นับถือเจ้าแม่กวนอิม แล้วทำไมต้องไม่กินเนื้อ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีใครบางคนที่ใช้ชื่อบัญชีเฟซบุ๊กว่า Pat Hemasuk ได้อ้างเอาไว้ว่า คนไทยที่นับถือเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเชื้อสายจีนนั้น เพิ่งจะมาไม่กินเนื้อกันเอาก็เมื่อซีรี่ส์ฮ่องกงเรื่อง “กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม” ถูกนำเข้ามาฉายในเมืองไทย

เรื่องของเรื่องมันมีอยู่ว่า ฉากหนึ่งในซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวได้เล่าถึงพระราชบิดาของ “พระนางเมี่ยวซ่าน” (ที่ต่อไปจะกลายเป็นเจ้าแม่กวนอิม) ได้สิ้นพระชนม์ลง แล้วไปเกิดใหม่เป็น “วัว” เพราะกรรมเก่าที่ได้ทำไว้สมัยเป็นมนุษย์

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ใครที่นับถือเจ้าแม่องค์นี้ก็เลย “งด ละ เลิก” ที่จะกินเนื้อวัวไปด้วย นัยว่าเป็นการทำบุญให้กับพระราชบิดาของเจ้าแม่นั่นเอง

แต่ซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวเพิ่งจะถูกนำเข้ามาฉายในไทยเมื่อ พ.ศ.2528 เท่านั้นเองนะครับ

นั่นจึงหมายความว่า ใครคนเดียวกันนั้นก็ได้บอกเอาไว้ด้วยว่า แต่เดิมคนไทยเชื้อสายจีนที่นับถือเจ้าแม่กวนอิมก็กินเนื้อวัวให้เพียบเหมือนกันนี่แหละ เห็นได้ก็จากอาหารที่คนจีนทำขายสารพัดก็มีเนื้อเป็นส่วนประกอบสำคัญ

และก็ไม่เห็นจะมีข้อห้ามไม่ให้กินเนื้อวัวที่ตรงไหน?

 

ผมไม่แน่ใจนักว่า ก่อนหน้าที่ซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวจะเข้ามาฉายในประเทศไทยนั้น จะไม่มีคนไทยเชื้อสายจีน หรือแม้กระทั่งคนจีนที่เพิ่งอพยพเข้ามาอยู่ในไทย ที่ไม่กินเนื้อวัวด้วยเพราะแรงศรัทธาในเจ้าแม่กวนอิมอยู่เลย จริงอย่างที่ใครคนนั้นอ้างเอาไว้หรือเปล่า?

เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็มีหลักฐานที่เล่ากันปากต่อปาก อย่างที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “มุขปาฐะ” ในหมู่ชนเชื้อสายจีนหลายครอบครัวเลยทีเดียวว่า มีการตราข้อห้ามเอาไว้อย่างแน่นหนาว่าอย่ากินเนื้อวัว ด้วยสาเหตุมาจากเจ้าแม่กวนอิมนี่เอง

แต่หลักฐานของข้อห้ามไม่ให้กินเนื้อวัวในประวัติศาสตร์สังคมของจีน ก็ไม่ได้มีอยู่เฉพาะกลุ่มผู้นับถือเจ้าแม่กวนอิมเท่านั้นนะครับ ข้อห้ามในการบริโภค และฆ่าสัตว์วัว ที่เรียกว่า “หนิวเจี้ย” (niu jie) โดยอันที่จริงแล้ว

ข้อห้ามนี้ยังหมายรวมถึงสัตว์จำพวกเดียวกันอย่างควายอีกด้วย

 

