ชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ภิกษุณีสงฆ์

ไปเจอหนังสือเล่มนี้โดยบังเอิญ เลยอยากจะเล่าด้วยความตื่นเต้นว่า เมื่อ พ.ศ.2518 ผู้เขียนเรียงพิมพ์ต้นฉบับหนังสือเล่มนี้เองทั้งเล่ม

สมัยก่อน การพิมพ์ยังใช้เรียงตัวตะกั่ว มีตัวหนา ตัวบาง เรามีโรงพิมพ์เอง ลูกๆ ในบ้านทุกคนต้องลงมาช่วยงานโรงพิมพ์

ผู้เขียนตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน ตอนค่ำต้องมาช่วยพับกระดาษ คนที่อยู่หน้าแท่นพิมพ์ เราเรียกเขาว่า ช่างแท่น เขาจะยกกระดาษที่พิมพ์เสร็จแล้วมาวางโครม เราแย่งกันพับ โดยทางโรงพิมพ์ให้ค่าแรงพันละ 2 บาท

เราช่วยกันพับสองคน พับ ถอด รีด แล้วก็พับใหม่ ถอดใหม่ จาก 8 หน้า เหลือครึ่ง แล้วพับลงมาอีกที เขาเรียก 8 หน้ายก คือขนาด เอ4 ปัจจุบันค่ะ

ในสมัยนั้น บ้านที่อยู่นั้นจะได้ยินเสียงเครื่องพิมพ์ดังเช้งๆ ตลอดเวลา เป็นปกติ ถ้าไม่เช้ง ไม่ดีค่ะ สงสัยว่าแท่นพิมพ์จะมีปัญหาหรือเปล่า

เราได้ค่าพับพันละ 2 บาท ต้องมาแบ่งกันคนละครึ่ง เพราะ 2 คนช่วยกัน ส่วนค่าเรียงนั้น ยกละ 30 บาท ยกหนึ่งมี 16 หน้า ตรงนี้อาจจะจำผิดพลาด

เล่มที่ผู้เขียนมีมานะเรียงพิมพ์เองทั้งหมดเป็นหน้าเล็ก เขาเรียกว่า 16 หน้ายก คิดว่าเล่มที่เล่านี้น่าจะอยู่ที่ 2 ยก

 

มารยาทของการเรียงพิมพ์คือ ใครเรียง แล้วพิมพ์แล้ว ต้องมาจ่ายตัวคืนลงหลุมค่ะ

หลุม ก.ไก่ ก็จะมี ก.หนา ก.บาง ก.หนา คือ ก ที่อยู่ตามลำพังโดด ไม่มีสระประกอบ แต่ถ้ามีสระประกอบ ต้องใช้ ก.บาง เอาสระเข้ามาประกบเข้าไป ก็จะเป็นพื้นที่เท่า ก.หนา กี ต้องหยิบ ก.บาง แล้วตามด้วยสระอี คนที่ออกแบบนั้น เรียกว่าอัจฉริยะจริงๆ

ข้อเสียของตัวตะกั่ว มันมีเก่าสึกหรอ ใช้มันมากๆ เข้า มันกร่อน ตัวก็จะไม่คม และบางทีหักขณะพิมพ์ กิน สระอิหักกระเด็นไปขณะพิมพ์ เราจึงพบว่ามีสะกดผิด เหลือเพียง กน เป็นต้น

พอตัวเริ่มสึก ช่างแท่นจะเป็นคนคอยรายงาน ซื้อตัวใหม่ เราก็จะเปลี่ยนตัวกันยกออกเป็นถาดๆ เลย

ที่คุยเป็นตุเป็นตะ ก็ครั้งเดียวในชีวิตแหละค่ะที่เรียงพิมพ์หนังสือเองทั้งเล่ม เล่มก็บางนิดเดียว แบบ 16 หน้ายก คือหน้าเล็ก ทั้งหมด 84 หน้า

 

ปีนั้น 2518 เป็นปีที่กรุงเทพฯ มีแผ่นดินไหว ผู้เขียนสอนที่ธรรมศาสตร์แล้ว กำลังท้องลูกคนที่สองค่ะ เป็นคนที่มีความสุขมากเวลาท้อง และจะมีพลังการทำงานมากกว่าช่วงปกติที่ไม่ได้ท้อง เขาว่าลูกในท้องออกมาช่วยงาน

