ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : สื่อกับรัฐบาลเผด็จการ ทรรศนะและจุดยืน ‘สุทธิชัย หยุ่น’

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สื่อกับรัฐบาลเผด็จการ : สองทรรศนะศิโรตม์/สุทธิชัย

ใครๆ ก็รู้ว่ารัฐบาลนี้คุมสื่อตั้งแต่วินาทีแรกที่ยึดอำนาจรัฐจากปวงชนชาวไทย

เพราะตั้งแต่กองทัพได้มาซึ่งอำนาจการเมือง คำสั่งให้เจ้าของสื่อและบรรณาธิการรายงานตัวกับผู้รัฐประหารก็เกิดขึ้น

สื่อถูกบังคับให้ถ่ายทอดรายการของคณะผู้ยึดอำนาจทุกวัน

และที่สุดก็มีการปิดสื่อและกำกับสื่อด้วยวิธีต่างๆ จนปัจจุบัน

ตรงข้ามกับความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลไหนก็คุมสื่อเหมือนกัน หลังจากเผด็จการทหารใช้โซ่ล่ามแท่นพิมพ์จนสื่อพิมพ์หนังสือไม่ได้เมื่อหลายสิบปีก่อน พฤติกรรมแบบนี้แทบไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหารปี 2549 ขณะที่ยุค คสช. มีการสั่งปิดโทรทัศน์และแบนผู้จัดจนไม่มีทางที่สื่อจะทำงานได้เสรี

ล่าสุด คำสั่งให้สื่อทำความเคารพคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพก็เป็นใบเสร็จของวิธีที่รัฐ คสช. ปฏิบัติกับสื่อยุคนี้อีกครั้ง ถึงแม้สังคมจะวิจารณ์เรื่องนี้รุนแรงจนคุณประยุทธ์สั่งทบทวนไปแล้วก็ตาม

แม้พลโทผู้ทำหน้าที่โฆษกรัฐบาลกับอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์จะชี้แจงว่าคำสั่งมีตั้งแต่ปี 2558 คำอธิบายนี้ก็เป็นการเบี่ยงประเด็นเรื่องคำสั่งที่ไม่เหมาะสมเป็นปีที่คำสั่งเกิด ยิ่งกว่านั้นคือ นักข่าวภาคสนามรายงานว่าเจ้าหน้าที่สั่งให้สื่อลงชื่อว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งนี้จริงๆ ก่อนเรื่องนี้จะถูกเปิดเผยจนอื้อฉาวในช่วงที่ผ่านมา

ภายใต้การใส่เชิงอรรถหยุมหยิมจากรัฐบาลประเภทใครแฉคำสั่งนี้, คุณประยุทธ์ถูก “วางยา” หรือตำรวจไม่ได้ใช้คำสั่งนี้เคร่งครัด คำสั่งและการทบทวนคำสั่งนี้ชี้ว่ารัฐบาลทหารมองตัวเองเป็นผู้คุมสื่อเหมือนคุมคนทุกกลุ่มในประเทศหลังปี 2557 ส่วนจะคุมกลุ่มไหนหนักเบาก็สุดแท้แต่ว่าใครเป็นพวกในแต่ละกรณี

ในอดีตนั้นคนทำสื่อชอบใช้คำว่า “ปิดหูปิดตา” เพื่อเป็นอุปลักษณ์ที่รัฐบาลส่งคนไปคุมสื่อโดยตรงเพื่อครอบงำข่าวสารอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ที่จริงการ “ปิดหูปิดตา” ไม่จำเป็นต้องมีกระบอกปืนขู่สื่อก็ได้ เพราะการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวก็ทำให้สื่อเซ็นเซอร์ตัวเองโดยทำข่าวในขอบเขตที่รัฐอนุญาตได้เหมือนกัน

ขณะที่รัฐบาลทหารสัมพันธ์กับสื่อแบบนี้ คำถามที่สื่อต้องคิดคือจะวางตัวกับรัฐบาลทหารอย่างไร

