สุจิตต์ วงษ์เทศ : เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน? ทำไมถึงไปเกี่ยวข้องกับ ‘ชนชั้น’ และ ‘ความเหลื่อมล้ำ’

เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?

เพลงไทยสากล แยกเป็นลูกทุ่ง-ลูกกรุง

เพลงลูกทุ่ง มีกำเนิดและพัฒนาการเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยสากลในวัฒนธรรมป๊อป
เนื้อหาสมัยแรกๆ เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางชนชั้น อันเนื่องจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวัฒนธรรม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ดังนั้น เพลงลูกทุ่งมีกำเนิดการร้องและเล่นผูกกับวงที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีสากลเป็นหลัก จึงมิได้มีกำเนิดจากวงดนตรีไทยเดิม หรือวงพื้นบ้านพื้นเมือง แต่อาจรับพื้นฐานหลายอย่างจาก “ของเก่า” ก็ได้ เช่น ฐานเสียงร้องเต็มเสียง, ทำนอง เป็นต้น

เพลงลูกทุ่ง

“เพลงลูกทุ่ง” ชื่อเรียกนี้มีขึ้นราว พ.ศ.2507 ก่อนหน้านั้นไม่เรียกเพลงลูกทุ่ง แต่เรียก “เพลงไทยสากล” ซึ่งรับรู้กว้างขวางว่าเป็นเพลงทันสมัยแบบฝรั่ง ใครฟังแล้วเท่
เพลงไทยสากลเป็นที่รู้กันกว้างขวางนานแล้ว ว่าเมื่อเรือน พ.ศ.2507 ค่อยๆ แยกเป็น 2 แขนง เรียกเพลงลูกกรุงกับเพลงลูกทุ่ง โดยมีพัฒนาการยาวนานพอสมควร ทั้งแตกต่างหลากหลายและคล้ายคลึงกัน พบรายละเอียดอยู่ที่ข้อเขียน 2 เรื่องของ “คนใน” ผู้มีส่วนสร้างสรรค์โดยตรง ได้แก่
(1.) ที่มาของเพลงลูกทุ่ง โดย มงคล อมาตยกุล ครูเพลงไทยสากล และนายวงดนตรีลูกทุ่งสมัยแรกเริ่ม และ (2.) ข้อคิดเกี่ยวกับเพลงลูกทุ่ง โดย ประกอบ ไชยพิพัฒน์ ผู้จัดรายการโทรทัศน์คนแรกใช้ชื่อเพลงลูกทุ่งเมื่อปลายปี 2507 [พิมพ์รวมในหนังสือ เพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2534 หน้า 50-55]

คีตกวีเพลงไทยสากลพระองค์แรกของสยาม คือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

เพลงไทยสากล

เพลงไทยสากลแรกสุดชื่อ เพลงวอลทซ์ปลื้มจิต แต่งโดย กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (วังบางขุนพรหม) สมัย ร.5 ราว พ.ศ.2446
หลังจากนั้นต่อมามีเพลงกล้วยไม้ แต่งโดย พรานบูรพ์ (นายจวงจันทร์ จันทร์คณา) สมัย ร.7 ราว พ.ศ.2476
เพลงไทยสากล บรรเลงด้วยวงดนตรีสากลในกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีพัฒนาการในกองทหารด้วยแตรวง, วงดุริยางค์, วงโยธวาทิต ตั้งแต่สมัย ร.4 เรือน พ.ศ.2400
เพลงดนตรีฝรั่งสมัยอยุธยา (ยุคก่อนเพลงดนตรีไทยสากล) คนไทยจำนวนหนึ่งคุ้นเคยเครื่องดนตรีฝรั่งยุโรปตั้งแต่แผ่นดินพระนารายณ์ เพราะชุมชนชาวยุโรปเริ่มมีการเรียนการสอนเพลงศาสนาคริสต์ในโบสถ์คาทอลิก นอกจากนั้นยังมีชาวโปรตุเกสในอยุธยาที่มีความสามารถถูกเกณฑ์เล่นดนตรีร้องรำทำเพลงในงานสมโภชบางเทศกาล
[ข้อมูลจากงานวิจัย 2 เล่ม คือ (1.) ชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2059-2310 โดย นายพิทยะ ศรีวัฒนสาร วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2541 หน้า 243 และ (2.) ดนตรีฝรั่งในกรุงสยาม : พัฒนาการดนตรีตะวันตกในสังคมไทย ระหว่าง พ.ศ.2384-2484 โดย ณัฐชยา นัจจนาวากุล วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต (ดนตรี) มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2555 หน้า 18-42]
ต่อมาสมัยพระเจ้าตาก มีมโหรีฝรั่งอยู่ในขบวนเรือทวนแม่น้ำเจ้าพระยา จากกรุงธนบุรีถึงเมืองปทุมธานี ขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่เชิญลงมาจากเวียงจัน เมื่อ พ.ศ.2323

