อุบัติเหตุบนท้องถนน สะท้อนปัญหาในระบบ

อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ด้านความปลอดภัยทางสังคมในหลายประเทศ

โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบังกลาเทศที่มีสถิติการเสียชีวิตในอุบัติเหตุบนท้องถนนในปีที่แล้วมากกว่า 7,000 ราย อ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมสวัสดิภาพผู้โดยสารของบังกลาเทศ

ขณะที่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ประมาณการอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนในประเทศบังกลาเทศปี 2556 อยู่ที่ 13.6 รายต่อประชากร 100,000 ราย

ซึ่งแม้จะเป็นสถิติที่ต่ำกว่าอินเดียหรือปากีสถาน แต่จัดว่าสูงมากเมื่อเทียบกับในอเมริกาหรือยุโรป

และอีกข้อมูลจากสถาบันวิจัยอุบัติเหตุของมหาวิทยาลัยวิศวกรรมและเทคโนโลยีบังกลาเทศระบุว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนได้คร่าชีวิตชาวบังกลาเทศไปในแต่ละปีราว 12,000 ราย

และยังทำให้ได้รับบาดเจ็บราว 35,000 ราย

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจที่เหตุการณ์รถโดยสารเอกชนซิ่งชนทับร่าง 2 เยาวชนจนเสียชีวิตในกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศที่มีประชากรอยู่ราว 18 ล้านคน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมาจะจุดกระแสการออกมารวมตัวกันประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลของนางเชก ฮาซินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศจากพรรคสันนิบาตอวามี เร่งปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนนในประเทศให้ดีขึ้นอย่างจริงจังเสียที

ทว่าสถานการณ์ได้ลุกลามบานปลายออกไปกลายเป็นเหตุรุนแรงจนเป็นผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บนับร้อยคน จากเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าจัดการกับม็อบผู้ประท้วงที่มีกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาเป็นกำลังหลักสำคัญในการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลครั้งนี้

 

กระแสความโกรธเกรี้ยวไม่พอใจของกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาในบังกลาเทศครั้งนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้

เพราะจากกระแสข่าวที่มีออกมาบอกว่าเยาวชน 2 ราย ที่เป็นเด็กนักเรียนชาย 1 คนและเด็กหญิง 1 คน เสียชีวิตในอุบัติเหตุรถโดยสารพุ่งชนทับร่างบนถนนในวันเกิดเหตุนั้นมาจากการที่คนขับรถโดยสารเอกชนคันก่อเหตุได้รีบขับตะบึงมาเพื่อหวังจะแย่งรับผู้โดยสารจากรถโดยสารคันอื่น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นการกระทำผิดโดยประมาทอย่างร้ายแรง

จุดนี้ยังเป็นตัวสะท้อนให้เราเห็นมุมปัญหาที่มีอยู่ในสังคมบังกลาเทศ อย่างที่เชก ชาฟี นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิครายหนึ่งที่เข้าร่วมประท้วงและได้รับบาดเจ็บจากการถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายม็อบด้วยบอกว่านี่เป็นหนึ่งในปัญหาในระบบที่เขามองเห็น ที่คนขับรถต้องการทำงานด้วยการกินชั่วโมงยาวๆ

เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน แต่จะได้เป็นค่าคอมมิชชั่นที่ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารที่พวกเขารับมาได้ นั่นจึงทำให้เกิดการวิ่งรถแย่งรับผู้โดยสารกันขึ้น

และส่งผลคุกคามต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้คนที่ใช้ท้องถนนตามมา

ในมุมความเห็นของอีกหลายคนมองว่าอุบัติเหตุครั้งนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สะท้อนปัญหาใหญ่ของประเทศทั้งในแง่ของธรรมาภิบาล ระบบอุปถัมภ์พวกพ้องและการทุจริตคอร์รัปชั่นที่แทรกซึมฝังลึกอยู่ในระบบ

 

บทวิพากษ์ของนิวยอร์กไทม์สชี้ว่าภาคการคมนาคมขนส่งของบังกลาเทศมีการดำเนินงานที่อยู่เหนือกฎหมายมานาน ไม่เจ้าหน้าที่รัฐที่มีอิทธิพลเป็นเจ้าของกิจการรถโดยสารเอกชนเอง หรือไม่ก็มีกลุ่มนักการเมืองที่หนุนหลังอยู่ หลายบริษัทในภาคธุรกิจนี้ยังถูกกล่าวหาว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหลบเลี่ยงการถูกสอบสวน โดยเฉพาะในอุบัติเหตุร้ายแรง ซึ่งเป็นช่องโหว่ปัญหาที่ยากจะแก้

สถานการณ์ประท้วงที่บานปลายเป็นความรุนแรงครั้งนี้ยังตกอยู่ภายใต้การจับตาสังเกตการณ์จากหลายฝ่ายรวมถึงสหประชาชาติและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่ร่วมแสดงความห่วงกังวลต่อการใช้กำลังรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วงของรัฐบาลบังกลาเทศ

ขณะที่เรื่องนี้ยังถูกบิดเป็นประเด็นการเมืองในช่วงเวลาที่เข้าใกล้สู่การเลือกตั้งทั่วไปของบังกลาเทศที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งเป็นปัญหาท้าทายของรัฐบาลนางฮาซินาที่จะต้องดำเนินการหรือหามาตรการใดๆ ออกมาให้เห็นผล เพื่อที่จะรักษาเสียงสนับสนุนรัฐบาลตนเองเอาไว้เพื่อให้ได้อยู่ในอำนาจต่อไป

การประชุมคณะรัฐมนตรีบังกลาเทศที่มีขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงได้เห็นการเสนอแก้ไขกฎหมายด้านการคมนาคม โดยมีการเพิ่มระวางโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี จากเดิม 3 ปี ในคดีขับรถโดยประมาทที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเสนอแนวคิดบทลงโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต หากการขับรถที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นการกระทำโดยเจตนา ที่จากข่าวยังไม่มีรายงานว่ารัฐสภาบังกลาเทศจะรับลูกในเรื่องนี้หรือไม่