โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญพิทักษ์ผืนป่าไม้สัก หลวงพ่อเสมา วัดตลุกดู่ พระเกจิชื่อดัง จ.อุทัยธานี

หลวงพ่อเสมา จันทโชโต

โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ

 

เหรียญพิทักษ์ผืนป่าไม้สัก

หลวงพ่อเสมา วัดตลุกดู่

พระเกจิชื่อดัง จ.อุทัยธานี

 

“หลวงพ่อเสมา จันทโชโต” อดีตเจ้าอาวาสวัดตลุกดู่ ต.ตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ผู้ประกาศิตป่าสักธรรมชาติ จ.อุทัยธานี “กูเอาไม้ป่าไปทำไม่ได้ คนอื่นก็เอาไปทำไม่ได้เช่นกัน”
ด้วยวาจาอันศักดิ์สิทธ์ของพระเถระที่มีวัตรปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา เกิดเป็นปาฏิหาริย์สำคัญทำให้ป่าสักธรรมชาติ ที่ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี ยังคงสภาพความสมบูรณ์ตามธรรมชาติมาจนทุกวันนี้
วันที่ 9 ธันวาคม 2520 คณะสงฆ์จังหวัดอุทัยธานีจัดงานอนุสรณ์ป่าสัก ฉลองรูปจำลองหลวงพ่อเสมา เนื่องด้วยคำพูดของท่านในครั้งนั้น ทำให้ป่าไม้สักดังกล่าว อยู่รอดจากการถูกตัดโค่นทำลาย
ป่าสักแห่งนี้ กลายเป็นที่มาของ “อำเภอลานสัก” อันเป็นป่าไม้อุดสมบูรณ์ของชาวอุทัยธานี ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่คณะสงฆ์จังหวัดอุทัยธานีได้จัดงานฉลองอนุสรณ์ป่าสักขึ้นอย่างยิ่งใหญ่
ในพิธีนอกจากการจัดสร้างรูปหล่อจำลองหลวงพ่อเสมา ยังได้จัดสร้างเหรียญหลวงพ่อเสมา เนื้อทองเหลืองรมดำ ทรงกลมรีรูปไข่ จำนวน 10,000 เหรียญด้วย และเกิดเหตุการณ์บล๊อกแตกเป็นที่อัศจรรย์
ลักษณะของเหรียญ เป็นเนื้อทองเหลืองรมดำ ทรงกลมรีรูปไข่ใหญ่ กว้าง 3 เซนติเมตร สูง 3.5 เซนติเมตร มีขอบนูน ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงพ่อเสมาครึ่งตัว ด้านล่างมีตัวหนังสือ “หลวงพ่อเสมา จันทโชโต”
ส่วนด้านหลังเหรียญเป็นยันต์สี่เหลี่ยม อันเป็นยันต์ประจำตัวของหลวงพ่อเสมา ด้านล่างมีตัวหนังสือ “๙ ธ.ค. ๒๕๒๐”
พระเกจิอาจารย์ที่เข้าร่วมปลุกเสกเหรียญหลวงพ่อเสมา รุ่นบล๊อกแตก อาทิ พระราชอุทัยกวี (พุฒ) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี วัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (ทุ่งแก้ว), พระอุปกิตธรรมสาร (ปลั่ง) เจ้าคณะอำเภอหนองขาหย่าง วัดห้วยรอบ, พระครูอุปการโกวิท (แอ๋ว) เจ้าคณะอำเภอหนองฉาง วัดหัวเมือง, พระครูอุทิศธรรมสาร (วงษ์) เจ้าคณะอำเภอเมืองอุทัยธานี วัดพิชัยปุรณาราม เป็นต้น
แม้เหรียญดังกล่าวจะเป็นเหรียญตาย ถูกจัดสร้างขึ้นภายหลังจากที่หลวงพ่อเสมามรณภาพไปแล้ว แต่ด้วยการจัดสร้างมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น จัดสร้างเพียงครั้งเดียว และมีจำนวนจำกัด ไม่ปรากฏว่าพบบ่อยนักตามแผงพระ ทำให้เหรียญดังกล่าวเป็นที่ปรารถนาของบรรดานักสะสม
กลายเป็นเหรียญวัตถุมงคลอันทรงคุณค่า

เหรียญบล๊อกแตก หลวงพ่อเสมา

ประวัติหลวงพ่อเสมา เกิดที่บ้านสีแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันอังคารที่ 21 กรกฎาคม 2428
เมื่ออายุ 15 ปี บิดานำไปฝากให้เรียนหนังสือกับพระอาจารย์โพ เจ้าอาวาสวัดสีแก้ว เล่าเรียนอยู่ 2 ปี จนสามารถอ่านออกเขียนได้
ต่อมาบรรพชา ศึกษาพระธรรมวินัย และพออายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสีแก้ว อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด มีพระอาจารย์เสนเป็นพระอุปัชฌาย์
ได้รับฉายาว่า จันทโชโต แปลว่า ผู้มีแสงสว่างดังดวงจันทร์
จำพรรษาอยู่ที่วัดสีแก้ว 1 พรรษา ก่อนย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดคอกควาย อ.เมือง จ.ลพบุรี ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอาจารย์มี 1 พรรษา
มีความตั้งใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัยที่กรุงเทพฯ แต่เกิดอาพาธอย่างหนัก ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่วัดมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม อีก 1 พรรษาจนหายดี และย้ายไปอยู่วัดตลุกดู่ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี
พ.ศ.2468 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส
พ.ศ.2472 ก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ ขนาดยาว 15 วา กว้าง 5 วา ครั้งนั้น การสร้างเสนาสนะของวัดตลุกดู่จำเป็นมาก เพราะศรัทธาของชาวบ้านที่มาทำบุญมีจำนวนมากขึ้น หลวงพ่อเสมาได้สร้างศาลาการเปรียญ และสร้างอุโบสถขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างจำเป็นต้องใช้ไม้สำหรับประกอบเป็นเครื่องบนของอุโบสถ เห็นว่าในป่าแห่งหนึ่งมีไม้สักที่ต้องการอยู่ จึงนำประชาชนที่มาช่วยการสร้างอุโบสถไปตัดไม้ ทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำหนิ โดยมิให้นำไม้ออกจากป่าดังกล่าว ความหวังของหลวงพ่อเสมาและชาวตลุกดู่ได้หยุดลง
จากนั้น จึงตัดสินใจไม่เอาไม้ออกจากป่านี้ พร้อมกับกล่าวว่า “กูเอาไม้ในป่านี้ไปทำไม่ได้ คนอื่นก็เอาไปทำไม่ได้เช่นกัน” จากนั้น หลวงพ่อเสมาให้ชาวบ้านหาซื้อไม้ไปจัดทำอุโบสถจนแล้วเสร็จ
มรณภาพเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2484 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตลุกดู่ สิริรวมอายุ 56 ปี

วาจาของหลวงพ่อเสมาที่มิให้นำไม้สักออกจากป่า กลายเป็นประกาศิตที่ไม่มีใครกล้านำไม้สักในป่าดังกล่าวมาใช้ประโยชน์อีกเลย
ทั้งนี้ หากมีผู้ใดนำไม้ออกไป ก็จะมีอันเป็นไป
เช่น ไฟไหม้บ้าน ไฟไหม้สิ่งที่นำไม้สักนั้นไปก่อสร้าง
ทำให้ป่าไม้สักมีพื้นที่ 500 ไร่แห่งนี้ยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้สักจนทุกวันนี้
จนกลายเป็นชื่ออำเภอลานสักในปัจจุบัน