นักจีนศึกษา ผู้สนใจในเรื่องของระบบความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาเต๋า ขงจื๊อ หรือพุทธ อย่างวินเซนต์ กูสเสิร์ต (Vincent Goossaert) ได้เคยเสนอเอาไว้ในบทความที่ชื่อ “The Beef Taboo and the Sacrificial Structure of Late Imperial Chinese Society” (ข้อห้ามกินเนื้อวัว และโครงสร้างการบูชายัญของสังคมจีนในยุคปลายจักรวรรดิ) ว่า ในบรรดาเอกสารจีนระหว่างราว พ.ศ.1350-1850 (ตรงกับช่วงระหว่างราชวงศ์ถัง ต่อเนื่องมาจนถึงราชวงศ์ซ่ง และราชวงศ์หยวนของจีน) นั้น มีข้อห้ามที่เรียกว่า “หนิวเจี้ย” นี้เอาไว้แล้ว ดังเช่นในเอกสารชิ้นหนึ่งในช่วงยุคดังกล่าว ที่มีเรื่องเล่าอ้างอยู่ในนั้นว่า

“…นายทัพคนหนึ่งชื่อโจวเจี้ย (Zhou Jie) เจ็บปวดทรมานจากโรคที่ติดเชื้อ เขาจึงขอลาจากที่ทำงานกลับมายังบ้าน จนเมื่อม่อยหลับไปเขาก็ฝันว่า ตนเองถูกจับกุมแล้วนำไปพิพากษาที่ศาลซึ่งรายล้อมไปด้วยเหล่าเจ้าหน้าที่คุ้มกันในชุดแดง ที่นั่นยังมีผู้คนจำนวนมากที่แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ (ในศาล) เข้ามาทักทายเขาอย่างเป็นพิธีการ แล้วจึงล้อมวงตัดสินคดีของเขา จากนั้นศาลได้เบิกตัวโจวเข้าไปแล้วถามว่า

“(จิตใจ) เจ้าโหดร้ายจนรู้สึกดื่มด่ำกับไปรสชาติของเนื้อวัวได้อย่างไร?”

จากนั้นก็ตะโกนให้เจ้าหน้าที่คุ้มกันจับโจวโบยเข้าที่หลัง แล้วลากเขาออกไป โจวหันไปขอความเมตตาจากศาล แล้วอ้อนวอนว่า

“จากนี้เป็นต้นไปข้าจะไม่กินเนื้อวัวอีกแล้ว และข้าขอสาบานด้วยว่า จะให้คนในครอบครัวของข้ายึดถือปฏิบัติในข้อห้ามนี้ด้วยเหมือนกัน”

ศาลจึงพิจารณาละเว้นโทษ แล้วปลดปล่อยโจวให้กลับไปบ้าน เมื่อนั้นนายทัพโจวค่อยสะท้านตื่นขึ้นจากความฝัน ซึ่งก็น่าแปลกที่โจวก็หายจากพิษไข้ของโรคติดเชื้อไปโดยปริยาย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โจวปฏิเสธที่จะกินเนื้อวัวอย่างเคร่งครัด และเผยแพร่ความเชื่อนี้ในทุกๆ ครั้งที่สบโอกาส…”

แน่นอนว่าเรื่องความฝันของนายโจวเจี้ยคนนี้ ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับเจ้าแม่กวนอิมเลยสักนิด แต่ก็เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า ลัทธิการไม่บริโภคเนื้อวัวในจีนสมัยโบราณนั้น ไม่ได้ถูกจำกัดวงแคบอยู่เฉพาะแค่ในเฉพาะกลุ่มศาสนิกชนผู้ศรัทธาในเจ้าแม่กวนอิมเท่านั้น

แถมนายกูสเสิร์ตคนดีคนเดิมยังระบุเอาไว้อีกด้วยว่า เขาสามารถรวบรวมเอกสารของจีนที่กล่าวถึงข้อห้ามไม่ให้กินเนื้อวัวในช่วงยุคเดียวกันนี้ (พ.ศ.1350-1850) ได้ถึง 35 ชิ้นเลยทีเดียว

 

น่าเสียดายที่ในข้อเขียนชิ้นดังกล่าวนั้น นายกูสเสิร์ตไม่ได้แจกแจงเอาไว้ว่า ในบรรดาเอกสารที่เหลืออีก 34 ชิ้นนั้น มีข้อความที่ระบุถึงความสัมพันธ์ของข้อห้ามการกินเนื้อวัวที่เกี่ยวข้องอยู่กับลัทธิการบูชาเจ้าแม่กวนอิมด้วยหรือเปล่า?

