กรองกระแส / จัตุมงคล โสณกุล การเมืองไทย ยุค ‘สามก๊ก’ พญาครุฑ งามสง่า

กรองกระแส

 

จัตุมงคล โสณกุล

การเมืองไทย ยุค ‘สามก๊ก’

พญาครุฑ งามสง่า

 

การเสียสละของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ด้วยการถอนตัวจากการเข้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นภายในเดือนพฤษภาคม 2562

เพราะว่าได้ก่อให้เกิด “แคนดิเดต” นายกรัฐมนตรีเพิ่มเข้ามาอีก 1 คน

นอกเหนือไปจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และที่สำคัญก็คือ นอกเหนือไปจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หากศึกษาคำกล่าวของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ว่า

“เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พญาครุฑอีก 1 ตน ผู้เป็นคนเก่ง คนดี คนกล้า ผู้ช่ำชองการบริหารราชการแผ่นดินอย่างยิ่งได้โผบินเข้าสู่เวทีการเมือง มีสังกัด มีกำลังหนุน แล้วคนอย่าง “หม่อมเต่า” นั้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในทุกแบบ ทุกสถานการณ์ ครบเครื่อง”

ทำไมจึงเปรียบ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นเหมือนกับ “พญาครุฑ”

และเมื่อมีการเน้นอย่างหนักแน่นว่า “จบการศึกษาชั้นสูงจากสถาบันโลก คือเคมบริดจ์ของอังกฤษ และฮาร์วาร์ดของอเมริกา ไม่ใช่อินเตอร์ดิบๆ รู้เมืองไทยเป็นอย่างดี”

ทำไมจึงต้องเป็น “เคมบริดจ์” ทำไมจึงต้องเป็น “ฮาร์วาร์ด”

 

จัตุมงคล โสณกุล

กับพรรคเพื่อไทย

 

การขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เหมือนกับจะส่งผลสะเทือนกับพรรคเพื่อไทย

แต่ในเมื่อพรรคเพื่อไทยยังไม่มี “หัวหน้าพรรค” อันแน่ชัด

ขณะเดียวกัน ในเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ออกแบบมาเพื่อสกัดพรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะตามยุทธศาสตร์ของการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เพื่อมิให้ “เสียของ” เหมือนกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

คำประกาศของแกนนำพรรคเพื่อไทยจึงเน้นอย่างหนักแน่นว่าพรรคเพื่อไทยต่อสู้เพื่อที่จะเป็นฝ่ายค้าน

อันตรงกับที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล

การดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทยจึงแทบไม่ส่งผลสะเทือนต่อพรรคเพื่อไทย ตรงกันข้าม จะส่งผลสะเทือนต่อแผนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงความเพ้อฝันของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะฉวยโอกาสจากความขัดแย้ง

กรณีของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล จึงเท่ากับปรากฏตัวเพื่อต่อสู้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยตรง

ในที่สุดแล้ว 1 ใน 3 คนนี้ใครจะได้เป็น “นายกรัฐมนตรี”

 

จัตุมงคล โสณกุล

ดุลใหม่ การเมือง

 

ไม่ว่าจะนำ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ไปวางเรียงเคียงกับใคร ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้วนมากด้วยสีสัน

แม้จะไม่เคยดำรงตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” มาก่อน

เพียงการผงาดขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ก็มากด้วยความมั่นใจ

และประเมินว่า “หม่อมเต่า” คือ “พญาครุฑ”

เพราะนอกจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์แห่งสหราชอาณาจักร หากแต่ยังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแห่งสหรัฐอเมริกา

เคยดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงการคลัง เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

“เมืองไทยไม่สิ้นคนดีจริงๆ ในวัย 70 เศษคนนี้มองว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทยมุ่งทำเพื่อประชาชน เพื่อประชาธิปไตยที่เป็นธรรมาธิปไตย ที่สำคัญยิ่ง เทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มีปณิธานแน่วแน่ว่าจะน้อมนำพระบรมราชวินิจฉัย พระบรมราโชบายและพระราชดำริมาเป็นหลักชัยในการนำพาประเทศ

เช่นนี้จึงเป็นบุคลาธิษฐานของอุดมการณ์พรรครวมพลังประชาชาติไทยโดยแท้” ตามถ้อยสดุดีอันมาจากนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์

 

เอนก เหล่าธรรมทัศน์

นักสู้เพื่อ “อุดมการณ์”

 

การผนึกพลังระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เพื่อชู ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ขึ้นชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

จึงทำให้เกิด “ดุลกำลัง” ทางการเมืองใหม่

ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นต้นทางความคิด ไม่ว่าใครก็ตามที่ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ในทางเป็นจริงได้ก่อให้เกิดตัวเลือกใหม่ในทางการเมือง

นอกเหนือจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกเหนือจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

สอดรับกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ วิเคราะห์และนิยามการเมืองไทยในปัจจุบันว่าเป็นยุคของสามก๊กอันหมายถึงก๊ก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก๊กนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และก๊ก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ในทางเป็นจริง