น่าเสียดายที่บรรยากาศตอนนี้ทำให้สื่อตอบคำถามนี้อย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ เมื่อเทียบกับ “โซเชียล” ที่ตั้งตัวเองเป็นสื่อแล้วโจมตีว่าสื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ล้วน “ไม่ได้เรื่อง” ถึงขั้นที่ระบุว่าคนทำสื่อซึ่งแม้แต่รัฐยังยอมรับอย่างคุณสุทธิชัย หยุ่นนั้น “ไร้ราคา” และเสนอต่อไปว่ารัฐควรควบคุมสื่อให้หมดไปเลย

ในบทความเรื่อง “วาทกรรมใหม่ยุคโซเชียลไล่ล่าสื่อ” ผมตั้งข้อสังเกตว่าความเห็นของ “โซเชียล” ซึ่งไปไกลจนใช้คำว่า “สุทธิชัยไร้ราคา” เป็นดัชนีของการเรียกร้องให้รัฐคุมสื่อที่ผิดปกติ เพราะเป็นการพูดแบบนี้ถึงสื่อที่ได้ “ความยอมรับจากรัฐ” และมี “พลังของเครือข่าย” จนไม่มีวันได้ยินคำพูดนี้จากสื่อด้วยกัน

อย่างไรก็ดี คำว่า “ความยอมรับจากรัฐ” และ “พลังของเครือข่าย” อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าคุณสุทธิชัยเป็นสื่อที่มีพฤติกรรม “รับใช้ผู้มีอำนาจ” จนคุณสุทธิชัยเขียนจดหมายความยาว 6 หน้ากระดาษ เพื่ออธิบายเรื่องนี้พร้อมกับแสดงมุมมองเรื่องสื่อ, บทบาทของสื่อ และการทำสื่อในสถานการณ์ปัจจุบันที่น่าสนใจ

แน่นอนว่านิตยสารมีพื้นที่จำกัดจนลงจดหมายทั้งหมดไม่ได้ ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านได้จากเว็บมติชนออนไลน์ต่อไป แต่เฉพาะในประเด็น “ความยอมรับ” และ “พลังของเครือข่าย” ซึ่งพูดถึงการทำรายการทีวีในช่องที่รัฐเกี่ยวข้องสองช่อง รวมทั้งถูกรัฐแต่งตั้งเป็นกรรมการปฏิรูปสื่อ

คุณสุทธิชัยชี้แจงไว้แบบนี้ครับ

อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับเต็มจากสุทธิชัย หยุ่น

ในส่วนของการถูกรัฐบาลแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อ คุณสุทธิชัยระบุไว้แบบนี้ครับ

“การที่ผมยอมรับเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับ “ทหาร” หรือ “พลเรือน” เป็นคนแต่งตั้งแต่อย่างใด”

หากแต่เป็นการตัดสินใจเข้าไปพร้อมกับสื่อมวลชนอีกหลายท่านนั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีความพยายามต่อเนื่องที่จะออกกฎหมายเพื่อลิดรอนเสรีภาพของสื่อในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการให้คนทำสื่อต้อง “ขึ้นทะเบียน” อย่างที่เคยมีการเสนอมาก่อนหน้านี้

ในกรณีนี้ สิ่งที่พวกเราที่เป็นสื่อตัดสินใจเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการเพื่อจะสกัดความพยามของ “นายทหาร” บางคนที่จะออกมาตรการควบคุมสื่อนี่แหละครับ เราไม่สนใจว่าทหารจะคิดอย่างไร เราต้องการเพียงปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานการแสดงออกของประชาชนที่ไม่มีรัฐบาลไหนมีสิทธิจะมาละเมิดได้

ขอเรียนให้อาจารย์ทราบว่าก่อนหน้านี้ผมปฏิเสธทุกข้อเสนอและการทาบทามให้เข้าไปมีบทบาทที่เกี่ยวกับรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหาร หรือตำแหน่งแห่งหนที่โยงกับด้านนิติบัญญัติหรือบริหารใดๆ เพราะผมต้องการรักษาความเป็นอิสระในฐานะคนข่าวอาชีพที่จะวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปของบ้านเมืองโดยไม่มีกรณีการทับซ้อนแห่งผลประโยชน์ใดๆ”

สําหรับการเข้าไปทำรายการในสองสถานีโทรทัศน์ที่รัฐเกี่ยวข้อง คุณสุทธิชัยให้ข้อมูลไว้ว่า

