เขาทำกันแบบนี้! ตีแผ่ปฏิกิริยาคนออสเตรเลีย กับ “สงครามถุงพลาสติก”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 140 “ออสซี่ประกาศสงครามถุงพลาสติก”

รัฐบาลออสเตรเลียเพิ่งเห็นผลร้ายจากขยะพลาสติกจึงได้ออกคำสั่งให้ร้านค้าต่างๆ เลิกใช้ถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use) ความหนา 35 ไมครอน เพราะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้

คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถ้าฝ่าฝืนจะถูกปรับ 6,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 140,000 บาท

ทุกรัฐของออสเตรเลียใช้คำสั่งดังกล่าวแล้ว ยกเว้นรัฐนิวเซาท์เวลล์ นักการเมืองไม่เห็นด้วย อ้างว่าเป็นเรื่องความรับผิดชอบของร้านซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ

ปรากฏว่ามาตรการเลิกใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวกลายเป็นเรื่องใหญ่โต เนื่องจากผู้บริโภคเกิดอาการไม่พอใจ ด่าทอพนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ต

ห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่ยกเลิกถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นรายแรกๆ ของออสเตรเลีย

ได้แก่ วูลเวิร์ธส์และโคลส์ เจอปัญหาลูกค้าโวยวายใส่พนักงาน

เหตุการณ์รุนแรงที่สุดเมื่อลูกค้ารายหนึ่งบีบคอแคชเชียร์เพราะไม่ยอมให้ถุงช้อป

ข่าวการทำร้ายพนักงานห้างบานปลาย

สหภาพแรงงานพนักงานห้างสรรพสินค้าของออสเตรเลียจัดทำผลสำรวจประสบการณ์ของพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายห้ามใช้ถุงพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ พบพนักงานในห้างทั่วประเทศ 57 คน จากกลุ่มตัวอย่าง 132 คน ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บ

ต่อมาสหภาพออกแถลงการณ์ประณามลูกค้าที่ใช้ความรุนแรงกับพนักงานร้าน

 

ผู้บริหารห้างวูลเวิร์ธส์แก้ปัญหาวุ่นวายจากมาตรการที่ว่าด้วยการขยายเวลาแจกถุงพลาสติกรีไซเคิลให้ฟรีจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม หลังจากนั้นลูกค้าต้องนำถุงใส่สินค้ามาเอง หรือซื้อถุงพลาสติกรีไซเคิลจากห้างในราคาใบละ 15 เซนต์ (3.50 บาท)

ทางผู้บริหารห้างโคลส์กลัวลูกค้าหนีเหมือนกัน พลิกเกมด้วยการแจกถุงพลาสติกใช้ซ้ำได้หลายครั้งเป็นชนิดหนาให้ฟรีๆ พร้อมกับอ้างเหตุผลว่า ทางห้างต้องการเวลาในการเปลี่ยนผ่านมาตรการเลิกใช้ถุงพลาสติกชนิดบางๆ

เกมธุรกิจของ “โคลส์” เจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่าเป็นการตัดสินใจที่เลวร้าย เพราะถุงพลาสติกชนิดบางๆ ใช้ครั้งเดียวกับชนิดหนาๆ มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน

ถุงชนิดหนา ถ้าทิ้งกระจายในทะเล การย่อยสลายใช้เวลานานมากทำลายระบบนิเวศน์มากกว่าด้วยซ้ำไป

 

สื่อยักษ์ใหญ่ในออสเตรเลีย อย่างเช่นสถานีโทรทัศน์เอบีซี ออกแคมเปญชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียในการเลือกใช้ถุงชนิดอื่นๆ แทนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

แคมเปญดังกล่าวระบุว่าถุงพลาสติกในออสเตรเลีย ย่อยสลายเองในธรรมชาติราว 1 เปอร์เซ็นต์

ฟังดูเหมือนเข้าท่า แต่ปัจจุบันชาวออสซี่ใช้ถุงพลาสติกวันละประมาณ 10 ล้านถุง นั่นหมายถึงว่า มีถุงพลาสติกย่อยสลายเองในธรรมชาติเพียง 100,000 ถุงเท่านั้น

ถุงพลาสติกที่ย่อยสลายเองในธรรมชาติหรือที่เรียกว่า degradable plastic bag มีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าถุงพลาสติกชนิดที่ย่อยสลายได้ยาก เพราะเมื่อทำปฏิกิริยากับแสงแดดและออกซิเจน พลาสติกจะแตกและร่อนเป็นเศษชิ้นส่วนเล็กๆ กระจายในสิ่งแวดล้อม

เมื่อฝนชะลงในแหล่งน้ำ บรรดาสัตว์น้ำจะกลืนกินเพราะคิดว่าเป็นเศษอาหารหรือแพลงตอน

ถ้าเลือกใช้ถุงพลาสติกประเภทย่อยสลายเอง ควรเลือกถุงประเภท biogerable ทำจากพืช เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง การย่อยสลายไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ยังมีข้อเปรียบเทียบพลังงานไฟฟ้าระหว่างการผลิตถุงพลาสติกใช้เพียงครั้งเดียวชนิดบางๆ (single use) กับถุงพลาสติกชนิดหนาใช้งานได้หลายๆ ครั้ง (heavy-duty) มีความแตกต่างกัน

