ฟังลำโพงอะไรดี มีงบ (ประมาณ) แสน

ศุกร์ก่อนไปเดินงาน 2018 Hi-End AV Show พบข้าวของที่น่าสนใจมากมาย ทั้งเครื่อง ทั้งลำโพง รวมทั้งบรรดาเครื่องเคียงต่างๆ ในความหมายของ Accessory ที่มีหลากรูปแบบ มากหน้าหลายตา ซึ่งต่างอวดสรรพคุณในการช่วยยกระดับคุณภาพทั้งในส่วนของระบบเสียงและระบบภาพ ที่บ้างก็ชวนให้ทึ่งเอาการกับแนวคิด ซึ่งบางอย่างดูหลักการแล้วก็ฟังเข้าที ขณะที่กับบางสิ่งเห็นแล้วได้แต่นึกในใจ แบบว่าคิดได้ไง, อะไรแถวๆ นั้น

ไว้จะทยอยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ แต่กับเที่ยวนี้ขอคุยเรื่องที่จ่าหัวที่ดูเหมือนจะเป็นเชิงคำถามก่อนครับ

ซึ่งจริงๆ ก็เป็นคำถามที่ถูกถามในงานที่ว่านั่นแหละครับ เพราะระหว่างที่เดินเข้า-ออกห้องโน้น ห้องนี้ ก็ไปปะเข้ากับคนเคยคุ้นอยู่รายที่ (เคย) เป็นคนเล่นเครื่องเสียง และชอบฟังเพลงเอามากๆ ตามอ่านนิตยสาร HI-FI STEREO ที่ผมทำมาตั้งแต่ยุคแรกๆ เคยไปพูดคุยถึงที่ทำงานรวมทั้งโทรศัพท์คุยด้วยกันอยู่บ่อยๆ ซึ่งก็วนเวียนอยู่กับเรื่องเครื่องเสียงและดนตรีนี่แหละครับ ไม่เคยวอกแวกไปข้างอื่นบ้างเลย

แต่หลายปีให้หลังนี่ห่างกันไป ได้ข่าวว่าไปอยู่หัวเมืองที่เป็นพื้นเพเดิม และวุ่นๆ กับงานการส่วนตัวจนไม่มีอันให้ได้เล่นได้ฟังของที่เคยชอบ ต่างกับก่อนหน้าโน้นที่กินเงินเดือนไปวันๆ (คุณเขาว่างั้น) ก็เลยมีเวลาสนุกกับของชอบได้มากหน่อย

ดีที่ตอนเจอกันนั้นทั้งคุณเขาและผมต่างเข้าออกฟัง ดู ตามห้องต่างๆ มาได้พอควรแล้ว จึงมีเวลาได้นั่งคุยกันและเป็นการพักแข้งพักขาไปในตัว

หลังจากถามไถ่พูดคุยโน่นนี่กัน ก็ได้ทราบว่าคุณเขาพอจะมีเวลาหวนคืนมาหาของชอบเล่น ชอบฟัง แบบแต่ก่อนได้แล้ว ก็เลยตามดูงานพวกนี้มาได้สองสามหน

แต่ยังไม่ได้ตกลงปลงใจกับอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ที่จะให้ออกมาเป็นเครื่องเสียงสักชุด

โดยกะว่าสักช่วงปลายปีโน่นแหละค่อยจัดหนัก คือตั้งใจให้เป็นของขวัญปีใหม่ตัวเองไปเลย

พูดคุยกันหลายเรื่อง ทั้งเครื่องและลำโพง แต่มีคำถามหนึ่งของคุณเขาที่ผมออกจะติดใจ ก็เลยนำผลพวงจากที่คุยกันมาพูดคุยกับคุณๆ ต่อในเที่ยวนี้ คำถามที่ว่าก็คือ – ตอนนี้ลำโพงในงบสักแสนนี่ ควรไปลองฟังอะไรดูบ้าง