แต่เขาก็บอกเอาไว้ด้วยว่า ในช่วงเริ่มแรกนั้นก็เห็นได้ว่าลัทธิการไม่บริโภคเนื้อวัวนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความเชื่อในพุทธศาสนา และดูเหมือนว่ากูสเสิร์ตจะค่อนข้างให้น้ำหนักกับศาสนาพื้นเมืองของจีน อย่างศาสนาเต๋าเป็นสำคัญ

เฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยพุทธศาสนานั้น ข้อสันนิษฐานของกูสเสิร์ตสอดคล้องกับหลักฐานของนิทานเรื่อง “เจ้าแม่กวนอิม” (ในที่นี้หมายถึงเรื่องที่ว่าเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านนั้นก็คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) นั้น ก็เพิ่งจะมีหลักฐานเก่าแก่ระบุถึงอยู่ในจารึกหลักหนึ่ง ที่เรียกว่า “จารึกเจี่ยงจือฉี” ตามชื่อของผู้สร้างจารึก ซึ่งถูกจารขึ้นเมื่อ พ.ศ.1643 อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันกับช่วงที่นายกูสเสิร์ตอ้างถึงเอกสารจำนวน 35 ชิ้นดังกล่าว

แต่ข้อความในจารึกเจี่ยงจือฉี ที่เล่าถึงประวัติของเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านทั้งหลักนั้น กลับไม่ได้ระบุถึงข้อห้ามเรื่องการกินเนื้อวัว หรือแม้กระทั่งตำนานที่ว่าพระราชบิดาของพระนางทรงไปเกิดใหม่เป็นวัวเลยสักนิด ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า ข้อห้ามเรื่องการกินเนื้อวัวในหมู่ศรัทธาเจ้าแม่องค์นี้ เป็นสิ่งที่ถูกผนวกเข้าไปในภายหลัง โดยได้รับอิทธิพลมาจากลัทธิความเชื่ออื่นๆ ในจีน ที่มีข้อห้ามเกี่ยวกับการกินเนื้อวัวมาก่อนแล้ว

 

อันที่จริงแล้ว ร่องรอยของข้อห้ามการกินเนื้อวัวนั้นมีมาก่อน พ.ศ.1350 ซึ่งอยู่ในช่วงราชวงศ์ถังเสียอีก

เพราะในข้อเขียนชิ้นเดียวกันของกูสเสิร์ตยังระบุไว้ด้วยว่า จักรพรรดิของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ.341-763) เรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.1503-1819) นั้น ได้มีพระราชโองการให้เนื้อวัวควาย เป็นเนื้อสัตว์ที่ใช้เซ่นสรวงในพิธีการต่างๆ ได้เฉพาะในราชสำนักเท่านั้น ส่วนประชาชนทั่วไปจะใช้ได้เฉพาะเนื้อแพะ แกะ และหมู สำหรับเซ่นสรวงต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เหตุที่เป็นเช่นนี้เราอาจจะเห็นได้จากข้อความเกี่ยวกับวัวควายต่างๆ ในกฎหมายโบราณของจีน โดยเฉพาะในช่วงหลัง พ.ศ.1500 ลงมา (คือตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งเป็นต้นมา) นั้นก็จะเห็นได้ถึงการปกป้องวัวควาย ในฐานะทรัพยากรทางการเกษตร ที่รัฐต้องเข้าไปจัดการ ไม่ต่างจากกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับผืนนา และภาษีที่ได้จากผลผลิต

และกฎหมายของราชวงศ์ซ่งฉบับที่ว่า ก็คงมีรากฐานมาจากกฎหมายเก่าแก่ของจีนฉบับก่อนหน้านั้นนับพันปีคือ กฎหมายห้ามฆ่าวัวควายในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (พ.ศ.341-551) ซึ่งไม่ได้ระบุว่าทำไมจึงห้ามฆ่า แต่อาจจะสังเกตได้ว่า กฎหมายของจีนโบราณไม่เคยห้ามฆ่า หรือบริโภคสัตว์เลี้ยงที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในทุ่งนาเลยสักครั้งนะครับ

