ภาพยนตร์ /นพมาส แววหงส์/MAMMA MIA! HERE WE GO AGAIN

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์ / นพมาส แววหงส์

 

MAMMA MIA! HERE WE GO AGAIN

‘เพลงจากอดีต’

กำกับการแสดง  Ol Parker
นำแสดง  Amanda Seyfried Lily James Meryl Streep Pierce Brosnan Colin Firth Stellan Skarsgord Julie Walters Christine Baranski Cher Andy Garcia Dominic Cooper

Mamma Mia! เกิดจากแรงบันดาลใจในเสียงเพลงยอดนิยมของคณะนักร้องสี่คนจากสวีเดน ที่ดังทะลุฟ้าในช่วงทศวรรษ 1980 โดยเริ่มขึ้นในฐานะมิวสิเคิลยอดฮิตทางเวที ก่อนที่จะสร้างมาเป็นภาพยนตร์ที่เมอริล สตรีพ แสดงนำ ทั้งเต้นเองร้องเองแบบสุดชีวิตจิตใจ
ABBA ซึ่งมาจากอักษรย่อของชื่อนักร้องทั้งสี่ ดังแบบยั้งไม่อยู่กู่ไม่กลับ วัยรุ่นสมัยนั้นแทบไม่มีใครร้องเพลงอันมีจังหวะเร้าใจของแอ็บบาไม่เป็น
และไอเดียที่จะนำมาสร้างเป็นละครมิวสิเคิลนี้ ไม่ได้รับการตอบรับอย่างดีนักจากนักร้องนำในวงนี้ในทีแรก แต่มาภายหลังก็ให้ความร่วมมือจนได้รับความสำเร็จยอดเยี่ยม แสดงต่อเนื่องกันทั้งที่เวสต์เอนด์ในลอนดอน และบรอดเวย์ในนิวยอร์ก เป็นระยะเวลายาวนาน
ผู้เขียนได้ไปดูละครเวทีเรื่องนี้ที่เวสต์เอนด์นานก่อนจะกลายมาเป็นภาพยนตร์ และได้รับความสนุกสนานสำราญบานใจ ในช่วงสุดท้ายคนดูลุกขึ้นมาเต้นและร้องเพลงตามไปด้วย ทั้งเพลง Mamma Mia!, Dancing Queen และ Waterloo ที่นักแสดงสนุกกันสุดฤทธิ์

Mamma Mia! วางท้องเรื่องไว้ที่เกาะเล็กๆ ของประเทศกรีซ ชื่อเกาะคาโลไครี ซึ่งเป็นเกาะสมมุติ แต่ทุกคนที่ไปเที่ยวกรีซตอนนี้เป็นต้องถามหาเกาะนี้ ซึ่งก็มีโลเกชั่นอยู่เหมือนกัน เรื่องเดิมคือ สาวน้อยโซฟี (อแมนดา เซย์ฟรีด) กำลังจะแต่งงานกับแฟนหนุ่ม สกาย (โดมินิก คูเปอร์) โซฟีเป็นลูกคนเดียวของดอนนา (เมอริล สตรีพ) โดยไม่เคยรู้จักว่าพ่อเป็นใครอยู่ที่ไหน
จนกระทั่งได้ไปเจอสมุดบันทึกของแม่ ว่าในช่วงก่อนจะตั้งท้องนั้น เธอมีความสัมพันธ์กับชายหนุ่มสามคน และหนึ่งในสามนั้นต้องเป็นพ่อของโซฟี
โซฟีอยากรู้จักพ่อ จึงแอบเชิญชายหนุ่มใหญ่ทั้งสาม คือ แซม (เพียร์ซ บรอสนัน) แฮร์รี่ (คอลิน เฟิร์ธ) และบิล (สเตลลัน สการ์สการ์ด) มางานแต่งงานของเธอ โดยไม่ได้บอกให้แม่รู้
เมื่อวันงานใกล้เข้ามา เพื่อนสนิทสองคนของดอนนา คือ ทันยา (คริสตีน บารันสกี) และจูลี่ (จูลี่ วอลเตอร์ส) ก็เดินทางมาร่วมงานด้วย สถานที่จัดงานคือโรงแรมเล็กๆ บนเกาะที่ดอนนาเป็นเจ้าของและบริหารงานอยู่ตัวคนเดียว
เรื่องราวความวุ่นวาย ความสนุกสนาน ความเจ็บปวดจากอดีต และบรรยากาศอันคึกคักของการตระเตรียมงานแต่งงาน ถูกนำเสนอผ่านทางเพลงหลายสิบเพลงของวงแอ็บบาล้วนๆ คนดูทุกคนแทบจะร้องเพลงฮิตคลอไปได้หลายต่อหลายเพลง
นอกจากลักษณะเด่นที่ใช้เพลงของแอ็บบาทั้งหมดเป็นการเดินเรื่องแล้ว เรื่องราวของ Mamma Mia! ยังชูประเด็นเด่นชัดเรื่องสตรีนิยม ไม่ว่าจะเป็นชีวิตอิสระของผู้หญิงที่เลือกใช้ชีวิตตามใจปรารถนาของตัวเองโดยไม่แคร์ต่อสังคมและประเพณี แม่ที่เลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นโดยลำพังตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ชายในชีวิต
ซึ่งจะทำให้ Mamma Mia! เป็นเรื่องที่มีน้ำหนักและโดดเด่นในประเด็นเฟมินิสต์เป็นที่จดจำไปอีกนาน

