วิกฤติประชาธิปไตย : ตุรกีกับการรัฐประหาร2016 (ที่เลี่ยงได้ยาก)

วิกฤติประชาธิปไตย (16)

การรัฐประหารปี 2016ในตุรกีเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงได้ยาก

ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำของตุรกีมีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างระบอบแอร์โดอานที่ต้องการสร้างระบบประธานาธิบดี การพัฒนาอย่างเป็นอิสระ อิงกับศาสนาอิสลาม เพื่อให้ตุรกีกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

กับกลุ่มที่ถือว่าเป็นผู้สืบทอดลัทธิเคมาล ที่ต้องการรักษาสถานะเดิมไว้ในระบบรัฐสภา เป็นแบบโลกวิสัยและเป็นพันธมิตรกับสหรัฐและตะวันตก

โดยฝ่ายระบอบแอร์โดอานเป็นฝ่ายรุกคืบ สามารถเข้าเป็นรัฐบาลต่อเนื่องกว่าสิบปี กำลังจะปักธงชัยชนะขั้นสุดท้ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนการปกครองสู่ระบบประธานาธิบดี ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มอำนาจเดิมไม่อาจทนให้เกิดขึ้นได้และต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เด็ดขาด

ได้แก่ การก่อการรัฐประหาร

แอร์โดอานได้ปราศรัยกล่าวเตือนถึงความพยายามของกลุ่มอำนาจเก่าและกระบวนการกูเลนในการก่อการรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2014 เมื่อพรรคความเป็นธรรมและการพัฒนา (พรรคเอเคพี) เพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2015 ไม่ได้เสียงข้างมากเด็ดขาด เป็นสัญญาณว่าสถานการณ์รัฐประหารมาถึงแล้ว

ก่อนหน้ารัฐประหารปี 2016 ไม่กี่เดือน มีนักวิชาการที่เคยทำงานในกระทรวงกลาโหมสหรัฐชื่อ ไมเคิล รูบิน กล่าวเหมือนเป็นการทำนายว่าจะเกิดการรัฐประหารโค่นล้มแอร์โดอาน

โดยอ้างสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล คือหนี้สินพอกพูนซึ่งแม้หนี้ภาครัฐบาลจะควบคุมได้แต่หนี้ภาคเอกชนก็พุ่งสูงอย่างควบคุมไม่ได้

ภาคการท่องเที่ยวทรุดหนัก และการลดค่าเงินลีราที่มีผลต่ออำนาจการซื้อของประชาชน

ในทางการเมือง แอร์โดอานที่ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้แสดงอำนาจกดขี่มากขึ้น

มีการจับกุมคุมขังฝ่ายซ้าย ปิดหนังสือพิมพ์ทั้งฝ่ายซ้ายและขวา

เร่งสร้างทำเนียบประธานาธิบดีที่ใหญ่โตมโหฬารยิ่งกว่าสมัยสุลต่านหรือพระเจ้ากาหลิบ

และคุกคามว่าจะยุบศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้การคอร์รัปชั่นได้แพร่ระบาดเข้าไปทุกครอบครัวของแอร์โดอานเอง

ทำให้แอร์โดอานตกอยู่ในวงล้อม และอยู่ในภาวะขวัญผวา

นอกจากนี้แอร์โดอานยังจัดการกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดไม่ดี การเจรจาสันติภาพก็ล้มเหลว จนอาจทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นใหม่ได้

ซึ่งฝ่ายกองทัพเป็นกังวล ถ้าหากกองทัพจะก่อการรัฐประหารและจับกุมตัวผู้ใกล้ชิดแอร์โดอานก็อาจกระทำได้ เพราะว่าประธานาธิบดีโอบามาคงไม่ขัดขวางอะไร แบบเดียวกับเมื่อประธานาธิบดีมอร์ซีถูกกองทัพก่อรัฐประหารในอียิปต์

ผู้นำการรัฐประหารตุรกีสามารถส่งเสริมสิทธิมนุษยชนแบบยุโรปและอเมริกันปลดปล่อยนักหนังสือพิมพ์และนักวิชาการที่ถูกคุมขัง และการรัฐประหารครั้งนี้ก็จะไม่ส่งผลกระเทือนต่อฐานะการเป็นสมาชิกนาโต้แต่อย่างใด เหมือนกับการรัฐประหารก่อนหน้านั้น

ประชามติของยุโรปและสหรัฐน่าจะเห็นด้วยกับการกวาดล้างแอร์โดอาน (ดูบทความของ Michael Rubin ชื่อ Will There Be a Coup Against Erdogan in Turkey? ใน newsweek.com 24.02.2016)

