บทวิเคราะห์ : การเมืองไทยในยุค 3 ก๊ก หลังกาบัตรรู้ชัดใครก๊กไหน

เมื่อมติการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เสร็จสิ้นได้ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือหม่อมเต่า เป็นหัวหน้าพรรค และนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง เป็นเลขาธิการพรรค

ทางด้านผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเสาหลักเสาใหญ่อย่าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีเจตนาทางการเมืองแน่วแน่ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้วว่าสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรี

“ผมยังยืนยันว่าภูมิใจที่จะยืนเคียงข้างพรรคการเมืองนี้ จะทำงานอย่างทุ่มเทกับทุกคน และจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองนี้ ผมตั้งใจจะเป็นผู้รับใช้ประชาชนเพื่อสร้างพรรคการเมืองนี้ อีกทั้งจะไม่ลงสมัคร ส.ส. ทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ แต่ผมจะขึ้นเวทีปราศรัยช่วยพรรคทั่วประเทศ เชื่อมั่นว่าพรรคเราจะได้เป็นรัฐบาล ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่หมอดู แต่ด้วยความที่อยู่ในการเมืองมานาน และ รปช. เป็นพรรคของประชาชนแท้จริง ใครๆ ก็อยากคบด้วย และภายหลังการเลือกตั้งไม่มีรัฐบาลพรรคเดียวแน่นอน แต่จะเป็นรัฐบาลผสม ถึงเวลานั้นก็รอรับขันหมากได้เลย ผมจะไม่รับตำแหน่งในรัฐบาล ผมจะสนับสนุนนักการเมืองรุ่นใหม่ให้ขึ้นมาทำหน้าที่ โดยผมจะทำหน้าที่เป็นโค้ชและพี่เลี้ยงและนำประสบการณ์ของผมกว่า 40 ปีไปช่วยงานต่อไป เป็นการตอกย้ำว่าผมเองยังรักษาคำพูด และการตั้งพรรคการเมืองนี้ไม่ได้หวังประโยชน์ส่วนตัวเพราะตั้งใจรับใช้ประชาชน” นายสุเทพระบุถึงทิศทางการเมืองในอนาคตของ รปช.

ความมั่นใจที่จะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลตามคำกล่าวของนายสุเทพนี้เป็นหลักประกันแน่ชัดว่า รปช.คือหนึ่งในพรรคที่ก่อขึ้นมาเพื่อสนับสนุนรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นอีกหนึ่งแนวร่วมเดียวกันกับพรรคพลังประชารัฐและกลุ่มสามมิตร

ขณะที่ “หม่อมเต่า” หัวหน้าพรรค รปช. นั้น มีความเชื่อเหมือนกับนายสุเทพว่า พรรค รปช.มีโอกาสเป็นรัฐบาล ส่วนจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ยังไม่มีประโยชน์ที่จะคิดล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งคราวหน้าทุกพรรคถูกบังคับให้เสนอชื่อนายกฯ ไม่เกิน 3 คน โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรค เชื่อว่าหลังเลือกตั้งแล้วน่าจะได้นายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะตัดสินใจอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดหรือไม่

เพราะหากไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อก็เชื่อว่าโอกาสที่จะไปถึงการเลือกนายกฯ คนนอก น่าจะเป็นไปได้ยาก

“ในส่วนของพรรค รปช. ยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ว่าจะทาบทาม พล.อ.ประยุทธ์มาอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของพรรคหรือไม่ เพราะยังมีเวลาในการตัดสินใจ รวมถึงกรรมการบริหารพรรคชุดนี้เป็นกรรมการบริหารพรรคชั่วคราว ก่อนที่จะมีกรรมการบริหารพรรคถาวรจากการเลือกของที่ประชุมสมัชชาพรรคต่อไป ส่วนการร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐในอนาคตหรือไม่นั้น เท่าที่เห็นในขณะนี้ยังไม่คิดว่ามีอุดมการณ์หรือนโยบายที่ขัดแย้งกัน จึงคาดว่าจะร่วมรัฐบาลได้ ส่วนพรรคเพื่อไทยยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร เพราะอาจมีการแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ หรือย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น”

ม.ร.ว.จัตุมงคลเอ่ยถึงทิศทางของพรรค รปช.

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอดีตคนเคยคุ้นของ “ลุงกำนัน” อย่าง “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาฟันธงว่าขณะนี้การเมืองกำลังเข้าสู่ลักษณะ “สามก๊ก”

เพราะคนจำนวนไม่น้อยมีความกังวลกับปัญหาระบอบทักษิณจะกลับมาหรือไม่ และคนในสังคมยังกังวลว่าพรรคการเมืองไหนบ้างเป็นแนวร่วมกับใคร หรือใครจะเอา คสช. หรือไม่เอาด้วยกับ คสช. ส่วนพรรค ปชป. นั้นมองเรื่องจำนวนตัวเลขของการเลือกตั้งมากกว่าในการจะเอาชนะกัน

