พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร : “ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับมาตรา 112”

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10/08/2018

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ตอนที่ 6

จากการจากไปของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ผมจึงขอพักเรื่องอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไว้ก่อน และขออุทิศข้อเขียนนี้เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปของท่าน พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร โดยเรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ที่ผมได้รับความกรุณาจากท่านเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนที่ท่านจะจากไป

คราวที่แล้วมาถึงตอนที่อาจารย์วสิษฐพูดถึงมาตรา 112 โดยท่านเล่าว่า

“พระองค์ท่าน (ในหลวงรัชกาลที่ 9) เคยมีรับสั่งเป็นสาธารณะเลยนี่ครับ คือพระราชดำรัสในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ผมจำไม่ได้ว่าปีไหน แล้วมีนายกฯ นั่งอยู่ด้วย นายกฯ คนไหนก็ไม่รู้ พระองค์ท่านรับสั่งเองว่าพระองค์ท่านไม่ชอบมาตรา 112 พอไปจับกันฟ้องกันแล้ว พระองค์ท่านต้องพระราชทานอภัยโทษทุกรายไปเลย อันนี้พระองค์ท่านรับสั่งเอง เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าพระองค์ท่านไม่เดือดร้อนเรื่องที่ใครจะมาวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติเตียนพระองค์ท่านยังไง ความจริงพระองค์ท่านก็คงคิดแบบเมืองอังกฤษน่ะ เมืองอังกฤษที่ด่าควีนเป็นว่าเล่นเลย แล้วก็ไม่เห็นรัฐบาลอังกฤษเขาเดือดร้อนอะไร พระองค์ท่านก็ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าจะถามว่าพระบรมราโชบายเป็นอย่างไร ผมตอบได้เลยว่าท่านไม่โปรดมาตรา 112″

พวกเราก็ตั้งข้อสังเกตว่า แม้กระนั้น ก็ไม่มีรัฐบาลไหนคิดจะทำอะไรกับมาตรา 112! ซึ่งท่านอาจารย์วสิษฐก็เห็นด้วยว่า รัฐบาลไหนก็ไม่คิดจะทำ

แต่ถ้าพิจารณาจากที่พรรคอนาคตใหม่ได้สัมภาษณ์ ดูเหมือนว่าขณะนี้จะมีพรรคการเมืองเดียวคือ พรรคอนาคตใหม่เท่านั้นที่คิดจะทำอะไรกับมาตรา 112

ก็ไม่ทราบว่า หากท่านอาจารย์วสิษฐยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะคิดอย่างไรกับพรรคอนาคตใหม่?

 

ต่อจากเรื่องมาตรา 112 พวกเราก็ถามท่านอาจารย์วสิษฐต่อเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินต่างจังหวัด โดยอยากให้ท่านเปรียบเทียบการเสด็จพระราชดำเนินต่างจังหวัดในช่วงทศวรรษ 2510, 2520 และ 2530 โดยอยากทราบว่าเป้าหมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการเสด็จพระราชดำเนินนี่แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

ท่านวสิษฐ : “เป้าหมายไม่ต่างกันเลย เพราะพระเจ้าอยู่หัวท่านเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เหตุการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม พระองค์ท่านยังเอาประชาชนเป็นหลักอย่างเดิม แล้วก็ช่วงหลังตอนช่วง 2520 ถึง 2530 ผมอยู่แค่ครึ่งเดียวแล้ว ตอนหลังมาพ้น 2530 ไปแล้ว ถึง 2540, 2550 นี่ผมไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยแล้ว แต่ผมเห็นจากการเสด็จพระราชดำเนิน ว่าไม่เคยเปลี่ยนเลย พระองค์ท่านยังเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง แม้กระทั่งหลังสุดที่จะเสด็จไม่ไหวแล้วคือทุ่งมะขามหย่อง ก็เห็นได้ว่าเสด็จเพราะจะช่วยชาวบ้านเหมือนกัน พระองค์ท่านถูกด่า ถูกหมิ่นประมาทอะไรพระองค์ท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนแยแส แผ่นดินไหวพระองค์ท่านก็เสด็จไป น้ำท่วมกรุงเทพฯ พระองค์ท่านก็เสด็จออกไปลุยน้ำเอง”

พวกเราถาม “พระองค์ท่านเคยมีรับสั่งอะไรไหมครับเกี่ยวกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง?”

ท่านวสิษฐ : “ถ้ามีก็ไม่ใช่กับผม”

พวกเราเจาะลงไปอีกว่า “ทีนี้สมมติว่ารัฐบาลที่สามารถลงไปแก้ไขปัญหาชาวบ้านได้มากๆ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็น่าจะเป็นการแบ่งเบาภาระของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านก็น่าจะทรงเห็นด้วยกับรัฐบาลนั้นใช่ไหมครับ”

ท่านวสิษฐ : “มีกี่รัฐบาล ไหนลองว่ามาซิ”

พวกเรา “สมมติว่ารัฐบาลทักษิณในช่วง 4 ปีแรกก็จะมีนโยบายสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค ปลดหนี้ กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หนึ่งทุนการศึกษาไปต่างประเทศ พูดง่ายๆ ว่าช่วงนั้นปัญหาดั้งเดิมของสมัย 2510, 2520 ปัญหาที่มันแย่ๆ รัฐบาลก็เข้าไปช่วยวางรากฐานอะไรบางอย่างไว้”

