อันเนื่องมาจาก จาการ์ตาโพสต์ “อย่าให้ประยุทธ์นั่งประธานอาเซียน”

คิดเห็นอย่างไรกับกรณีจาการ์ตาโพสต์?

คำถามสั้นๆ เท่านี้คือที่มาของข้อเขียนในสัปดาห์นี้ทั้งหมดครับ

เรื่องของเรื่องสืบเนื่องมาจาก “บทความแสดงความคิดเห็น” ของคอร์เนเลียส พูร์บา ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ในช่วงที่กลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปีนี้พอดี

ข้อเขียนแสดงความคิดเห็นชิ้นนั้น มีชื่อถอดความเป็นไทยได้ความว่า “อย่าปล่อยให้หัวหน้ารัฐบาลทหารไทยเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า”

โดยผู้เขียนให้เหตุผลเอาไว้ว่า เป็นเพราะไทยยังคงปกครองโดยรัฐบาลทหารที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหาร

และ “มีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะไม่รักษาคำพูดอีก” เรื่องการจัดการเลือกตั้งในปีหน้า เพราะเคยไม่รักษาสัญญามาแล้ว

โดยเทียบเคียงกรณีนี้กับกรณีของพม่า ซึ่งกว่าจะได้เป็นประธานอาเซียนก็ปาเข้าไปถึงปี 2014 ทั้งๆ ที่วาระประธานอาเซียนวนตามลำดับตัวอักษรในภาษาอังกฤษมาถึงพม่าตั้งแต่ปี 2006 แล้ว

ในตอนท้ายผู้เขียนเรียกร้องให้เรตโน เลสตารี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย หยิบยกกรณี “ปัญหารัฐบาลทหาร” นี้ขึ้นมาพูดคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยและชาติสมาชิกอื่นๆ ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนหนนี้ซะ

แล้วยังเรียกร้องไปถึงโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ให้ใช้ “การทูตเงียบ” ถกกรณีนี้กับผู้นำอาเซียนคนอื่นๆ แล้วทำตาม “อาเซียนเวย์” คือทำตามฉันทามติตามแบบฉบับของอาเซียนเสีย

 

ผมสรุปความสั้นๆ เอาไว้เพียงเท่านี้ เพราะเชื่อว่าหลายคนคงได้อ่านต้นฉบับเต็มกันแล้ว

เพราะไม่เพียงปรากฏในจาการ์ตาโพสต์เท่านั้น

วันรุ่งขึ้นคือ 1 สิงหาคม บทความแสดงความคิดเห็นชิ้นเดียวกันนี้ก็ปรากฏในสเตรตไทม์ส

แล้วมาปรากฏอีกทีในเดอะ เนชั่น ในวันที่ 2 กรกฎาคม ตามข้อตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันในกลุ่มสมาชิกเครือข่ายเอเชีย นิวส์ เน็ตเวิร์ก ที่มีกันอยู่หลายฉบับในหลายประเทศนั่นแหละครับ

สำหรับผม โดยส่วนตัวคิดเห็นยังไงนั้น ขอแยกออกเป็น 2 ประเด็นครับ ว่าด้วยอาเซียนประเด็นหนึ่ง เรื่องที่ว่าด้วยการเมืองไทยอีกประเด็นหนึ่ง

ประเด็นที่คอร์เนเลียส พูร์บา หยิบยกขึ้นมาน่าสนใจและแปลกใหม่ดีอยู่ พอทำให้หลายคนคิ้วขมวดได้อยู่ แต่ในเรื่องที่ว่าด้วยอาเซียนนั้น พูดกันตรงๆ ก็คือ เรียกร้องไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรเกิดขึ้น รับประกันได้

หากเทียบเคียงกับกรณีของพม่า ก็พอจะเทียบได้หรอกครับ แต่บริบทหลายอย่างต่างกันอยู่เยอะมาก

 

