หนุ่มเมืองจันท์ : ศิลปะ “ความสุข”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน มื้อกลางวันของผมคือ “หมูสะเต๊ะ”

ไม่ได้กินเล่นๆ

แต่กินแบบเอาจริงเอาจัง

“หมูสะเต๊ะ” 30 ไม้ ขนมปังปิ้ง 2 ชิ้น

ตอนที่เอา “หมูสะเต๊ะ” และเครื่องเคียงวางเรียงบนโต๊ะ

ผมก็นึกถึงวัยเด็กตอนที่อยู่เมืองจันท์

ครอบครัวที่ลูกเยอะต้องทำอาหารกินเอง

“หมูสะเต๊ะ” คือ “เมนูพิเศษ” ของที่บ้าน

จะได้กินเมื่อ “ป๋า” ถูกหวย

ที่เมืองจันท์มี “หมูสะเต๊ะ” เจ้าดังที่ได้ “เชลล์ชวนชิม” คือ “ลิ้มหมูสะเต๊ะ” อยู่หน้าโรงหนังเฉลิมจันท์เก่า

“ป๋า” จะซื้อให้ลูกกินในวาระพิเศษนี้

ซื้อมาเท่าไร พี่น้องทุกคนจะรู้กันว่า “หาร 6”

คนที่มีพี่น้องหลายคนจะเข้าใจถึง “บัญญัติของครอบครัว” เป็นอย่างดี

นั่นคือ “บัญญัติไตรยางศ์”

“หมูสะเต๊ะ” มีกี่ไม้ หารด้วยจำนวนพี่น้อง 6 คน

ส่วนใหญ่โควต้าที่แต่ละคนได้คือ ไม่ถึง 10 ไม้

ผมใช้วิธีการรักษา “ความสุข” ให้อยู่กับเรานานที่สุด

ด้วยการเคี้ยวช้าๆ อย่างละเมียดละไม

วันนี้พอเห็น “หมูสะเต๊ะ” 30 ไม้บนโต๊ะ

ผมก็รู้สึกร่ำรวยทางอาหารขึ้นมาทันที

และนึกขอบคุณ “ความไม่มี” ในวัยเด็ก

เพราะทำให้เรามีความสุขง่ายกว่าคนที่ “มี”

นึกถึงตอนเข้ามาเรียนใน กทม. ต้องนั่งรถเมล์ธรรมดา

ได้นั่งรถ ปอ. ก็สุข

พอมีเงินนั่งแท็กซี่ก็รู้สึกว่ารวยมาก

มีรถส่วนตัว ยิ่งรู้สึกเหมือนเป็นมหาเศรษฐีเลยครับ

ในขณะที่คนที่รวยมาตั้งแต่เด็ก

มีรถรับ-ส่งไปโรงเรียน

นั่งแท็กซี่ก็คงไม่มีความสุขนัก

เหมือนเคยมีอยู่ 10

ได้ 9 ก็ทุกข์

แต่คนที่ตอนเด็กมีแค่ 3

พอได้ 4 ก็สุข

5 ก็สุข

ได้ถึง 9 จะรู้สึกเลยว่าเราโชคดีมาก

แต่คนที่รวยมาตั้งแต่เด็ก

ถ้าได้ 9 เมื่อไร เขาจะทุกข์

เพราะต่ำกว่า 10 ที่เคยมี

ครับ บางทีโลกก็ยุติธรรมเหมือนกัน

อยู่ที่เรามองในมุมไหน

โลกนี้มีหลายมุมให้มอง

นี่คือหนึ่งใน “ศิลปะ” ของการหา “ความสุข” ในชีวิต

วันก่อน ผมสัมภาษณ์ “ไชย เฉลิมวัชราภรณ์” เจ้าของร้าน JUMBO LOBSTER ในซอยเยาวราช 11

รู้จัก “ไชย” มานาน เพราะมาเรียน ABC รุ่นแรก

ตอนนั้นเขาเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขายเครื่องมือแพทย์ให้กับคลินิกทันตกรรม

แต่ “ไชย” เป็นคนชอบทำอาหาร

ชอบขนาดเข้าไปเรียนในหลักสูตรการทำอาหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต, โรงแรมโอเรียนเต็ล

และหลักสูตร “เลอ กอร์ดอง เบลอ” ที่โด่งดัง

ที่ “เลอ กอร์ดอง เบลอ” เรียนรู้ตั้งแต่เบสิกของการทำอาหาร

การใช้มีด

มีดประจำตัว “เชฟ” มีหลายสิบแบบ

แต่ละแบบใช้กับเนื้อหรือวัตถุดิบคนละอย่าง

เชื่อไหมครับว่า ราคามีดชุดนี้เกือบแสนบาท

นอกจากนั้น เขายังได้ความรู้เรื่อง “การใช้ไฟ”