หนังสือเล่มน้อยที่เป็นชิ้นส่วนประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ ตอนนั้นผู้เขียนตั้งใจให้เป็นของขวัญวันเกิดแก่มารดา ท่านเป็นภิกษุณีรูปแรกของไทย ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ วันเกิดท่านวันที่ 6 เมษายน ปีนั้นท่านครบ 67

เพราะท่านเป็นภิกษุณี หนังสือที่ทำถวาย จึงเป็นเรื่องราวของภิกษุณี สมัยนั้น สังคมไทยก็ยังไม่มีข้อมูลเรื่องราวของภิกษุณี ที่พูดกันมากคือ ภิกษุณีไม่มีแล้ว หนังสือเล่มนี้ต้องการที่จะตอบคำถามนั้น จึงตั้งชื่อว่า “ภิกษุณียังมีอยู่หรือ?” ราคาปกเล่มละ 7 บาท แต่ไม่ได้วางตลาดดอกค่ะ ติดราคาให้โก้ๆ ไปอย่างนั้นเอง

น่าจะเป็นหนังสือเล่มแรกๆ ในวงการหนังสือของไทยที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภิกษุณีอย่างเป็นวิชาการมากที่สุดเล่มหนึ่ง

 

ตอนนั้น เริ่มสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วค่ะ ก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 5 บาท แต่มีอยู่เจ้าหนึ่ง ตรงหัวมุมท่าพระจันทร์ อาเจ็กคนนี้ขายก๋วยเตี๋ยวชามละ 3.50 บาท ที่เขียนรายละเอียดนี้ ตั้งใจที่จะบันทึกประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสข้อมูลจริงๆ ในช่วงนั้น

ในคำนำ ผู้เขียนลงวันที่ไว้ 30 มีนาคม 2518 ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะตั้งใจจะพิมพ์ออกมาให้ทันวันเกิดของมารดาวันที่ 6 เมษายน

หนังสือเล่มน้อยนี้ แบ่งเป็นบทๆ บทแรก กำเนิดภิกษุณีสงฆ์ บทที่สอง ภิกษุณีในสมัยพุทธกาล บทที่สาม ภิกษุณีในประเทศอินเดียและศรีลังกา

ที่อยากนำมาเล่าซ้ำคือ บทที่ 3 ค่ะ เรื่องราวของภิกษุณีนั้นอาภัพอยู่ ทันทีที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระไตรปิฎกก็เลิกบันทึกเรื่องราวของภิกษุณีโดยสิ้นเชิง

ทำราวกับว่า ภิกษุณีหมดไปจากแผ่นดินอินเดีย พร้อมกับการเสด็จดับขันธปรินิพพานของท่านกระนั้นเชียว

 

เคยคุยกับแม่ชีไทยท่านหนึ่ง ท่านยืนยันความเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ท่านบอกว่าภิกษุณีหมดไปตั้งแต่สมัยนั้น

“เพราะดูซิ พระไตรปิฎกยังไม่มีการกล่าวถึงเลย ทั้งในตอนเสด็จดับขันธปรินิพพาน และปฐมสังคายนา ที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพียงสามเดือนหลังจากที่ถวายเพลิงพระพุทธองค์”

เสร็จแล้วอยู่ดีๆ ก็โผล่มาพูดถึงพระนางสังฆมิตตา พระธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราชที่เป็นภิกษุณี และเดินทางไปสืบพระศาสนากับพระเชษฐาที่ศรีลังกา ถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์อยู่ในอินเดีย พระนางสังฆมิตตาจะโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร

การศึกษาเรื่องเส้นทางของภิกษุณี นอกจากที่ระบุไว้ชัดเจนในพงศาวดารของศรีลังกาในคริสต์ศตวรรษที่ 4 และ 5 แล้ว ในหนังสือเล่มน้อยที่อยู่ในมือขณะนี้ ผู้เขียนศึกษาหาข้อมูลจากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี พระภิกษุที่เป็นอาจารย์บางท่านเคยว่า เป็นหลักฐานอ่อน (soft evidence) ผู้เขียนก็เถียงท่านว่า ไม่อ่อนนะ เพราะจารึกบนหินทีเดียวแหละ (hard evidence)

จารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น อยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 3 นับเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุด จารึกที่พบระบุถึงภิกษุณีของพระเจ้าอโศกนั้น พบที่ ภบระ พระองค์ทรงขอร้องให้ทั้งภิกษุและภิกษุณีสงฆ์พึงเอาใจใส่ศึกษาหัวข้อธรรมะ และที่สาญจี เตือนภิกษุและภิกษุณีสงฆ์ว่า หากรูปใดสร้างความเดือดร้อนให้คณะสงฆ์ให้เปลี่ยนไปนุ่งขาวแล้วออกไปอยู่นอกเขตของสงฆ์

ที่พุทธคยา พบศิลาจารึกที่กล่าวถึงภิกษุณีกุรันจี อดีตพระชายาของพระเจ้าอินทรามิตร ว่าได้สำเร็จเป็นอรหันต์

ส่วนจารึกที่สาญจี กล่าวถึงภิกษุณีที่เป็นอาจารย์มีความชำนาญทางวิชาการเป็นพิเศษ เช่น พระภิกษุณีอวิสินา ได้รับการเรียกขานว่าเป็น สุตาติคินี เป็นภิกษุณีของนิกายเสาตรานติกะที่ทรงความรู้ทางพระสูตร

จารึกจากเมืองกุษาณ พูดถึงภิกษุณีพุทธมิตรา เป็นศิษย์ของพระภิกษุชื่อ พลภิกษุ ได้รับการยกย่องว่าเป็นไตรปิฏกาจารย์ คือรอบรู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก

ที่ถ้ำจุนนาร์ มีจารึกที่ระบุการสร้างภิกขุนูปัสสัย คือที่พำนักของพระภิกษุณี เป็นของนิกายธัมมุตรียะ

หลวงจีนฟาเหียนที่มีชื่อเสียงเพราะได้เดินทางไปอินเดียในช่วง พ.ศ.942-957 ได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางไว้ว่า เมื่อเดินทางไปถึงเมืองสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล ได้เห็นวิหารเก่าแก่ของพระนางมหาปชาบดีเถรี แต่ไม่มีภิกษุหรือภิกษุณีจำพรรษาอยู่แล้ว

ในสมัยนั้น ที่เมืองสังกาสยะ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองคะโนช ปรากฏว่ามีภิกษุและถิกษุณีมากมายจำนวนนับพันรูป

 

ชัดเจนว่า หนึ่งพันปีแรกหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ภิกษุณีสงฆ์ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

จารึกบนผนังถ้ำที่เมืองกันเหริ อยู่ทางด้านขวา หมายเลข 22 จะพบรายชื่อของภิกษุณีที่เป็นลูกศิษย์ของภิกษุณีมิตสิริ คทะ และปทุมานิกา ผู้เป็นอาจารย์

จารึกเมืองอมราวตีมีกล่าวถึงภิกษุณีไม่น้อยกว่า 8 แห่ง ร่องรอยเหล่านี้ ค่อยๆ จางไป และนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-16 เป็นต้นมา เราก็ไม่พบเห็นการจารึกถึงหรือเกี่ยวกับภิกษุณีอีก

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของประเทศอินเดียจะรายงานตรงกันว่า เติร์กมุสลิมเข้ามาโจมตีอินเดียในสมัยนั้น การสูญหายของพระพุทธศาสนา จึงสูญหายไปพร้อมๆ กันทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

ศรีลังกานั้นอาศัยมาสืบต่อสายการบวชของภิกษุสงฆ์ไปจากไทยใน พ.ศ.2296 ในช่วงปลายอยุธยา แต่ไทยไม่มีสายการบวชของภิกษุณีสงฆ์ หลังจากพุทธศตวรรษที่ 16 จึงนับเป็นยุคมืดของสงฆ์ในอินเดียและศรีลังกา ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์

ชิ้นส่วนเล็กๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ที่ว่านี้ ก็ให้องค์ความรู้ให้เราได้สานต่อได้ในสมัยต่อมา เป็นการยืนยันว่า ผู้เขียนมีความสนใจในการจารึกประวัติศาสตร์ของภิกษุณีสงฆ์ในอดีตมาตั้งแต่ 2518 นับได้ 40 กว่าปีแล้ว