เหมืองง่าของล้านนา แปลว่าอะไร ?

เหมืองง่า

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เหมืองง่า”

“เหมือง” คือคลองส่งน้ำเพื่อทดน้ำออกจากฝายที่มีระดับสูงกว่า เพื่อส่งน้ำไปยังที่นา เป็นวิธีการผันน้ำจากแหล่งธรรมชาติ ไปสู่แหล่งเพาะปลูก

การขุดเหมืองเป็นภูมิปัญญาล้านนาอย่างหนึ่ง ที่มีมาตั้งแต่สมัยพญามังรายแล้ว

ประมาณ พ.ศ.1834 มีบันทึกว่า เมื่อพญามังรายมอบหมายให้อ้ายฟ้าไปเป็นไส้ศึกเมืองหริภุญชัย อ้ายฟ้าเสนอพญายีบาเกณฑ์คนลำพูนขุดเหมืองจากน้ำแม่ปิงยาวถึง 34 ก.ม. เริ่มจากตอนเหนือของสบน้ำแม่แตง นำน้ำไปเลี้ยงเขต “พันนาทวน” กับ “พันนาพูคา” เรียกกันว่า “เหมืองอ้ายฟ้า” หรือ “เหมืองขี้หนี” กับ “เหมืองแข็ง” เพราะการขุดต้องขุดผ่านหินปูนแข็งๆ ทำให้ขุดอย่างยากลำบากจนผู้คนพากันหนีหมด หรืออีกชื่อคือ “เหมืองแก้ว” เพราะคนขุดมือพองน้ำกันหมด แบบที่คนล้านนาเรียกว่า มือเป็นแก้ว

อย่างไรก็ตาม แม้แต่แขนงย่อยของเหมืองเส้นนี้สามารถหล่อเลี้ยงที่นาของอำเภอแม่ริม สันทราย อำเภอเมืองเชียงใหม่ และสารภี ครอบคลุมถึงกว่า 70,000 ไร่

สำหรับคำว่า “ง่า” แปลว่ากางออก แยกออกเป็นแขนง เช่น แขนงของกิ่งไม้เรียกว่า ง่าไม้

ดังนั้น “เหมืองง่า” จึงหมายถึงลำเหมืองที่แยกออกจากลำเหมืองสายหลัก เป็นลำเหมืองที่มีขนาดเท่าๆ กันสองสาย ทำนองเดียวกับง่าไม้ที่มีกิ่งแยกออกไป

เหมืองง่า พบได้ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ เช่น บ้านเหมืองง่า ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งได้ชื่อมาจากลำน้ำกวง ที่แยกสาขาเป็น 2 สาย โดยลำเหมืองทั้ง 2 สาย ที่แยกออกจากกันมีชื่อว่าน้ำกวง เหมือนชื่อเดิม

ความพิเศษของเหมืองง่าที่ลำพูนนั้นคือ มีจุดที่น้ำกวงแยกออกเป็นเหมืองง่า สองจุดด้วยกัน และยังอยู่ไม่ไกลกันนัก

นอกเหนือจากนี้ยังมีลำน้ำออน ที่มีลักษณะแยกออกเป็นเหมืองง่าอีกหลายจุด เช่น ในเขตตำบลแช่ช้าง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นช่วงที่ลำน้ำออนไหลผ่าน หรือในเขตอำเภอดอยสะเก็ดก็มีลักษณะของเหมืองง่า

โดยลำเหมืองทั้ง 2 สาย มีชื่อว่า น้ำฮ่องไคร้ และน้ำแม่โป่ง เหมือนชื่อเดิม

ต่อเมื่อไหลไประยะหนึ่ง มีการบรรจบรวมกันเป็นลำเหมืองเดียวกัน และแยกออกเป็นเหมืองง่าอีกทีตามลักษณะภูมิประเทศที่ลำเหมืองไหลผ่านไป