คำ ผกา : อดข้าวดอกนะเจ้าชีวาวาย จะตายไหมถ้าไม่มีเลือกตั้ง

คำ ผกา

“ถ้าไม่ได้เลือกตั้งจะตายไหม?”

อยู่ๆ คำถามนี้ก็ผุดขึ้นมาในหัว เพราะคำถามใน “ข่าวการเมือง” ที่เกิดขึ้นทุกวันคือ “จะมีการเลือกตั้งในปี 2562 หรือไม่?” หลายๆ คนก็บอกว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะถูกกำหนดกรอบเอาไว้ตามรัฐธรรมนูญ นั่นคือไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2562

นั่นคือเราว่ากันตามกรอบกติกา แต่คนไทยอย่างเราๆ ก็ถูกทำให้มีชีวิตอยู่อย่างเตรียมใจไว้เสมอสำหรับสถานการณ์ “ยกเว้น” สิ่งที่เกือบจะหายไปแล้วในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมไทยคือ “ความวางใจ”

ดังนั้น แม้จะมีโรดแม็ปว่าด้วยการเลือกตั้งรออยู่ข้างหน้าอย่างเป็นตัวเลขชัดเจนก็น่าสนใจว่าทำไมคนจึงยังมีคำถามว่า “เรายังจะได้เลือกตั้งหรือไม่?”

แต่ เอ๊ะ นี่เราก็ไม่ได้เลือกตั้งมาตั้งหลายปีทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ เราก็ยังไม่ตายนี่นา …เออ …งั้นไม่มีการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็ได้หรือเปล่า?

เป็นเรื่องที่จินตนาการได้ไม่ยากเลยว่า หากเราเลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ

วันหนึ่ง คนไทยอาจจะเห็นว่าการเลือกตั้งไม่จำเป็น ไม่มีความหมาย ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีชีวิตอยู่ตามปกติ

เราอาจจะบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ดี รถติด น้ำท่วม แต่นึกออกไหม ไปตลาดแม่ค้าก็ยังขายของ ไปติดต่อสำนักงานเขต อำเภอ ทุกอย่างก็ยังทำงาน อาจจะมีทำงานดีบ้าง ไม่ดีบ้าง

แฟ้มภาพ

บีทีเอสอาจจะเสียบ่อยๆ แต่มันก็กลับมาทำงานของมันจนได้ ขยะก็ยังมีรถ กทม. รถเทศบาลเก็บไปทิ้งตามปกติ ไฟไหม้ ดับเพลิงก็ยังทำงาน โรงพยาบาลก็ยังมีหมอ

ห้างสรรพสินค้าก็ยังเปิดสว่างไสว นักท่องเที่ยวก็ยังเดินทางมาเที่ยว อาหารก็ยังอร่อย น้ำยังไหล ไฟยังสว่าง

ทีวียังมีละครดู อินเตอร์เน็ตก็ยังดี โซเชียลมีเดียก็ไม่ถูกปิด เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ยังมีให้เล่น

หนังสือพิมพ์ก็ยังอยู่ รายการข่าวก็ยังเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกันได้อยู่ นักข่าวก็ไม่ต้องอยู่ห่างจากนายกฯ 5 เมตร

คุณศรีสุวรรณ จรรยา และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นก็ยังขุดคุ้ยเรื่องนั้นเรื่องนี้มาให้สื่อทำข่าว ว่ามีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้ออะไร ดาวเทียมอะไร ราคาเท่าไหร่

คดีเปรมชัย กรรณสูต ก็กำลังขึ้นศาล เด็กติดถ้ำเราก็ยังไปช่วยเอาออกมาได้

บัตรเติมเงินให้คนจนโดยรัฐบาลในนาม “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ก็มี ฯลฯ

เออ แล้วแบบนี้ เราไม่ต้องมีการเลือกตั้งได้ไหม?

