ลมทางใต้กำลังเปลี่ยนทิศท่ามกลางกระแสโลก

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองมากมาย

ทั้งการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น สหพันธรัฐมาเลเซีย และที่กำลังจะเกิดขึ้น เช่น ราชอาณาจักรกัมพูชาและประเทศไทย

ในเวลาเดียวกัน นโยบายภูมิภาคของแต่ละประเทศก็กำลังเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคและระดับโลก

เช่น การทะยานขึ้นของสาธารณรัฐประชาชนจีน บทบาทที่เข้มแข็งขึ้นของทั้งอินเดียและญี่ปุ่น สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา กติการะหว่างประเทศที่ถูกสั่นคลอนมากขึ้นตามลำดับ

ผมขอยกตัวอย่างสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและมีบางประเทศตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างรวดเร็ว นั่นคือ สหพันธรัฐมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงของผู้นำมาเลเซียจะประสบความสำเร็จโดยไว ง่ายและไม่เผชิญอุปสรรคใดๆ

 

รีเซ็ตนโยบายเดิม

หากเราติดตามการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองของสหพันธรัฐมาเลเซีย สหพันธรัฐมาเลเซียประสบปัญหาทางเศรษฐกิจภายในอย่างรุนแรง หนี้สินของประเทศบางส่วนที่ผูกติดกับคดีทุจริตที่รัฐบาลชุดก่อนสร้างเอาไว้ก่อปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก

ปัญหาค่าครองชีพเพิ่มขึ้นสูงแต่รายได้ของประชาชนแย่ลงมาก ค่าเงินริงกิตตกต่ำต่อเนื่อง ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า ผู้นำคนใหม่คือ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ไม่รอช้า เขารีบเร่งวางน้ำหนักและปรับเปลี่ยนอีกครั้งต่อนโยบายภูมิทัศน์เศรษฐกิจ (geo-economic policy) ของสหพันธรัฐมาเลเซียเสียใหม่

ท่านผู้นำสหพันธรัฐมาเลเซียคนใหม่เริ่มประชุมทวิภาคีกับเพื่อนของเขาคืออินเดียและญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงแรกของการเข้าดำรงตำแหน่ง

 

อินเดีย

นายกรัฐมนตรีอินเดียนเรนดรา โมดี (Narendra Modi) โทรศัพท์ถึง ดร.มหาธีร์ไม่ช้าไม่นานหลังจาก ดร.มหาธีร์เข้ารับตำแหน่ง การพบปะครั้งนี้มีความสำคัญเพราะนายกรัฐมนตรีโมดีดำเนินนโยบาย Acting East และกำลังผลักดันความผูกมัดให้เข้มแข็งมากขึ้นกับอาเซียน

ส่วนสำหรับ ดร.มหาธีร์ นายกรัฐมนตรี โมดีจะเป็นการดีมากเมื่อมีความกระตือรือร้นและเป็นหุ้นส่วนที่ทรงอิทธิพลในภูมิภาคนี้

อินเดียดูเหมือนกำลังจะเป็นพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในทศวรรษที่กำลังมาถึงหรือในอีกสองทศวรรษข้างหน้า

อีกทั้งอินเดียนับเป็นสถาปนิกทางเศรษฐกิจในระยะยาวในภูมิภาคซึ่งจะต้องทำให้ความเป็นจริงนี้เกิดขึ้นได้

 

ญี่ปุ่น

แนวนโยบายข้างต้นนั้นนำมาสู่การพบปะผู้นำต่างประเทศชาติที่สองของสหพันธรัฐมาเลเซียคือ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ (Shinzo Abe) แห่งประเทศญี่ปุ่น

ทำไม ดร.มหาธีร์เลือกที่ไปเยือนญี่ปุ่นเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังจากเขาเข้ารับตำแหน่ง?

บางที ดร.มหาธีร์อาจมองเห็นคุณค่าการนำกลับมาใช้อีกครั้งของนโยบาย (Look East policy) ซึ่งเขาเองได้ผลักดันในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงทศวรรษ 1980 แต่ในแนวทางที่มีรูปแบบที่แตกต่างและสำหรับเหตุผลที่แตกต่างออกไปด้วย

แน่ละนี่มีเรื่องของการฝันหาอดีตด้วยอย่างแน่นอน

รัฐบาลชุดที่แล้วของนาจิบ ราซัก ไม่ได้แสดงนโยบายที่ “การวางระยะห่าง” จากชาติมหาอำนาจของโลกอย่างที่ชาติเหล่านั้นควรได้รับจากสหพันธรัฐมาเลเซีย

รัฐบาลของนาจิบ ราซัก แสดงกายกรรมอย่างโลดโผนต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่กลับผูกพันอย่างเงียบเชียบกับญี่ปุ่น

รัฐบาลเขาไม่ได้ทำอะไรเลยกับความกระตืนรือร้นของญี่ปุ่นที่พึงพอใจการทำงานและนโยบายสมัย ดร.มหาธีร์

