สนช.จุดพลุ-เซ็ตซีโร่ 616 ผู้ตรวจเลือกตั้ง แนะจับตา-เบื้องหลัง เกมสรรหา 250 ส.ว.

จุดชนวนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้มากพอสมควร

กรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 36 คน เข้าชื่อเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ในประเด็นคัดเลือกแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด หลังจาก กกต. ชุดปัจจุบันซึ่งกำลังจะพ้นตำแหน่ง ดำเนินการออกระเบียบ และคัดเลือกแล้วทั้งสิ้น 616 คน

หลังมีรายงานข่าวจาก สนช. พบว่าผู้ได้รับคัดเลือกส่วนหนึ่งเป็นอดีตพนักงานและคนใกล้ชิดของ กกต. รวมถึงบางคนมีภาพอิงกับฝ่ายการเมืองบางขั้วมากเกินไป

การเสนอขอแก้ไขกฎหมาย ผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งคือนายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช.สายพลเรือน ในฐานะแกนนำรวบรวมรายชื่อ

นายมหรรณพชี้แจงสาระสำคัญการเสนอแก้ไข ได้แก่

การกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง มาทำหน้าที่คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง แทนการให้ กกต. ออกระเบียบคัดเลือกเองเหมือนใน พ.ร.ป. ฉบับปัจจุบัน ที่หละหลวม ไม่รอบคอบรัดกุมพอ

เนื่องจากระเบียบปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย กกต. แต่ละชุด อาจเป็นช่องว่างให้การได้มาซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองได้ในอนาคต

ดังนั้น จึงควรกำหนดที่มาผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ชัดเจนว่ามาจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยระบุวิธีการลงใน พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. โดยตรง

กับอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ หากให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีที่มาจากระเบียบในปัจจุบัน อาจเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน เพราะ กกต.ชุดเก่าเป็นผู้คัดเลือก แต่ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้ปฏิบัติ

“เมื่อเปลี่ยนหัวแล้ว ควรเปลี่ยนลำตัว แขนขาด้วย ไม่ใช่เอาหัวมาสวมอย่างเดียว” นายมหรรณพกล่าว อีกทั้งโดยมารยาทแล้วควรให้ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้คัดเลือก

กกต.ชุดเก่าไม่ควรลุกลี้ลุกลนเลือกเสียเอง

 

นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ สนช. ยืนยันว่า

สนช. ผู้ร่วมลงชื่อเสนอแก้กฎหมาย ไม่มีเจตนาต้องการ “เซ็ตซีโร่” ผู้ได้รับคัดเลือกทั้ง 616 คน ตามที่ กกต.ชุดปัจจุบันคัดเลือกมา เพราะหากใครเหมาะสมก็ยังมีสิทธิกลับมาได้ ตามเงื่อนไขใหม่

พร้อมปฏิเสธการเสนอแก้ไขกฎหมาย ไม่มี “ใบสั่ง” จากใครทั้งสิ้น

นอกจากนายมหรรณพ ยังมี สนช. ที่ร่วมเข้าชื่อ อาทิ นายสมชาย แสวงการ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ยืนยันตามหลักมารยาท ควรเป็นหน้าที่ กกต.ชุดใหม่ในการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ขณะที่นายบุญส่ง น้อยโสภณ 1 ใน กกต.ชุดปัจจุบัน กล่าวถึงกระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า กกต. และสำนักงาน กกต. เตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนเมษายน 2561 เนื่องจากคาดว่า กกต.ชุดใหม่จะเข้ามาพิจารณาได้ในช่วงดังกล่าว

แต่ปรากฏว่า ว่าที่ กกต.ชุดนั้นไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช.

อย่างไรก็ตาม การที่ กกต. คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าจะปฏิบัติงานได้ภายในเดือนกันยายน ซึ่งจะเป็นช่วงจังหวะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. มีผลบังคับใช้

จึงไม่ใช่ว่า กกต.ชุดปัจจุบันเร่งรีบแต่งตั้ง แต่เป็นกระบวนการที่ต้องทำตามตารางการปฏิบัติงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการสรรหาผู้จะมาเป็น ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560

เมื่อดูจาก พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน หากนับไป 90 วัน ประมาณวันที่ 15 กันยายน กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องทำงานในส่วนนี้ทันที

“หาก กกต.ชุดนี้ไม่ได้แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้แล้วเกิดปัญหา ก็จะโดนถล่มหนักว่าทำไมไม่จัดการให้เรียบร้อย ทำไมละเลย อาจถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” นายบุญส่งระบุ