พม่าในปี 2006 นั้นถูกต่อต้านจากรอบทิศ ที่สำคัญที่สุดก็คือ ถูกแซงก์ชั่นในทุกๆ ทางรวมทั้งทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ชนิดที่ว่า หากพม่าขึ้นเป็นประธานอาเซียน ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐและอียูก็จะกลายเป็นปัญหาขึ้นมาในทันที

เมื่ออาเซียนเองเดินต่อไม่ได้ นั่นแหละถึงจำเป็นต้องหาทางออก ในที่สุดพม่าก็ประกาศถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพเสียเองครับ

ถามว่าไทยตกอยู่ในสภาพที่ว่านั้นหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ เมื่ออาเซียนยังเดินหน้าไปได้ ข้อกำหนดว่าด้วยหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกันตามหลักการของกฎบัตรอาเซียนก็ยังถูกยึดถืออยู่นั่นแหละครับ

ตัวอย่างที่เป็นตลกร้ายก็คือ เมื่อปี 2014 ที่พม่าเป็นประธานอาเซียน ญาน ลินน์ อ่อง ผู้สื่อข่าวของเมียนมาไทม์ส เคยเขียนรายงานชิ้นหนึ่งจั่วหัวไว้ว่า “ทำไมอาเซียนถึงยังเงียบเมื่อทหารไทยยึดอำนาจ?” เนื้อหาหลักๆ ก็พูดถึงหลักการในกฎบัตรอันเดียวกันนี่แหละ

แล้วอาเซียนก็ยังเงียบมาจนถึงวันนี้ครับ

 

เบอร์ทิล ลินต์เนอร์ นักเขียนนักหนังสือพิมพ์สวีดิชที่คุ้นเคยกับการเมืองการปกครองในละแวกนี้ดี บอกกับลินน์ อ่อง เอาไว้ในตอนนั้นอย่างนี้ครับ

“ผมไม่ศรัทธาในอาเซียนนักหรอก (อาเซียน) ออกจะไร้เขี้ยวเล็บ ไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน แล้วก็ดำเนินการโดยฉันทามติ อย่างนี้ในความเป็นจริงก็เท่ากับไม่มีวันทำอะไรได้”

อีกหลายย่อหน้าถัดมา ลินต์เนอร์บอกว่า “ในความเห็นของผมนะ อาเซียนก็เป็นมากกว่าสโมสรกอล์ฟเอ็กซ์คลูซีฟอยู่นิดหน่อยเท่านั้นแหละ”

พอเป็นอย่างนี้ ไอ้ส่วนที่เกี่ยวกับการเมืองไทยในความเห็นของผม ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครอยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองขนาดโจษกันใหญ่หรือเปล่าเท่านั้นแหละครับ

 

ตามความรู้ของผม คอร์เนเลียส พูร์บา เป็นนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผ่านร้อนผ่านหนาวในอินโดนีเซียมามาก ปัจจุบันเป็นซีเนียร์ แมเนจจิ้ง เอดิเตอร์ ของจาการ์ตาโพสต์ ถอดเป็นไทยๆ ก็คงเข้าทำนองบรรณาธิการอำนวยการหรืออะไรทำนองนั้น

ขณะที่จาการ์ตาโพสต์ก็ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ (ภาษาอังกฤษ) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แม้ว่ายอดขายจะแค่ 50,000 เล่มต่อวัน (ข้อมูลเมื่อปี 2013) มีที่มาค่อนข้างแปลก คือเกิดขึ้นมาเพราะองค์กรสื่อทั้งหลายรวมทั้งหนังสือพิมพ์ (ภาษาถิ่น) อื่นๆ รวมตัวกันก่อตั้งขึ้น เคยงัดข้อกับทั้งทหารและเจ้าพ่อในวงการธุรกิจจนถูกบุกกอง บ.ก. มาแล้ว 2 รอบ

ส่วนที่ท่านรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย รู้มาว่ามีคนขอใช้ชื่อเขียนนั้น

ก็ต้องไปตามข้อเท็จจริงต่อที่ท่านละครับ