ให้นายกฯ คนนี้เป็นนายกฯ ไปเรื่อยๆ

มี สนช. แบบนี้ไปเรื่อยๆ ถ้า สนช. ไม่ชอบนายกฯ ก็ให้นายกฯ ไปคุยกับ สนช. หรือให้คุณวิษณุ เครืองาม กับคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ไปคุยกัน หรือถ้านายกฯ ไม่ชอบ สนช. คนไหน ก็ให้นายกฯ ถอดถอน แต่งตั้ง หรือตกลงกันไม่ได้ ก็ให้คุณวิษณุกับคุณมีชัย กับ สนช. กับนายกฯ ไปคุยกัน

อัศวิน ขวัญเมือง

ถ้าผู้ว่าฯ กทม. มีปัญหา ก็ให้นายกฯ กับ สนช. กับคุณวิษณุ กับคุณมีชัยไปคุยกัน แล้วอยากจะตั้งใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ก็ตั้งลงมา อยากส่งใครเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ก็ส่งมา เพราะคน กทม. เขาก็อึนๆ อยู่แล้ว

ใครจะมาเป็นผู้ว่าฯ ใครจะมาเป็นรองผู้ว่าฯ ขยะหน้าบ้านก็ยังมีรถขยะมาเก็บทุกอาทิตย์เหมือนเดิม ชีวิตก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง หรือได้รับผลกระทบอะไรนักหนา

ฝนตก น้ำท่วม รถติด จะผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งก็ไม่เห็นจะต่างกัน แล้วนี่เขาจะยกเลิกสภา กทม. ยกเลิก ส.ก. ส.ข. ก็ไม่เห็นเดือดร้อน

เพราะตลอดชีวิตที่เป็นพลเมืองกรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นรู้เลยว่า กทม. มีสภา มีศาลาว่าการ กทม. ส.ก. ส.ข. โดยมากก็แค่มาฉีดยุง

ช่างมันเถอะ ไม่มีก็ไม่เป็นไรหรอก

ในต่างจังหวัด เมื่อไม่การเลือกตั้งท้องถิ่น เทศบาล อบต. ก็ทำได้แค่เก็บขยะ กวาดถนน บริหารจัดการงบฯ ไปแบบเจียมเนื้อเจียมตัว ขืนไปใช้เงินนอกลู่นอกทางสร้างโปรเจ็กต์แปลกๆ เดี๋ยวจะโดน สตง.ตรวจสอบ

เมื่อไม่เลือกตั้งก็ต้องอยู่กันไปแบบแกนๆ ซ่ามากอาจโดนสอย

เมื่อไม่ต้องหาเสียง ไม่ต้องทำงานเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง การจะมีหรือไม่มี ก็ชักจะไม่มีความหมายในสายตาชาวบ้าน

ผ่านไปอีกห้าสิบปี ชาวบ้านก็อาจเห็นว่า แหม นายก อบต. นายก อบจ. ช่างไร้น้ำยา ไม่รู้จะมีไปทำไม

ถ้าวันหนึ่งเขามาบอกว่า ยุบๆ ไปเถอะ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นพวกนี้ กลับไปอยู่กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ผู้ว่าฯ เหมือนเดิมดีไหม?

ดูสิ ถ้าได้ผู้ว่าฯ ดีๆ แบบอดีตผู้ว่าฯ เชียงรายมันต้องดีมากแน่ๆ เลย เป็นผู้ว่าฯ ตงฉิน งัดข้อกับนักการเมืองท้องถิ่นที่ดูขี้โกง – เอ้อ แล้วผู้ว่าฯ ดีๆ จะมีได้ไง? ก็คงเสี่ยงดวงเอามั้ง ว่ามหาดไทยเขาจะส่งใครมาให้เรา แล้วจังหวัดเล็กๆ กันดารๆ ก็เตรียมตัวรับผู้ว่าฯ แย่ๆ ที่ถูกย้ายมาจากที่อื่นเพื่อเป็นการทำโทษแล้วกัน

อ้าว แบบนี้ก็ได้ด้วยเหรอ ทำไมประชาชนในจังหวัดกันดารหน่อย ต้องคอยรับผู้ว่าฯ ที่โดนเด้งมาจากที่อื่นล่ะ?

