เปิดข้อเสนอ กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ว่าด้วยปฏิรูปครู “4 แนวทางปฏิรูป”

สมหมาย ปาริจฉัตต์

กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเร่งผลิตผลงานออกมาเป็นรูปธรรมเรื่องแรกมีผลแล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ.2561 ใช้บังคับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561

ฟังสุ้มเสียงผู้รับผิดชอบทั้งในระดับรัฐบาลและกองทุนออกตัว ช่วงเริ่มต้นวางน้ำหนักไปที่ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษา มุ่งผู้เรียนเป็นด้านหลัก

ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 54 วรรคท้าย บัญญัติให้เสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครูด้วย สะท้อนว่าต้องการให้กองทุนมีส่วนหนุนช่วยเรื่องนี้ด้วย ภารกิจการปฏิรูปครูจึงเป็นอีกมิติหนึ่งที่น่าติดตาม

ในระหว่างรอดูความเคลื่อนไหวจะใช้กระบวนท่าอะไร ผมเลยฉวยเอาข้อเสนอของคณะอนุกรรมการครูและอาจารย์ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอิสระชุดใหญ่แล้วมารายงานให้รับรู้กันกว้างขวาง

จะได้ช่วยกันจับทิศจับทางต่อไป

 

ฟัง รศ.ทิศนา แขมมณี กรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาพูดเรื่องนี้ว่า การปฏิรูปครูและอาจารย์มีปัญหาแบ่งออกเป็น 4 เรื่อง ได้แก่ การผลิตครู สถาบันผลิตครูมากเกินไปหรือไม่ผลิตในบางสาขาวิชา หลักสูตรเน้นทฤษฎีมาก ปฏิบัติน้อย บัณฑิตไม่เกิดสมรรถนะที่จำเป็นต่อการทำหน้าที่ครูอย่างมีคุณภาพ อาจารย์ขาดความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการสอน ไม่สามารถเป็นตัวแบบที่ดีและสร้างแรงบันดาลใจได้ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพไม่เข้มข้น ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาครูให้มีคุณภาพและการหล่อหลอมจิตวิญญาณความเป็นครู จึงมีการกำหนดสมรรถนะที่จำเป็นของบัณฑิต

การคัดกรอง ไม่มีสมรรถนะหลักที่เป็นมาตรฐานกลางในการคัดเลือกครูเข้าทำงาน ระบบการคัดเลือกไม่มีเอกภาพ ทำให้ไม่ได้ครูที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน ครูไม่กระจายตัวไปยังพื้นที่ขาดแคลน ขาดระบบจูงใจครูให้ไปทำงานในพื้นที่ขาดแคลน ไม่มีระบบการพัฒนาและประเมินครูผู้ช่วยอย่างจริงจังก่อนเลื่อนขึ้นเป็นครูชำนาญการ ผู้สอนวิชาเฉพาะทางในโรงเรียน เช่น ครูช่าง ไม่สามารถสอบใบประกอบวิชาชีพครูเพื่อเป็นครูได้

การพัฒนา ครูปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางการศึกษา และยังไม่สามารถปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เกิดประสิทธิผล ครูได้รับการพัฒนาไม่ทั่วถึงเท่าเทียมกัน

หลักสูตรพัฒนาครูมักเป็นไปตามความพร้อมของผู้จัด ไม่ได้มาจากความต้องการของครู วิธีการพัฒนาครูใช้การอบรมระยะสั้นซึ่งมักเน้นทฤษฎี มีการฝึกปฏิบัติน้อย ไม่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอน การพัฒนาไม่ได้ช่วยพัฒนาสมรรถนะครูให้สูงขึ้น ครูมีระดับความสามารถและความต้องการที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนได้รับการพัฒนาเหมือนกันหมดทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการ ครูไม่มีระบบการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากขาดครู ครูต้องสอนคละชั้นทุกวิชาทำให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ไม่ดีเท่าที่ควร

และเส้นทางวิชาชีพ ครูมีภาระนอกเหนือจากการสอนจำนวนมาก เช่น งานธุรการ ทะเบียน บัญชี พัสดุ รวมทั้งการต้องเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ ในวันหยุด ครูจึงไม่มีเวลาในการเตรียมการสอน ความก้าวหน้าทางวิชาชีพของครูยังไม่ได้อยู่ในพื้นฐานของความสามารถและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานของครู ที่ส่งถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน

รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินเพื่อให้ได้วิทยฐานะยังไม่เหมาะสม เมื่อได้รับการเลื่อนระดับวิทยฐานะแล้ว ครูไม่ได้มีการพัฒนาตนเองและพัฒนางาน โรงเรียนมีความต้องการนักเทคโนโลยีการศึกษาเข้ามาช่วยในด้านการใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้และการสอน

 