ขอขยายความนิดนะครับ อย่างที่บอก, คือเราสองต่างคุยกันมานานมากแล้ว นานจนคุณเขารู้นิสัย ว่าผมไม่เคย “ฟันธง” กับอะไรเลย

มีแต่แนะให้ไปลองฟังโน่น นี่ นั่น ฟังแล้วชอบ ไม่ชอบ อะไรแบบไหน อย่างไร ก็มาคุยกันต่อ

จนสุดท้ายจะลงตัวกับอะไรก็ปล่อยให้คุณเขานั่นแหละตัดสินใจเอาเอง

เพราะเงินที่จะซื้อก็ของคุณเขา เอาไปฟังก็ที่ห้องเขา บ้านเขา ผมไม่ได้มีเอี่ยวอะไรตรงไหนด้วยเลย

แล้วผมจะไปฟันธงให้เอาโน่น เอานี่ แทนคุณเขา

หรือตัดสินใจแทนใครได้อย่างไรกัน

หลายๆ ท่านที่เคย “หลังไมค์” ถึงผมตั้งแต่ยุคเขียนจดหมาย จนถึงวันนี้ที่พิมพ์ผ่านมาทางอีเมล

คงทราบเรื่องนิสัยที่ว่านั้นของผมกันดี

กลับมาเรื่องที่จะคุยกันเที่ยวนี้ต่อครับ ปกติแล้วผมจะเขียนต้นฉบับให้ “มติชนสุดสัปดาห์” ไม่คืนวันศุกร์ก็เป็นสายๆ วันเสาร์ ศุกร์ก่อนหลังกลับมาจากงานก็นั่งคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดี

ขณะที่พลิกดูฉบับล่าสุดด้วยว่าเขียนเรื่องอะไรไป ก็ให้นึกไปถึงที่คุยกับคุณเขาเมื่อกลางวัน จึงเห็นว่าเที่ยวก่อนมีพูดถึง Editors” Choice Awards หนล่าสุดของ TAS ไป เลยคิดว่าย่อยรางวัลนี้เฉพาะส่วนลำโพงมาให้คุณๆ ได้ทราบกันดีกว่า และจะจำกัดเฉพาะลำโพงในกลุ่มประมาณห้าหมื่นถึงแสน รวมทั้งเลือกมาเฉพาะที่มีขายในบ้านเราด้วย เผื่อคุณๆ สนใจ และตั้งงบไว้ประมาณนี้ จะได้ลองไปเลือกฟังดูตามอัธยาศัย

คือเป็นลำโพงในกลุ่ม US$1,500 – US$3,000 ครับ โดยตัวเลขในวงเล็บท้ายชื่อนั้นเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นราคาที่ยังไม่ได้รวมภาษี (ที่ไม่เท่ากัน) ของแต่ละท้องถิ่น หากเข้ามาบ้านเรา รวมอะไรเบ็ดเสร็จแล้วก็น่าจะอยู่ระหว่างห้าหมื่นนิดๆ ถึงแสนหน่อยๆ นั่นแหละครับ

และทั้งหมดเป็นกลุ่มลำโพงพื้นฐานของการก้าวย่างเข้าสู่ Hi-End ครับ

KEF LS50 ($1,500.-) โดดเด่นด้วยการทำงานของชุดไดรเวอร์แบบ Uni-Q ที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะ โครงสร้างตู้มีความหนาแน่นสูง งานฝีมือประณีตสวยงาม น้ำเสียงมีความเป็นกลางอย่างมาก โดดเด่นด้วยความเป็นธรรมชาติของเสียงดนตรี น้ำเสียงสะอาดสะอ้าน ให้อิมเมจที่แม่นยำ เสียงย่านความถี่กลางให้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม น่าฟัง ย่านความถี่ต่ำค่อนกลางเปี่ยมไปด้วยพลัง มีเวอร์ชั่นใหม่ออกมารองรับการเล่นแบบไร้สายและผนวกแอมป์ในตัว ราคา $2,199.-

