เส้นทางสู่อำนาจ : วิถีแห่งรัฐประหาร “อวสานรัฐบาลควง”

มุกดา สุวรรณชาติ

รัฐประหารเงียบ จี้ควง อภัยวงศ์

จะเข้าใจต่อสถานการณ์รัฐประหาร “เงียบ” เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2491 ได้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อสถานการณ์การเผยแพร่คำขวัญของ พล.ท.พระยาเทพหัสดิน ณ อยุธยา และสถานการณ์การจัดตั้งพรรคธรรมาธิปัตย์ที่นำโดยหลวงวิจิตรวาทการ

ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้าการเคลื่อนไหว “คณะประชาธิปไตย” ในวันที่ 1 เมษายน มีการเคลื่อนไหวของใบปลิวที่ใช้ชื่อว่า “คณะทหาร”

เป็นเรื่องของคนละ “คณะ” แต่เป้าหมายเดียวกันคือชู จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ข้อสังเกตของ พล.ท.พระยาเทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ปรากฏผ่านคำขวัญ “คณะประชาธิปไตย” ก็คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนทั้งหมด 100 ท่านได้ลงมติสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึง 66 ท่าน จึงถือได้ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

“ได้สังเกตต่อไปว่า เสียงข้างมากที่สนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นปรากฏตามรายชื่อว่าเป็นสมาชิกภาคอีสาน 29 นาย ในจำนวนเต็ม 33”

เป้าหมายอันเป็นแก่นแกนของ “คณะประชาธิปไตย” คือ

“เพื่อสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดกาล ย่อมมีความประสงค์ดีที่จะให้รัฐบาลมีความมั่นคง เพราะความมั่นคงของรัฐบาลนั้นคือสันติสุขของทั้งชาติ ข้าพเจ้ารับรองความเห็นนี้”

เป็นการรับรองบนพื้นฐานต้องการให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น “นายกรัฐมนตรี”

 

6 เมษายน วันจักรี
กับควง อภัยวงศ์

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม อ้างข้อเขียนของ “เกียรติ” ในตอนว่าด้วย “จี้นายกรัฐมนตรี” ของหนังสือ “นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์” ตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2522

เช้าวันนั้นเป็นวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491 คือวันที่ระลึกจักรี

เมื่อตื่นนอนและพบกับหมอนวด นายควง อภัยวงศ์ กำลังสำราญอยู่ด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ประจำวันอยู่ที่บ้านพัก ขณะนั้นธงชาติเพิ่งขึ้นสู่ยอดเสาใหม่ เสียงรถยนต์แล่นเข้ามาจอดหน้าตึก บุคคลที่ก้าวลงจากรถเรียงตามลำดับ เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่แต่งเครื่องแบบเต็มยศราวกับเพิ่งกลับจากเข้าเฝ้าฯ

คนแรกเป็นนายทหารชั้นอาวุโสสูง พ.ท.ก้าน จำนงภูมิเวท บุรุษ “ถุงมือดำ” ถัดมา พล.ต.สวัสดิ์ สวัสดิรณชัย สวัสดิเกียรติ และอีกคนหนึ่งคือ พ.อ.ขุนศิลปะศรชัย คนสุดท้ายคือ พ.ท.ละม้าย อุทยานานนท์

เมื่อลงจากรถก็ถามหานายควง อ้างว่ามีธุระร้อนจะมาพบ

และก็เป็นที่น่าสงสัยเพราะเครื่องแบบเต็มยศที่แต่งกันยังแถมมีปืนยูเอส อาร์มมี่ ติดมาด้วย ทุกคนเดินเรียงแถวเข้าสู่ห้องรับแขก นั่งสูบบุหรี่ จิบน้ำเย็นรอ

สักครู่นายควง อภัยวงศ์ ก็ออกมาด้วยการแต่งกายลำลองแบบอยู่กับบ้าน กางเกงแพรแดง เสื้อผ้าป่านชั้นในคอกลม นายควงถามถึงธุระราชการอย่างกันเองเป็นทำนองว่ามีเรื่องอะไรจึงได้พากันมาแต่เช้า คนหนึ่งในจำนวนที่มากล่าวตอบว่า

“กระผมมาในนามของคณะรัฐประหารเพื่อแจ้งแก่ท่านนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาตัวเองในการกราบถวายบังคมลาออก”

ครึ่งตื่นเต้นและครึ่งขบขัน นายควงอ้าปากค้างด้วยความประหลาดใจ

ก่อนที่นายควงจะถามว่าจะทำประการใดก็มีเสียงสอดขัดจังหวะขึ้นมาอีก “คณะรัฐประหารของเราได้ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า คณะรัฐบาลของท่านไม่สามารถจะแก้ไขภาวการณ์ของบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าครองชีพซึ่งลดลงไม่ทันใจ”