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในเว็บไซต์ของ “สถาบันวิสาหกิจอเมริกา” (AEI) สำนักคิดที่มีแนวคิดขวาแบบคนขาวเป็นใหญ่

ผู้เขียนออกตัวว่าข้อเขียนของเขาเป็นการวิเคราะห์ ไม่ใช่ชี้นำ

แต่ในวันก่อรัฐประหาร 15 กรกฎาคม 2016 เขาออกบทความอีกบทหนึ่ง ชี้ว่าการแทรกแซงจากกองทัพเป็นความหวังของตุรกี

และหลังจากรู้แน่ว่าการรัฐประหารล้มเหลว เขาก็เปลี่ยนเรื่องรัฐประหารไปอีกอย่างหนึ่งว่า แอร์โดอานก่อรัฐประหารเอง เพื่อที่จะรวบอำนาจและกวาดล้างศัตรูทางการเมือง

(ดูบทความของ Ragip Soylu ชื่อ Who tipped off Michael Rubin about the coup in Turkey ใน Daily Sabah 18.10.2017)

AFP PHOTO / OZAN KOSE

การรัฐประหาร 15 ก.ค. 2016 : ความรัดกุมและความล้มเหลว

การรัฐประหารครั้งนี้มีการวางแผนอย่างรัดกุม แต่ก็รัดกุมไม่พอ มีจุดอ่อนที่นำไปสู่ความล้มเหลว

แผนการก่อรัฐประหารที่สำคัญได้แก่ การใช้กำลังที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ข่าวรั่วไหล ชิงความได้เปรียบจากการไม่ระวังตัวของฝ่ายรัฐบาล เปิดฉากรุกรบเร็วในหลายเมือง

ที่สำคัญคืออิสตันบูล และอังการานครหลวง เข้าคุมจุดยุทธศาสตร์ ยึดสถานีวิทยุและโทรทัศน์สำคัญ การจับกุมนายทหารชั้นผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน และก่อความแตกตื่นในหมู่ประชาชนให้ยอมจำนน

แต่ในแผนดังกล่าวก็มีจุดอ่อนใหญ่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

ก) การมีกำลังน้อยเกินไป เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลที่กุมอำนาจมานาน สามารถแทรกเข้าไปคุมกองทัพและฝ่ายความมั่นคง แกนที่เคลื่อนไหวเพื่อก่อรัฐประหาร อยู่ในกลุ่มขบวนการกูเลน ที่เป็นส่วนหนึ่งในกองทัพ และแม้เคลื่อนไหวในกลุ่มแคบ ฝ่ายรัฐบาลก็ยังรู้ระแคะระคายได้อยู่ดี แม้จะไม่ชัดเจน

ข) การเน้นการจับตัวนายทหารระดับสูง เพื่อรวบอำนาจในกองทัพให้สำเร็จ ก็ทำไม่สำเร็จเต็มที่ ยังมีนายทหารบางส่วนหนีรอดไปและตั้งกองบัญชาการต่อต้าน ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ฝ่ายรัฐบาลออกมาเคลื่อนไหวได้ เช่น นายกรัฐมนตรีออกอากาศเตือนเรื่องการรัฐประหาร และประธานาธิบดีแอร์โดอานหนีจากการจับกุมและเดินทางมายังกรุงอิสตันบูลได้

ค) ประเมินความตื่นตัวของประชาชนตุรกีในการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิประชาธิปไตยของตนต่ำไป ไม่คิดว่าประชาชนจำนวนมากจะออกสู่ท้องถนน อุทิศชีวิตเพื่อทวงคืนพื้นที่ที่ทหารยึดไป มีผู้เสียชีวิตในการรัฐประหารครั้งนี้กว่า 250 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน

เพื่อแสดงภาพเหตุการณ์รัฐประหาร ได้จัดเรียงลำดับเหตุการณ์สำคัญ ดังนี้

เวลาในท้องถิ่น 22.30 น. ซึ่งยังเป็นหัวค่ำของอิสตันบูล ทหารได้เข้ายึดสะพานบอสฟอรัสของกรุงอิสตันบูล เป็นการเริ่มต้นก่อรัฐประหาร ประชาชนก็ล่วงรู้ไปด้วยเพราะว่ามาส่งรูปภาพการยึดนี้ทางเฟซบุ๊ก

เวลา 22.50 น. มีเสียงปืนสู้รบกันที่เมืองอังการา มีการใช้ทั้งเครื่องบินเจ๊ตและเฮลิคอปเตอร์

23.00 น. นายกรัฐมนตรีบินาลิ ยิลดิริม ประกาศว่ามีความพยายามก่อการรัฐประหาร ขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตกใจ รัฐบาลได้ระดมกองกำลังรักษาความมั่นคงเพื่อจัดการแล้ว