 

จากความสำเร็จของเรื่องราวเดิม ก็ตามต่อมาด้วยภาคสองที่กำลังฉายอยู่ขณะนี้ กาลเวลาล่วงผ่านไปอีกห้าปี ตัวละครสำคัญของเรื่องเสียชีวิตไปแล้ว แต่ชีวิตยังต้องเดินหน้าต่อไป ภาคสองนี้ไม่ใช่แต่เป็นแค่เหตุการณ์ที่ตามมาจากภาคแรก แต่ยังเป็นการย้อนกลับไปสู่ชีวิตในวัยสาวของตัวละครหลัก ควบคู่ไปกับชีวิตปัจจุบันของตัวละครหลักอีกตัว
ดังนั้น เราจึงมีดอนนาในวัยสาว (ลิลี่ เจมส์) และแฟนทั้งสามคนในวัยหนุ่ม รวมทั้งเพื่อนสนิทสาวสองคนที่เรียนจบมาพร้อมกัน
ตรงนี้ต้องขอชมฝ่ายคัดเลือกตัวนักแสดงหรือแคสติ้ง ที่เลือกคนที่มีความละม้ายคล้ายคลึงอย่างที่ไม่ทำให้คนดูเกิดความสับสนว่าใครเป็นใคร และลิลี่ เจมส์ เล่นบทของเมอริล สตรีพ ในวัยสาวได้อย่างน่าเชื่อและน่าจับตามาก
สามหนุ่มใหญ่คือ เพียร์ซ บรอสนัน คอลิน เฟิร์ธ และสเตลลัน สการ์สกอร์ด มีบทบาทน้อยลงกว่าภาคแรก เพราะต้องใช้นักแสดงที่หนุ่มแน่นเล่นบทของตน
แซมได้เปิดตัวด้วยเพลงที่อยู่ในเครดิตช่วงท้ายเรื่องของภาคหนึ่ง นั่นคือ Waterloo ซึ่งผู้เขียนบทนำฉากหลังของสงครามมาเป็นเพลงเกี้ยวหญิงอย่างชวนขบขัน
ในทำนองเดียวกับเพลง Fernando ซึ่งขาดหายไปอย่างน่าเสียดายในภาคแรก (จำได้ว่าผู้เขียนดูละครจบ แล้วคำถามแรกที่คุยกับเพื่อนคือ ทำไมไม่มีเพลง Fernando ด้วยก็ไม่รู้ เพลงนี้เป็นเพลงที่ติดตรึงใจอยู่ว่าเป็นเพลงเด่นของแอ็บบาแท้ๆ) ได้มาแสดงเรื่องราวของความรักของคนอีกคู่หนึ่ง
“เฟอร์นานโด” ก็เป็นเพลงที่มีฉากหลังเป็นสงครามและการพลัดพรากเหมือนกัน

