อภิญญ ตะวันออก : เขาอีด่าง “กับดัก-ชะตากรรมและความเป็นพลเมือง”

ในโอกาสไปเยือนสหรัฐปีกลาย ฉันรู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก ตอนเห็นอาคารบ้านเรือนเรียงรายในนิวยอร์ก

พลัน การรำลึกถึงคำว่า “บร็องซ์” ก็ผุดขึ้นในจิตใจราวกับว่ามันคือหัวข้อวิจัยที่ฉันติดมาจากอีริก ตัง (หรือตัง, อีริกตามแบบเขมร) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งออสติน เจ้าของงานเล่มที่ชื่อ Unsettled : Cambodian Refugees in the NYC Hyperghetto

อีกครั้ง ทำไมฉันจึงหมกมุ่นต่อมันปานนี้ เพราะถัดไปก่อนหน้านั้น 1 ปี นั่นคือครั้งที่ฉันเห็นคลิปสัมภาษณ์ของอีริก ตัง จากวีโอเอภาคเขมร

และตอนนั้นที่ฉันเพิ่งตระหนักว่า มีชาวมากมายจำนวนนับหมื่นที่อพยพไปอาศัยในเขตบร็องซ์ของนิวยอร์ก

และพื้นที่แห่งนี้เองที่อีริก ตังเคยทำวิจัยเกี่ยวกับชาวเขมรอพยพในเขตชุมชนดังกล่าว

และทำให้เราประจักษ์แจ้งแก่ใจในข้อหนึ่งว่า บรรดาเขมรอพยพจากชมรมเขาอีด่างที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเริ่มต้นชีวิตในสหรัฐอเมริกา มันไม่ได้สวยงามดังที่เราจินตนาการนัก

ตรงกันข้าม ในหมู่มากและน้อยจำนวนนั้น ล้มเหลวต่อการปรับตัวอย่างสาหัส จนแทบจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานทางสังคมอย่างอเมริกันชนได้

โดยแม้จะถูกส่งไปปรับตัวชั่วคราวที่ค่ายผู้พักพิงในฟิลิปปินส์ก็ตาม แต่กลับพบว่า พวกเขาตกอยู่ในภาวะแห่งความทุกข์ยากของการปรับตัว

เนื่องจากชีวิตในฐานะพลเมืองผู้อพยพในเขตเมืองใหญ่นั้น หมายถึงกับดักแห่งการ “ตั้งถิ่นฐาน” ในฐานะพลเมืองหรืออะไรก็ตามที่สุดจะเรียกกัน

ไม่แต่เท่านั้น งานวิจัยเล่มนี้ของอีริก ตัง ยังทำให้ฉันอดที่จะจับโยงกรณีชาวเขมร-สหรัฐ (กึ่ง) พลเมืองบางคน ถูกทางการส่งตัวกลับประเทศต้นทาง (จากฐานความผิดใดๆ) กระนั้น กัมพูชาในฐานะถิ่นฐานประเทศต้นทางก็ไม่ยินดีจะต้อนรับคนกลุ่มนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว พวกเขาเองต่างหากที่รู้สึกแปลกแยกต่อมาตุภูมิของบรรพบุรุษแห่งนี้ที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก

ในความสัมพันธ์ทับซ้อนแบบนั้น คนกลุ่มนี้ ยังเผชิญกับภาวะความเป็น “คนนอก” ของสังคมทั้ง 2 ประเทศ

คือกรณีที่ไม่เป็นทั้ง “เขมร” และ “อเมริกัน” ไม่ว่าทั้งภาพลักษณ์ภายนอกของพวกเขาจะคล้ายกับชาวกัมพูชา แต่บุคลิกสำเนียงแบบอเมริกัน

แต่นั่นก็ไม่เท่ากับที่พวกเขาถูกทางการของทั้ง 2 ประเทศปฏิเสธสถานะความเป็นพลเมือง

นับเป็นชะตาบันดาลในความเป็นมนุษย์ผู้ไร้ถิ่นฐาน ไม่ว่าจะเกิดจากจุดอ่อนเปราะบางของตัวตนอย่างคนทั่วไป ทั้งหมดนี้ดูจะถูกโยงลงมาในครอบครัวกลุ่มผู้อพยพจากเขาอีด่างสู่เมืองใหญ่จนมาถึงเจเนอเรชั่นยุคนี้ ที่บางส่วนพวกเขากลายเป็นพลเมืองที่ถูกจำหน่ายและไม่พึงปรารถนา

