัฐมนตรีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เป็นอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในการออกคำสั่งแต่งตั้ง โดยในการออกคำสั่งแต่งตั้งให้ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญดังกล่าวนั้น ให้เป็นไปตามความสมัครใจของข้าราชการตำรวจผู้ถูกสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และให้ข้าราชการตำรวจดังกล่าวออกจากส่วนราชการเดิมไปดำรงตำแหน่งในกองบังคับการ 4 ตำรวจสันติบาล โดยต้องแต่งตั้งผู้อื่นทดแทนตำแหน่งเดิม

เมื่อบุคคลสำคัญดังกล่าวพ้นจากการดำรงตำแหน่ง ให้ ผบ.ตร. ส่งตัวข้าราชการตำรวจที่ไปรักษาความปลอดภัยนั้นคืนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ภายใน 180 วันนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง เว้นแต่ในกรณีที่บุคคลสำคัญนั้นเป็นผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มิเคยถูกศาลมีคำพิพากษาลงโทษ จะสั่งให้ข้าราชการตำรวจผู้นั้นมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่อไปได้”

สรุปความคือ ผบ.ตร.เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการตำรวจทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยต้องเป็นโดยสมัครใจ ทั้งนี้ ต้องโยกย้ายขาดให้ตำรวจนายดังกล่าวไปยังสังกัดกองบังคับการตำรวจสันติบาล 4 กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และต้องแต่งตั้งทดแทนด้วย ไม่ปล่อยเก้าอี้ว่างไว้ เมื่อบุคคลสำคัญพ้นตำแหน่ง นายตำรวจก็พ้นหน้าที่ต้องกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทันที

เว้นแต่บุคคลสำคัญมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดูแลอารักขาต่อได้ แต่หากนายกรัฐมนตรีผู้นั้นมีมลทินต้องถูกพิพากษาลงโทษก็ไม่สามารถอารักขาต่อได้

คล้ายมาตรการล้อมคอก หลังกรณีตำรวจติดตามตระกูลชินวัตร?!

นี่เป็นอีก 1 ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ หลังรัฐประหาร 2557?!?!