หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ/’ฉากและนักแสดง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกยูงไทย - นกยูงเข้ามาอยู่ในที่โล่งริมโป่งใหญ่เป็นการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ริมลำห้วย

หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ

 

‘ฉากและนักแสดง’

 

ผมเริ่มต้นด้วยเลนส์ 50 มิลลิเมตร
ด้วยเลนส์นี้ ผมใช้ถ่ายตั้งแต่แมลง, นก, เก้ง, กวาง ไปจนกระทั่งถึงช้าง
ผมรู้ว่า กับงานถ่ายภาพสัตว์ป่านี่ย่อมไม่ใช่เลนส์อันเหมาะสมหรอก
เวลาผ่านไปสักระยะ ผมมีโอกาสใช้เลนส์อย่างเหมาะสมอย่างที่ควรเป็น
กระนั้นก็เถอะ งานของผมส่วนใหญ่ก็ยังเป็นภาพสัตว์ป่าตัวเล็กๆ ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมอันเป็นแหล่งอาศัย
ความเคยชินตั้งแต่เริ่มต้นอาจเป็นสาเหตุหนึ่ง
สาเหตุหลักเป็นเพราะผมได้รู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดของเหล่าสัตว์ป่าคือ แหล่งอาศัยพวกมันขาดแคลน แหล่งอาศัยพื้นที่โดนตัดขาด ที่เหลืออยู่ก็เปรียบดังเกาะแคบๆ
สัตว์ป่าบนโลกใบนี้กำลังเผชิญกับปัญหาเดียวกัน
ในภาพถ่ายแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า ไม่ต่างอะไรกับ “ฉาก”
เหล่าสัตว์ป่าทั้งหลายก็เป็นเช่นเดียวกับ “นักแสดง”

งานทำให้ได้เดินทางเคลื่อนย้ายตัวเองไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ว่าตามจริง ผมก็ไปพบกับ “ฉาก” เดิมซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ทะเล บึงน้ำ ป่าดิบ
ผมวนเวียนอยู่ในฉากเหล่านี้
บนดอย ริมผาสูง หุบเหวลึก ป่าทึบ ไม่เพียงแต่เป็นฉากเดิมๆ แต่คล้ายกับว่า เรื่องราวในฉากนั้นๆ ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่
คนในป่าสมบุกสมบัน อยู่กับความทุรกันดาร ลาดตระเวน ทำงานเกินกว่าปัจจัยที่ได้รับ
หลายแห่งยังต้องเดินเท้าเข้าหน่วยในช่วงฤดูฝน ข้าวสาร รวมทั้งเสบียงอื่นๆ ต้องแบกด้วยพละกำลังของตัวเอง
ป่าหลายแห่งยังพบกับปัจจัยคุกคาม ต้นไม้โดนลักลอบตัด สัตว์ป่าถูกไล่ล่า พื้นที่อนุรักษ์โดนบุกรุก
การเดินลาดตระเวนในระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ซึ่งได้รับการฝึกฝนทบทวนเสมอของคนในป่าช่วยได้ แต่ความต้องการซากสัตว์ป่า รวมทั้งต้นไม้บางชนิดที่มีมูลค่าสูง ก็ยังคงเพิ่มขึ้น
การปะทะในป่าเกิดขึ้นเสมอ
มีหลายชีวิตจากไปเสมอเช่นกัน
เรื่องราวเหล่านี้ยังเกิดซ้ำๆ ในฉากเดิม

บางปีผมอยู่บนดอยสูงสุดของประเทศไทย ขณะบางปีผมใช้ชีวิตอยู่บนภูเขาและในหมู่บ้านซึ่งอยู่ชายแดนใต้สุด
และหลายปีใช้เวลาส่วนใหญ่ในผืนป่าด้านตะวันตก
แม้แต่ต่างประเทศ ป่าบางแห่งในประเทศอินเดีย เมื่อเดินไปตามลำห้วยแห้ง รอยตีนเสือโคร่งบนผืนทราย ก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากการเดินไปตามลำน้ำขาแข้ง
บึงน้ำ ไม่ว่าจะอยู่เหนือสุด ภาคกลาง หรือภาคใต้ ช่วงเวลาเช้า-เย็น บรรยากาศไม่แตกต่าง ฝูงนกเป็ดแดง นกเป็ดลาย ทยอยบินขึ้นจากน้ำตอนพลบค่ำ และกลับมาอีกครั้งตอนเช้ามืด
ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ส่วนใหญ่เป็นป่า มีต้นเสม็ดและต้นเที้ยะ เป็นไม้หลักๆ ที่นี่ เป็นที่สร้างรัง วางไข่ของเหล่านกน้ำ อย่างนกยาง นกแขวก นกกระสาแดง รวมทั้งนกปากห่าง
ช่วงกลางๆ ปี นกน้ำอีกหลายชนิดถือโอกาสใช้เวลาที่แสงอาทิตย์ในแต่ละวันยาวนาน วางไข่บนแพจอกแหน
คนลอยเรือเก็บดอกบัว ปะปนอยู่กับฝูงนกที่บินไป-มา
นี่คือภาพอันคุ้นตาในบึงน้ำ