อ่อนไหวกว่านั้นคือกรณีเขมรหนุ่มคนหนึ่งผู้ถือกำเนิดในเขาอีด่าง และนอกจากไม่อาจนับว่าเขาคือบุคคลสัญชาติต้นทางคือกัมพูชาแล้ว ในสิทธิที่เกิดในเขตประเทศไทยก็มิถูกนับไว้

เช่นเดียวกับสถานะความเป็นอเมริกันที่ถูกลอยแพไป จากการทำผิดกฎหมายบางอย่าง

และนี่คือกับดักชีวิตบางส่วนของชาวเขมรอพยพ ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวอันยากจะเข้าใจต่อความหมายที่ชาวอพยพเขาอีด่างส่วนหนึ่งที่ประสบ

และงานวิจัยของอีริก ตัง คือข้อเท็จจริงที่ช่วยขยายโลกอันมืดทึมและเต็มไปด้วยปัญหาชนกลุ่มน้อยเขมรในมหานครแห่งนี้ ที่ประสบชะตากรรมจนกลายเป็นปัญหาทางสังคม

ในชาวเขมรบางกลุ่ม-รุ่นต่อมาที่ถูกส่งตัวกลับประเทศต้นทาง

 

และว่า ทำไมการรื้อฟื้น เยียวยาผู้ลี้ภัยนั้น ซับซ้อนและใช้เวลายาวนาน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐาน

เช่นกรณีของนางรา ปรนห์ (หรือปรนห์, รา ตามแบบเขมร) ซึ่งตอกย้ำถึงการปรับตัวที่ลำบาก จากชีวิตเกษตรกร ชาวชนบทของกัมพูชา สู่ชนชั้นแรงงานในชุมชนแออัดของมหานครนิวยอร์ก ที่ไม่ต่างจากกับดักชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง

ปรนห์ รา เล่าว่า เธอไม่มีเวลาจะเล่าเรียนเพื่อเพิ่มพูนต้นทุนแก่ตนเอง โดยเลือกที่จะทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เพื่อสามี และลูกๆ จะได้ไปเล่าเรียน

ปรนห์ รา จึงไม่มีทักษะทางภาษาและอาชีพ สิ่งที่สตรีอพยพผู้นี้ทำเวลานั้นคือ การกำหนดไม่ให้ลูกๆ พูดภาษาอังกฤษในห้องพัก เนื่องจากเธอกลายเป็นส่วนขาด (ที่เกิน) ไปจากสังคมและสมาชิกครอบครัว

ชีวิตชุมชนชาวแขฺมร์-บร็องซ์ในราวปี 1986-1993 ในตัวอย่างของปรนห์ รา และพี่น้องตระกูลจี จึงมีแต่ความเหลื่อมล้ำทางอาชีพ สังคมและโอกาส อย่างที่บางครั้งก็กัดกร่อนจิตใจพวกเธอมากเลยทีเดียว

 

ถึงตอนนี้ เวลาที่ได้ยินคำว่านิวยอร์กที่ดูเหมือนจะศรีวิไลอะไรแบบนั้น ฉันแทบจะนึกไม่ออกว่า ในหมู่ผู้ลี้ภัยเขมรยุค 80 นั้น พวกเขาต้องเผชิญกับอะไรบ้าง

ดูจากปรนห์ รา ที่บัดนี้เธอกลายเป็นหญิงวัยปลายชรา คุณยายของหลานผู้พำนักในสหรัฐมาร่วม 32 ปี กระนั้น เธอก็ยังคงบุคลิกแบบสตรีเขมรคือสวมผ้าซิ่น (สมปด) เมื่อครั้งเป็นแขกรับเชิญงานเปิดตัวหนังสือของ ดร.อีริก ตัง แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสแห่งออสติน ซึ่งเธอนั่นเองที่เป็นกรณีศึกษา (https://youtu.be/rmOXEJe6btg)