“ก็ผมเพิ่งมีเวลาทำงานเดือนเดียว ทำกันอย่างหามรุ่งหามค่ำ หัวหูแทบพัง” นายควงต่อรอง

“แต่คุณหลวงต้องพิจารณาตัวเอง เพราะเป็นเรื่องที่เราได้ตกลงกันมาแล้ว และพวกผมก็ได้รับคำสั่งให้มาแจ้งแก่ท่านนายกฯ เพียงเท่านี้ ต่อจากนั้นไปก็ขอคำตอบใน 24 ชั่วโมงนี้ด้วย”

นายควง อภัยวงศ์ เกาหัวด้วยความพิศวงงงงวย แล้วแข็งใจพูดว่า

“ผมอยากได้รับการยืนยันจาก พล.ท.ผิน กับหลวงกาจอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะเอากันอย่างไร”

แต่ยังไม่ทันจะพูดอะไรต่อก็พอดีคณะทหารที่มา “จี้” ทั้ง 4 ก็ออกปากลากลับอย่างเป็นปกติ นายทหารทั้ง 4 ได้ทำหน้าที่ทางการทูตของคณะรัฐประหารเรียบร้อยแล้ว

ปรากฏว่านายควง อภัยวงศ์ ยังไม่เชื่อว่าเป็นความจริง

 

“เกียรติ” สละ ลิขิตกุล
ควง อภัยวงศ์ สงสัย

นายควงเชื่อว่านายทหารทั้ง 4 คนนี้เป็นนายทหารคณะรัฐประหารเด็กๆ อาจจะวู่วามไปด้วยอารมณ์หรือฤทธิ์สุราตกค้าง นายควงรำลึกถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และ พล.ท.หลวงกาจสงคราม

เพราะเชื่อว่าบุคคลทั้ง 3 เป็นผู้หลักผู้ใหญ่พอ คงจะไม่ทำเช่นนั้นได้

ความหวังของการเป็นรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ อยู่ที่คนทั้ง 3 เพราะการที่จะต้องลาออกนั้นย่อมไม่เป็นของแปลก แต่การลาออกจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ด้วยการหลอกให้หลงหรือ “จี้” กันง่ายๆ เช่นนี้

ตลอดเวลาที่ผ่านไปตั้งแต่ 08.00 น. ถึงบ่าย นายควงรีบโทรศัพท์ติดต่อไปยังรัฐมนตรีของตนเท่าที่จะติดต่อได้ และได้เริ่มประชุมกัน ณ ที่บ้าน

การประชุม ครม.เป็นพิเศษเริ่มด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมกับหารือว่าควรจะทำอย่างไร

ความเห็นส่วนมากในที่ประชุมคือ ขอให้คณะรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวชุดนี้ได้รับการยืนยันแน่นอนจากหัวหน้าคณะรัฐประหารหรือผู้บังคับบัญชานายทหารทั้ง 4 นี้เสียก่อน การส่งผู้แทนไปเจรจานั้นส่วนมากเห็นว่าไม่สมควร จึงเลือกเขียนเป็นจดหมายถามความจริงไปยังคณะรัฐประหาร

สอบถามว่าคณะรัฐประหารมีความประสงค์จะให้รัฐบาลออกจากตำแหน่ง หรือให้ปฏิบัติอย่างใด

การที่ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม นำข้อเขียนของ “เกียรติ” มาอ้างอิง

ไม่เพียงแต่รับรู้ว่า “เกียรติ” เป็นนามปากกาของนายสละ ลิขิตกุล ซึ่งไม่เพียงแต่มีความสนิทสนมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อย่างเป็นพิเศษ หากแต่ยังมีความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์และนายควง อภัยวงศ์ มาอย่างยาวนาน

ขณะเดียวกันก็เท่ากับรับรองในความครบถ้วนของ “ข้อมูล”

 

ผิน ชุณหะวัณ
รับรอง เรื่องจริง

เวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 6 เมษายน ก็มีรถยนต์แล่นเข้ามายังบ้านนายควง อภัยวงศ์ เมื่อรถจอดสนิท บุคคลที่ก้าวลงจากรถคือหัวหน้าคณะรัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ และ พล.ท.หลวงกาจสงคราม รองหัวหน้า

ทั้งสองเดินหน้าบอกบุญไม่รับขึ้นไปบนตึก และตรงไปยังห้องรับแขก

พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เป็นผู้กล่าวแสดงความเสียใจต่อนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ตนเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

โดยกล่าวเป็นเชิงว่า คณะนายทหารไม่พอใจรัฐบาลนี้เพราะปฏิบัติราชการในด้านลดค่าครองชีพชักช้า ตลอดจนควบคุมสถานการณ์ทางทหารยังไม่มั่นคงพอ จึงมีความเสียใจที่จะต้องขอให้คณะรัฐบาลนี้พิจารณาตัวเอง การที่นายทหารทั้ง 4 คนมาแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นการถูกต้องแล้ว