เจอคำถามแบบนี้ ก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากยักไหล่ไปสองสามที แล้วก็แยกย้ายกันไปทำมาหากินต่อ

ใช่ ไม่ได้เลือกตั้งก็ไม่ตาย เรายังมีกะปิ น้ำปลา มีมาม่าหลายยี่ห้อ มีรถยนต์ มีรถเครื่อง มีรถไถนา มีสมาร์ตโฟน มีอิฐ หิน ดิน ทราย ปูน ไม้ ให้ก่อสร้าง มีห้างสรรพสินค้าให้เดิน มีร้านอาหารให้เข้า มีอุตสาหกรรมบันเทิงที่ยังรุ่งเรือง มีร้านค้าประชารัฐ ร้านธงฟ้าให้คนจนไปซื้อ

คนจนไม่มีเงินซื้อ รัฐก็แจกเงินให้เดือนละสองร้อยบาท สามร้อยบาท ไว้ซื้อน้ำปลา น้ำตาล น้ำมันพืช กระดาษชำระ

คนในเมืองหลวงยังมีห้างสรรพสินค้าทุกมุมเมือง มีบิงซู มีไก่บอนชอน มีซูชิ มีราเมน มีชีสเค้กจากฮอกไกโด มีสตาร์บัคส์ มีทุกอย่าง – เราไม่ตายเพราะระบบเศรษฐกิจและทุนยังดำรงอยู่ – พูดให้สั้นและกระชับกว่านั้นคือ สินค้าที่ชาวบ้านอย่างเราบริโภค คือตัวผลักดัน ขับเคลื่อนให้รัฐบาลทำงาน

ถ้าคนจนตายหมด ใครจะซื้อเหล้าโรง ใครจะซื้อผงชูรส ใครจะซื้อมาม่า ใครจะซื้อรถไถ ใครจะซื้อรถกระบะ

ถ้าคนชั้นกลางตายหมด ใครจะเดินห้าง ใครจะกินเอ็มเค ใครจะซื้อสมาร์ตโฟน ใครจะซื้อโปรเน็ตสุดแรงสุดคุ้ม ใครจะซื้อซาร่า ยูนิโคล่ โอนิซึกะ

ถ้าคนจนกับคนชั้นกลางตายหมด ใครจะเป็นแรงงาน รถเมล์จะว่างเปล่า เซเว่นฯ คงจะร้าง หยักไย่ขึ้น

ดังนั้น ต่อให้ไม่มีการเลือกตั้ง ก็ไม่มีใครปล่อยให้คนจนและคนชั้นกลางตาย หรือลำบากยากจนเสียจนไร้ความสามารถในการบริโภค เพราะถ้าเราไม่สามารถจะบริโภค ปั๊มน้ำมันก็จะเจ๊ง ร้านกาแฟก็จะเจ๊ง โรงงานผลิตมาม่า ปลากระป๋องก็จะเจ๊ง ชานมไข่มุกก็จะเจ๊ง บริษัทค่ายมือถือก็จะเจ๊ง ละครสังข์ทองก็จะไม่มีใครดู

เพราะฉะนั้น เราจึงตายไม่ได้ และจะไม่มีใครปล่อยให้เราตายด้วย เนื่องจากเราเป็นผู้เสียภาษี เป็นทั้งผู้บริโภคและเป็นทั้งแรงงาน

แต่สิ่งที่คืบคลานเข้ามาในชีวิตเราอย่างช้าๆ และเลือดเย็นคือ เราจะค่อยๆ ตายจากความเป็นการเมือง

เรานั่งอ่านข่าวคุณศรีสุวรรณ หรือองค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่นไปยื่นหนังสือฟ้องนั่น ฟ้องนี่ แฉนั่น แฉนี่ แล้วเราก็ได้แต่อ่าน แล้วก็ผ่านมันไป ก่อนจะชาชิน และเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง ตัวละครหนึ่งทางการเมือง เหมือนเห็นต้นไม้กระดาษบนเวทีละครโรงเรียน มันตั้งอยู่อย่างนั้น ตั้งให้รู้ว่า “มี” แต่ไม่มีความหมายอะไร นอกจากให้รู้ว่า “มี”