ต่อมาอีกกว่า 20 นาที ในเวลา 23.25 น. มีแถลงจากฝ่ายทหารกบฏว่าได้ยึดอำนาจการปกครองไว้แล้วเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย และจะรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบเดิม

เวลา 23.38 น. ข่าวยืนยันว่าประธานาธิบดีแอร์โดอานที่ไปพักผ่อนที่เมืองท่องเที่ยวมาร์มาริสที่ชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนปลอดภัย

เวลา 00.05 น. แถลงการณ์ฝ่ายกบฏ ว่ากำลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กล่าวหารัฐบาลว่าทำลายระบอบประชาธิปไตยและการปกครองโดยกฎหมายแบบโลกวิสัย สภาสันติภาพแห่งชาติ (ของกลุ่มทหารกบฏ) จะเป็นผู้ปกครองประเทศ พร้อมกับประกาศกฎอัยการศึกและเคอร์ฟิว

เวลา 00.26 น. แอร์โดอานเรียกร้องให้ประชาออกสู่ท้องถนนเพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารโดยทหารกลุ่มน้อย เขากล่าวว่า จะปราบปรามพวกกบฏตามความจำเป็น และว่า จะกลับนครอิสตันบูล

01.03 น. รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมระบุว่าสมาชิกของขบวนการกูเลนที่มีฐานอยู่ที่สหรัฐเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารครั้งนี้

เวลา 01.37 น. ผู้บัญชาการกองทัพที่ 1 รับผิดชอบภาคพื้นดินที่อิสตันบูลและด้านตะวันตก ประกาศว่าพวกก่อกบฏเป็นทหารส่วนน้อย ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

เวลา 02.05 น. ประธานาธิบดีโอบามาแถลงว่าเขาและรัฐมนตรีต่างประเทศเห็นพ้องว่า ทุกฝ่ายในตุรกีควรสนับสนุนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

เวลา 03.20 น. เจ้าหน้าที่รัฐบาลแถลงว่าเครื่องบินของแอร์โดอานลงจอดที่สนามบินกรุงอิสตันบูลแล้ว ถือได้ว่าการรัฐประหารได้ล้มเหลว เหลือแต่การทำความสะอาดและการกวาดล้าง

แอร์โดอานได้ฉวยโอกาสจากเหตุการณ์นี้อย่างเต็มที่ เขาชี้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็น “ของขวัญจากพระเจ้าในการทำความสะอาดกองทัพของเรา” และสร้าง “ตุรกีใหม่” มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและการกวาดล้างใหญ่

ประมาณว่าจนถึงปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 150,000 คนในกลไกรัฐ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ ตุลาการ

รวมทั้งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยถูกพักงานหรือไล่ออก

ที่ถูกจับกุมคุมขังรวมทั้งนักหนังสือพิมพ์มีกว่า 50,000 คน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ระบบประธานาธิบดี

การก่อรัฐประหารทำให้ข้ออ้างของแอร์โดอานว่าเขาเป็นผู้รักษาระบอบประชาธิปไตย มีน้ำหนักขึ้น และทำให้การโจมตีของศัตรูว่าเขาจะรวบอำนาจไว้ในมือแต่ผู้เดียวมีน้ำหนักลดลง ทำให้เขาสามารถสร้างกระแสประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่ระบบประธานาธิบดีได้ง่ายขึ้น

ก่อนหน้านั้นในเดือนกรกฎาคม 2015 ได้เกิดเหตุการณ์ใหญ่อย่างหนึ่งที่ช่วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย นั่นคือการเจรจาสันติภาพเพื่อการหยุดยิงระหว่างกลุ่มชาวเคิร์ดที่ต้องการเป็นอิสระกับรัฐบาลตุรกีล้มเหลว ความล้มเหลวนั้น ด้านหนึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดขึ้นในประเทศตุรกีและตะวันออกกลาง

ในอีกด้านหนึ่ง ความล้มเหลวนี้ส่งผลให้ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วขึ้นอีกจนกระทั่งตุรกีแทบจำไม่ได้หลังความล้มเหลวนี้

ในที่นี้จะกล่าวถึงการเจรจาสันติภาพหยุดยิงระหว่างกลุ่มชาวเคิร์ดกับรัฐบาลตุรกีอย่างย่อว่า พรรคคนงานเคิร์ดิสถาน (พรรคพีเคเค ก่อตั้งปี 1978) ได้นำการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธเพื่อความเป็นอิสรภาพจากตุรกีมานานแล้วตั้งแต่ปี 1984 มีผู้นำสำคัญคืออับดุลลาห์ โอจาลัน (ปัจจุบันอยู่ในเรือนจำอิมราลีในตุรกี)