“ขอยืนยันว่าเป็นความจริง และหวังว่าท่านคงจะให้ความร่วมมือในการจัดรัฐบาลผสมขึ้นต่อไป หรืออย่างน้อยที่สุดก็คงให้การสนับสนุนต่อรัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้น

ได้ฟังดังนั้น นายควง อภัยวงศ์ ชี้แจงว่า

“ผมจะต้องประชุม ครม.เสียก่อนเพราะเป็นระเบียบที่จะต้องปฏิบัติเช่นนั้น แต่ก็เชื่อว่าเหตุการณ์จะเป็นไปด้วยดีทุกประการ”

เมื่อนำข้อมูลจาก “เกียรติ” เทียบกับ “ชีวิตกับเหตุการณ์ของจอมพลผิน ชุณหะวัณ” ก็จะเห็น

ครั้นรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ บริหารราชการแผ่นดินไปได้ 5 เดือนเศษ คณะรัฐประหารได้ประชุมกันพิจารณาว่ากิจการต่างๆ ไม่ก้าวหน้า ข้าราชการพลเรือนขาดวินัย ไปทำงานตามกระทรวง มีแต่สวมเสื้อเชิ้ตและกางเกงตัวเดียว

ตลอดจนผู้แทนราษฎรบางคนนุ่งกางเกงขายาวและสวมเสื้อเชิ้ตปล่อยชายเสื้ออยู่ข้างนอกกางเกงเข้านั่งประชุมในสภาผู้แทนราษฎร

คณะรัฐประหารจึงขอร้องให้นายควง อภัยวงศ์ ออกจากนายกรัฐมนตรี

นับว่านายควง อภัยวงศ์ มีใจเป็นนักกีฬาและมีมารยาทดีมาก ได้ถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐประหารจึงเสนอให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งมีคณะรัฐประหารชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีด้วยหลายนาย

ทุกอย่างจึงเป็นไปตาม “แผน” ของคณะรัฐประหารทุกประการ

 

ควง อภัยวงศ์ ไป
ป. พิบูลสงคราม มา

วิทยานิพนธ์ของนายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปรับปรุงมาเป็นหนังสือ “แผนชิงชาติไทย” เมื่อเดือนเมษายน 2534

สรุปความตอนหนึ่งว่า

อันที่จริงคณะรัฐประหารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ น่าจะมีแผนการเดิมอยู่แล้วที่จะผลักดันให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นทำการแก้ตัวดังที่ได้กล่าวต่อหน้าคณะทหารเมื่อเช้าวันที่ 9 พฤศจิกายน 2490 เมื่อเชิญตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาถึงกระทรวงกลาโหมว่า

“พวกเราทั้งหลายทำรัฐประหารในครั้งนี้เพื่อเชิญท่านจอมพลกลับเข้ามาบริหารประเทศอีก เพื่อช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนทั้งหลายซึ่งได้รับความเดือดร้อนเลือดตาแทบกระเด็นอยู่ในขณะนี้ และเพื่อท่านจอมพลจะได้มีโอกาสในการบริหารประเทศเป็นการแก้ตัว”

ด้วยเหตุนี้การขึ้นบริหารประเทศของนายควง อภัยวงศ์และพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่น่าจะเป็นเป้าหมายอันแท้จริงของคณะรัฐประหาร หากแต่เป็นเพราะความจำเป็น

จากเดือนพฤศจิกายน 2490 ถึงเดือนเมษายน 2491 คณะรัฐประหารจึงมาทวงคืน

หนังสือ “รัฐสภาไทยในรอบ 42 ปี” ของนายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ต่อจากสถานการณ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2491 ว่า

วันที่ 8 เมษายน คณะรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่าเนื่องจากคณะรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ได้บังคับให้ลาออกจากตำแหน่งภายในเวลา 24 ชั่วโมง จึงจำเป็นต้องกราบถวายบังคมลาออก

ในการนี้เลขาธิการสภาได้บันทึกการติดต่อกับเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอต่อประธานสภาว่าด้วยเมื่อคืนวันที่ 7 เมษายน 2491 เวลา 20.30 น. ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากเจ้าหน้าที่โดยคำสั่งของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้ทราบว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. ในวันเดียวกันนี้ พ.ต.ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้ยื่นหนังสือกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อคณะอภิรัฐมนตรีในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และคณะอภิรัฐมนตรีได้รับใบลาไว้แล้ว แต่หากว่าในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังมิได้มีบัญชาประการใด

วันเดียวกันนี้ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้แจ้งมายังประธานรัฐสภาว่า

พ.ต.ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกโดยแจ้งว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้เป็นปกติได้ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงปรึกษากันเห็นว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

และก็ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนคณะรัฐประหาร เป็นอันเรียบร้อยโรงเรียนจอมพล ป. พิบูลสงคราม