อาหารแบบไหนใช้ไฟระดับไหน นานเท่าไร

มีคนเคยบอกผมว่าศิลปะที่สำคัญมากของการทำอาหาร

คือ ศิลปะการใช้ไฟ

ตอนที่ “ไชย” เล่าเรื่องการย่างกุ้งแม่น้ำก็น่าสนใจ

ต้องใช้ไฟแรงที่ส่วนหัว ไฟเบาๆ ที่ส่วนตัว

หรือการอบ LOBSTER ก็มีรายละเอียดเยอะมาก

ต้องเอาไปนึ่งก่อน เพื่อไม่ให้เนื้อแข็งเกินไป

ต้องย่างด้วยเตาที่ให้ความร้อนจากด้านบน

แต่สรุปว่า “อร่อยมาก”

เรื่องที่ผมชอบมากที่สุดคือ การตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำร้านอาหารตามฝันของ “ไชย”

ตึกที่เยาวราชที่ดูโทรมๆ ค่าเช่าแพงมากนะครับ

แพงพอๆ กับบ้านให้เช่าทำร้านอาหารในแถบทองหล่อหรือเอกมัย

แต่ “ไชย” เลือกมาเปิดร้านแบบ “สตรีตฟู้ด”

ไม่ติดแอร์

แทนที่จะเป็นเจ้าของร้านอาหารหรูที่ทองหล่อ

ที่สำคัญก็คือ เขาไม่ได้แค่ลงทุนทำร้านแล้วชวนเพื่อนมากิน

หรือเข้ามาดูร้านเป็นพักๆ แบบเจ้าของร้านทั่วไป

แต่เขาทั้งยืนเรียกลูกค้าอยู่หน้าร้าน รับออเดอร์และทำอาหารเองด้วย

เขามีพ่อครัวหลักอยู่ด้านใน

แต่ “ไชย” จะยืนย่างกุ้งอยู่ด้านนอก

ถามว่า “เหนื่อยไหม”

เขาบอกทันทีว่าเหนื่อยมาก

ทำไม่กี่เดือน น้ำหนักลดไป 7 กิโล

“แต่มีความสุขมาก”

ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มของเขาชัดเจนที่สุด

“ไชย” ได้ใช้ทักษะทุกอย่างที่สั่งสมมาในชีวิต

ตั้งแต่การขายเครื่องมือแพทย์ ประสบการณ์กับนักท่องเที่ยวตอนทำบริษัททัวร์

จนถึงความรู้จากการเรียนหลักสูตรทำอาหาร

“ไชย” บอกว่าเขาไม่ได้อยากแค่ทำร้านอาหาร

แต่เขาอยากทำอาหารอร่อยให้คนกิน

ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส เขาได้อยู่แล้ว

แต่ยังพูดภาษาจีนไม่ได้

ตอนนี้เขากำลังเรียนอยู่

ประโยคแรกที่เขาหัดพูด คือคำว่า “ห่าวชือมะ”

…อร่อยไหม

ถ้าลูกค้าตอบว่า “อร่อย”

เขาจะมี “ความสุข”

ผมชอบการเลือก “ตำแหน่ง” ใน “ความฝัน” ของเขา

“ไชย” ชอบยืนอยู่หน้าร้าน

ทำอาหาร

และคุยกับลูกค้า

ชอบฟังคำว่า “อร่อยมาก” จากลูกค้า

คงคล้ายๆ “เจ๊ไฝ” ที่ตอนนี้อายุ 70 กว่า

รวยมากแล้ว

แต่ก็ยังยืนอยู่หน้าเตาทำอาหารอยู่ทุกวัน

เพราะนั่นคือ “ตำแหน่ง” ที่เธอมีความสุขที่สุด

ผมนึกถึง “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์

ทุกครั้งที่เขามีคอนเสิร์ตหรือโชว์

ตำแหน่งที่มีความสุขที่สุดของ “พี่จิก”

ไม่ใช่นั่งดูด้านหน้าสุด

หรือได้เดินออกมาหน้าเวที โค้งคำนับคนดูในฐานะเจ้าของคอนเสิร์ต

แต่เป็น “ตำแหน่ง” ด้านหลังเวที

ชะโงกออกมามองเห็นปฏิกิริยาคนดู

และเห็นศิลปินที่เล่นเพลงของเขาบนเวที

ครับ ศิลปะการหาความสุขในชีวิต

ไม่ใช่แค่ทำฝันให้เป็นจริง

แต่อยู่ที่การเลือกตำแหน่งการยืน

ยืนอยู่ตรงไหนบน “ความฝัน” ของเราเอง

แล้วมี “ความสุข” ที่สุด