บนดอยสูงสุด ผมได้ร่วมงานกับตั๋น มณีโต พิทักษ์ป่า ผู้สูญเสียดวงตาไปหนึ่งข้าง เขาถูกยิงขณะเข้าจับกุมคนล่าสัตว์
ลุงสนั่น เดินตัดหญ้ารอบๆ สำนักงานเขตป่าทุ่งใหญ่ ช้าๆ แผลตรงคอยังไม่หายดี
เขาอยู่ในชุดที่เกิดปะทะกับคนล่าสัตว์
ลุงหนั่นรอดพ้นมาได้ แต่เพื่อนในทีมคนหนึ่งไม่โชคดีอย่างเขา
ตั๋น มณีโต ไม่ลดละความมุ่งมั่น เอาจริงกับงาน สื่อความหมาย สร้างความเข้าใจกับคนรอบๆ ดอย จนงานได้ผล
บึงน้ำกว้างอย่างบึงบอระเพ็ด มีพนม คราวจันทึก พิทักษ์ป่า ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกน้ำในบึง และเฝ้าดูแลปกป้องบึงน้ำที่เขาอยู่มาตั้งแต่เกิด กระทั่งเกษียณก็ยังไม่จากไปไหน
คนในป่า ในผืนป่าตะวันตก หลายคนสิ้นชีพจากการปะทะกับผู้ต้องหา
เช่นเดียวกับคนงานป่าไม้ในป่าอนุรักษ์แถบภาคอีสาน หรือภาคใต้
ไม่ว่าจะพูดในภาษาหรือสำเนียงใด
เรื่องราวก็เกิดซ้ำๆ ในฉากเดิม

บนยอดเขาซึ่งสูงกว่า 8,000 เมตร กำเนิดมากว่า 200 ล้านปี ซากฟอสซิลปลาที่พบบนเขาสูงที่มีหิมะปกคลุม ทำให้เรารู้ว่ายอดเขานี้เคยอยู่ใต้ทะเล
สิ่งมีชีวิตมีอายุสั้นมาก เมื่อเทียบกับขุนเขา
บนโลกมีเรื่องราวมากมาย ในแต่ละเรื่องเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
เรื่องดำเนินไปเหมือนๆ กัน ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงจุดจบ
ไม่ว่าจะเป็นสงคราม สันติภาพ ความเกลียดชัง รวมทั้งความรัก

ในบึงน้ำกว้าง ผมถ่ายรูปฝูงนกเป็ดแดงกำลังพักผ่อนในเวลาเช้าตรู่
ในป่าตะวันตก มีรูปนกยูงเดินเยื้องย่าง สวยงามราวกับลีลานางแบบเดินบนเวที
ถึงวันนี้ ผมยังพบกับพวกมัน เวลาที่ผ่านมายาวนาน ทำให้รู้ว่า ย่อมไม่ใช่นกเป็ดแดง หรือนกยูงตัวที่ผมถ่ายไว้ในตอนนั้นหรอก
แต่บึงน้ำก็ไม่ว่างเปล่า มีนกเป็ดแดงฝูงใหม่แวะมาพักพิง ริมลำห้วยยังคงมีนกยูง
ฝูงนกเปลี่ยนไป ฉากยังคงเดิม

โลกดูคล้ายจะไม่มีเรื่องราวใหม่ ทุกเรื่องราวเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
เรื่องใน “ฉาก” เดิม เปลี่ยนไปแค่ “นักแสดง”
และไม่นาน นักแสดงก็จะจากไป