ไม่อยากประวัติศาสตร์ซ้ำรอย? “วีอาร์” ช่วยได้

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

แม้ว่าพี่ติ๊นา คริสติน่า อากีล่าร์ จะร้องเอาไว้ว่า “ประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำ ประวัติศาสตร์จะต้องเปลี่ยน” ในเพลงยอดฮิตที่ติดหูผู้ฟังมายาวนาน

แต่ความเป็นจริงก็คือ ประวัติศาสตร์มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นซ้ำอยู่เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน

เขาว่ากันว่าการป้องกันที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสงครามที่มนุษย์เข่นฆ่ากันเอง เพื่อให้เราได้เข้าใจว่าตอนนั้นมนุษยชาติเราเดินพลาดไปตรงไหน และล้อมคอกไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ผลการศึกษาที่ทำโดยช่องโทรทัศน์ HISTORY ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน มีแนวโน้มที่จะถูกคนในปัจจุบันลืมเลือนไปมากขึ้นเรื่อยๆ

จากการสอบถามผู้ใหญ่กว่า 2,000 คนพบว่า 53 เปอร์เซ็นต์ พอจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่สองอยู่บ้าง ในขณะที่คนอีกไม่น้อยหลงลืมหรือไม่เคยรู้ข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องบางอย่างเลย

เช่น นึกว่าเยอรมนีกับอังกฤษเป็นพวกเดียวกัน ไม่รู้ว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงคราม ไม่รู้ว่าเพิร์ล ฮาร์เบอร์ อยู่ในฮาวาย

และไม่สามารถระบุได้ว่าสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นและสิ้นสุดในปีไหน

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วความรู้เกี่ยวกับสงครามที่พอจะมีอยู่บ้างมักจะมาจากบทเรียนประวัติศาสตร์ในห้องเรียน

หรือการดูภาพยนตร์หรือสารคดีที่ฉายบนโทรทัศน์

เมื่อไม่รู้ ก็ย่อมไม่อิน และเมื่อไม่อิน ก็อาจจะนำไปสู่การไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่รู้ที่มาที่ไป

และไม่สามารถวิเคราะห์ได้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันแบบไหนบ้างที่อาจจะนำไปสู่การทำลายล้างขั้นสูงแบบนั้นได้อีก

 

สมัยก่อนการเรียนประวัติศาสตร์ทำได้เพียงแค่เรียนรู้บนหน้ากระดาษหนังสือ หรืออย่างมากก็เปิดภาพยนตร์สารคดี นำบางส่วนของภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาฉายผ่านจอทีวีและโปรเจ็กเตอร์ให้นักเรียนดูในห้อง

แต่เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าเหมือนทุกวันนี้ บทเรียนความเจ็บปวดในประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบสองมิติอีกต่อไป

เทคโนโลยีเสมือนจริง Virtual Reality หรือวีอาร์ สามารถจำลองเหตุการณ์ทั้งหมดให้เกิดขึ้นมาตรงหน้าได้อีกครั้ง

แม้จะเกิดไม่ทันยุคที่คนทำลายล้างกันเอง แต่การได้สัมผัสการจำลองเหตุการณ์นั้นแบบสามมิติรอบทิศทางก็อาจทำให้เข้าใจความรุนแรงของหายนะได้แจ่มชัดขึ้น

ฮิโรชิมา เป็นเมืองที่ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุดเมืองหนึ่งในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านมา 73 ปีแล้วนับตั้งแต่ระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐทำลายทุกอย่างในฮิโรชิมาราบเป็นหน้ากลอง

ทุกวันนี้ก็ยังเหลือเศษซากปรักหักพังและหลักฐานความเสียหายให้ดูอย่างเหลือเฟือในพิพิธภัณฑ์

แต่เด็กรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นกลับมีแนวโน้มที่จะไม่ใส่ใจเรียนรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จนกระทั่งเมื่อสองปีที่แล้ว เด็กนักเรียนมัธยมปลายกลุ่มหนึ่งจากโรงเรียนเทคนิคฟุคุยามะตัดสินใจลุกขึ้นมาจำลองเหตุการณ์ระเบิดนิวเคลียร์ฮิโรชิมา ในวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ให้กลับมาแจ่มชัดอีกครั้งในรูปแบบประสบการณ์เสมือน

ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถพาตัวเองย้อนกลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นได้

เพียงแค่สวมอุปกรณ์แสดงภาพเสมือนครอบศีรษะและดวงตาเอาไว้ ก็จะได้เห็นภาพตัวเองย้อนอดีตเดินไปตามแม่น้ำโมะโทะยะสุ

มองไปยังสองข้างทางที่เต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างและร้านรวงก่อนที่จะเกิดการทิ้งระเบิด

ผู้สวมใส่สามารถเดินเข้าไปในที่ทำการไปรษณีย์ เข้าไปในบริเวณโรงพยาบาลชิมะซึ่งในตอนนี้เหลือเพียงซากโครงสร้างที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่าอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ หรือ อะตอมิก บอมบ์ โดม