ภาคสองนี่ เสนอตัวละครใหม่สองตัวคือ เฟอร์นานโด (แอนดี้ การ์เซีย) ซึ่งเข้ามารับบทบาทของผู้จัดการโรงแรมคนใหม่กับแม่และยายผู้เป็นนักร้องที่ต้องเดินสายอยู่ตลอดเวลา และไม่เคยมีเวลาให้ลูกสาวและหลานสาวเลย
“แฌร์” รับบทนี้ในฉากสั้นๆ เป็นคุณยายที่หลานอยากเชิญมางานแต่งงาน แต่แล้วก็เปลี่ยนใจไม่เชิญดีกว่า เพราะไม่คาดหวังว่าจะปลีกเวลามาร่วมงานได้ แต่เธอก็ปรากฏตัวขึ้นในนาทีสุดท้าย และเมื่อสายตาประสบพบหน้า “เฟอร์นานโด” เสียงเพลงอันคุ้นหูก็เริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางเสียงปรบมือของคนดูแทบทั้งโรง
เลยเป็นอันว่าผู้เขียนได้รับความสมใจกับเพลง Fernando ในภาคสองนี้เอง เห็นหน้าแอนดี้ การ์เซีย ตอนเปิดเรื่อง ก็ตงิดๆ อยู่ในใจแล้วเชียวนา
เพียร์ซ บรอสนัน (ซึ่งร้องเพลงไม่ได้! แต่จำใจจำต้องร้องเพลง SOS แบบที่คนดูคนฟังคอยลุ้นเอาใจช่วยไม่ให้ล่มอยู่จนจบเพลง) ในภาคนี้ ไม่ได้ร้องเพลงเดิมนี้อีกแล้ว ได้แต่พูดจารำพันเป็นทำนองเพลงเดียวกันนี้สักสามสี่ท่อน…
เฮ้อ โล่งไปที ไม่ต้องลุ้นตัวโก่งเหมือนเดิม
เพลงฮิตหลายเพลงยังคงกลับมาแทรกอยู่ในภาคสอง ที่ขาดไม่ได้คือ Super Trouper, Dancing Queen, Knowing Me Knowing You, I Have a Dream เป็นต้น
แต่ก็มีเพลงใหม่ที่ไม่มีอยู่ในภาคแรกอีกเยอะ บางเพลงก็ไม่คุ้นหูผู้เขียนเลย อาจเป็นเพราะภาคแรกใช้เพลงเด่นๆ ของคณะแอ็บบาไปเกือบจะหมดแล้วก็ได้

จะว่าไปเนื้อเรื่องของภาคนี้แทบไม่ให้อะไรใหม่แก่คนดู นอกไปจากความตายของตัวละครสำคัญ และเป็นการทบทวนดูชีวิตในอดีตที่ควบคู่ไปกับชีวิตปัจจุบันของตัวละคร
แต่สำหรับคนที่หวังจะได้รับความบันเทิงล้วนๆ โดยไม่ต้องการเนื้อหาที่หนักแน่นหรือการพัฒนาตัวละคร หรือพล็อตที่เฉลียวฉลาดอะไร Here We Go Again ก็บอกด้วยชื่อเรื่องอยู่แล้วว่า กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง ไม่ได้เอาอะไรใหม่มาให้ ได้แต่ให้เราหวนระลึกถึงความสนุกสนานของวันเวลาเก่าๆ
อ้อ ความนิยมอีกอย่างของหนังหรือละครมิวสิเคิล คือ เดี๋ยวนี้เขาชอบมีรอบ sing-along นะคะ ผู้เขียนเคยไปดูรอบแบบนี้เหมือนกัน ก็สนุกดีอยู่หรอกในตอนแรกๆ เพราะเราสามารถร้องดังๆ ได้โดยไม่ต้องกลัวคนด่า
แต่ก็นั่นแหละ นั่นก็หมายความว่า ถ้าคนดูอื่นร้องเพี้ยนหรือร้องเสียงหลงกรอกหูเราอยู่เรื่อยๆ เราก็อาจต้องทนรำคาญหูไปจนตลอดเรื่องก็ได้
ผู้เขียนเลยนึกขยาด ไม่อยากไปดูรอบ sing-along อีกแล้วละค่ะ