ข้อเสนอของอนุกรรมการ จึงมีดังนี้

ประเด็นการปฏิรูปครู อาจารย์ และบุคลากรวิชาชีพ

(ก) การผลิตครู

1. จัดให้มีหน่วยงาน/คณะกรรมการกลางที่มีอํานาจในการกําหนดนโยบายวางแผนการผลิตครูตามความต้องการของประเทศ และกําหนดคุณสมบัติที่เหมาะสมของสถาบันผลิตครู โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณรายหัวตามจํานวนที่แต่ละสถาบันได้รับมอบหมายให้ผลิต

2. รวบรวมข้อมูลการผลิตและการใช้ครูจากแหล่งข้อมูลที่กระจัดกระจายและจัดเก็บข้อมูลที่ได้ทําการสํารวจทุกปีที่ผ่านมาเข้าสู่ระบบเพื่อพัฒนาเป็นระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) เพื่อให้ได้สารสนเทศทางการเรียนรู้ที่แสดงสภาพการเปลี่ยนแปลงของอัตรากําลังครู ความชํานาญ และงานการสอนจริงรายบุคคลและรายโรงเรียน เพื่อคาดการณ์อัตรากําลังในแต่ละสาขาที่ขาดแคลนจริง รวมทั้งงานบริการวิชาการ การพัฒนาวิชาการ และการเลื่อนวิทยฐานะ

3. การผลิตครูควรมีการผลิตในระบบปิดบางส่วน ไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราบรรจุในแต่ละปี ที่เหลือเป็นระบบเปิดเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีความสามารถสูงแข่งขันเข้าเป็นครู

4. หลักสูตรผลิตครูควรเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency-based Curriculum) เน้นการบูรณาการความรู้เพื่อสร้างสมรรถนะหลักให้กับนักศึกษาครู (Teacher Core Competency) มากกว่าการเน้นความรู้ในรายวิชา และเน้นการเรียนรู้แบบรอบรู้ (Mastery Learning) ให้นักศึกษาครูทุกคนเกิดสมรรถนะหลักที่กําหนด

5. การผลิตครูต้องเน้นการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง จนเกิดทักษะความชํานาญพร้อมจะเป็นครูได้เมื่อสําเร็จการศึกษา เช่น

 

1)ปีที่หนึ่ง เป็นการฝึกประสบการณ์ในโรงเรียน เพื่อสร้างความคุ้นเคยและความเข้าใจในบรรยากาศของโรงเรียนและชั้นเรียน

2) ปีที่สอง ฝึกการเป็นผู้ช่วยสอน ช่วยครูในการวางแผนการสอน การผลิตสื่อการสอน การตรวจงาน รวมทั้งการวินิจฉัยและแก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียนเป็นรายบุคคล

3) ปีที่สาม เป็นผู้สอนร่วมกับครู ฝึกฝนการออกแบบการสอนและการวัดและประเมินผล วินิจฉัยและแก้ไขข้อบกพร่องของนักเรียนเป็นกลุ่ม

4) ปีที่สี่ เป็นการปฏิบัติงานครูอย่างเป็นระบบภายใต้การนิเทศจากอาจารย์พี่เลี้ยงคุณภาพสูง และคณาจารย์จากสถาบัน

5. หลักสูตรผลิตครูควรใช้เวลาอย่างน้อยสี่ปี โดยหลักสูตรการผลิตครูเฉพาะทาง เช่น ครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือครูอาชีวศึกษา ควรเน้นเนื้อหาวิชาเอกให้เข้มข้นลึกซึ้ง

6. สถาบันที่จะผลิตครูเฉพาะทาง เช่น ครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรืออาชีวศึกษา นักศึกษาครูต้องได้รับการสอนเนื้อหาจากคณะวิชา เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ เป็นต้น หรือจากผู้สอนที่เชี่ยวชาญด้านเนื้อหา

7. สถาบันที่จะผลิตครูต้องมีโรงเรียนที่ให้นิสิต/นักศึกษาครูได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพกับครูประจําการคุณภาพสูง และมีการพัฒนาทางวิชาชีพร่วมกับโรงเรียนดังกล่าว (Professional Development School)

8. อาจารย์ที่สอนในสถาบันผลิตครูจะต้องมีประสบการณ์สอนในสถานศึกษาและมีกิจกรรมทางวิชาการที่เชื่อมโยงกับสถานศึกษา

9. การสอบเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพครูต้องเน้นการประเมินสมรรถนะหลักและความเชี่ยวชาญในเนื้อหาสาขาวิชาที่สอนเป็นหลัก

ครับ ถ้าทำได้จริง และทำเร็ว ปฏิรูปครูเพื่อปฏิรูปการศึกษาก็มีความหวัง สำคัญว่าจะเริ่มลงมือได้เมื่อไหร่ และเจ้าภาพหลักควรเป็นสังคมทั้งหมดทุกฝ่ายนั่นแหละ

ต้องไม่ปล่อยให้การศึกษาอยู่ในมือกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียวอย่างที่ผ่านมา ยังมีข้อเสนออื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ไว้ว่ากันต่อไป