โอจาลันถูกจับที่ประเทศไนโรบีในปี 1999 โดยหน่วยข่าวกรองตุรกีที่ได้รับความช่วยเหลือจากซีไอเอของสหรัฐ

จากนั้นเขาเปลี่ยนแนวคิดจากลัทธิมาร์กซ์-เลนินและการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ มาเป็นลัทธิสมาพันธรัฐประชาธิปไตยและแนวทางสันติ ทำให้การเจรจาสันติภาพเริ่มมีความเป็นไปได้มากขึ้น

โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลแอร์โดอาน ตั้งแต่ปี 2003 มีการเจรจาสันติภาพที่ล้มเหลวหลายครั้ง แต่ก็มีสัญญาณดีที่ทางการตุรกีเปิดสิทธิเสรีภาพแก่ชาวเคิร์ดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2007 ได้มีการรวมตัวของกลุ่มชาวเคิร์ดขยายวง เพราะว่าชาวเคิร์ดเป็นชนชาติส่วนน้อยในหลายประเทศตะวันออกกลาง

นอกจากตุรกีแล้วยังมีที่อิรัก ซีเรีย อิหร่าน ไปจนถึงประเทศอาร์เมเนีย เรียกชื่อว่า “สหภาพประชาคมเคอร์ดิสถาน” ซึ่งพรรคคนงานเคอร์ดิสถานเป็นสมาชิกอยู่ด้วย และโอจาลันก็มีบทบาทสูงในการนำ

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็เกิดผู้นำใหม่ขึ้นมาแทนที่เป็นธรรมดา

นอกจากนี้ในปี 2012 ยังมีกลุ่มชาวเคิร์ดในตุรกีก่อตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคประชาธิปไตยประชาชน (เรียกย่อว่าพรรคเอชดีพี) ต่อสู้ในทางเลือกตั้ง มีฐานเสียงใหญ่อยู่ที่ย่านชาวเคิร์ดในตุรกี ซึ่งกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองสำคัญของแอร์โดอาน โดยเฉพาะในการการแย่งคะแนนเสียงพรรคเอเคพี ทำให้ไม่สามารถมีเสียงข้างมากเด็ดขาดได้

สันติภาพและการหยุดยิงระหว่างชาวเคิร์ดกับรัฐบาลตุรกีนั้น เกิดในช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2013-2015 จากคำประกาศของโอจาลัน (เดือนมีนาคม 2013) ว่าพร้อมวางอาวุธ เข้าสู่การต่อสู้ในกระบวนประชาธิปไตย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2015 มีความพยายามเจรจาอย่างจริงจังเพื่อบรรลุข้อลงตกในการหยุดยิง แต่เมื่อถึงเดือนกรกฎาคม ก็เป็นที่เห็นพ้องทั่วไปว่าการเจรจาดังกล่าวล้มเหลว โดยต่างฝ่ายกล่าวหากันและกัน

ความล้มเหลวดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยใหญ่ว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่พร้อมในการแก้ไขความขัดแย้งรุนแรงที่ดำรงอยู่นาน ทางฝ่ายตุรกีก็มีกลุ่มขวาชาตินิยมจัดคือพรรคขบวนการรักชาติ ปฏิเสธการเจรจาสันติภาพ พรรคนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และส่งแรงกดดัน แอร์โดอานก็ต้องการความร่วมมือจากพรรคนี้เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ

นอกจากนี้เกิดจากว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางสถานการณ์มากในตะวันออกกลาง ที่สำคัญคือการอุบัติขึ้นของกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส

และสหรัฐกับรัสเซียเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

สหรัฐสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรียเพื่อต่อต้านกลุ่มไอเอส

แต่ตุรกีเห็นว่ากลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มก่อการร้ายและเชื่อมโยงกับขบวนกบฏชาวเคิร์ดในประเทศที่ต้องปราบ และเห็นไปถึงว่าการสนับสนุนชาวเคิร์ดของสหรัฐนั้นมีเป้าหมายเพื่อการแทรกแซงและทำให้ตุรกีอ่อนแอ (ดูบทความทางวิชาการของ Cuma Cicek & Vahap Coskum แห่งมูลนิธิสันติภาพในตุรกี ชื่อ The Peace Process From Dolmabahce to Present-Day : Understanding Failure and Finding New Paths ใน tr.boell.org 01.04.2016 ประกอบ)

ความล้มเหลวของการเจรจาหยุดยิงกับชาวเคิร์ด ทำให้พรรคขบวนการผู้รักชาติหันมาจูบปากกับพรรคเอเคพี ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญสู่ระบบประธานาธิบดีจนสำเร็จ

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงระบบประธานาธิบดีและหนทางประชาธิปไตยของตุรกีจะเป็นอย่างไรต่อไป