พูดง่ายๆ ว่า ในสายตาของรัฐจีนครั้งกระโน้น “วัวควาย” ไม่ได้เป็นเพียงอาหารละมุนลิ้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์มากกว่านั้นในฐานะ “แรงงาน” ภาคการเกษตรอีกด้วย

 

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ในท้ายที่สุดแล้ว “หนิวเจี้ย” หรือข้อห้ามการบริโภคเนื้อวัว จะปรากฏอยู่มากในศาสนาต่างๆ ของจีน โดยเฉพาะศาสนาพื้นเมือง ที่ค่อนไปทางเรื่องราวเกี่ยวกับผีสาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างศาสนาเต๋าเป็นสำคัญ

ชุดคำอธิบายให้ใครต่อใครทั่วไปในสังคมจีน ลด ละ เลิก ที่จะกินเนื้อวัว ที่แรกเริ่มเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม กับความมั่นคงของผลผลิตทางเกษตรกรรม จึงกลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัตรปฏิบัติทางศาสนาไปด้วยในที่สุด ซึ่งชุดคำอธิบายนี้ก็ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละศาสนา กรณีของเจ้าแม่กวนอิมก็เป็นตัวอย่างหนึ่งในนั้นนั่นแหละครับ

แต่ก็แน่นอนว่า ข้อห้ามการกินเนื้อวัวอย่างนี้ ก็มีเรื่องของชนชั้นปะปนอยู่ด้วย เห็นได้ชัดๆ ก็จากการที่ราชสำนักจีนสงวนให้เนื้อวัวเป็นเครื่องเซ่นไหว้เฉพาะในราชสำนักนั่นเอง ดังนั้น จึงไม่ใช่คนจีนทุกคนที่ไม่มีโอกาสบริโภคเนื้อวัว ตัวอย่างที่ชัดเจนอีกอย่างหนึ่งก็คือ เนื้อสัตว์เซ่นไหว้ 3 อย่างที่เรียกกันว่า “ซานเซิง” (san sheng) นั้น มีทั้งชุดที่ประกอบไปด้วยเนื้อหมู, สัตว์ปีก (ส่วนจะเป็นเป็ดหรือไก่ก็แล้วแต่) และปลา กับชุดที่ประกอบไปด้วยเนื้อวัว, เนื้อแกะ และเนื้อหมู

ชาวจีนที่เดินทางเข้ามาตั้งรกรากในไทยนั้น ก็ย่อมไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มเดียว แต่มีทั้งชาวจีนชนชั้นแรงงาน ที่ไม่ได้กินเนื้อวัว กับชาวจีนชนชั้นมีอันจะกิน ที่รู้จักการปรุงเนื้อวัวให้อร่อยเด็ด

ดังนั้น ในประเทศไทยยุคก่อนที่ซีรี่ส์กำเนิดเจ้าแม่กวนอิมจะเข้ามาฉาย จึงมีร้านเนื้อวัวรสชาติเด็ดดวง ที่ปรุงรสโดยคนเชื้อสายจีนมาเนิ่นนานแล้ว อย่างที่คุณ Pat Hemasuk เขาว่า ส่วนคนจีนที่ไม่กินเนื้อวัวนั้นก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนชั้นกลางในสังคมไทย และได้รับการตอกย้ำความเชื่อว่า ถ้านับถือเจ้าแม่กวนอิมแล้วต้องไม่กินเนื้อวัว จากซีรี่ส์เรื่องดังกล่าวนี้เอง

ถ้าซีรี่ส์เรื่องกำเนิดเจ้าแม่กวนอิม จะมีบทบาทอะไรกับลัทธิการไม่กินเนื้อวัวเพราะนับถือเจ้าแม่กวนอิมในไทย ก็คือเผยแพร่ความเชื่อนี้ผ่านทางสื่อในวงกว้างกว่าที่เคย แต่ไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้คนที่นับถือเจ้าแม่องค์นี้ในไทย หันมาไม่กินเนื้อแน่