คนมองหนัง “App War” : รสชาติใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมหนังไทย

คนมองหนัง

“ยรรยง คุรุอังกูร” อาจยังไม่ถือเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แถวหน้า-ชั้นครีม ของวงการหนังไทยร่วมสมัย

แต่หากพิจารณาผลงานหนังยาวทั้งสองเรื่องของเขาคือ “2538 อัลเทอร์มาจีบ” (2558) และ “App War” (2561) ก็ต้องยอมรับว่ายรรยงเป็นคนเล่าเรื่องสนุก และสามารถคัดเลือกกลุ่มตัวละครที่มีประสบการณ์-ปัญหาชีวิตน่าสนใจมานำเสนอได้อยู่เสมอ

จากเรื่องราวของพ่อ-แม่ที่ได้ย้อนรำลึกความสุข-ความผิดพลาดในช่วงชีวิตวัยรุ่นของตนเอง ท่ามกลางเสียงเพลงยุคอัลเทอร์เนทีฟครองเมือง ปลายทศวรรษ 2530

มาถึงความสัมพันธ์สองหน้า ระหว่างหนุ่ม-สาววัยเริ่มต้นทำงานสองคน/กลุ่ม ที่หวังจะประสบความสำเร็จในธุรกิจไอที สตาร์ตอัพ ต้นทศวรรษ 2561

“App War” บอกเล่าเรื่องราวของหนุ่มสาวคนชั้นกลางสองกลุ่ม (ฐานะดีไม่ลำบากยากแค้นอะไรนัก) ที่พยายามไขว่คว้าหาโอกาสในธุรกิจไอที สตาร์ตอัพ ผ่านการสร้างแอพพลิเคชั่น

กลุ่มแรกนำโดย “บอมบ์” หนุ่มโปรแกรมเมอร์มากความสามารถ กลุ่มหลังนำโดย “จูน” สาวนักการตลาด ที่ได้เงินลงทุนก้อนแรกมาจากครอบครัว

“บอมบ์” และ “จูน” มีโอกาสเจอหน้ากันตามงานประกวดแข่งขันโปรเจ็กต์สตาร์ตอัพ คืนหนึ่งทั้งคู่มีโอกาสพูดคุยและแวะกินข้าวด้วยกัน กระทั่งต่างคนต่างเกิดไอเดียว่า คงจะดีนะ หากมีใครสร้างแอพพลิเคชั่นซึ่งช่วยดึงดูดคนที่ไม่รู้จักกัน ให้มาร่วมทำกิจกรรมบางอย่าง อันเกิดจากความสนใจที่ต้องตรงกันของพวกเขา

หลายเดือนผ่านไป จึงเกิดแอพพลิเคชั่นชื่อ “Inviter” และ “Amjoin” ขึ้นมาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ทั้งสองแอพพ์ต่างมีฟังก์ชั่นสอดคล้องกับบทสนทนาของ “บอมบ์” และ “จูน” เป๊ะๆ

แอพพ์แรกเป็นผลงานของบอมบ์และเพื่อนๆ ซึ่งมีจุดเด่นที่ระบบจัดการข้อมูล แต่รูปโฉมเบื้องหน้ากลับจืดชืดค่อนข้างเชย ขณะที่แอพพ์หลังเป็นผลงานของจูนและเพื่อนๆ ซึ่งมีระบบโครงสร้างหลังบ้านไม่แข็งแรงนัก สวนทางกับรูปลักษณ์ภายนอก ที่ดึงดูดใจกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นได้ดีกว่า

“บอมบ์” กับ “จูน” จึงหวนกลับมาเจอกันอีกครั้ง ในสงครามระหว่างแอพพ์ที่อุบัติขึ้น

สองหนุ่ม-สาวค่อยๆ สานทอความรักความสัมพันธ์ ไปพร้อมๆ กับการห้ำหั่นเอาเป็นเอาตายในเชิงไอทีและธุรกิจ โดยมีเวทีสตาร์ตอัพ คอนเทสต์ เป็นสังเวียนสุดท้าย ที่เขาและเธอจะต้องลงชิงชัยขับเคี่ยว เพื่อคว้าเงินรางวัลก้อนใหญ่ไปพัฒนาธุรกิจของตนเอง

หากประเมินจากรูปลักษณ์ ตลอดจนประเด็นแกนกลางของเรื่องเล่า อดคิดไม่ได้ว่า “App War” ผลงานลำดับที่สองของค่าย “ทีโมเมนต์” ที่มี “วิสูตร พูลวรลักษณ์” อดีตผู้บริหารคนหนึ่งของ “จีทีเอช” เป็นหัวเรือใหญ่ ร่วมด้วยทุนสนับสนุนจากเครือ “โมโน” นั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อท้าชนประกบคู่กับ “ฉลาดเกมส์โกง” หนังทำเงิน-ทำกล่องประจำปีก่อนของค่าย “จีดีเอช” พาร์ตเนอร์เก่าของวิสูตร

อย่างไรก็ดี “App War” มิได้เดินซ้ำรอยทางของ “ฉลาดเกมส์โกง” จนปราศจากความคิดสร้างสรรค์ใดๆ