“สำหรับผมตอนนี้มันเข้าไปสู่ลักษณะการเมือง “สามก๊ก” มากกว่า คือ 1.พรรคการเมืองที่อิงอยู่กับตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือมีแนวทางคล้ายคลึงกับนายทักษิณ 2.พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาหรือแสดงท่าทีว่าพร้อมจะสนับสนุนผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ หรือผู้มีอำนาจใน คสช. ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรค รปช. และ 3.พรรค ปชป. เราคือทางเลือกอีกทางหนึ่ง เราต่อสู้กับระบบทักษิณมาตลอด และยืนยันที่จะต่อสู้อยู่ ขณะเดียวกันเรามองว่าแนวทางของ คสช. หรือรัฐบาลปัจจุบัน หลายอย่างก็ไม่สอดคล้องกับแนวคิดของเรา” นายอภิสิทธิ์ฉายภาพ 3 ก๊กทางการเมืองไทย

นอกจากนี้ “เดอะมาร์ค” ยังมองว่า แนวคิดเบื้องหลังการบริหารของรัฐบาลปัจจุบัน ที่เน้นการรวมศูนย์และเน้นแนวคิดแบบราชการเป็นตัวกำหนดนโยบายนั้นไม่สอดคล้องกับแนวทางของ ปชป. อย่างชัดเจน และการตัดสินใจของประชาชนมีความหมาย เมื่อประชาชนได้มีโอกาสรับทราบแนวทางที่แตกต่างกัน เช่น รัฐราชการกลุ่มหนึ่ง ระบบทักษิณ ประชานิยมกลุ่มหนึ่ง กับพรรค ปชป. เสรีประชาธิปไตยอีกกลุ่ม ผลการเลือกตั้งออกมาก็จะรู้ว่าประชาชนสนับสนุนแนวทางไหนเท่าไร ตรงนั้นถ้ามีความเด็ดขาดก็จบ ถ้าไม่เด็ดขาดก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมาเจรจาว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใครกับใคร

สำหรับพรรค ปชป. นั้น “เดอะมาร์ค” ยืนยันว่า จะยึดแนวทางแก้ไขปัญหาของประเทศเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม หัวหน้า ปชป. ยังไม่เห็นด้วยถ้าหากพรรค ปชป. จะไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับใครๆ ถ้าหากแนวทางที่พรรค ปชป. นำเสนอต่อประชาชนไม่ได้รับการปฏิบัติหรือนำไปใช้ ถ้าพรรค ปชป. คิดว่าการเป็นรัฐบาลแล้วไม่ได้นำพาบ้านเมืองไปในทางที่อยากจะเห็น พรรค ปชป. ก็ควรจะเป็นฝ่ายค้าน แต่ไม่ใช่ว่าอยากจะเป็น

แต่ถ้าต้องเลือกระหว่างการไปเป็นรัฐบาล แล้วบ้านเมืองไม่ได้ไปในแนวทางของพรรค ปชป. ไม่ใช่อุดมการณ์ของพรรค ก็คิดว่าตรงนี้น่าทบทวน

ขณะที่ผู้กุมความได้เปรียบไว้ทุกด้านอย่าง “บิ๊กตู่” ออกมาสยบท่าทีของ “หัวหน้ามาร์ค” แบบนิ่มๆ ว่า ที่นายอภิสิทธิ์ออกมาระบุว่า คสช. เป็น 1 ใน 3 ก๊กการเมืองไทยนั้น ต้องไปถามนายอภิสิทธิ์ ไม่เกี่ยวอะไรกับ คสช. เพราะเป็นหัวหน้า คสช. ยังไม่ได้เกี่ยวอะไรกับใครสักคน แต่ใครจะมองอะไรก็มองได้ ขอให้มองด้วยความเป็นธรรมหน่อย มองอดีต ปัจจุบัน อนาคต การเมืองไทยจะไปอย่างไร และการเลือกตั้งจะได้รัฐบาลมาอย่างไร หรือได้ ส.ส.มาอย่างไร ประชาชนเข้าใจการเลือกตั้งดีพอหรือยัง ไม่ใช่รณรงค์การเลือกตั้ง อยากเลือกตั้งแล้วได้อะไรกลับมา วันหน้าใครรับผิดชอบ เดี๋ยวก็มาโทษ คสช. อีกใช่ไหม

แม้การเมืองจะเป็นเรื่องของประเทศชาติ แต่อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดและเป็นจริงเสมอคือ “การเมืองไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร”

การเมืองไม่มีคำว่า “สัญญา” ที่จะมั่นคงยืนยงตลอดไป

บางครั้งเคยอยู่ฝ่ายเดียวกัน เมื่อปัจจัยเปลี่ยน เวลาผ่านไปก็กลับเป็นคนละพรรค คนละพวกได้ หรือเคยสัญญาว่าจะไม่ยุ่งการเมือง สุดท้ายก็ต้องกลับตระบัดสัตย์ ที่ยกสารพัดเหตุผลมาเป็นข้ออ้างว่าทำเพื่อชาติบ้านเมือง

“3 ก๊กไทย” เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามเป็นอย่างยิ่ง ว่าในที่สุดแล้ว แต่ละก๊กจะเดินหมากออกรบสู้กันอย่างไร ก๊กไหนจะน่าเชื่อถือได้มากน้อยเพียงใด หรือสุดท้ายทุกอย่างจะกลายเป็นเพียงละครตบตาคนไทยเหมือนที่ผ่านๆ มา

เพราะหลังการเลือกตั้ง อาจเหลือแค่ 2 ก๊กคือรัฐบาลกับฝ่ายค้าน