นอกจากนี้ ในหมู่ตัวแทนชาวบร็องซ์เจเนอเรชั่นที่ 2 อย่างพี่น้องทั้ง 6 ตระกูลจี (Chy) ก็ด้วย พวกเธอคือลูกหลานของชาวเขมรอพยพรุ่นแรกที่ลิ้มลองความหมายของคำว่าพลเมืองชั้นสองในเขตชุมชนแออัด

ในบรรดาชะตากรรมแห่งความพยายาม “ตั้งรกราก” เหล่านี้ มีทั้งความแปลกแยกจากถิ่นฐานเก่าที่พวกเขาเคยอาศัย ซึ่งเด็กสาวตระกูลจีนั้น ต่างให้ความหมายของ “ความฝันแบบอเมริกันดรีม” ที่ไม่เคยมีอยู่จริงสำหรับเด็กผู้หญิงที่ขัดสน แร้นแค้น เกินกว่าที่ความเป็นเด็กในแบบสังคมอเมริกันอย่างเธอจะเข้าใจในเวลานั้น

โดยกว่าที่เขมรอพยพรุ่นพ่อแม่ของเธอจะตั้งตัวได้ พวกเขาต้องใช้เวลายาวนานเกินไป จนบางครั้งก็สูญเสียความเป็นครอบครัวจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีผลต่อคนรุ่นลูกต่อมา

มันคือชะตากรรมบางส่วนของความเป็น “คนนอก” ในแบบเขมรอพยพรุ่นที่หนึ่ง ยังส่งผลต่อมาในเยาวชนเขมรรุ่นที่ 2 ที่กลายเป็นพลเมืองสหรัฐ และบางส่วนเหล่านั้นที่กลายมาเป็น “คนนอก” ของสังคมอเมริกันไปแล้ว ต่อภาวะที่เกินจะเยียวยา

และสอดคล้องกับความจริงที่ว่า ทำไมชาวเขมรสหรัฐบางกลุ่มจึงกลายเป็นพลเมืองที่มีปัญหาทางสังคม

และผลร้ายแรงที่ตามมาก็คือ สิทธิของความเป็นพลเมืองที่พวกเขาถูกถอดถอน

แต่ปรนห์ รา และพี่น้องตระกูลจีก็เป็นตัวแทนเขมรที่แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นคือ ความผูกพันกันเป็นครอบครัวที่แน่นแฟ้น ความอดทนและการมองโลกในแบบชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือเอกลักษณ์ทางชนชาติของความเปื้อนยิ้ม

แม้ในยามยาก ความสามารถพิเศษหนึ่งของพวกเขาคือ การเล่าเรื่องขันขื่นให้กลายเป็นเรื่องตลกชวนหัว

 

เป็นคำตอบที่ว่า ทำไมปรนห์ รา จึงไม่ตัดพ้อต่อสภาพความเป็นอยู่ในชุมชนแออัดย่านบร็องซ์เลยแม้แต่น้อย

สำหรับราแล้ว การได้เห็นลูกๆ มีอาหารและสถานที่เล่าเรียน นั่นก็เพียงพอสำหรับการมีชีวิต ที่ไม่จำเป็นต้องมีความหมายอื่นใดให้ยุ่งยาก ผู้คนอาจรู้สึกว่าเธอประสบชะตากรรม แต่มันคือวิถีที่แปลกแยกต่างหากที่เธอเรียนรู้มันอย่างช้าๆ

แต่กระทั่งการปฏิเสธไปคลอดบุตรในโรงพยาบาล อันเป็นเหมือนฝันร้ายของสตรีชนบทกัมปูเจียผู้นี้

ดูเหมือนความยากไร้นั้นมิใช่ปัญหา แต่การปรับตัวแบบชาวตะวันตกต่างหากที่ทำให้เธอหวาดกลัว และมีชีวิตในเมืองแห่งนี้อย่างเชื่องช้า

เป็นคำตอบว่า ใช่ความทันสมัยของตะวันตกเท่านั้นที่สอดคล้องสมดุลต่อชาติพันธุ์จำนวนหนึ่งซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษา

และหนึ่งในนั้นก็คือ ชาวเขมรจำนวนหนึ่งจากเขาอีด่าง ซึ่งโลกปัจจุบันได้หลงลืมพวกเขาไปแล้ว