ถ้า “ฉลาดเกมส์โกง” คือหนังไทยที่มีกลุ่มตัวละครหลักเป็นวัยรุ่นช่วงอายุไม่เกิน 20 ปี ซึ่งกำลังสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และมิตรภาพระหว่างพวกเขาก็ถูกทดสอบเคี่ยวกรำในสนามสอบแข่งขันดังกล่าว

“App War” ก็ขยับขึ้นมาเล่าเรื่องราวของวัยรุ่นอายุ 20 กว่าๆ ซึ่งกำลังเริ่มต้นทำงานด้วยไฟฝันอันร้อนแรง โดยที่สนามแข่งขันทางธุรกิจได้กลับกลายเป็นทั้งเครื่องมือส่งเสริมและขัดขวางสายสัมพันธ์ความรักระหว่างพวกเขาไปพร้อมๆ กัน

แม้จะฉาบหน้าด้วยการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ในแวดวงไอที สตาร์ตอัพ แต่ลึกๆ แล้วผมเห็นว่า “App War” กำลังพูดถึงสายสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง ทั้งอยากจะรักและอยากจะเอาชนะ ซึ่งมักเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับคนวัยหนึ่ง ที่โตเกินกว่าจะมี “ปั๊ปปี้เลิฟ” แบบเด็กมัธยม แต่ก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะก่อร่างสร้างครอบครัว และพร้อมจะเทกแคร์คนรักชนิดสุดหัวจิตหัวใ

หลายๆ ฉากในหนัง สามารถอธิบายความสัมพันธ์ที่กำกวมคลุมเครือเช่นนี้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นฉาก “จูน” ซัด “บอมบ์” จนหมอบตอนเล่นเกมเลเซอร์แท็ก หรือฉากที่ทีมงานของ “จูน” ส่งเด็กฝึกงานไปเป็นสปายและขโมยแล็ปท็อปของ “บอมบ์” ซึ่งสร้างความรู้สึกเจ็บปวด-ผิดหวังให้แก่หัวหน้าทีมทั้งสองฝ่าย

ทว่าในฉากสุดท้ายของหนัง โทนอารมณ์เจ็บแค้น ชิงชัง อยากจะเอาชนะระหว่างตัวละครนำทั้งคู่ก็ระเหยหายไป และค่อยๆ เปลี่ยนแปลงสู่ความสัมพันธ์อีกรูปแบบ

ราวกับจะเป็นบทสรุปว่าทุกฝ่ายล้วนต้อง “เติบโต” ขึ้น ภายหลังการแข่งขันทางธุรกิจอันตึงเครียดยุติลงและได้ผลลัพธ์สุดท้าย (ว่ามีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะ)

(แต่น่าคิดไม่น้อยว่า ถ้าบทสรุปแพ้-ชนะออกอีกหน้าหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่าง “บอมบ์” และ “จูน” จะคลี่คลายไปสู่จุดไหน?)

“App War” ใช้ทีมนักแสดงหลักที่เป็น “หน้าใหม่” หรือ “หน้าค่อนข้างใหม่” ยกชุด

ทั้งหมดสอบผ่านในเรื่องหน้าตา รูปร่าง บุคลิกภาพ รวมถึงฝีมือการแสดง

เคมีระหว่าง “บอมบ์” กับ “จูน” ที่รับบทโดย “ณัฏฐ์ กิจจริต” และ “วริศรา ยู” (ไทยซูเปอร์โมเดล 2012) ทำให้นึกถึง “ชานน สันตินธรกุล” และ “ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง” ใน “ฉลาดเกมส์โกง” อยู่พอสมควร หากพิจารณาถึงแง่มุมที่ว่ารูปร่าง-บุคลิกของนางเอกดูจะข่มพระเอกได้นิดๆ

“จิงจิง วริศรา” และ “ออกแบบ ชุติมณฑน์” นับเป็นตัวแทนของนางแบบ/ซูเปอร์โมเดลรุ่นใหม่ๆ ที่ก้าวข้ามมาเป็นนักแสดง (ในยุคแห้งเหี่ยวของแม็กกาซีน ขณะที่งานแฟชั่นโชว์ก็กลายเป็นสังคมเล็กๆ แคบๆ ของเหล่าไฮโซ)

และพวกเธอก็ทำหน้าที่ใหม่ดังกล่าวได้ดีมากๆ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

มองภาพกว้างกว่านั้น “จิงจิง” และ “ออกแบบ” คือ “ความงดงาม” อีกประเภทหนึ่งในสื่อบันเทิงไทยร่วมสมัย เพราะเธอทั้งสองคนมีหน้าตา รูปร่าง และวิธีการนำเสนอตัวเองที่แตกต่างจากดารา/นักแสดง/ไอดอลหญิงรุ่นใหม่ๆ ส่วนใหญ่อย่างชัดเจน

“App War” เป็นหนังที่มีคุณภาพน่าพึงพอใจ ถ้าใครอยากสัมผัสลิ้มลองรสชาติใหม่ๆ (แต่มิได้แปลกประหลาดสุดขั้ว) จากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยยุคปัจจุบัน

ก็ไม่ควรพลาดชมหนังไทยเรื่องนี้