ดร.มหาธีร์เชื่อเสมอมาถึงการรักษา “การวางระยะห่าง” จากมหาอำนาจอื่นๆ ดร.มหาธีร์ชื่นชอบการทำงานกับประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่แบบเท่าเทียมกัน

นายกรัฐมนตรี ดร.มหาธีร์จะขยายและปรารถนาความร่วมมือกับ Belt and Road Initiative ของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนตราบเท่าที่หุ้นส่วนมีความแฟร์และปักกิ่งไม่ได้ใช้สหพันธรัฐมาเลเซียเป็นเพียงสนามเด็กเล่น

ตามแนวทางดังกล่าว เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า การเป็นเพื่อนฉันมิตรอย่างยาวนานระหว่างญี่ปุ่นกับสหพันธรัฐมาเลเซียแสดงให้เห็นอีกครั้งว่า นโยบายของ ดร.มหาธีร์ปฏิบัติได้สำหรับนโยบายภูมิเศรษฐศาสตร์

 

ความสำคัญของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม นโยบาย “วางระยะห่าง” ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้โดยปราศจากบางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement)

ดร.มหาธีร์จะพอใจการผลักดันการวางระยะห่างจากชาติมหาอำนาจโดยการบูรณาการเพิ่มขึ้นกับอาเซียนในหุ้นส่วนกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย และรัฐต่างๆ ในเอเชียกลาง

นี่จะเป็นการเกิดใหม่อีกครั้งของแนวความคิดของ ดร.มหาธีร์ เรื่อง East Asian Economic Caucus-EAEC ก็ได้

การใกล้ชิดกลุ่มอาเซียน ผ่าน EAEC จะสามารถให้ประเทศต่างๆ เช่นสหพันธรัฐมาเลเซียเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากกว่าโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อการเข้าถึงนี้

อีกทั้งยังจะอนุญาตให้ประเทศต่างๆ เช่น อินเดียทำการค้าและการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในที่อื่นๆ ในขณะที่ยังสามารถแสดงเขตพื้นที่บ้านของพวกเขา

ซึ่งประเทศเหล่านี้สามารถได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องมีความผูกพันต่างๆ ที่เสียหาย

การผูกพันให้เข้มแข็งกับเศรษฐกิจอาเซียนและรวมถึงชาติมหาอำนาจอื่นๆ ผ่าน EAEC จะหมายความว่าทั้งสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่สามารถครอบงำนโยบายต่างประเทศของสหพันธรัฐมาเลเซียได้ อีกทั้งสหพันธรัฐมาเลเซียจะไม่ต้องเลือกระหว่างการเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจชาติไหน การพบปะพูดคุยกับ Jack Ma หลังจากการประชุมกับนายกรัฐมนตรีของอินเดียและญี่ปุ่นแสดงให้เห็นการปฏิบัติได้ (pragmatism) ของนายกรัฐมนตรี ดร.มหาธีร์มากกว่าการติดอยู่ในกับดักการเมืองเรื่องชาติมหาอำนาจ (great power politics)

ดร.มหาธีร์ต้องการผลักดันไปข้างหน้าให้เกิดการดึงดูดการลงทุนจากชาติต่างๆ ทั้งที่มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย หรือที่ไหนก็ได้ของโลก

ดร.มหาธีร์เข้าใจว่าการค้าและการลงทุนเป็นเลือดที่จำเป็นสำหรับสหพันธรัฐมาเลเซีย การปรับปรุงเครือข่ายของสหพันธรัฐมาเลเซียกับตลาดทั่วโลกต้องเป็น “ประเด็นวาระอันดับแรก” ที่จะเร่งสร้างเครือข่ายการค้าและการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น

 

สิ่งท้าทาย

ทว่า การรีเซ็ตนโยบายของประเทศท่ามกลางความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจการเมืองภายในยังดำเนินอยู่และไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไรไม่ใช่เรื่องง่าย พร้อมกับบริบทโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซับซ้อน สับสนและควบคุมได้ยากไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับสหพันธรัฐมาเลเซียและประเทศไหนๆ

สำหรับสหพันธรัฐมาเลเซีย การกลับมาวางตำแหน่งของประเทศให้ “รักษาระยะห่าง” กับชาติมหาอำนาจ ญี่ปุ่นไม่ได้รู้สึกว่าสหพันธรัฐมาเลเซียเป็นภูมิทัศน์ทางการลงทุน (investment Landscape) การนำเสนอสถาปัตยกรรมด้านการค้าใหม่ (new trade architecture) ของมาเลเซียต้องเป็นที่น่าพอใจมากขึ้นสำหรับอาเซียนและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจนี้จะลดความต้องการที่ขัดแย้งกันระหว่างสาธาณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกาและอินเดียได้แค่ไหน

ความเปลี่ยนแปลงทางใต้ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ว่าแต่ว่า ผู้นำทางนโยบายไทยรู้หรือยัง

สำคัญกว่านั้น รู้ไหมว่ามันคืออะไร?