วงดุริยางค์โยธวาทิตของกองทัพสยาม เดินแถวบรรเลงถวายพระเกียรติยศ มีฉากหลังเป็นพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพฯ [ภาพวาดปกโน้ตเพลง Siamesische Wachtparade (เพลงสวนสนามชาวสยาม) แต่งโดยนายพอล ลินเคอ (Paul Lincke) นักแต่งเพลงชาวเยอรมันในปี ค.ศ.1902 (พ.ศ.2445) และอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศเยอรมนีเมื่อปี พ.ศ.2450 (อธิบายโดย อติภพ ภัทรเดชไพศาล)]
วัฒนธรรมป๊อป

วัฒนธรรมป๊อป มีพลังผลักดันเพลงไทยสากลมีเสรี มากสีสัน ทันสมัย หวือหวา เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทันท่วงที สนุก
ป๊อปมาจากโลกตะวันตก แล้วแพร่หลายเข้าถึงไทยอย่างมีพลัง ราวหลัง พ.ศ.2470 โดยผ่านสื่อสำคัญครั้งนั้น เช่น การพิมพ์, การแสดงสาธารณะ, แผ่นเสียง ฯลฯ
ก่อนมีเพลงไทยสากล ในไทยมีเพลงดนตรีไทยแบบฉบับ (ตามประเพณีของภาคกลาง) ที่เรียกทั่วไปว่า มโหรี, ปี่พาทย์, เครื่องสาย
[เพลงดนตรีภาคอื่นๆ (ไม่ภาคกลาง) เช่น สะล้อซอซึง, แคน, พิณ, กาหลอ, ชาตรี ถูกกีดกันเป็นเพลงดนตรีพื้นบ้านพื้นเมือง หมายถึงไม่ไทย]
ดนตรีไทยแบบฉบับ เป็นปฏิปักษ์วัฒนธรรมป๊อป เพื่อรักษาจารีตดั้งเดิมไว้ และเพื่อผดุงสถานะคนชั้นนำเดิม
เมื่อมีเพลงไทยสากล และวงดนตรีไทยสากล นับแต่นี้ไปเพลงดนตรีไทยแบบฉบับถูกแช่แข็ง เรียกเป็น “วงดนตรีไทยเดิม” และ “เพลงไทยเดิม”
[สรุปจากบทความเรื่อง “ดนตรีไทยในวัฒนธรรมป๊อป” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนสุดสัปดาห์ 12-18 พฤศจิกายน 2553 หน้า 20-21]
ดนตรีไทยแบบฉบับ (หรือดนตรีไทยเดิม) แท้จริงแล้วคือดนตรีไทยประเพณีที่รับอิทธิพลแบบแผนดนตรีตะวันตก เพื่อแสดงอำนาจและบารมีความเป็นเลิศของผู้ดีกระฎุมพีคนชั้นนำสมัยนั้น ตั้งแต่สมัย ร.4 เรือน พ.ศ.2400 (ดูใน ดนตรีไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 134-143)