เราเจ็บแค้นเรื่องเสือดำ แล้วมันก็ผ่านไป จากนั้นเราก็รอคอยที่จะเจ็บแค้น โกรธเคืองเรื่องใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น รออ่านถ้อยแถลงอันเจ็บปวดจากนักอนุรักษ์ ออกไปวาดกราฟฟิตี้ แล้วมันก็จะผ่านไป

เราอ่านข่าวเกี่ยวกับคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในระบบยุติธรรม แล้วเราก็ทำได้แค่ภาวนาว่าอย่าให้มันเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของเรา แล้วมันก็จะผ่านไป

เรานั่งอ่านข่าวเรื่องการผ่านงบประมาณ นั่งดูตัวเลขงบประมาณของแต่ละกระทรวง อ่านแล้ว รู้แล้ว และมันก็จะผ่านไป

เราอ่านเรื่องโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เรื่องจะสร้างรถไฟความเร็วสูง ความเร็วไม่สูง จะสร้างจากไหนไปไหน จะสร้างหรือไม่สร้าง จะยกเลิก จะชะลอโครงการ จะหารือกับญี่ปุ่น จะหารือกับจีน จะอะไร จะไม่อะไร แล้วมันก็จะผ่านไป

เรานั่งฟังรัฐบาลแถลงผลงานความสำเร็จ ป่าวประกาศความปรารถนาดี และแจ้งให้เราทราบว่าแต่ละคนแต่ละท่านได้ทุ่มเททำงานหนัก เสียสละ ช่วยคนจน ช่วยคนค้าขาย ช่วยสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติ แล้วเราก็ค่อยๆ ซึมซับไปทีละน้อยว่า อันตัวเราช่างโชคดีเหลือเกินที่วันๆ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องเหนื่อยยาก ไม่ต้องคิด แค่มีชีวิต กินข้าว ทำตัวดีๆ ไม่ก่อความวุ่นวาย แล้วคนดีๆ ที่เสียสละเขาจะอุทิศตัวมาทำงานให้เรา หาเงินมาแจกเรา

ดังนั้น เราต้องนึกถึงคุณงามความดีของเขาให้มาก อย่าลุกขึ้นมาสร้างความวุ่นวายให้เขาต้องลำบากใจ เพราะแค่นี้เขาก็ทำงานหนักมากพออยู่แล้ว

ถ้าชาวบ้านอย่างเรามีความเดือดร้อน นั่นไง ส่งจดหมายไปที่ศูนย์ดำรงธรรมเลย นี่ สายตรงถึงนายกฯ ไม่ต้องผ่าน ส.ส. นักการเมือง วิธีนี้แหละดีแสนดี ประชาชนกับนายกฯ ใกล้ชิด เข้าถึงกัน ต่อสายตรง

ขอเวลาอีกไม่นาน ผ่านไปแล้วสิบปี ขอเวลาอีกสักสิบปี ที่เรายังมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง

เราก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย ไม่ตายนี่หว่า ยังทำงาน ยังเสียภาษี

ท้ายที่สุด หนึ่งชีวิตของเราที่เกิดมา ก็มีสภาพเป็นเพียงแรงงานและเป็นผู้บริโภค เป็นฟันเฟืองหมุนวงจรของระบบทุน

จากนั้นก็เสียภาษีให้รัฐที่มีบุญคุณกับเรา

เราไม่ตายในเชิงกายภาพ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นมันเล็กน้อยมาก เพราะเราจะแค่ตายจากความเป็นคนที่พึงกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ ผ่านการเป็นเจ้าของอำนาจในการบริหารชุมชนทางการเมืองที่เรียกว่าประเทศชาติ สามารถเลือกคนไปทำงานบริหารภาษีที่เราจ่ายให้รัฐ

และเพื่อไปควบคุมไม่ให้ “ทุน” เห็นเราเป็นแค่แรงงานและผู้ซื้อผงชูรส กับกินเอ็มเค

สิ่งที่เกิดขึ้นมันเล็กน้อยมากจริงๆ และยังมีคนไทยจำนวนมากบอกว่า “ดีจังเลย ไม่มีเลือกตั้ง บ้านเมืองสงบ คนไม่ออกมาตีกัน”