ท่านวสิษฐ : คุณก็รู้ไม่ใช่เหรอว่าช่วงที่คุณทักษิณเข้ามาเป็นนายกฯ พระราชกิจพระองค์ท่านก็น้อยลง… แล้วเขาทำอยู่นานเท่าไหร่ (หัวเราะ)”

พวกเรา “ช่วงแรกสี่ปี แล้วพระองค์ท่านรู้สึกเบาพระทัยลงไหมครับว่ามีนักการเมืองมาจากการเลือกตั้งมา…”

ท่านวสิษฐ : “เราก็คงไม่รู้ว่าในพระทัยพระองค์ท่านว่าเป็นยังไงนะครับ แต่เราจะเห็นได้ว่าพระราชกิจเกี่ยวกับชาวบ้านก็จะน้อยลง เพราะมีนักการเมืองมาทำเรื่องนี้แล้ว”

 

พวกเรา “มีคนบอกผมว่า ในหลวงพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสูงสุดให้กับคุณทักษิณเป็นกรณีพิเศษ อันนี้จริงไหมครับ?”

ท่านวสิษฐ : “ใช่ครับ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ”

พวกเรา “งั้นก็แปลว่าพระองค์ท่านก็คงโปรดนะครับ?”

ท่านวสิษฐ : “ก็น่าจะใช่ครับ”

พวกเรา “แบบนี้สมมติฐานก็น่าจะถูกว่ารัฐบาลไหนที่ช่วยชาวบ้านเยอะๆ พระองค์ท่านก็จะทรงโปรด”

ท่านวสิษฐ : “คือตราจุลจอมเกล้าเป็นตราส่วนพระองค์ อยู่เฉยๆ ไม่ใช่จะได้ ไม่ใช่ปรกติจะได้ ข้าราชการทหารหรือพลเรือน แม้รับราชการไปนานๆ ก็จะรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อยู่แค่สองสกุลคือช้างเผือกกับมงกุฎไทย กลับไปกลับมากันอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่ช้าง 5 ขึ้นไปจนถึงชั้น 1 คือมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก กับมหาวชิรมงกุฎ ส่วนจุลจอมเกล้าเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์พิเศษที่จะพระราชทานตามพระราชอัธยาศัย เมื่อตอนที่ทักษิณรับพระราชทาน ตัวผมเองก็ว่าเหมาะสมสำหรับงานของเขา แล้วเมียเขาก็เป็นคุณหญิงด้วยใช่ไหม นายกฯ คนอื่นๆ เขาก็ได้ทำนองเดียวกัน

“ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ปฐมจุลจอมเกล้านะ สูงกว่าทักษิณอีก คือทุติยก็คือสอง ปฐมนี่คือหนึ่ง อาจารย์คึกฤทธิ์ได้ปฐม ส่วนผมนอกจากได้สายสะพายแล้วยังมีสังวาลห้อยคออย่างกะยี่เก ผมได้เท่าทักษิณ หรือทักษิณได้เท่าผม (หัวเราะ)”

 

พวกเรา “แล้วถ้าจะถามแบบสำนวนชาวบ้านเลยก็คือ ในที่สุดในหลวงท่านไม่โปรดทักษิณใช่ไหมครับ?”

ท่านวสิษฐ : “ผมไม่เคยได้ยินพระองค์ท่านรับสั่งอย่างนั้นนะครับ เพราะตอนหลังผมไม่ได้เข้าเฝ้าฯ แล้ว และถ้าจะดูจากภายนอกก็ไม่เห็นว่าพระองค์ท่านเดือดร้อนอะไรเกี่ยวกับเรื่องทักษิณ”

พวกเรา “ทีนี้ ถ้าตีความจากพระราชดำรัสวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 ที่พระองค์ท่านตรัสว่าพระองค์ท่านก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง น่าจะมีบทบาททำอะไรได้ จะมายกอยู่เหนือการเมืองจริงๆ แต่ว่าพระองค์ท่านก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง พระองค์ท่านก็ตรัสแบบนี้นะครับ ก็ตรัสให้คุณทักษิณฟัง ประมาณนี้นะครับ เพราะผมฟังแล้วก็มาคิดเอาเอง”

ท่านวสิษฐ : “อาจจะสะกิดทักษิณก็ได้ แต่อย่าลืมว่าแปลพระราชดำรัสต้องแปลโดยเคร่งครัดนะครับ (หัวเราะ) คือ imply ไม่ได้นะครับ”

พวกเรา “อาจารย์มีอะไรแนะนำไหมครับ ในการแปลพระราชดำรัสว่าจะต้องเคร่งครัดอย่างหนัก หรือจะต้องดูในบริบทว่ากำลังพูดอะไรกับใคร หรือพระองค์ท่านมีหลักอะไรที่เราควรจะต้องเข้าใจไหมครับ?”

ท่านวสิษฐ : “เปล่า คือที่ถูกที่สุด ก็คืออย่าแปล รับสั่งว่าอย่างไรก็ต้องอย่างนั้น ถ้าแปลแล้วอาจจะถูกก็ได้ อาจจะผิดก็ได้”