“การเข้าไปทำรายการในสองช่องของผมไม่ใช่เรื่องใหม่ ผมเคยริเริ่มรายการกับช่องแรกเพื่อสร้างประชาธิปไตยด้วยการเชิญผู้สมัครรับเลือกตั้งมาตอบคำถามสดๆ จากผู้ชม ตระเวนสัญจรไปทั่วประเทศเพื่อเปิดศักราชแห่งการทำทีวีที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและรายงานสดวันเลือกตั้ง ทำ Exit Poll เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การรายงานข่าว…ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวว่าใครเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น

รายการใหม่ของผมกับอีกช่องก็เกิดจากการพูดคุยกันอย่างมืออาชีพขของผู้บริหารกับผมที่ต้องการสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ตรงกับเจตนารมณ์ของทีวีสื่อสาธารณะ เช่น Thailand Live คือการไปฟังเสียงประชาชนในชนบท เพราะเราเชื่อตรงกันว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ทำทั้งผ่าน FB Live และทีวีและทำกิจกรรมบนภาคพื้นดินร่วมกับเจ้าของพื้นที่

อีกรายการมาจากความเห็นพ้องกันระหว่างผู้บริหารของสถานีกับผมว่า ถ้าผมสัมภาษณ์คนไทยและต่างประเทศที่มีวิสัยทัศน์สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ก็น่าจะกระตุ้นให้คนไทยได้ตื่นตัวว่าจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับโลกสมัยใหม่

อย่างนี้ถือว่า “รับใช้ผู้มีอำนาจ” ไหมครับ?”

อ่านจดหมายเปิดผนึกฉบับเต็มจากสุทธิชัย หยุ่น

ต่อกรณีที่คุณสุทธิชัยสัมภาษณ์ทีมหมูป่าแล้วได้รับปฏิกิริยาจาก “โซเชียล” อย่างเผ็ดร้อนถึงขั้นเกิดคำวิจารณ์ว่า “สุทธิชัยไร้ราคา” นั้น คุณสุทธิชัยเล่าเบื้องหลังของคำถามทั้งหมดไว้แบบนี้ครับ

“เรื่องผมสัมภาษณ์ “หมูป่า” ที่มีคำวิพากษ์วิจารณ์ใน “โซเชียลมีเดีย” นั้น ผมน้อมรับคำติชมตามปกติวิสัยอยู่แล้วครับ ไม่มีปัญหาแต่ประการใด

ผมเพียงแต่จะเรียนให้อาจารย์ทราบว่า ก่อนการขึ้นเวทีนั้น ผมได้พบกับหมูป่า, คณะแพทย์, นักจิตวิทยาและผู้เกี่ยวข้อง ได้มีการซักซ้อมคำถามคำตอบกันเป็นที่ชัดเจนของทุกฝ่ายว่าเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิส่วนตัวของเยาวชนและครอบครัว ขณะเดียวกันก็ตอบสนองความต้องการข่าวสารของสังคม โดยพยายามรักษาเส้นของความพอดีให้กับทุกฝ่าย

ความพอดีอยู่ตรงไหนก็เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะพิจารณา ผมพยายามทำหน้าที่สื่อให้ดีที่สุดเท่านั้น

ผมเพียงอยากจะเรียนอาจารย์ว่า เมื่อผมสนทนากับหมูป่าทั้ง 13 คนแล้วเขามีความกระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องจริงของพวกเขา และต้องการให้ปฏิบัติต่อพวกเขาตามปกติจริงๆ ครับ”

นอกจากการให้ข้อมูลเพื่อให้ผู้อ่านตระหนักว่าประเด็น “ความยอมรับจากรัฐ” ที่ผมพูดถึงในบทความในมติชนสุดสัปดาห์วันที่ 27 กรกฎาคม ไม่ใช่ “การรับใช้ผู้มีอำนาจรัฐ” อย่างที่อาจมีผู้เข้าใจผิด คุณสุทธิชัยยังเสนอต่อไปว่า ประสบการณ์กว่าสี่สิบปีบอกคุณสุทธิชัยว่ารัฐบาลไหนก็มีพฤติกรรมให้สื่อสู้ไม่ต่างกัน