ถุงใช้ครั้งเดียว 1,000 ถุง ใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิต 22 มิลลิจูล ส่วนถุงชนิดหนา 1,000 ถุง กินไฟ 117 มิลลิจูล

ถ้าเลือกใช้ถุงชนิดหนาต้องใช้ให้ได้หลายๆ ครั้งจึงจะคุ้มค่าและประหยัดพลังงานอย่างแท้จริง

 

สําหรับถุงผ้า เช่น ผ้าฝ้าย แคมเปญของเอบีซีมีคำอธิบายว่า เป็นถุงที่ทนทาน เมื่อเลอะเปื้อนก็นำไปซักล้างทำความสะอาดกลับมาใช้ใหม่ได้อีก และใช้ไปนานๆ จนถุงเปื่อย เอาไปทิ้งก็ย่อยสลายได้ง่ายไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

แต่ข้อเสียของถุงผ้าฝ้าย อยู่ที่กระบวนการได้มาของฝ้าย ซึ่งเกษตรกรปลูกต้นฝ้ายต้องใช้น้ำและพลังงานเป็นจำนวนมาก

ปลูกฝ้าย 1 ไร่ กว่าจะเก็บฝ้ายเอาไปปั่นเป็นเส้นใยต้องใช้น้ำ 1,280,000 ลิตร

เพราะฉะนั้น ถุงผ้าฝ้ายแต่ละใบ ต้องใช้ใส่สิ่งของให้ได้ 131 ครั้งขึ้นไปจึงจะถึงจุดคุ้มค่า

ส่วนถุงทำจากพืชเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ เช่น ถุงป่าน ถุงปอ ถุงผ้าไหม ฯลฯ การปลูกพืชเหล่านี้เพื่อให้ได้มาซึ่งเส้นใยต้องใช้น้ำ พลังงาน ยาฆ่าแมลง และฆ่าวัชพืชจำนวนมาก

ในทางกลับกัน การปลูกพืชเหล่านี้ช่วยลดภาวะโลกร้อน เพราะปลูกเพียง 6.25 ไร่ สามารถดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 15 ตัน

ข้อมูลนี้ สื่อ “เอบีซี” ต้องการให้ผู้บริโภคชาวออสซี่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ

 

ปิดท้ายมีรายงานล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE ระบุว่า ในการทดลองกับผลิตภัณฑ์พลาสติก เช่น ขวดน้ำ ถุงช้อปปิ้งและกล่องใส่อาหารจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีเทน และเอทิลีน เมื่อถูกแสงแดด และย่อยสลาย

“เดวิด คาร์ล” นักวิจัยอาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย กล่าวว่า พลาสติกเป็นแหล่งกำเนิดของก๊าซที่ทิ้งร่องรอยอยู่ในอากาศ ปัจจุบันนี้คาดว่ามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการผลิตพลาสติกเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ก๊าซเหล่านี้สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม

ก๊าซมีเทนทั้งที่เกิดจากมนุษย์และที่เกิดตามธรรมชาติ เป็นสาเหตุสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

หลอดดูดน้ำพลาสติกเป็นเป้าหมายล่าสุดของบรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแนวคิดว่าหลอดเหล่านี้ถูกนำไปใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง เนื่องจากไม่สามารถนำไปรีไซเคิล

กองทุนสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อว่า “พลาสติก โอเชี่ยน ฟาวน์เดชั่น” ระบุว่าแต่ละปีมีพลาสติกกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งปลายทางที่มหาสมุทร

 

ณวันนี้ชาวโลกยอมรับกันแล้วว่าขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่

มติสหประชาชาติเห็นชอบให้กำหนดแคมเปญ “เอาชนะมลพิษจากพลาสติก” ในวันสิ่งแวดล้อม 5 มิถุนายนที่ผ่านมา

แคมเปญหลัก 4 ข้อของสหประชาชาติ

1. ลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง

2. ปรับปรุงการจัดการขยะพลาสติก

3. ลดปริมาณไมโครพลาสติก

4. ร่วมกันวิจัย เพื่อหาวัสดุอื่นที่จะมาใช้ทดแทนพลาสติก

นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประเมินว่าถุงพลาสติกหรือพลาสติกชนิดครั้งเดียวทิ้งเกลื่อนราว 5 ล้านล้านชิ้นทั่วโลก

กระแสผลักดันให้รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการแบนถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว มีผลตอบรับจากประเทศต่างๆ มากกว่า 60 ประเทศ

เมื่อปีที่แล้วประเทศเคนยาใช้กฎหมายที่ห้ามการใช้ถุงพลาสติกเต็มรูปแบบ ทั้งจำหน่าย ผลิต หรือใช้ถุงพลาสติกที่เข้มข้นมาก

ใครฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับเงินสูงสุด 38,000 ดอลลาร์สหรัฐ (1,250,000 บาท) นับว่าเป็นบทลงโทษเพื่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่สุดในโลก

สหประชาชาติหวังว่าในปี 2565 รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกจะเลิกใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

สำหรับเมืองไทย มาตรการเลิกถุงพลาสติกยังซุกอยู่ในแฟ้ม รัฐบาลตั้งท่าเงอะๆ งะๆ ไม่กล้าเข็นออกมาบังคับใช้อย่างจริงๆ จังๆ กลัวเสียคะแนนนิยม (ที่เสียไปนานแล้ว)