และเมื่อชื่นชมความสวยงามและอุดมสมบูรณ์ของเมืองแล้วก็จะได้เห็นภาพเปรียบเทียบว่าเมืองที่แสนสวยนั้นได้กลายสภาพเป็นนรกบนดินอย่างไรทันทีที่ระเบิดมรณะถูกหย่อนลง

เด็กนักเรียนกลุ่มนี้ชุบชีวิตฮิโรชิมากลับมาด้วยการใช้ภาพถ่ายเก่าๆ ไปรษณียบัตร และนำข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตเพื่อนำมาสร้างใหม่ด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิก

ซึ่งผู้รอดชีวิตที่ให้สัมภาษณ์จะเป็นคนทดลองดูภาพที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อบอกว่าแม่นยำแค่ไหน และเสริมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขาพอจำได้ให้สมจริงขึ้น

การได้กลับมาดูภาพเมืองฮิโรชิมาใหม่อีกครั้งก็ทำให้ผู้รอดชีวิตที่ตอนนี้อยู่ในวัยชรารู้สึกเหมือนได้ย้อนอดีตจริงๆ

ส่วนกลุ่มเด็กๆ ก็บอกว่าก่อนหน้าจะมาทำโปรเจ็กต์นี้ไม่เคยสนใจเรื่องนี้เลย

แต่พอได้มาเห็นด้วยตาตัวเองในรูปแบบที่สมจริงแล้วก็ทำให้เข้าใจว่ามันน่ากลัวแค่ไหน

และรู้สึกว่าควรจะส่งต่อให้คนอื่นๆ ได้มาสัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกันนี้เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้มันซ้ำรอยในอนาคต

อุปสรรคที่ทำให้เด็กๆ ในกลุ่มต้องมุมานะทำโปรเจ็กต์นี้กันอย่างรวดเร็วที่สุดก็คือผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฮิโรชิมาก็แก่ตัวลงทุกทีๆ ถ้าหากไม่รีบและปล่อยเวลาให้ผ่านพ้นไปนานกว่านี้ก็อาจจะไม่เหลือใครมาคอยบอกเล่าข้อมูลและไม่สามารถทำให้การจำลองสมบูรณ์แบบได้

 

ทั้งหมดนี้ทำให้เราได้เห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีวีอาร์มากขึ้น ซึ่งจะว่าไปนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการหยิบเอาเรื่องราวของฮิโรชิมาและนางาซากิมาจำลองให้เป็นประสบการณ์แบบเสมือนจริง เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการผลิตภาพยนตร์เรียลลิตี้เรื่อง The Day the World Changed ที่จำลองความน่าสยดสยองหลังเหตุระเบิดออกมาให้คนได้ลองชมกันแล้ว โดยทีมผู้ผลิตก็มีเจตนาแบบเดียวกันคือสร้างให้เกิดความกลัว เราทุกคนจะได้ช่วยกันป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้เกิดสงครามขึ้นอีกในอนาคต

วีอาร์ยังถูกนำมาใช้ในการทำให้เราได้ทดลองเป็นคนอื่นเพื่อที่จะได้เข้าใจหัวอกคนในสถานะต่างๆ มากขึ้น

อย่างเช่น การให้เราลองสวมวีอาร์เพื่อเห็นภาพในมุมมองของคนชราที่สายตาฝ้าฟาง เดินเหินงกๆ เงิ่นๆ พึ่งพาตัวเองมากไม่ได้ เพื่อกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกกลัวและเริ่มลงทุนเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณหรือให้หันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองให้มากขึ้นในตอนที่ยังอายุไม่เยอะ ให้คนผิวขาวลองสวมวีอาร์จำลองเหตุการณ์ว่าหากตัวเองเป็นคนผิวดำแล้วเดินไปในย่านที่มีอัตราการเหยียดสีผิวสูงๆ จะรู้สึกไม่ปลอดภัยในสวัสดิภาพของตัวเองแค่ไหน เพื่อจะได้เข้าใจถึงอันตรายของการเหยียดผิว ผลการทดลองส่วนใหญ่สรุปออกมาว่าการให้ลองสวมบทบาทเป็นคนอื่นดูบ้างนั้นช่วยให้เราเห็นอกเห็นใจคนอื่นในสังคมได้มากขึ้นจริงๆ

หากเราได้ลองสวมบทบาทของการเป็นผู้อพยพที่ถูกรังเกียจหยามเหยียดจากทุกทิศทุกทาง หรือลองเป็นคนพิการที่มุมมองและการเคลื่อนไหวทำได้อย่างจำกัดเพราะโครงสร้างของเมืองไม่เอื้ออำนวย เราก็จะเข้าใจ เห็นใจ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพื่อให้เป็นมิตร สะดวก ปลอดภัยกับคนในทุกกลุ่มทุกชนชั้นได้ในที่สุด

หากมีใครทำโครงการนี้ออกมาสำเร็จในที่สุด ก็อย่าลืมนะคะ เอาไปให้ผู้บริหารประเทศของเราได้ทดลองเล่นก่อนใครเลยค่ะ