พร้อมยืนยันสิ่งที่ กกต.ปัจจุบันทำไป ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตามระเบียบกติกา จึงไม่ต้องทบทวนสิ่งที่ดำเนินการมา

อีกทั้งในจำนวนผู้ได้รับคัดเลือก 616 คน แม้จะมีที่มาจาก กกต.ชุดปัจจุบัน แต่การแทรกแซงทางการเมืองไม่สามารถทำได้ เพราะหากเข้ามาแล้วทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ไม่สุจริต หรือมีคนร้องคัดค้าน

กกต.ชุดใหม่สามารถปลดออกได้ทันที

 

ภายใต้ความเห็นต่างระหว่างสมาชิก สนช. กับ กกต.ชุดปัจจุบันในเรื่องของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ถูกมองว่าอาจมีวาระการเมืองอื่นแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง

มีข้อหวั่นเกรงว่าการที่ สนช. เสนอแก้ไข พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดย สนช. เองและยังไม่ได้บังคับใช้เต็มรูปแบบนั้นอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหา ส.ว. และการควบคุมเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ผู้กำหนดทิศทางแม่น้ำ 5 สาย ยืนยันด้วยตนเองว่า

การเสนอแก้ไขกฎหมายของ สนช. ไม่ได้ทำเพื่อต้องการจะล้มการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรือแทรกแซงการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ

แต่เป็นการหาวิธีว่าทำอย่างไรให้ กกต.ชุดใหม่และชุดเก่าร่วมมือกันคัดสรรผู้ตรวจการเลือกตั้งให้เหมาะสม

“วันนี้ต้องให้เกียรติ กกต.ใหม่ เพราะต้องทำงานต่อไป กกต.เก่าก็ต้องส่งมอบหน้าที่ ฉะนั้น ต้องพูดคุยหารือกันว่าจะทำอย่างไร” นายกฯ ระบุ

กระนั้นก็ตาม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ก็ยอมรับว่า

กระบวนการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากต้องผ่าน 2 ขั้นตอนสำคัญคือ การรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 และขั้นตอนการส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความ

เช่นเดียวกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ที่ไม่ได้ปฏิเสธว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายลูกดังกล่าวมีกระบวนการขั้นตอนที่ยืดยาว ถึงจะไม่กระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งอย่างที่พรรคการเมืองและนักการเมืองหวาดระแวง

แต่ก็อาจทำให้กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นปัญหาอยู่บ้าง

สอดรับกับความเห็นกกต.ชุดปัจจุบัน และอีกหลายคน ที่เชื่อว่า การที่ สนช. ขอแก้ไขให้การคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วสิ้นผลไป หรือที่เรียกว่า “เซ็ตซีโร่”

อาจกลายเป็นปัญหา เพราะหากไม่มีผู้ตรวจการเลือกตั้ง แล้วเกิดการทุจริตหรือฮั้วกันในการสรรหา ส.ว. จะทำให้ คสช. ตกเป็นเป้าโจมตีได้ว่า

มีเจตนาสร้างเงื่อนไขผ่านแม่น้ำ 5 สาย เพื่อต้องการล้มกระดานผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่ได้รับการคัดเลือกโดย กกต.ชุดเดิม เพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตน

จากนั้นก็คัดกรองคนของตนเองเข้ามา เพื่อดำเนินการใน 2 เรื่องหลักคือ ควบคุมการเลือกตั้งที่กำหนดให้มีขึ้นอย่างช้าที่สุดไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2562

กับเพื่อใช้เป็นเครื่องมือคุมเกมการสรรหา ส.ว.

 

ต้องไม่ลืมว่ด้วยอำนาจหน้าที่ของ 250 ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2560 ถูกกำหนดให้เป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการสืบทอดอำนาจระยะยาว

การวางคนในเครือข่ายของตัวเองเข้ามาอยู่ในจุดนี้ จึงมีความจำเป็นต้องบังคับทิศทางกันตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งต้นน้ำในที่นี้หมายถึงผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ยิ่งเมื่อนำเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้งไปผนวกรวมกับประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ กกต. เองก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่าจะไม่พิจารณาใช้อำนาจมาตรา 44 เพื่อเปิดทางให้ กกต. ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งได้ก่อนที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะมีผลบังคับใช้

ก็สะท้อนให้เห็น รัฐบาล คสช. พร้อมปล่อยให้ทุกอย่างเดินไปตามกรอบโรดแม็ปที่วางไว้ พร้อมกับค่อยๆ คืบคลานเข้ายึดกุมความได้เปรียบไว้ทุกจุด

ไม่มีการเร่งเกม เร่งเวลา

แต่ละย่างก้าวเป็นไปอย่างช้าๆ เพื่อการสืบทอดอย่างมั่นคง