Klipsch Heresy III ($1,700.-) ทำงานในระบบตู้ปิด แบบ 3-ทาง ชุดตัวขับเสียงถูกพัฒนาให้ดีขึ้นกว่ารุ่นแรกๆ วูฟเฟอร์ให้เบสที่เปี่ยมไปด้วยพลังมากขึ้น ทวิตเตอร์ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ขณะที่มิดเรนจ์ขึ้นรูปกรวยด้วยไทเทเนียมที่ผ่านการบีบอัดมาอย่างพอเหมาะ มีค่าความไวที่สูงถึง 99dB จึงทำงานกับแอมป์หลอดกำลังขับต่ำๆ ได้อย่างสบาย หากวางตำแหน่งได้อย่างพอเหมาะ อาทิ สูงจากพื้นสัก 2 ฟุต และ Toe-In เล็กน้อย จะให้สมดุลเสียงยอดเยี่ยมมาก

KEF R-300 ($1,800.-) ด้วยประสิทธิภาพการทำงานแบบ 3-ทาง ที่ประสานกันของชุดไดรเวอร์ Uni-Q กับวูฟเฟอร์ นำมาซึ่งความยอดเยี่ยมของน้ำเสียงที่มีความแม่นยำสูง พุ่งออก มีความพอดีของระดับเสียง และให้โฟกัสแม่นยำ น้ำเสียงโดยรวมมีความนุ่มนวล เสียงกลางน่าฟัง โดยเฉพาะเสียงร้องมีความสมจริงสูงมาก เป็นลำโพงที่รวมความยอดเยี่ยมหลายๆ ด้านไว้ในตัวมากกว่าคู่แข่งในกลุ่มเดียวกัน อาจจะมีเพียงการฟังกับออร์เคสตร้าแบบเต็มวงเท่านั้น ที่ดูจะขาดพลังไปบ้าง

Totem Acoustic Sky ($1,895.-) ผ่านการรังสรรค์มาด้วยความตั้งใจยิ่ง ให้น้ำเสียงที่สะอาดสะอ้าน ราบเรียบระรื่นหูอย่างน่าฟัง ขณะที่ตัวตู้นอกจากจะแลดูสวยงามแล้ว ยังมีความแกร่งที่ให้ความเสถียรเป็นอย่างมาก ให้น้ำเสียงที่มีความอบอุ่น เปี่ยมไปด้วยเนื้อหาของความเป็นดนตรีสูง หากได้อยู่ในห้องที่มีความเหมาะสมคือขนาดกลางแบบย่อมๆ ค่อนมาข้างเล็ก กับจับคู่แอมป์ได้พอเหมาะแล้วละก้อ แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าเสียงที่ได้ยินจะมาจากลำโพงคู่เล็กๆ แบบ 2-ทาง

Magnepan MG1.7i ($1,995.-) ลำโพงแบบแผง Ribbon ภาพรวมของเสียงที่ให้ออกมานั้นโดดเด่นกว่ารุ่นก่อนหน้า คือ MG1.6 ที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมในราคาที่ใครก็สามารถเป็นเจ้าของได้ โดยที่มันให้ความเหนือกว่าอย่างสมานเสมอในทุกๆ ด้าน เสียงตั้งแต่ย่าน Mid-Bass ขึ้นไป สามารถเทียบเคียงกับลำโพงที่เหนือกว่าระดับ Ultra Hi-End ได้อย่างสบายๆ ขอเพียงคุณมีที่ทางที่เหมาะๆ สำหรับตั้งวางมัน และหาแอมป์ที่ไปกันได้ดี มีกำลังมากพอ มาเข้าคู่ทำงานด้วย

เที่ยวหน้ามาว่ากันต่อนะครับ – อ้อ, รูปประกอบนั่น คือลำโพงแผงริบบิ้นที่พูดถึงท้ายสุดนั่นแหละครับ