ตรงข้ามกับบทความของผมในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับดังกล่าว หรือแม้แต่ความเห็นต่อคำสั่งให้สื่อทำความเคารพคุณประยุทธ์ ว่าเป็นหลักฐานของการคุมสื่อโดยสร้าง “บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว” จนสื่อยุคนี้ทำงานได้เสรีเฉพาะในกรอบที่รัฐอนุญาตจนเท่ากับต้องเซ็นเซอร์ตัวเองตลอดเวลา คุณสุทธิชัยเห็นว่า

“การทำหน้าที่เป็นคนข่าวของผมได้ผ่านการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทั้งในรูปแบบทหารและพลเรือน ทั้งที่มาจากรัฐประหารและที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมจากการต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ เหล่านั้นด้วยตนเองมายาวนาน

ผมเคยถูกทั้งนายทหารที่ทำรัฐประหารและผู้นำพลเรือนจากการเลือกตั้ง นับตั้งแต่ยุคถนอม-ประภาสจนถึงการเมืองยุคนี้กดดันกลั่นแกล้งคุกคาม เพราะการทำหน้าที่ในฐานะคนข่าวอาชีพ แต่ก็ฟันฝ่าอุปสรรคมาตลอด ด้วยความเชื่อมั่นว่าหน้าที่ของเราคือการพยายามทำความจริงให้ประจักษ์ โดยไม่เคยวิ่งเต้นเข้าหาใคร ไม่เคยพยายามหาเส้นสายเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีตำแหน่งอันใด

จุดยืนของผมในเรื่องนี้ผมถือเป็นหลักการที่ต่อรองไม่ได้ และไม่ว่าการเมืองจะเปลี่ยนอย่างไร ใครจะมีอำนาจปกครองบ้านเมืองอย่างไร ผมก็ไม่เคยอยู่ในฐานะที่ต้องทำในสิ่งที่ผิดไปจากจรรยาบรรณแห่งสื่อ”

คุณสุทธิชัยพูดถูกที่วิจารณ์คนทำสื่อซึ่งวิ่งเต้นเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ เพราะหวังสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจจนน่ารังเกียจในปyจจุบัน เพราะ “หลักสูตร” ลักษณะนี้ขนสื่อไป “ดูงาน” ในต่างประเทศและด้วยงบประมาณจากภาษีหลายแสนต่อหัว ทั้งที่ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าสาธารณะได้ประโยชน์เท่าสื่อที่ได้ “เส้นสาย”

และเจ้าของหลักสูตรหรือสปอนเซอร์ที่ได้ความเกรงใจจากสื่อเป็นการตอบแทน

อย่างไรก็ดี การเปรียบเทียบเผด็จการทหารกับรัฐบาลจากการเลือกตั้งในประเด็น “ควบคุมสื่อ” เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการรายละเอียดในการพูดคุยอีกเยอะ

ตัวอย่างง่ายๆ รูปธรรมของการ “ควบคุม” ในแต่ละยุคคืออะไร, ทุกรัฐบาลสั่งสื่อไปรายงานตัวหรือไม่, สื่อเคยถูกบังคับให้ถ่ายทอดรายการของผู้มีอำนาจทุกวันแบบยุค คสช. หรือเปล่า, หนังสือพิมพ์ในอดีตมีแต่แหล่งข่าวฝ่ายรัฐอย่างยุคนี้หรือไม่ หรือมียุคไหนที่สถานีโทรทัศน์ถูกปิดเพียงเพราะวิจารณ์รัฐบาล?

แน่นอนว่าคนทำสื่อแต่ละคนในแต่ละยุคสมัยมี “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับการคุกคามของรัฐไม่เหมือนกัน แต่ศีลของคนทำสื่อคือข้อมูลข่าวสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ระบอบที่ละเมิดสิทธิในการรับรู้ข่าวสารจึงเป็นอวิชชาที่วิชาชีพสื่อมวลชนเสมอไม่พึงข้องแวะแม้แต่นิดเดียว

ไม่มียุคไหนที่อุดมคติและจริยวัตรของคนทำสื่อถูกท้าทายเท่ากับภยันตรายจากอำนาจรัฐที่ได้มาด้วยกระบอกปืนอย่างปัจจุบัน